สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนมีนาคม 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 May 2023 02:03
- Hits: 2202
สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนมีนาคม 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าประจำเดือนมีนาคม 2566 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. สรุปภาพรวมดัชนีเศรษฐกิจการค้าเดือนมีนาคม 2566 ดังนี้
ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือนมีนาคม 2566 เท่ากับ 107.76 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเท่ากับ 104.79 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป สูงขึ้นร้อยละ 2.83 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ทำให้อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กำหนดไว้ สาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าอาหารที่ราคาชะลอตัวเกือบทุกกลุ่มสินค้า ทั้งไข่และผลิตภัณฑ์นม ผักและผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน นอกจากนี้ ฐานราคาที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อในปี 2565 อยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว สำหรับเฉลี่ยไตรมาสแรกของปี 2566 อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นร้อยละ 3.88
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ (ข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ 2566) พบว่า เงินเฟ้อไทยต่ำเป็นอันดับที่ 20 จาก 134 เขตเศรษฐกิจที่มีการประกาศตัวเลข ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าหลายเขตเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา อิตาลี สหราชอาณาจักร เม็กซิโก อินเดีย และเกาหลีใต้ รวมถึงประเทศในอาเซียน ทั้งลาว ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม
อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นร้อยละ 2.83 (YoY) ในเดือนนี้ เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวตามราคาสินค้าทั้งในหมวดอาหาร และหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหาร ดังนี้
หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 5.22 (YoY) ชะลอตัว ต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 5.74 สินค้าที่ราคาสูงขึ้น อาทิ ผักและผลไม้ (มะนาว กะหล่ำปลี แตงกวา แตงโม ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง) ตามปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดน้อย ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ราคาสูงขึ้นต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา แต่มีแนวโน้มชะลอตัว ข้าวสาร ตามโปรโมชัน ซีอิ๊ว น้ำพริกแกง กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) และน้ำอัดลม เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่ยังสูงกว่าเดือนมีนาคม 2565 ประกอบกับความต้องการมีอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ นอกจากนี้ อาหารสำเร็จรูป (กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง อาหารเช้า) ปรับขึ้นเล็กน้อย สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ผักคะน้า ผักชี ขึ้นฉ่าย กล้วยหอม ทุเรียน น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และมะขามเปียก
หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.22 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 2.47 สินค้าที่ราคายังคงสูงขึ้น อาทิ ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารสาธารณะ (แท็กซี่ เรือ รถเมล์เล็ก/สองแถว เครื่องบิน) น้ำมันเชื้อเพลิงบางประเภท (น้ำมันดีเซล ก๊าซยานพาหนะ (LPG) ค่าการศึกษา ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และสิ่งที่เกี่ยวกับความสะอาด (สบู่ถูตัว ยาสีฟัน น้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) นอกจากนี้ ค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมชาย/สตรี ค่าทำเล็บ) เพิ่มขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าสำคัญหลายรายการราคาลดลง ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มในภาพรวมชะลอตัวค่อนข้างมาก อาทิ น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มแก๊สโซฮอล์และเบนซิน เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) เสื้อผ้าบุรุษ หน้ากากอนามัย โฟมล้างหน้า ที่เขียนคิ้ว ผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผม ค่าสมาชิกเคเบิลทีวี เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ และค่าทัศนาจรในประเทศ
เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้นร้อยละ 1.75 (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่สูงขึ้นร้อยละ 1.93 (YoY)
ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนนี้ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ลดลงร้อยละ 0.27 (MoM) ตามราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ลดลงร้อยละ 0.53 สินค้าที่ราคาลดลงอาทิ เนื้อสัตว์ (เนื้อสุกร ไก่สด) ผักและผลไม้สด (แตงกวา ผักกาดขาว ผักบุ้ง กล้วยหอม มะม่วง องุ่น) เนื่องจากปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา รวมทั้ง น้ำมันพืช ปรับลดลงตามราคาวัตถุดิบ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม และอาหารโทรสั่ง (delivery) และสินค้าในหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ 0.08 ตามการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเกือบทุกประเกท หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า (เสื้อบุรุษ/สตรี) เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น น้ำยาล้างห้องน้ำ สบู่ถูตัว โฟมล้างหน้า น้ำหอม และผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว
2. แนวโน้มเงินเฟ้อ
แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 2 ปี 2566 มีแนวโน้มชะลอตัว เนื่องจากราคาสินค้าสำคัญหลายรายการมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อประกอบกับฐานราคาปี 2565 อยู่ระดับสูง และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การส่งออกของไทยที่ชะลอตัว และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาจจะส่งผลให้กำลังซื้อของภาคธุรกิจและประชาชนลดลง ซึ่งมีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้มที่ยังอยู่ระดับสูง รวมทั้งการขาดแคลนแรงงาน ยังคงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนอยู่ระดับสูง นอกจากนี้ เศรษฐกิจของไทยที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเทศกาลสงกรานต์ วันหยุดยาว และการหาเสียงของพรรคการเมือง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น และจะส่งผลต่อ อุปสงค์โดยรวม ราคาสินค้าและบริการ ตามลำดับ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ปรับตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2566 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน จากระหว่างร้อยละ 2.0 - 3.0 (ค่ากลาง 2.5) เป็นระหว่างร้อยละ 1.7 - 2.7 (ค่ากลาง 2.2) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนมีนาคม 2566 อยู่ที่ระดับ 52.3 ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 (นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565) แม้ว่าจะปรับลดลงเล็กน้อยจากระดับ 52.5 ในเดือนก่อนหน้า เป็นการปรับลดลงทั้งดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน และในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) สาเหตุการปรับลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในช่วงเชื่อมั่นโดยรวมมาจาก (1) เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว และการบริโภคในประเทศ (2) ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการปรับลดลง โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (3) มาตรการลดค่าครองชีพและการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ อาทิ การตรึงค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือน และโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 และ (4) พรรคการเมืองเริ่มหาเสียงเพื่อเลือกตั้งในกลางเดือนพฤษภาคมนี้ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น รวมทั้งประชาชนส่วนมากคาดหวังที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการเมืองส่งผลให้ความเชื่อมั่นอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังมีความกังวลต่อภาระค่าครองชีพที่ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนในระยะต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 พฤษภาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5303