ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ [ASEAN Economic Ministers (AEM) Retreat] ครั้งที่ 29 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 17 May 2023 01:36
- Hits: 1430
ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ [ASEAN Economic Ministers (AEM) Retreat] ครั้งที่ 29 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ [ASEAN Economic Ministers (AEM) Retreat] ครั้งที่ 29 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 21-22 มีนาคม 2566 ณ์ เมืองมาเกอลัง สาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยมีรองปลัดกระทรวงพาณิชย์ (นายวันชัย วราวิทย์) เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การประชุม AEM Retreat ครั้งที่ 29 มีผลการประชุมที่สำคัญ ดังนี้
ประเด็นการประชุม |
ผลการประชุม เช่น |
|
(1) ประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจที่อินโดนีเซียในฐานะประรานอาเซียนผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2566 |
เห็นชอบประเด็นสำคัญด้านเศรษฐกิจ รวม 16 ประเด็น โดยมีประเด็นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ AEM จำนวน 7 ประเด็น เช่น การอำนวยความสะดวกด้านการบริการของอาเซียนโดยมุ่งลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนด้านบริการ การยกระดับความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ โดยมุ่งปรับปรุงความตกลงให้มีความทันสมัยสอดคล้องกับรูปแบบการค้ายุคใหม่ และการเสริมสร้าง ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมในอาเซียน |
|
(2) มาตรการสำคัญที่ต้องดำเนินการในปี 2566 |
เห็นชอบมาตรการสำคัญ จำนวน 48 มาตรการ (จากทั้งหมด 111 มาตรการ) และมอบหมายให้องค์กรรายสาขาภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนดำเนินการให้เสร็จภายในปี 2566 เช่น แผนการดำเนินงานของความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) การศึกษากรอบความตกลงเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (ASEAN Digital Economy Framework Agreement: DEFA) การเจรจายกระดับความตกลง FTA อาเซียน-สาธารณรัฐประชาชนจีน และการศึกษาร่วมในการดำเนินความตกลง FTA อาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี |
|
(3) การเจรจายกระดับความตกลง ATIGA |
1) รับทราบการรายงานของคณะกรรมการเจรจายกระดับความตกลง ATIGA ซึ่งได้มีการยกระดับความตกลงฯ ในประเด็นต่างๆ เช่น การประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับการอนุเคราะห์ยิ่ง โดยกำหนดให้ต้องให้สิทธิทางภาษีที่เท่าเทียมกันแก่สมาชิกอาเซียน รวมถึงประเด็นการค้าใหม่ๆ เช่น การค้าและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และการค้าไร้กระดาษ 2) ขอให้คณะกรรมการฯ เร่งเจรจาตามแผนงานและรายงานผลสรุปความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในช่วงการประชุม AEM ครั้งที่ 55 ในเดือนสิงหาคม 2566 |
|
(4) กรอบความตกลง DEFA |
1) รับทราบความคืบหน้าการศึกษากรอบความตกลง DEFA ซึ่งได้กำหนดแนวทางการดำเนินการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นดิจิทัลอาเซียน และเร่งกระบวนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื่อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทั้งนี้ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนปี 2566 ได้กำหนดให้แถลงการณ์ของผู้นำในการจัดทำกรอบความตกลง DEFA เป็นผลลัพธ์สำคัญด้านเศรษฐกิจด้วย 2) เร่งสรุปผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำกรอบความตกลง DEFA เพื่อให้มีการรับรองระหว่างการประชุม AEM ในเดือนสิงหาคม 2566 และสามารถเริ่มเจรจาได้ในปี 2566 |
|
(5) ยุทธศาสตร์อาเซียนเพื่อความเป็นกลางทางคาร์บอน (ASEAN Strategy for Carbon Neutrality) |
1) รับทราบเอกสารแนวคิดเรื่องยุทธศาสตร์อาเซียนฯ ซึ่งจะอยู่บนหลักการ 6 ประการ ดังนี้ 1.1) การจัดลำดับผลกระทบมุ่งเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยคาร์บอนสูง 1.2) การเน้นความร่วมมือภายในภูมิภาค โดยคำนึงถึงความแตกต่างของแต่ละประเทศสมาชิก 1.3) การพัฒนาต่อยอดจากโครงการริเริ่มต่างๆ ที่มีอยู่ของอาเซียนเพื่อลดความซ้ำช้อนในการดำเนินการ 1.4) การดำเนินการที่สามารถปฏิบัติได้จริง 1.5) การครอบคลุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของแต่ละประเทศสมาชิก 1.6) การมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ทั้งนี้ จะเสนอให้ที่ประชุม AEM เห็นชอบในเดือนสิงหาคม 2566 2) รับทราบผลการศึกษาการจัดทำยุทธศาสตร์ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งจะส่งผลให้มีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product. GDP) และการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ โดยจะมีการดำเนินการ เช่น การสำรวจจัดทำบัญชีคาร์บอนของภูมิภาค การพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาโดยใช้กลไกตลาดเพื่อกระตุ้นการลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ และลงทุนในเทคโนโลยีลดการปล่อยคาร์บอน 3) ขอให้ตั้งหน่วยประสานงานหลักของแต่ละประเทศเพื่อเป็นกลไกช่วยให้การดำเนินการจัดทำเผนยุทธศาสตร์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ |
|
(6) การดำเนินงานตามแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2568 (Implementation of the AEC Blueprint 2025) |
1) รับทราบการประเมินผลการดำเนินงานตามแผน AEC Blueprint ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงาน เช่น การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเปิดเสรีบริการที่กว้างขึ้น การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเชื่อมโยงการขนส่งในภูมิภาคโดยมีความคืบหน้าการดำเนินงานร้อยละ 54 2) เร่งรัดดำเนินการตาม AEC Blueprint 2025 เพื่อช่วยเพิ่มการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคให้ขยายตัวจาก 5.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 เป็น 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 |
|
(7) การจัดลำดับความสำคัญในการจัดทำความตกลง FTA ของอาเซียน |
1) รับทราบข้อเสนอของสำนักเลขาธิการอาเซียนเกี่ยวกับแนวทางการจัดลำดับความสำคัญของการเจรจา FTA ของอาเซียน เช่น ความตกลง ATIGA (จะเสร็จสิ้นในปี 2024) ความตกลง FTA อาเซียน-จีน (จะเสร็จสิ้นในปี 2025) และการทบทวนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ในปี 2027 2) เห็นชอบการเร่งเจรจาสรุปความตกลงฯ โดยเฉพาะความตกลง ATIGA ความตกลง FTA อาเซียน-จีน และเร่งรัดให้ความตกลง RCEP มีผลใช้บังคับกับทุกประเทศโดยเร็ว |
|
(8) ความตกลง RCEP |
1) รับทราบสถานะการมีผลใช้บังคับของความตกลง RCEP ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ซึ่งมีผลใช้บังคับกับ 14 ประเทศ (เนอการาบรูไนดรุสซาลาม ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา สาธารณรัฐสิงคโปร์ ไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ เครือรัฐออสเตรเลีย เกาหลีใต้ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ซึ่งขณะนี้ยังคงเหลือสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ จึงขอให้ฟิลิปปินส์เร่งกระบวนการภายในหลังจากให้สัตยาบันความตกลง RCEP แล้ว เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 25661 2) สนับสนุนการจัดตั้งหน่วยงานสนับสนุนเพื่อเป็นกลไกกำกับดูแลการดำเนินการภายใต้ความตกลง RCEP ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยเห็นว่าควรพิจารณาการจ่ายเงินสนับสนุนเท่ากันระหว่างอาเซียนร้อยละ 50 และประเทศคู่เจรจา ร้อยละ 50 ทั้งนี้ ในช่วง 1-2 ปีแรก ประเทศคู่เจรจาอาจสนับสนุนงบประมาณให้แก่กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ได้แก่ ก้มพูชา ลาว และเมียนมา |
|
(9) การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของสาธารณรัฐประชาธิปไตย ติมอร์-เลสเต |
รับทราบความคืบหน้าในการจัดทำแผนการดำเนินงานสำหรับการเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของติมอร์-เลสเต โดยจะเสนอให้ที่ประชุม AEM พิจารณาให้ความเห็นชอบในเดือนเมษายน 2566 ก่อนที่จะนำไปรวมกับ Roadmap ที่เสร็จสมบูรณ์เพื่อเสนอต่อที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ในเดือนพฤษภาคม 2566 เพื่อให้การรับรองต่อไป |
2. การประชุมระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ASEAN-BAC) เป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของภาคธุรกิจในประเด็นสำคัญ ปี 2566 ภายใต้ 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล (2) การพัฒนาที่ยั่งยืน (3) การรับมือกับความท้าทายด้านสาธารณสุข (4) ความมั่นคงทางอาหาร และ (5) การอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน โดยเน้นการลดอุปสรรคทางการค้าใช้ประโยชน์จากความตกลง FTA ของอาเซียนที่มีอยู่ การใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มรูปแบบผ่านระบบการพัฒนาระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window: ASW2) และการยกระดับมาตรฐานและประสานกฎระเบียบที่เกี่ยวกับแรงงานฝีมือ ทั้งนี้ มีโครงการที่จะดำเนินการในปี 2566 เช่น โครงการ ASEAN QR Code เพื่อสนับสนุนการชำระเงินด้วยระบบดิจิทัลในอาเซียน โครงการ Digital Lending Platform (P2P3) เพื่อจับคู่นักลงทุนกับผู้ยืม และโครงการ Carbon Center for Excellence เพื่อส่งเสริมกิจกรรมเกี่ยวกับการค้าคาร์บอน
________________________
1 ปัจจุบันฟิลิปปินส์ได้ให้สัตยาบันความตกลง RCEP แล้ว จะมีผลบังคับใช้วันที่ 2 มิถุนายน 2566
2 ระบบ ASW เป็นระบบอำนวยความสะดวกทางการค้าและการเคลื่อนย้ายสินค้า โดยการเชื่อมโยงระบบข้อมูลแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐและผู้ใช้ เช่น ผู้ประกอบธุรกรรมทางเศรษฐกิจ และผู้ให้บริการด้านขนส่งและโลจิสติกส์ประเทศสมาชิกอาเซียน
3 P2P Lending หรือ Peer-to-Peer Lending หมายถึง ธุรกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลทั่วไปผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 16 พฤษภาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5654