ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 127 และมาตรา 128 กรณีภายหลังการพ้นจากตำแหน่งของคณะรัฐมนตรี
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 May 2023 02:08
- Hits: 2323
ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 127 และมาตรา 128 กรณีภายหลังการพ้นจากตำแหน่งของคณะรัฐมนตรี
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 127 และมาตรา 128 กรณีภายหลังการพ้นจากตำแหน่งของคณะรัฐมนตรีและให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งให้ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และผู้ที่เกี่ยวข้องทราบและถือปฏิบัติต่อไป
คณะกรรมการ ป.ป.ช. (วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2566) รายงานว่า
1. ด้วยสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลงเมื่อถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎรหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร โดยสภาผู้แทนราษฎรไทยชุดปัจจุบัน (ชุดที่ 25) จะครบวาระสี่ปี ในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ซึ่งจะส่งผลให้รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่งอันเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันฯ พ.ศ. 2561
(1) มาตรา 127 บัญญัติห้ามมิให้กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ดำเนินการใดตามมาตรา 126 (4)1 ภายในสองปีนับแต่วันที่พ้นจากตำแหน่ง ประกอบกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ออกประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง กำหนดตำแหน่งซึ่งต้องห้ามมิให้ดำเนินการตามมาตรา 127 พ.ศ. 25632 โดยข้อ 3 (1) บัญญัติให้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งต้องห้ามมิให้ดำเนินการตามมาตรา 126 (4)
(2) มาตรา 128 บัญญัติห้ามมิให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใด นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาตามหลักเกณฑ์และจำนวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด ทั้งนี้ วรรคสามบัญญัติให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าพนักงานของรัฐมาแล้วยังไม่ถึงสองปีด้วยโดยอนุโลมโดยนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีถือเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ออกประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาของเจ้าพนักงานของรัฐ พ.ศ. 25633
3. คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นควรมีข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ตามพระราชบัญญัติประกอบธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันฯ พ.ศ. 2561 กรณีภายหลังการพ้นจากตำแหน่งของคณะรัฐมนตรี ดังนี้
(1) เห็นควรให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ประชาสัมพันธ์รณรงค์ส่งเสริมการป้องกันการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวมตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันฯ พ.ศ. 2561 มาตรา 127 และมาตรา 128 รวมถึงประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เกี่ยวข้อง กรณีภายหลังคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 167 และกรณีความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 170 เมื่อลาออก หรือด้วยเหตุอื่น แล้วแต่กรณี ซึ่งยังอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 127 และมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ พ.ศ. 2561 อีกสองปี รวมถึงพิจารณาจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมการป้องกันการกระทำความผิดที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม โดยประสานข้อมูลกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.)
(2) เห็นควรให้ สลค. เผยแพร่คู่มือการป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม มาตรา 126 และมาตรา 127 และคู่มือการป้องกันการกระทำความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ตามมาตรา 128 ให้กับคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 167 และรัฐมนตรีซึ่งได้พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามมาตรา 170 เมื่อลาออก หรือด้วยเหตุอื่น แล้วแต่กรณีซึ่งยังอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 127 และมาตรา 128 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันฯ พ.ศ. 2561 อีกสองปี
(3) กรณีหากมีประเด็นข้อหารือเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันฯ พ.ศ. 2561 มาตรา 127 และมาตรา 128 สามารถสอบถามไปยังสำนักงาน ป.ป.ช. (โทรศัพท์หมายเลข 0 2528 4800 ต่อ 4923 และ 4925) หรือทำหนังสือหารือมายังสำนักงาน ป.ป.ช. (เลขที่ 361 ถนนนนทบุรี ตำบลท่าทราย อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี 11000)
__________________
1มาตรา 126 (4) บัญญัติห้ามเข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้างในธุรกิจของเอกชนซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของหน่วยงานของรัฐที่เจ้าพนักงานของรัฐ ผู้นั้นสังกัดอยู่หรือปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจของเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระ ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้น
ให้นำความในวรรคหนึ่ง มาใช้บังคับกับคู่สมรสของเจ้าพนักงานของรัฐตามวรรคหนึ่งด้วย โดยให้ถือว่าการดำเนินกิจการของคู่สมรสเป็นการดำเนินกิจการของเจ้าพนักงานของรัฐ วันแต่เป็นกรณีที่คู่สมรสนั้นดำเนินการอยู่ก่อนที่เจ้าพนักงานของรัฐจะเข้าดำรงตำแหน่ง
คู่สมรสตามวรรคสองให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
2 ข้อ 3 กำหนดให้ตำแหน่งดังต่อไปนี้ เป็นตำแหน่งซึ่งต้องห้ามมิให้ดำเนินการตามมาตรา 126 (4) ประกอบด้วย (1) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา) และ (2) ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ได้แก่ ข้าราชการพลเรือน (หัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม) และข้าราชการทหาร (ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้บัญชาการเหล่าทัพ) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัด ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ (เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ) และผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งเทียบเท่าตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด (เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เลขาธิการ สภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการวุฒิสภา)
3ข้อ 6 กำหนดให้เจ้าพนักงานของรัฐจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยาได้ ดังต่อไปนี้ (1) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้จากผู้ใดซึ่งมิใช่ญาติที่มีราคาหรือมูลค่าในการรับจากแต่ละบุคคล แต่ละโอกาสไม่เกินสามพันบาท และ (2) ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ที่การให้นั้นเป็นการให้ในลักษณะให้กับบุคคลทั่วไป
ข้อ 7 กำหนดให้การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นงินได้ที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือมีราคาหรือมีมูลค่ามากกว่าที่กำหนดไว้ในข้อ 6 เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นต้องแจ้งรายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้นต่อหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ หรือผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ สถาบัน หรือองค์กรที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นสังกัด ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับสิ่งนั้นไว้ เพื่อให้วินิจฉัยว่า มีเหตุผลความจำเป็น ความเหมาะสม และสมควรที่จะให้เจ้าพนักงานของรัฐผู้นั้นรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้นไว้เป็นสิทธิของตนหรือไม่ ทั้งนี้ ในกรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐผู้ได้รับทรัพย์สินเป็นผู้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งที่ไม่มีผู้บังคับบัญชาที่มีอำนาจถอดถอนให้แจ้งต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 พฤษภาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5305