รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 17 May 2023 01:58
- Hits: 1360
รายงานผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเสนอ ผลการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 10 (6) ที่บัญญัติให้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจติดตาม ประเมินผล และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ1 ให้คณะรัฐมนตรีทราบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง] ซึ่งคณะกรรมการฯ [โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) เป็นประธาน] ได้ประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2566 มีมติรับทราบผลการดำเนินงานฯ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. สรุปผลการดำเนินงานฯ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน โดยกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ 13 ตัวชี้วัด ค่าเป้าหมายจำนวน 28 ค่าเป้าหมาย ซึ่งมีผลการดำเนินงานผ่านค่าเป้าหมายทั้งสิ้น 8 ค่าเป้าหมาย คิดเป็นร้อยละ 29 ของค่าเป้าหมายทั้งหมด ประกอบด้วย
ตัวชี้วัด |
ผลการดำเนินงาน เช่น |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาระบบและบริหารจัดการงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคให้มีประสิทธิภาพทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน เป็นการมุ่งสร้างความมั่นคงด้านวัคซีนเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเป็นธรรมและทันการณ์ มีการพัฒนาระบบบริหารการจัดหาวัคซีนเพื่อให้มีวัคซีนสำรองที่เพียงพอและลดปัญหาการขาดแคลนวัคซีนที่จำเป็น |
||
1. อัตราครอบคลุมของการได้รับวัคซีนของประชาชนกลุ่มเป้าหมาย |
สามารถให้บริการวัคซีนพื้นฐานกับประชาชนกลุ่มเป้าหมาย (เด็กแรกเกิด-12 ปี) ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 จำนวน 3 ชนิด (จาก 19 ชนิด)2 ได้แก่ วัคซีนป้องกันวัณโรค วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบบี และวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน เนื่องจากปัญหาความครบถ้วนของการรายงานผลการให้บริการที่สถานบริการแต่ละแห่งตามระบบการส่งข้อมูลเข้าส่วนกลาง รวมทั้งการรับบริการวัคซีนในพื้นที่ที่มีการเคลื่อนย้ายของแรงงานไทย แรงงานต่างชาติ และพื้นที่ชายแดน |
|
2. จำนวนชนิดวัคซีนมีเพียงพอใช้ทั้งในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน |
- สามารถจัดหาวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ จำนวน 800,000 โดส และคาดว่าจะสามารถจัดหาวัคซีนได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการวัคซีนดังกล่าวแก่นักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 - ดำเนินการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอเสริมในพื้นที่เสี่ยงให้แก่เด็กไทยที่อายุต่ำกว่า 5 ปีและเด็กต่างชาติที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง (จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา) และพื้นที่อำเภอชายแดนไทย-เมียนมา (จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี และราชบุรี) รวมถึงรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดและโรคหัดเยอมัน3ให้แก่กลุ่มเป้าหมายกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 20-40 ปี กลุ่มผู้ต้องขังรายใหม่และเจ้าหน้าที่เรือนจำทั่วประเทศ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขภาครัฐและกลุ่มทหารเกณฑ์ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน |
|
3. บรรจุวัคซีนชนิดใหม่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค |
ไม่สามารถดำเนินการบรรจุวัคซีนโปลิโอชนิดฉีดอีก 1 โดส ไว้ในแผนงานสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ เนื่องจากปัญหาข้อจำกัดด้านงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนประกอบกับคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกที่สามารถใช้วัคซีนโปลิโอชนิดฉีดแล้วตามด้วยวัคซีนโปลิโอชนิดรับประทานได้ตามเดิม |
|
4. ความสำเร็จในการจัดซื้อวัคซีนในภาวะปกติและภาวะฉุกเฉิน |
- มีการผลักดันให้มีการจัดซื้อวัคซีนแบบหลายปี (2 ปี) ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากปี 2564 จากการประเมินประสิทธิภาพการบริหารปริมาณวัคซีนคงคลัง 18 เดือน (ปริมาณวัคซีนที่ใช้ใน 12 เดือน รวมกับปริมาณวัคซีนสำรอง 6 เดือน มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับการใช้วัคซีนในประเทศ จึงไม่มีความจำเป็นต้องเพิ่มจำนวนวัคซีนสำรองจาก 6 เดือน เป็น 12 เดือน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 - การสำรองวัคซีนกรณีเกิดการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ในคลังผู้ผลิตยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั่วโลก ทำให้ไทยต้องจัดหาวัคซีนรองรับสถานการณ์ดังกล่าวเพื่อใช้ในการควบคุมป้องกันโรค โดยขยายกรอบการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เป็นจำนวน 120 ล้านโดส (จากเดิม 103.5 ล้านโดส) เพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอ |
|
5. ข้อมูลชนิดและปริมาณความต้องการรายวัคซีนที่จำเป็นในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคและวัคซีนที่ใช้ตอบโต้การระบาด |
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2564 สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน เพื่อใช้ประโยชน์ในการสนับสนุนข้อมูลประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับการวิจัยพัฒนา การผลิต และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สวช. ได้วางแผนพัฒนาและปรับปรุงระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีน รวมทั้งพัฒนาเครื่องมือการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ช่วยในการแก้ปัญหาให้ข้อมูลมีคุณภาพ มีความน่าเชื่อถือ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการตัดสินใจในเชิงนโยบายได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สำหรับการพัฒนาระบบเฝ้าระวังสอบสวนอาการภายหลังได้รับการสร้างภูมิคุ้มกันโรค ได้ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยได้บูรณาการระบบดังกล่าวเข้ากับระบบงานเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จึงทำให้ไม่มีแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 2 ส่งสริม สนับสนุนการวิจัยพัฒณา และการผลิตวัคซีนรองรับความต้องการในการป้องกันโรคของประเทศเป็นการสร้างศักยภาพการพึ่งพาตนเองด้านวัคซีน โดยการส่งเสริมและสนับสนุนทุนในการวิจัยพัฒนาวัคซีนเป้าหมายและวัคซีนเพื่อตอบโต้การระบาด เพื่อให้สามารถต่อยอดสู่การผลิตวัคซีนในระดับอุตสาหกรรมและสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาหรือรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการผลิตวัคซีน |
||
1. วัคซีนที่อยู่ระหว่างการวิจัยพัฒนา |
ดำเนินการวิจัยพัฒนาวัคซีน เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้ซิกา4 ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัคซีน สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการทดสอบความเป็นพิษของวัคซีนในหนู พบว่า หนูที่ได้รับซิกาวัคซีนที่มีความเข้มข้นต่างกันจำนวน 3 ครั้ง มีความปลอดภัยดีและหนูทุกตัวมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสซิกา |
|
2. วัคซีนที่ผลิตได้ในประเทศและได้รับการขึ้นทะเบียน |
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ประจำฤดูกาลชนิด 3 สายพันธุ์ ที่ผลิตได้ตั้งแต่ต้นน้ำได้รับการขึ้นทะเบียน แต่การนำไปใช้ในกลุ่มอายุ 18-64 ปี ยังไม่บรรลุเป้าหมาย เนื่องจากผลการศึกษาที่แสดงถึงประสิทธิผลและการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันภายหลังจากได้รับวัคซีน 360 วัน ยังไม่ชัดเจน รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลได้ให้ความสำคัญในการพิจารณาการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยวัคซีนสำหรับโควิด-19 ก่อนเป็นอันดับแรก และวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีได้รับการขึ้นทะเบียนและการเฝ้าระวังความปลอดภัยการใช้วัคซีนหลังจากออกสู่ตลาดยังไม่บรรลุเป้าหมาย เนื่องจากข้อมูลด้านความต้องการวัคซีนระดับโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอาจส่งผลต่อแนวทางการวางแผนดำเนินการ จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนแนวทางความร่วมมือและความเป็นไปได้ของการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริม สนับสนุนอุตสาหกรรมวัคซีนภายในประเทศให้มีความเข้มแข็งและส่งออกได้เป็นการเสริมสร้างศักยภาพของอุตสาหกรรมวัคซีนของประเทศ โดยการแสวงหาและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการกำหนดนโยบาย มาตรการ หรือระเบียบปฏิบัติที่สนับสนุนให้เกิดการลงทุน |
||
1. มาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมวัคซีนในประเทศ |
- ยังไม่สามารถกำหนดหรือออกมาตรการส่งเสริมด้านสิทธิประโยชน์ในการลงทุนและด้านภาษีแก่ผู้ผลิตวัคซีนเพิ่มเติมได้ อย่างไรก็ตาม สวช. ได้ดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์การคัดเลือกและวิธีการจัดซื้อยาที่เป็นวัคซีนที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน พ.ศ. 2563 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2563 โดยประกาศผลการคัดเลือกรายชื่อที่เป็นวัคซีนซึ่งผลิตภายในประเทศและผู้ผลิตที่รัฐต้องการส่งเสริมและสนับสนุน ซึ่ง สวช. ได้มีการติดตามผลการจัดซื้อตามประกาศฯ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และติดตามต่อเนื่องในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พบว่า ผู้ผลิตสามารถจำหน่ายวัคซีนได้ตามที่ได้รับการส่งเสริมหรือสนับสนุน - มาตรการสนับสนุนที่เอื้อต่อการผลิตวัคซีนสัตว์สู่คน โดยวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าชนิดเชื้อตายในเซลล์เพาะเลี้ยงสำหรับคนยังอยู่ในห้องปฏิบัติการจึงยังไม่มีกำหนดมาตรการสนับสนุนที่เอื้อต่อการผลิตวัคซีนสัตว์สู่คนให้ได้รับรองมาตรฐานที่ชัดเจน |
|
2. มูลค่ารวมการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตและส่งออกวัคซีนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน |
เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการร่วมลงทุนวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 โดย สวช. ได้สนับสนุนโครงการการศึกษาความปลอดภัย (Safety) ความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunogenicity) และประสิทธิภาพ (Vaccine Efficiency) ของแคนดิเดตซับยูนิตวัคซีน สำหรับป้องกันโควิด-19 ที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ระยะ 2A ภายใต้วงเงิน 211 ล้านบาท5 |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาองค์กรด้านวัคซีนของประเทศให้เข้มแข็งและบริหารจัดการทรัพยากรวัคซีนของประเทศให้มีคุณภาพและเพียงพอ เช่น การให้ความสำคัญกับการผลิต การพัฒนา และการรักษาบุคลากรในสาขาที่จำเป็นและขาดแคลนให้เพียงพอ รวมทั้งการพัฒนาและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานให้ได้มาตรฐานสากล |
||
1. จำนวนบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนมีเพียงพอ |
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพบุคลากรมาเป็นการอบรมออนไลน์ ประกอบกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านวัคซีนต้องวางแผนรับมือตอบโต้สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ไม่สามารถดำเนินโครงการพัฒนาบุคลากรได้ |
|
2. โครงสร้างพื้นฐานด้านวัคซีนได้รับการพัฒนาเพื่อให้ได้มาตรฐานสากล |
ศูนย์สัตว์ทดลองแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดลสามารถรักษาระบบมาตรฐานสัตว์ทดลองสากล6 (Association for Assessment and Accreditation of Laboratory Animal Care International: AAALAC) และ ISO9001 ในการผลิตสัตว์ทดลอง (หนูเมาส์ จำนวน 80,737 ตัว/ปี หนูตะเภา จำนวน 6,107 ตัว/ปี และกระต่าย 1,134 ตัว/ปี) ที่มีคุณภาพมาตรฐานเพื่อบริการให้แก่นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ได้ สำหรับการพัฒนาห้องปฏิบัติการสัตว์ทดลองสู่มาตรฐาน OECD Good Laboratory Practice (OECD GLP)7 และ AAALAC เพื่อทดสอบและตรวจสอบคุณภาพวัคซีนในสัตว์ทดลองและการเตรียมความพร้อมโรงงานผลิตวัคซีนระดับกึ่งอุตสาหกรรม โดยใช้โรงงานต้นแบบผลิตยาชีววัตถุแห่งชาติ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีและสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับการผลิตวัคซีนโควิด-19 หรือการระบาดของเชื้ออุบัติใหม่ ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่มีงบประมาณสนับสนุน |
|
3. เครือข่ายศูนย์ทรัพยากรชีวภาพทางการแพทย์เพื่อการวิจัยด้านวัคซีน |
ดำเนินการสร้างความร่วมมือให้เกิดการจัดตั้งเครือข่ายทรัพยากรชีวภาพฯ มาตั้งแต่ปี 2562 โดยได้จัดทำแนวทางมาตรฐานในการปฏิบัติเพื่อเก็บรักษาและใช้บริการชีววัสดุของศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย8 เพื่อเป็นมาตรฐานการจับเก็บและการให้บริการ อีกทั้งในปี 2563 ได้มีการขยายเครือข่ายทรัพยากรชีวภาพฯ สู่สถาบันการศึกษาและองค์กรต่างๆ สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 การบริหารจัดการเครือข่ายศูนย์ทรัพยากรชีวภาพฯ เพื่อการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุน |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 5 เสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรภาคีเครือข่ายด้านวัคซีนของประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสนับสนุน ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศให้สามารถดำเนินการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนทั้งระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อรองรับความจำเป็นด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และความมั่นคงของชาติ |
||
ความร่วมมือขององค์กรภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ |
ในปี 2565 เกิดความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนในการร่วมลงทุนในการวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้แก่ โครงการการศึกษาความปลอดภัย (Safety) ความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunogenicity) และประสิทธิภาพ (Vaccine Efficiency) ของแคนดิเดตซับยูนิตวัคซีน สำหรับป้องกันโควิด-19 ที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ระยะ 2A และมีการบูรณาการงบประมาณระหว่าง สวช. และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติในการสนับสนุนการวิจัยพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เช่น โครงการศึกษาความปลอดภัยและระดับภูมิคุ้มกันต่อไวรัส SARS CoV29 จากวัคซีน mRNA ในเด็กวัยรุ่นไทย และโครงการการศึกษาภูมิคุ้มกันหลังการได้รับวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ในเด็กไทยอายุ 5-11 ปี ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 |
2. ปัญหา/อุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานและข้อเสนอแนะในการดำเนินงานด้านวัคซีน สรุปได้ ดังนี้
2.1 ปัจจัยภายนอก
สถานการณ์ |
ปัญหาและอุปสรรค |
|
การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงปัจจุบัน
|
- หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องระดมทรัพยากรต่างๆ เพื่อตอบโต้การระบาด เช่น งานเฝ้าระวังโรค งานสอบสวนโรค การวางแผนการจัดหา จัดสรร และให้บริการวัคซีนโควิด-19 รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ทำให้การดำเนินงานประจำหรืองานพื้นฐานต้องล่าช้าออกไป ตั้งแต่ปี 2563 ส่งผลต่อเนื่องถึงปี 2565 มีการเลื่อนหรือยกเลิกการดำเนินงานในบางกิจกรรม เช่น การเลื่อนหรือยกเลิกการนัดหมายให้บริการวัคซีน ทำให้การรายงานผลความครอบคลุมการได้รับวัคซีนไม่ครบถ้วน |
|
- เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานไม่สามารถเข้าปฏิบัติงานได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง หน่วยงานวิจัยบางแห่งมีการปิดสถานที่ รวมถึงการลดจำนวนผู้เข้าปฏิบัติงานตามมาตรการลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด-19 |
||
- การให้บริการวัคซีนล่าช้าในบางพื้นที่ เนื่องจากบุคลากรและสถานที่ปฏิบัติการมีจำกัด |
||
- โครงการส่วนใหญ่ไม่ได้รับงบประมาณในการดำเนินงานและบางโครงการได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ เนื่องจากหน่วยงานต้องปรับแผนการดำเนินงานรองรับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 |
||
ข้อเสนอแนะ : ควรมีแผนรองรับสถานการณ์การระบาดให้มีความเหมาะสม เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ฯ ได้
|
2.2 ปัจจัยภายใน
ด้าน |
ปัญหาและอุปสรรค |
|
1. การบริหารจัดการ |
- วัคซีนเป้าหมายที่ถูกจัดลำดับความสำคัญเพื่อพิจารณาบรรจุในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคยังไม่ถูกผลักดันให้บรรจุได้ตามแผนอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม เนื่องจากมีกระบวนการที่ซับซ้อนและใช้ระยะเวลานาน |
|
ข้อเสนอแนะ : พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของวัคซีนเป้าหมายที่ควรมุ่งส่งเสริมและสนับสนุน รวมทั้งแนวทางการสนับสนุนโครงการอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านบุคลากร หรือโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ
|
||
2. งบประมาณ |
การได้รับงบประมาณล่าช้า กรณีโครงการที่ได้รับงบประมาณจากแหล่งทุนต่างๆ ส่งผลต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ และกระทบกับแผนการดำเนินงาน |
|
ข้อเสนอแนะ : ควรมีหน่วยงานกลางในการประสานการยื่นขอรับงบประมาณจากแหล่งงบประมาณต่างๆ หรือจัดสรรงบประมาณให้โดยตรง กรณีหน่วยงานได้รับงบประมาณไม่เพียงพอต่อการดำเนินงานอาจพิจารณาปรับกิจกรรมให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ หรือขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ และกรณีที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ ควรพิจารณางบประมาณสนับสนุนจากแหล่งอื่น เช่น งบเงินหมุนเวียน เงินรายได้ และงบเงินกู้ ทั้งนี้ การบริหารจัดการเงินทุนวิจัยต้องมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และโปร่งใส
|
||
3. บุคลากร |
จำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ ขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ เช่น การขยายวิธีการทดสอบและเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบคุณภาพวัคซีนในสัตว์ทดลองและด้านการผลิตวัคซีน รวมถึงการเกษียณอายุราชการโดยไม่มีการสอนงานหรือถ่ายทอดงาน |
|
ข้อเสนอแนะ : ส่งเสริมให้บุคลากรได้รับการฝึกอบรม ฝึกงาน และศึกษาจากหน่วยงานที่ได้รับการรับรองมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องทั้งด้านทฤษฎีและปฏิบัติ และควรวางแผนการสอนงานหรือถ่ายทอดงาน ในกรณีที่จะมีผู้เกษียณอายุราชการ
|
||
4. เทคโนโลยี |
สถานบริการบางพื้นที่ไม่มีข้อมูลการรับวัคซีนของผู้รับบริการนอกพื้นที่ในระบบ รวมถึงระบบข้อมูลและบริหารจัดการวัคซีนใช้ระยะเวลาในการสืบค้นข้อมูลนาน |
|
ข้อเสนอแนะ : ควรมีการอัปเดตฐานข้อมูลในการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การกำกับติดตามผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
|
||
5. วัสดุอุปกรณ์ |
เครื่องจักร/เครื่องมือมีอายุการใช้งานยาวนาน มีการชำรุดและซ่อมแซมหลายครั้งและกรงเลี้ยงสัตว์ทดลองมีจำนวนไม่เพียงพอ ต้องนำกรงที่มีอยู่เดิมมาปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สามารถใช้งานได้ชั่วคราว |
|
ข้อเสนอแนะ : ควรบริหารจัดการให้มีวัสดุอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อการดำเนินการ ทั้งการจัดซื้อใหม่ จัดซื้อเพิ่มและจัดซื้อทดแทนของเดิมที่ชำรุด โดยจัดหางบประมาณสนับสนุนอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง
|
||
6. การสื่อสาร |
เจ้าหน้าที่ขาดทักษะในการสื่อสารเพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเข้าใจและยอมรับการได้รับวัคซีน เช่น ผู้ปกครองมีความกังวลในการฉีดวัคซีนหลายเข็มและมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องวัคซีนไม่ครบถ้วน |
|
ข้อเสนอแนะ : เพิ่มพูนความรู้ใหม่ๆ ที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานและพัฒนาทักษะการสื่อสารให้กับเจ้าหน้าที่ รวมทั้งผลิตสื่อสำหรับประชาสัมพันธ์เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญต่อการเข้ารับวัคซีน
|
______________________
1คณะรัฐมนตรีมีมติ (3 มีนาคม 2563) เห็นชอบร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคชีนแห่งชาติ พ.ศ. 2563-2565 ภายใต้กรอบงบประมาณ 11,078.95 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ (22 มีนาคม 2565) เห็นชอบร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2570 ภายใต้กรอบงบประมาณ 14,326.54 ล้านบาท ตามที่ สธ. เสนอ (ปรับยุทธศาสตร์จาก 5 ยุทธศาสตร์ เป็น 4 ยุทธศาสตร์ โดยยุบรวมยุทธศาสตร์ที่ 2 และ 3 เข้าด้วยกัน)
2วัคซีนพื้นฐาน เช่น วัคซีนป้องกันวัณโรค (BCG) วัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบปี (HBV) วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน (DTP) วัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Hib) วัคซีนป้องกันโรคโปลิโอชนิดรับประทาน (OPV) วัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ (JE) วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก (HPV) วัคซีนป้องกันโรคคอตีบ-บาดทะยัก (dT) และวัคซีนโรต้า (วัคซีนป้องกันโรคอุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้าในเด็กเล็ก)
3โรคหัดกับโรคหัดเยอรมันไม่ใช่โรคเดียวกัน โดยโรคหัดเกิดจากเชื้อไวรัสรูบิโอลา ซึ่งพบมากในน้ำลายของผู้เป็นโรคหัด ติดต่อได้ง่ายและรวดเร็วมาก ผ่านการไอ จาม หายใจรดกัน หรือใช้สิ่งของร่วมกัน โดยเกิดได้กับทุกอายุและพบบ่อยในเด็กที่อายุระหว่าง 2-14 ปี ส่วนใหญ่หายได้เองและเกิดโรคแทรกซ้อนน้อย ส่วนโรคหัดเยอรมันเกิดจากเชื้อไวรัสรูเบลล่ามักพบการระบาดในโรงเรียน สถานที่ทำงาน ติดต่อกันได้โดยการไอ จาม หรือสัมผัสน้ำมูกน้ำลายที่มีเชื้ออยู่โดยเชื้อนี้อยู่ในร่างกายได้ถึง 1 ปี เมื่อติดเชื้อจะใช้เวลา 14-21 วัน จึงเริ่มเกิดอาการ สำหรับทารกถ้าติดเชื้อตั้งแต่อยู่ในครรภ์มีโอกาสที่อวัยวะต่างๆ จะผิดปกติได้ตั้งแต่กำเนิด
4โรคไข้ซิกาเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสซิกาโดยมียุงลายเป็นพาหะ มีอาการคล้ายไข้เลือดออก ขณะนี้ยังไม่พบรายงานการติดเชื้อในไทยหรือประเทศเพื่อนบ้าน ไทยจึงอยู่ในระยะเฝ้าระวัง
5คณะรัฐมนตรีมีมติ (12 เมษายน 2565) อนุมัติและเห็นชอบโครงการการศึกษาความปลอดภัย (Safety) ความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (Immunogenicity) และประสิทธิภาพ (Vaccine Efficiency) ของแคนดิเดตชับยูนิตวัคซีนสำหรับป้องกันโควิด-19 ที่ใช้พืชเป็นแหล่งผลิตในมนุษย์ระยะ 2A กรอบวงเงิน 211 ล้านบาท ตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอ เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและลดการระบาดของโควิด-19 ในไทย เป็นทางเลือกในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาวัคซีนจากต่างประเทศ รวมถึงไทยมีความมั่นคงทางด้านสุขภาพมากขึ้น อุตสาหกรรมยาและวัคซีน รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ได้รับการพัฒนาและเกิดองค์ความรู้ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนใหม่
6 ระบบมาตรฐานสัตว์ทดลองสากลเป็นการรับรองที่นำมาตรฐานด้านการเลี้ยงและการใช้สัตว์ทดลองซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกมาพิจารณาร่วมกับกฎหมายและข้อกำหนดของประเทศที่ขอการรับรอง เช่น ไทยมีพระราชบัญญัติการใช้สัตว์ทดลองเพื่องานวิทยาศาสตร์ และจรรยาบรรณการใช้สัตว์ที่กำหนดโดย สวช. นอกจากนี้ ยังนำเอาข้อกำหนดสากลอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยมาพิจารณาร่วมด้วย โดยมุ่งเน้นให้มีการดูแลและใช้สัตว์อย่างมีคุณธรรมตลอดเวลาการทดสอบหรือวิจัย
7 OECD GLP ระบบคุณภาพที่ช่วยจัดการห้องปฏิบัติการให้มีมาตรฐาน นิยมใช้ห้องปฏิบัติการที่เน้นทางด้านการทดสอบความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ทดลองในมนุษย์
8 สวทช. จัดตั้งศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางการให้บริการชีววัสดุประเภทต่างๆ เช่น จุลินทรีย์ สารพันธุกรรม เซลล์สัตว์ และเนื้อเยื่อพืช เพื่อการวิจัยประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้มีการเก็บรักษาและศึกษาวิจัยด้านการใช้ประโยชน์ชีววัสดุให้เหมาะสมกับความต้องการของอุตสาหกรรมทั้งระดับภูมิภาค ประเทศ และท้องถิ่น
9 ไวรัส SARS CoV2 เป็นไวรัสที่มีการอุบัติใหม่และสามารถก่อให้เกิดโควิด-19 ในมนุษย์ได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 16 พฤษภาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5657