รายงานการประเมินผลโครงการในภาพรวม รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 3 และรายงานการประเมินผลลัพธ์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 May 2023 02:06
- Hits: 2342
รายงานการประเมินผลโครงการในภาพรวม รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 3 และรายงานการประเมินผลลัพธ์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ รายงานการประเมินผลโครงการในภาพรวม รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 3 และรายงานการประเมินผลลัพธ์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคม ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 [เป็นการดำเนินการตามระเบียบ กค. ว่าด้วยการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564 ข้อ 5 (3) ที่กำหนดให้คณะกรรมการประเมินผลการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนด (คปก.) ประเมินผลโครงการและจัดทำรายงานเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบทุกหกเดือนและข้อ 9 ที่กำหนดให้ภายใน 120 วันนับตั้งแต่วันสิ้นสุดโครงการสุดท้ายที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหรือมอบหมายให้หน่วยงานเจ้าของโครงการหรือแผนงานโดยใช้เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ1 ให้ คปก. จัดทำรายงานการประเมินผลโครงการในภาพรวม รวมทั้งรายงานการประเมินผลลัพธ์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ] ซึ่ง คปก. ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. รายงานการประเมินผลโครงการในภาพรวม รอบ 6 เดือน ครั้งที่ 3 ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ
1.1 การประเมินผลโครงการในภาพรวมฯ จะประเมินภายใต้ 3 แผนงาน ประกอบด้วย (1) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (2) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 และ (3) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 โดยจะสุ่มตัวอย่างโครงการทั้งหมด 400 โครงการ (จากทั้งหมด 1,088 โครงการ) กรอบวงเงินตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ จำนวน 980,812.25 ล้านบาท (จากรอบวงเงินรวม 982,228.52 ล้านบาท) ทั้งนี้ ในการประเมินผลโครงการในภาพรวมฯ พบว่า เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 3,184,358.34 ล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จำนวน 796,849.53 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมที่คาดว่ารัฐจะได้รับกลับคืนสูงสุด ภายในระยะเวลา 3 ปี จำนวน 630,157.49 ล้านบาท และสามารถรักษาการจ้างงานในช่วงที่มีการดำเนินโครงการสะสม จำนวน 20.51 ล้านอัตรา รวมทั้งเกิดการจ้างงาน การพัฒนาทักษะและการพัฒนาอาชีพ จำนวน 414,322 ราย นอกจากนี้ ผลการประเมินโครงการในภาพรวมตามหลักเกณฑ์การประเมินผล 5 ด้าน ประกอบด้วย ความสอดคล้องและความเชื่อมโยงประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ผลกระทบ และความยั่งยืน มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก
1.2 ผลการประเมินระดับแผนงานภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ สรุปได้ ดังนี้
1.2.1 แผนงานที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19
(1) การประเมินผลโครงการ จำนวน 51 โครงการ กรอบวงเงินรวม 63,398.96 ล้านบาท มีผลเบิกจ่ายรวม 59,051.04 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 93.14 ของกรอบวงเงิน มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก
(2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 63,559.74 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมที่คาดว่ารัฐจะได้รับกลับคืนสูงสุด ภายในระยะเวลา 3 ปี จำนวน 12,267.03 ล้านบาท รวมทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่ติดเชื้อโควิด-19 ยกระดับการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาการผลิตวัคซีน และเพิ่มความเชื่อมั่นของบุคลากรทางการแพทย์ต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย
(3) ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและอาสาสมัครสาธารณสุขได้รับค่าตอบแทน เยียวยา และชดเชยค่าเสี่ยงภัย รวมเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 6,222.14 ล้านบาท สถานพยาบาลและโรงพยาบาลทั่วประเทศได้รับการสนับสนุนครุภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวน 33,820 รายการ เช่น เครื่องช่วยหายใจ เครื่องเอกซเรย์ เครื่องตรวจความดัน รถพยาบาล วัสดุทางการแพทย์ และประชาชนได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 45.90 ล้านโดส
1.2.2 แผนงานที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19
(1) การประเมินผลโครงการ จำนวน 20 โครงการ กรอบวงเงินรวม 709,059.02 ล้านบาท มีผลเบิกจ่ายรวม 704,749.81 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 99.39 ของกรอบวงเงิน โดยมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก
(2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนาน 2,304,509.85 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมที่คาดว่ารัฐจะได้รับกลับคืนสูงสุด ภายในระยะเวลา 3 ปี จำนวน 444,837.87 ล้านบาท รวมทั้งช่วยชะลอการเกิดหนี้เสียหรือการเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือน บรรเทาผลกระทบครอบครัวจากเงินช่วยเหลือเยียวยาต่างๆ และลดความเครียด ความวิตกกังวลของประชาชน
(3) ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ มีประชาชนได้รับ การช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยรายได้ และบรรเทาค่าใช้จ่ายในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมมูลค่าทั้งสิ้น 704,749.72 ล้านบาท โดยมีผู้ได้รับผลประโยชน์ เช่น ประชาชนที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากโครงการเราชนะ จำนวน 32,866,393 ราย กลุ่มเปราะบาง จำนวน 6,663,602 ราย และเกษตรกร จำนวน 7,565,880 ราย
1.2.3 แผนงานที่ 3 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
(1) การประเมินผลโครงการ จำนวน 329 โครงการ กรอบวงเงินรวม 208,354.27 ล้านบาท มีผลเบิกจ่าย 185,538.47 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 89.05 ของกรอบวงเงิน โดยมีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับดีมาก
(2) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 816,288.75 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมที่คาดว่ารัฐจะได้รับกลับคืนสูงสุดภายในระยะเวลา 3 ปี จำนวน 173,052.59 ล้านบาท รวมทั้งชะลอการว่างงาน การเลิกจ้างงาน และรักษาระดับการจ้างงาน และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
(3) ผลผลิต ผลลัพธ์ และผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ เช่น สนับสนุน การจ้างงานและรักษาระดับการจ้างงานในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวน 237,884 ราย ยกระดับกำลังการผลิตผ่านการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่และพื้นที่ต้นแบบ “โคก หนอง นา” 2 รวมทั้งยกระดับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ จำนวน 55,651 แปลงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นการปรับปรุง ซ่อมแซม ถนน จำนวน 548 แห่ง และจัดการแหล่งน้ำต่างๆ ทั้งแหล่งน้ำชลประทาน แหล่งน้ำบาดาล และแหล่งน้ำธรรมชาติ จำนวน 782 แห่ง
2. รายงานการประเมินผลลัพธ์ต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ โดยใช้ 3 แบบจำลอง ดังนี้
2.1 แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาค เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบจากการมีโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ ว่าส่งผลต่อเป้าหมายเศรษฐกิจมหภาคอย่างไรแบ่งออกเป็น 8 ส่วน ดังนี้
2.1.1 ผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ (Gross domestic product GDP) การใช้จ่ายเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ จำนวน 950,590.60 ล้านบาท ส่งผลให้มูลค่า GDP รวมตั้งแต่ปี 2563-2566 เพิ่มขึ้น 0.80 ล้านล้านบาท และเมื่อพิจารณาตามแผนงาน พบว่า การใช้จ่ายเงินกู้ตามแผนงานที่ 2 ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมากที่สุดจำนวน 0.59 ล้านล้านบาท
2.1.2 ผลกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP Growth) การใช้จ่ายเงินกู้ฯ ส่งผลให้ Real GDP Growth เพิ่มขึ้นทั้งหมดร้อยละ 4.89 โดยในปี 2564 อัตราเติบโตเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ร้อยละ 2.48
2.1.3 ผลกระทบต่อ GDP ของจังหวัด (Gross Provincial Product GPP) การใช้จ่ายเงินกู้ฯ ส่งผลต่อ GPP สูงสุด 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (ส่วนเพิ่มจากการมีโครงการ 29,669.28 ล้านบาท) ชลบุรี (ส่วนเพิ่มจากการมีโครงการ 10,017.95 ล้านบาท) สมุทรปราการ (ส่วนเพิ่มจากการมีโครงการ 7,711.10 ล้านบาท) ปทุมธานี (ส่วนเพิ่มจากการมีโครงการ 7,169.12 ล้านบาท) และระยอง (ส่วนเพิ่มจากการมีโครงการ 4,134.43 ล้านบาท)3
2.1.4 ผลกระทบต่อการจ้างงาน การใช้จ่ายเงินกู้ฯ ส่งผลให้จำนวนการจ้างงานรวมตั้งแต่ปี 2563-2566 ของทุกสาขาการผลิตเพิ่มขึ้น จำนวน 850,676 ราย โดยโครงการที่มีการจ้างงานมากที่สุด ได้แก่ โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)4 โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน และโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษรทฤษฎีใหม่5
2.1.5 ผลกระทบต่อรายได้รัฐบาลต่อผู้มีงานทำ การใช้จ่ายเงินกู้ฯ ส่งผลให้รายได้ของรัฐบาลต่อผู้มีงานทำเพิ่มขึ้นรวมตั้งแต่ปี 2563-2566 จำนวน 39,738 บาท/คน โดยรายได้รัฐบาลดังกล่าวข้างต้น ประมาณร้อยละ 88 มาจากภาษีอากร และประมาณร้อยละ 12 มาจากรายได้จากรัฐวิสาหกิจ
2.1.6 ผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ การใช้จ่ายเงินกู้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อตั้งแต่ปี 2563-2566 ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 0.05 ต่อปี โดยในปี 2564 เพิ่มขึ้นมากที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 0.08 ซึ่งจากผลการประเมินดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่าการดำเนินโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเงินเฟ้อในปีที่มีโครงการโดยตรง
2.1.7 ผลกระทบต่อความยั่งยืนด้านการคลัง การใช้จ่ายเงินกู้ ฯ ส่งผลให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP รวมตั้งแต่ปี 2563-2566 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.54 ต่อปี แต่ยังคงอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง ซึ่งไม่เกินร้อยละ 70 (ในปี 2566 มีสัดส่วนหนี้อยู่ที่ร้อยละ 63)
2.1.8 ผลกระทบต่อผลผลิตที่ระดับศักยภาพ การใช้จ่ายเงินกู้ฯ ส่งผลให้ผลผลิตที่ระดับศักยภาพหรือผลผลิตสูงสุดที่ประเทศสามารถผลิตได้รวมตั้งแต่ปี 2563-2570 เพิ่มขึ้นจำนวน 3,358,321.22 ล้านบาท โดยตั้งแต่ปี 2567-2570 ผลผลิตที่ระดับศักยภาพจะเพิ่มขึ้นมากที่สุด เนื่องจากการมีโครงการบางประเภท เช่น โครงการอบรมเพื่อส่งเสริมการจ้างงานและโครงการที่มีการลงทุนซื้อเครื่องจักร ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานและผลิตภาพทุนสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้น แรงงานอาจยังไม่สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ได้ทันที แต่ในระยะยาวแรงงานจะเกิดความชำนาญจากการใช้เครื่องจักรเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดกระบวนการคิดวิเคราะห์เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะด้านต่างๆ ที่สูงขึ้นและสามารถสร้างผลผลิตได้เพิ่มขึ้น
2.2 แบบจำลองดุลยภาพทั่วไปเชิงพลวัต เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบจากการเชื่อมโยงภาคส่วนหลักต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะสะท้อนออกเป็นผลผลิตรายสาขาและผลิตทางสังคม ดังนี้
2.2.1 มูลค่าทางเศรษฐกิจที่แท้จริง (Real GDP6)
(1) ผลการวิเคราะห์ส่วนต่างของ Real GDP ระหว่างกรณีที่มีโครงการและไม่มีโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ โดยคัดเลือกโครงการที่มีสัดส่วนการใช้จ่ายเงินกู้ฯ สูงที่สุด จำนวน 19 โครงการ ซึ่งการใช้จ่ายเงินกู้ฯ กรณีที่มีโครงการฯ ส่งผลให้ Real GDP รวมทั้งหมดเพิ่มสูงขึ้น จำนวน 171,741.53 ล้านบาท และมีอัตราการเจริญเติบโต Real GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.36 อย่างไรก็ตาม กรณีที่ไม่มีโครงการฯ จะทำให้มูลค่า Real GDP มีเพียง 12,653,517.43 ล้านบาท
(2) ผลการวิเคราะห์ส่วนต่างของ Real GDP ระหว่างกรณีที่มีโครงการเงินโอนเพื่อเยียวยาหรือกระตุ้นการใช้จ่ายและกรณีที่ไม่มีโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ โดยคัดเลือกโครงการเงินโอนฯ จำนวน 11 โครงการ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการกำลังใจ และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ส่งผลให้มูลค่า Real GDP รวมเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด จำนวน 146,189.33 ล้านบาท
(3) ผลการวิเคราะห์ส่วนต่างของ Real GDP ระหว่างกรณีที่มีโครงการที่มีวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่โครงการเงินโอนฯ กับกรณีที่ไม่มีโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจ กค. กู้เงินฯ โดยคัดเลือกโครงการที่มีวัตถุประสงค์อื่นที่ไม่ใช่โครงการเงินโอนฯ จำนวน 8 โครงการ เช่น โครงการค่าบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” และโครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้มูลค่า Real GDP โดยรวมเพิ่มสูงขึ้น จำนวน 25,552.20 ล้านบาท
2.2.2 ผลผลิตรายสาขา การใช้จ่ายเงินกู้ฯ ส่งผลให้ผลผลิตรายสาขาทั้งหมดจาก 88 สาขาการผลิต (แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคการเกษตร จำนวน 68 สาขา เช่น การทำนา การทำไร่ผัก และการทำสวนผลไม้ และกลุ่มนอกภาคการเกษตร จำนวน 20 สาขา เช่น การผลิตชา กาแฟ และเครื่องดื่มกึ่งสำเร็จรูป ต่างๆ สถาบันการเงิน และการขนส่ง) เพิ่มขึ้น 1,308,511.58 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสาขาการผลิตที่มีมูลค่าผลผลิตมากที่สุดจากการใช้จ่ายเงินกู้ฯ คือ การค้าปลีก ซึ่งเพิ่มขึ้น 325,564.47 ล้านบาท
2.2.3 ผลผลิตทางสังคม แบ่งออกเป็น 2 ด้าน ดังนี้
(1) ด้านสาธารณสุข การใช้จ่ายงบประมาณของโครงการเกิดขึ้นในช่วงที่มีการผ่อนคลายนโยบายภาครัฐเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 (ช่วงวันที่เริ่มระบาด 1 มษายน 2564 เป็นต้นไป) โดยส่วนใหญ่เป็นการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์และสาธารณสุข
(2) ด้านการกระจายรายได้ การใช้จ่ายเงินกู้ฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจครัวเรือน โดยช่วยให้รายได้ของครัวเรือนโดยเฉลี่ยทุกระดับชั้นไม่ลดลง และสามารถลดระดับความเหลื่อมล้ำในการกระจายได้เพียงเล็กน้อย
2.3 แบบจำลองปัจจัยการผลิต เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบว่าเมื่อเงินกู้ฯ ลงไปในแต่ละภาคการผลิตจะมีผลกระทบทางตรงและทางอ้อม รวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจอื่นๆ อย่างไร เช่น การจ้างงานและค่าจ้างที่สูงขึ้น โดยการประเมินโครงการได้สุ่มตัวอย่างโครงการ/แผนงานทั้งหมด 400 โครงการ (จากทั้งหมด 1,088 โครงการ) กรอบวงเงิน 980,812.25 ล้านบาท ซึ่งพบว่า เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ จำนวน 3,184,358.34 ล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ จำนวน 756,849.53 ล้านบาท มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมที่คาดว่าจะได้รับกลับคืนสูงสุด ภายในระยะเวลา 3 ปี จำนวน 630,157.49 ล้านบาท และสามารถรักษาการจ้างงานในช่วงที่มีการดำเนินโครงการสะสม จำนวน 20.51 ล้านอัตรา รวมทั้งเกิดการจ้างงานการพัฒนาทักษะ และ การพัฒนาอาชีพ จำนวน 414,322 ราย
______________
1จากการประสานงานกับ กค. กรณีดังกล่าวนับตั้งแต่วันสิ้นสุดการขยายระยะเวลาโครงการ คือ 31 ธันวาคม 2565
2 “โคก หนอง นา” เป็นรูปแบบการแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ ซึ่งผสมผสานแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่กับภูมิปัญญาพื้นบ้านให้สอดคล้องกัน โดยแบ่งพื้นที่ขุดบ่อทำหนองและคลองไส้ไก่ ร้อยละ 30 ทำนา ปลูกข้าว ร้อยละ 30 ทำโคกหรือป่า ร้อยละ 30 และทำที่อยู่อาศัย ร้อยละ 10
3จากการประสานงานกับ กค. พบว่า จังหวัดที่มี GPP ต่ำที่สุด ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี ระยอง และสมุทรสงคราม
4โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย เป็นโครงการจ้างนิสิต นักศึกษา และประชาชน เพื่อไปทำงานร่วมกับชุมชนในตำบลทั่วประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาการว่างงานและความยากจนของชุมชน
5โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ เป็นโครงการจ้างงานเกษตรกรเพื่อพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางกลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่
6Real GDP หมายถึงปริมาณผลผลิตมวลรวมที่แท้จริงที่ประเทศผลิต โดยตัดผลกระทบ เช่น ค่าเงินเฟ้อ ออกไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 พฤษภาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5304