การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 10 May 2023 01:23
- Hits: 2200
การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT ที่จะมีการรับรองในการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 และเห็นชอบให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติสามารถปรับปรุงถ้อยคำในเอกสารดังกล่าวได้ในกรณีที่มิใช่การเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบอีก
2. เห็นชอบให้นายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ได้ร่วมกับผู้นำประเทศแผนงาน IMT-GT ให้การรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับผู้นำครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566
สาระสำคัญร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 14 แผนงาน IMT-GT
1. ยินดีต่อความสำเร็จที่สำคัญของ IMT-GT ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ในการพัฒนาการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดช่องว่างการพัฒนาภายในประเทศและระหว่างประเทศสมาชิก และส่งเสริมบทบาทของประชาชนในความร่วมมืออนุภูมิภาค รวมทั้งการขยายความเชื่อมโยงจนครอบคลุม 35 รัฐและจังหวัด ผ่านระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 แนว ภายใต้แผนงาน IMT-GT
2. ตระหนักถึงความท้าทายที่ยากลำบากจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกและความต่อเนื่องของการฟื้นตัวภายหลังการแพร่ระบาด พร้อมทั้งผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงทางอาหารในการพัฒนาของอนุภูมิภาคและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ยังคงมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับความท้าทายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
3. ยืนยันความพยายามในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวภายหลังการแพร่ระบาด โดยการเปิดตัวแคมเปญ ปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT พ.ศ. 2566-2568 เพื่อร่วมกันฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยว โดยสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนจัดทำกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับแคมเปญดังกล่าวเพื่อผลักดันให้อนุภูมิภาค IMT-GT เป็นจุดหมายปลายทางหนึ่งเดียวด้านการท่องเที่ยว
4. เน้นย้ำถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านอาหารและความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทานในอนุภูมิภาค โดยยังคงมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้อนุภูมิภาคในฐานะฐานการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรอื่นๆ ในระดับโลก ผ่านการนำเทคโนโลยีอุตสาหกรรมการเกษตรมาใช้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตร และสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดร่วมมือกันยกระดับมูลค่าของสินค้าเกษตร เช่น น้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ยางในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก
5. ยืนยันความมุ่งมั่นในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลเพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์กลางฮาลาลระดับโลก เห็นควรให้ผู้เกี่ยวข้องริเริ่มโครงการที่เป็นรูปธรรมเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบนิเวศฮาลาลในอนุภูมิภาค พร้อมทั้งส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการฮาลาลสู่ตลาดฮาลาลแห่งใหม่ผ่านการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ รวมทั้งเร่งนำใช้เทคโนโลยีระบบการเก็บข้อมูลฮาลาล (Halal Blockchain) และส่งเสริมการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาล
6. เน้นย้ำความสำคัญของโครงการเชื่อมต่อทางกายภาพ (PCPs) โดยรับทราบถึงความคืบหน้าในการพัฒนาโครงการจำนวน 36 โครงการทั่วอนุภูมิภาค ซึ่งมีมูลค่ากว่า 57 พันล้านเหรียญ สรอ. และขอให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งติดตามการดำเนินการโครงการให้แล้วเสร็จเพื่อส่งเสริมการเชื่อมต่อหลายรูปแบบอย่างต่อเนื่องตามแนวระเบียงเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค
7. มุ่งแสวงหาเครือข่ายด้านการค้าและปรับปรุงมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าและส่งเสริมการหมุนเวียนของการลงทุน ผ่านการพัฒนาโครงการด้านการค้าและเขตอุตสาหกรรมตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ได้รับทราบความคืบหน้าของความร่วมมือในอุตสาหกรรมยางอันเนื่องมาจากการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับภาคอุตสาหกรรมยางใน IMT-GT ในฐานะผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก
8. เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลในการเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาค โดยขอให้ยกระดับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและความเชื่อมโยงทางดิจิทัลในอนุภูมิภาคต่อไปเพื่อการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลที่ครอบคลุม ตลอดจนส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดน การอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ และยกระดับคุณภาพชีวิต
9. ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และหุ้นส่วนการพัฒนาต่างๆ อาทิ ธนาคารพัฒนาเอเชีย ที่มีต่อการเร่งรัดการดำเนินโครงการและการพัฒนาอนุภูมิภาคให้มีความก้าวหน้า โดยขอให้ภาคส่วนต่างๆ ริเริ่มโครงการพัฒนาแนวพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 6 แนว เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงระหว่างกันในอนุภูมิภาค
ประโยชน์ของประเทศไทย ในการเข้าร่วมการประชุมฯ มีดังนี้
1. ส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากการพัฒนาความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคภายใต้แผ่นงาน IMT-GT ในการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดประสานกันระหว่างไทยและประเทศเพื่อนบ้านทั้งในระดับส่วนกลางและท้องถิ่นในทุกสาขาความร่วมมือ รวมทั้งสาขาความร่วมมือใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ
2. สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างประเทศเพื่อการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เช่น อุตสาหกรรมยางพารา ปาล์มน้ำมัน และฮาลาล รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในกิจการที่ไทยมีศักยภาพ เพื่อเชื่อมต่อห่วงโซ่มูลค่าและกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน
3. มีบทบาทนำในด้านการท่องเที่ยวเนื่องมาจากการดำเนินโครงการภายใต้แคมเปญปีแห่งการท่องเที่ยว IMT-GT พ.ศ. 2566-2568 และกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 30 ปี แห่งการจัดตั้งแผนงาน IMT-GT ในปี 2566 อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ทั้งนี้ การประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT (The 15thiMT-GT Summit) กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมเมอรุโอราห์ โคโมโด ลาบวน บาโจ (Meruorah Komodo Labuan Bajo) เมืองลาบวน บาโจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 โดยจะมีการรับรองร่างแถลงการณ์ร่วมของการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 15 แผนงาน IMT-GT (JointStatement of the 15t IMT-GT Summit) ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่มีข้อขัดข้องต่อร่างแถลงการณ์ฯ และเห็นว่าร่างแถลงการณ์ร่วมฯ ไม่ได้ใช้ถ้อยคำหรือมีบริบทใดที่มุ่งก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศ ร่างแถลงการณ์ร่วมฯ จึงไม่เป็นสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศและไม่เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 9 พฤษภาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5296