ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนตลาดแรงงานไทยเพื่อก้าวผ่านยุคโควิด - 19 : การปรับตัวของแรงงานทุกกลุ่มทุกช่วงวัย เพื่อความก้าวหน้ามั่นคงและยั่งยืน ของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 03 May 2023 00:24
- Hits: 1553
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนตลาดแรงงานไทยเพื่อก้าวผ่านยุคโควิด - 19 : การปรับตัวของแรงงานทุกกลุ่มทุกช่วงวัย เพื่อความก้าวหน้ามั่นคงและยั่งยืน ของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนตลาดแรงงานไทยเพื่อก้าวผ่านยุคโควิด - 19 : การปรับตัวของแรงงานทุกกลุ่มทุกช่วงวัย เพื่อความก้าวหน้า มั่นคงและยั่งยืน ของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการขับเคลื่อนตลาดแรงงานไทยเพื่อก้าวผ่านยุคโควิด - 19 : การปรับตัวของแรงงานทุกกลุ่มทุกช่วงวัย เพื่อความก้าวหน้า มั่นคงและยั่งยืน ของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภามา เพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะใน 5 ประเด็น ได้แก่ (1) การสนับสนุนงานเดิม โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานผ่านการใช้นโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนคลายให้สินเชื่อและสนับสนุนเงินทุนแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและสาธารณสุข (2) การเพิ่มเติมงานใหม่ โดยสนับสนุนผู้ประกอบการ สร้างงานและรายได้ และบรรเทาภาระทางการเงินและภาษีเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ (3) การคุ้มครองให้ปลอดภัย โดยส่งเสริมมาตรการด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัยในที่ทำงาน เพิ่มความยึดหยุ่นในการทำงาน ส่งเสริมให้ทุกคนเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพ และขยายสิทธิการลางานที่ยังได้รับเงิน (4) การร่วมแก้ไขและหารือโดยการสนับสนุนให้เกิดการหารือทางสังคมและการเจรจาต่อรองระหว่างลูกจ้าง นายจ้างและรัฐบาล และ (5) การมุ่งพัฒนาฝีมือ ยกระดับไทยก้าวไกลยั่งยืน โดยสนับสนุนการพัฒนาทักษะแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รักษาการทำงานในอนาคต และรักษาผลิตภาพในการแข่งขันโดยคำนึงถึงผลิตภาพแรงงานให้ยังคงผลิตภาพการแข่งขัน
2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ รง. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
รง. ได้พิจารณาร่วมกับหน่วยงานตามข้อ 2 เพื่อพิจารณาศึกษารายงานและข้อเสนอแนะดังกล่าว โดย รง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นด้วยกับรายงานดังกล่าวและมีผลการพิจารณาที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็นข้อเสนอแนะ ของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณา |
|
1. การสนับสนุนงานเดิม |
||
มาตรการระยะเร่งด่วน • รักษาการทำงานโดยประคองแรงงานและธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง และกลุ่มเจ้าของธุรกิจส่วนตัว
|
• รง. ได้มีการดำเนินการ ดังนี้ - กรมการจัดหางานได้กำหนดมาตรการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม โดยให้กลุ่มคนต่างด้าวดังกล่าวสามารถทำงานในราชอาณาจักรต่อไปได้ รวมทั้งได้มีการออกประกาศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการในการจัดหาที่พักให้แก่ลูกจ้าง ต้องจัดหาอย่างถูกสุขลักษณะ - กรมการจัดหางาน โดยกองทุนเพื่อผู้รับงานไปทำที่บ้าน ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้รับงานไปทำที่บ้านจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับผู้กู้รายใหม่ นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคมยังได้ดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน - กรมการจัดหางานและกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ดำเนินการส่งเสริมการประกอบอาชีพโดยให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ และฝึกอาชีพเพิ่มทักษะให้กับกลุ่มแรงงาน รวมทั้งแนะนำแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพด้วย • กค. ได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินมาตรการด้านการเงินผ่านสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อช่วยส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง และกลุ่มเจ้าของธุรกิจส่วนตัวให้สามารถข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ |
|
• ให้แรงงานและครอบครัวเข้าสู่ระบบการร้องทุกข์และรับความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว และสนับสนุนทุนเพื่อให้ครอบครัวแรงงานยังชีพได้ช่วงที่รายได้ลดลง |
• รง. ได้จัดให้มีระบบติดตามและร้องเรียนที่เข้าถึงได้โดยง่ายผ่านระบบออนไลน์ได้แก่ เว็บไชต์ของกรมการจัดหางาน เว็บไซต์ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคม • รง. โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ดำเนินการส่งเสริมจัดสวัสดิการแบบมีส่วนร่วมโดยให้ลูกจ้างเพาะปลูกพืชผักสวนครัว ทำการเกษตรในที่ดินหรือพื้นที่ว่างเปล่าภายในสถานประกอบกิจการ เพื่อการบริโภคและการจำหน่ายอันเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ในครัวเรือนของลูกจ้าง |
|
• กำหนดแนวทางนโยบายที่ชัดเจนในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในช่วงวิกฤต |
• รง. โดยกรมการจัดหางาน ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนระเบียบ นโยบาย หรือมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของนายจ้าง/สถานประกอบการที่ขาดแคลนแรงงาน โดยการผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่มีสถานะไม่ถูกต้องให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้นายจ้าง/สถานประกอบการสามารถขับเคลื่อนกิจการได้อย่างต่อเนื่อง • รง. โดยกรมการจัดหางาน ได้จัดระบบการจ้างคนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป - กลับ หรือตามฤดูกาล ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สำหรับแรงงานสัญชาติกัมพูชาและสัญชาติเมียนมา • รง. ได้กำหนดแนวทางในการให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ถูกกักตัวโดยให้ความช่วยเหลือด้านอาหาร และขับเคลื่อนมาตรการ Bubble and Seal ในแคมป์แรงงาน รวมทั้งมีการทบทวนการลดค่าใช้จ่ายในกระบวนการขึ้นทะเบียนและ ขอใบอนุญาตทำงานให้แรงานและนายจ้างในภาวะวิกฤตด้วย |
|
มาตรการระยะกลาง - ยาว • พัฒนาศักยภาพแรงงานเพื่อการจ้างงานและการสร้างงานโดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัลขยายโอกาสพัฒนาทักษะการทำงานให้มีราคาถูกและเข้าถึงได้ สร้างช่องทางอาชีพจากธุรกิจใหม่และ ลดการผูกขาดและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนเรื่องการควบคุมโรคระบาด |
• อว. ได้ให้ความสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ที่สอดคล้องต้องตามกระแสโลกอย่างต่อเนื่อง โดยหลักสูตรต่างๆจะต้องได้รับการปรับปรุงและพัฒนาให้ทันสมัยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้เรียนมีความพร้อมในการประกอบอาชีพ รองรับกระแสการปรับตัวในการใช้ชีวิตวิถีใหม่ได้โดยได้ดำเนินงานโครงการสร้างและพัฒนากำลังคน เพื่อให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยมีทักษะความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะทักษะด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เพื่อลด Skill Gap รวมถึงสามารถตอบสนองรองรับการทำงานของคนยุคใหม่ตามความต้องการของภาคผู้ใช้กำลังคนและตลาดแรงงาน • ศธ. โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยได้ดำเนินโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน เป็นการอบรมทักษะดิจิทัลให้กับประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งมีหลักสูตรการค้าออนไลน์ สอนการค้าออนไลน์ผ่าน Facebook และสื่อโซเชียลอื่นๆ ให้เป็นช่องทางในการหารายได้เสริมกับประชาชนอีกช่องทางหนึ่ง • รง. ได้ดำเนินการส่งเสริมสวัสดิการแรงงานด้านการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ และสร้างรายได้เสริม รวมทั้งพัฒนาทักษะดิจิทัลแก่ธุรกิจชุมชนเพื่อขยายช่องทางทำธุรกิจออนไลน์ |
|
• พัฒนาระบบฐานข้อมูลแรงงานจากข้อมูลจากการลงทะเบียนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และข้อมูลเดิมที่มีอยู่ |
• รง. มีการดำเนินการ ดังนี้ 1. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการใช้มาตรการหยุดกิจการชั่วคราว เพื่อลดปัญหาการเลิกจ้างของสถานประกอบกิจการ 2. สำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการนำฐานข้อมูลจากการลงทะเบียนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และข้อมูลที่มีอยู่เดิม ไปประมวลผลเพื่อสนับสนุนภารกิจ การรับเงินเยียวยาให้กับนายจ้างและผู้ประกันตน |
|
• สร้างระบบติดตามและร้องเรียนที่เข้าถึงได้ง่ายให้เหมาะสมและยืดหยุ่นต่อวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต |
• รง. โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้พัฒนาระบบการให้บริการประชาชนผ่านระบบ e - Service ดังนี้ 1. กรณีลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและประสงค์ยื่นคำร้องเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินอย่างหนึ่งอย่างใด สามารถยื่นคำร้องผ่านระบบ e – Service ผ่านเว็บไซต์ของ รง. 2. กรณีลูกจ้างไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการจ้างงาน นายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ลูกจ้างสามารถขอคำปรึกษาเจ้าหนี้และเข้าถึงช่องทางการร้องเรียนผ่านเว็บไชต์กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ โดยมีพนักงานตรวจแรงงานให้บริการได้โดยสะดวกรวดเร็ว |
|
• พิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งธนาคารแรงงาน | • รง. เห็นควรศึกษา วิเคราะห์กฎหมาย กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง พิจารณาถึงผลดีและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว รวมถึงการมีส่วนร่วมของนายจ้าง ลูกจ้างและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการเงิน การธนาคาร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งธนาคารดังกล่าว | |
2. การเพิ่มเติมงานใหม่ |
||
มาตรการระยะเร่งด่วน • ส่งเสริมการจ้างงานที่มีคุณค่าโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการร่วมมือกัน |
• รง. ได้มีการดำเนินการต่างๆ เช่น 1. มีมาตรการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ โดยดำเนินการโครงการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ โดยภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยเหลือให้ผู้จบการศึกษาใหม่ได้รับโอกาสการจ้างงาน โดยรัฐอุดหนุนค่าจ้างลูกจ้างในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างตามตกลง ไม่เกินเดือนละ 7,500 บาทต่อคนต่อเดือน 2. ส่งเสริมการมีงานทำให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกช่วงวัยมีงานทำ รวมถึง กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้พ้นโทษ นักเรียนหรือนักศึกษา ที่ประสงค์จะทำงานให้มีโอกาสเข้าถึงการจ้างงาน 3. ดำเนินโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในระบบประกันสังคมที่มีลูกจ้างไม่เกิน 100 คน ให้ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง สร้างความแข็งแรง และฟื้นฟูกิจการให้ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง • กค. ได้ดำเนินมาตรการสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม (SMEs) เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมากขึ้น ผ่านการตรากฎหมายและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว • รง. โดยกรมการจัดหางาน ได้พัฒนาแพลตฟอร์มไทยมีงานทำซึ่งพัฒนาขึ้นสำหรับคนหางานที่กำลังมองหางานที่เหมาะสมกับตนเอง โดยรวบรวมตำแหน่งงานจากภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้สามารถหางานที่ตรงกับตนเองมากที่สุด |
|
• พัฒนาระบบการจับคู่คนหางานและงานที่มีอยู่ (Job Matching) |
• รง. โดยกรมการจัดหางาน ได้จัดทำโครงการแรงงานไทยกลับถิ่นสำหรับคนไทยที่เดินทางกลับจากการทำงานในต่างประเทศภายหลังสิ้นสุดสัญญาจ้างในต่างประเทศเพื่อสร้างงานให้ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศดังกล่าว • ศธ. โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยได้ดำเนินการจัดการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นให้กับประชาชนทั่วไปที่สอดรับกับอุปสงค์แรงงานในการให้ประชาชนได้นำไปต่อยอดอาชีพเดิม สร้างอาชีพใหม่ เพิ่มรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาสู่วิสาหกิจชุมชนที่รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศ |
|
• ส่งเสริมให้แรงงานเป็นผู้สร้างงาน | • รง. ได้ดำเนินโครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจากจบการศึกษาภาคบังคับ เพื่อให้นักเรียนที่มีฐานะยากจนและขาดโอกาสมีทักษะด้านอาชีพ รวมทั้งดำเนินงานขับเคลื่อน 1 โครงการ 1 จังหวัด 1 หลักสูตร (Smart Farmer) เพื่อส่งเสริมเกษตรอัจฉริยะ | |
มาตรการระยะกลาง - ยาว • ลดช่องว่างทางทักษะ |
• รง. ได้ดำเนินการต่างๆ เช่น - กรมการจัดหางานได้จัดทำแผนการดำเนินงานขับเคลื่อนงานบริหาร Agenda (Roadmap) ระบบช่วยเหลือผู้ว่างงานให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้บริการสำหรับผู้ว่าจ้างและแรงงานผ่านระบบออนไลน์ - กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้มีการยกระดับแรงงานให้มีความรู้และทักษะตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน และผ่านเกณฑ์มาตรฐานฝีมือแรงงานเพื่อให้ได้รับอัตราค่าจ้างที่สูงขึ้น รวมทั้งฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะด้าน Soft skill ตลอดจนถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับแรงงานโดยกำหนดหลักเกณฑ์การให้เงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนแก่สถานประกอบกิจการเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมฝีมือแรงงานเพื่อพัฒนาทักษะในการสร้างสรรค์นวัตกรรม • มท. ได้มีการฝึกอบรมเพิ่มทักษะการพัฒนากสิกรรมสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียงและสร้างและพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ ผ่านการพัฒนา บ่มเพาะและยกระดับด้วยการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ
|
|
• สร้างงานใหม่ในภาคการผลิตและบริการในอนาคต |
• รง. ได้ดำเนินการต่างๆ เช่น - กรมการจัดหางานได้เตรียมความพร้อมเพื่อให้แรงงานสามารถปรับตัวได้สอดคล้องกับรูปแบบการทำงาน อาชีพ และแนวโน้มตลาดแรงงานในอนาคตโดยจะมีอาชีพใหม่ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ส่วนใหญ่เป็นอาชีพที่ทำงานกับเทคโนโลยี - กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติจัดทำโครงการร่วมมือการพัฒนาทักษะสร้างความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาอาชีพสู่สังคมดิจิทัลสำหรับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส • ศธ. ได้ดำเนินโครงการขับเคลื่อนและยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกด้วยการปรับการเรียนการสอนให้ทันสมัยเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีรวมทั้งได้ดำเนินการจัดการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นให้กับประชาชนทั่วไป |
|
3. การคุ้มครองให้ปลอดภัย |
||
มาตรการระยะเร่งด่วน • เยียวยาและคุ้มครองแรงงานทุกคนตามมาตรฐานงานที่มีคุณค่า |
• รง. โดยสำนักงานประกันสังคม ได้ดำเนินการพัฒนาช่องทางการยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนผ่านอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงสิทธิได้ง่ายรวมทั้งได้พัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลแรงงานแห่งชาติและพัฒนาระบบวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ด้านแรงงาน เพื่อพัฒนากำลังแรงงานของประเทศโดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการบริการประชาชน |
|
• ส่งเสริมให้แรงงานเข้าถึงสิทธิต่างๆ รวมทั้งรับรู้หน้าที่และสิทธิแรงงาน | • รง. โดยสำนักงานประกันสังคม มีระบบการติดตามเรื่องร้องเรียน โดยดำเนินงานผ่านเว็บแอปพลิเคชันและโมบายแอปพลิเคชันที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกพร้อมทั้งมีการเชื่อมโยงกับระบบบริการต่างๆ นอกจากนี้ ปัจจุบัน รง. ได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องสื่อพื้นฐาน และสื่อโซเชียลมีเดีย เครือข่ายสังคมออนไลน์โดยสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องในรูปแบบสื่อที่เข้าใจง่าย | |
มาตรการระยะกลาง - ยาว • สร้างระบบการเข้าถึงสิทธิที่แรงงานเข้าถึงได้ง่ายสะดวก รวดเร็ว |
• รง. โดยสำนักงานประกันสังคม อยู่ระหว่างพัฒนาโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางเชื่อมต่อบริการประกันสังคมให้แก่ผู้ประกันตนอย่างเจาะจง โดยเป็นบริการข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์พร้อมใช้แบบครบวงจรให้กับผู้ประกันตนในความคุ้มครองของกองทุนประกันสังคมทุกมาตรา |
|
• สร้างระบบประกันสังคมแบบถ้วนหน้าและเหมาะสมกับแรงงานแต่ละกลุ่ม | • รง. โดยสำนักงานประกันสังคม พิจารณาแล้วเห็นว่า การสร้างระบบประกันสังคมแบบใหม่นั้นต้องมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสร้างระบบประกันสังคมแบบถ้วนหน้าและเหมาะสมกับแรงงานแต่ละกลุ่ม | |
• บังคับใช้กฎหมายให้แรงงานลงทะเบียนเป็นผู้ประกันตน | • รง.โดยสำนักงานประกันสังคม มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายให้นายจ้างดำเนินการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน โดยให้นายจ้างมีหน้าที่ยืนแบบรายการขึ้นทะเบียนผู้ประกันตนแก่ลูกจ้างที่มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบห้าปีบริบูรณ์และไม่เกินหกสิบปีบริบูรณ์ภายในสามสิบวันนับแต่รับลูกจ้างเข้าทำงาน ทั้งนี้ หากนายจ้างฝ่าฝืนย่อมมีความผิดตามกฎหมาย | |
• ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องหน้าที่และสิทธิของแรงงานสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมและการเข้าถึงระบบการร้องเรียน | • ศธ. โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยได้กำหนดเนื้อหาความรู้ด้านแรงงานไว้ในหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาต่อเนื่อง และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ | |
4. การร่วมแก้ไขและหารือ |
||
• นายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐหาทางออกร่วมกัน โดยอาจปรับใช้มาตรการและแนวทางบรรเทาปัญหาการเลิกจ้างและแนวปฏิบัติส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์ในภาวะวิกฤตเมื่อปี พ.ศ. 2541 และ พ.ศ. 2551 รวมทั้งให้เครือข่ายองค์กรชุมชนและภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหาทางออก |
• พม. พิจารณาแล้วเห็นว่าข้อเสนอแนะในเรื่องนี้มีความเหมาะสม แสดงถึงกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างนายจ้าง - ลูกจ้าง มีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะระหว่างกัน ส่งผลให้เกิดการมีปฏิสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยการเคหะแห่งชาติ มีแนวทางบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลอย่างเป็นระบบ มีกลยุทธ์การพัฒนาสมรรถนะ เสริมสร้างความเป็นมืออาชีพ เพิ่มกระบวนการเรียนรู้ นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ภายใต้แผนแม่บทการบริหารทุนมนุษย์การเคหะแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2570 ที่ใช้เป็นเครื่องมือวางแผนการบริหารและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เช่น การปรับเปลี่ยนวิถีการทำงานการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร การสรรหาและรักษาบุคลากร และการพัฒนาบุคลากรอย่างมืออาชีพ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อบุคลากรและการเปลี่ยนแปลงด้านขีดความสามารถและอัตรากำลังของพนักงานทุกระดับ |
|
5. การมุ่งพัฒนาฝีมือ ยกระดับไทยก้าวไกลยั่งยืน |
||
มาตรการระยะเร่งด่วน • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีและการสื่อสารให้มีราคาถูก มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้ง่าย |
• อว. ได้จัดทำปรัชญาการอุดมศึกษาไทยและระบบอุดมศึกษาใหม่ด้านการสร้างบัณฑิตและพัฒนากำลังคน เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษากำหนดเป็นนโยบายและเป้าหมายที่ชัดเจนในการสร้างบัณฑิต และพัฒนากำลังคนบนความเชี่ยวชาญและอัตลักษณ์ของสถาบัน รวมทั้งขับเคลื่อนการผลิตและพัฒนากำลังคนตามปรัชญาดังกล่าวโดยการจัดทำ Skill Mapping เพื่อเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูลด้านอุปสงค์ให้ได้ทักษะที่ผู้ใช้บัณฑิตต้องการ ปรับเปลี่ยนให้ผู้เรียนมีทักษะความรู้ใหม่ๆ และสามารถรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้เทคโนโลยี • กษ. เห็นควรให้มีการพัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer ที่มีความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านเกษตร เพื่อพัฒนาศักยภาพ และเพิ่มการวิเคราะห์ทางการตลาดและช่องทางจำหน่าย รวมทั้งจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เชิงธุรกิจเภษตร ด้วยนวัตกรรมและแนวคิดสร้างสรรค์ เพื่อสร้างแนวคิดเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้ประกอบการเกษตร เสริมสร้างความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจและการแสวงหาโอกาส
|
|
• พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกการทำงานโดยคำนึงถึงสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน |
• รง. โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการดำเนินการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับลูกจ้างของตน โดยกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป จัดให้มีการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับลูกจ้างของตนในสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของลูกจ้างเฉลี่ยทั้งปี • กค. ได้ดำเนินมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานที่สำคัญ 3 มาตรการ ดังนี้ 1. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักรายจ่ายในการฝึกอบรม พัฒนาฝีมือแรงงานได้ 2 เท่า 2. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจ้างบุคลากรที่มีทักษะสูง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นเงินเดือน ตามสัญญาจ้างแรงงานให้แก่ลูกจ้างที่มีทักษะสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยให้หักได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนค่าจ้างที่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อเดือน 3. มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูง บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2.5 เท่า ของรายจ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งลูกจ้างเข้ารับการศึกษาหรือฝึกอบรมหรือค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรมลูกจ้างในหลักสูตรที่เพิ่มทักษะด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์หรือคณิตศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 • ศธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ดำเนินการพัฒนาสถานศึกษาเพื่อรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติตามโครงการความร่วมมือส่งเสริมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยพัฒนาหลักสูตรกิจกรรมนำร่องที่สอดคล้องกับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) เสริมสร้างสมรรถนะ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอุตสาหกรรม และตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมในพื้นที่ ให้แก่ครูและนักเรียน เพื่อการพัฒนาที่ต่อเนื่องและเตรียมพร้อมรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต ขอบเขตเนื้อหาหลักสูตรส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิต สู่ S-Curve และ New S-Curve |
|
มาตรการระยะกลาง - ยาว • ส่งเสริมการทำงานผ่านนโยบายระดับชุมชน |
• รง. โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีแนวทางในการสนับสนุนช่วยเหลือแรงงานในภาคเกษตรให้เคลื่อนย้ายกลับภูมิลำเนา โดยการฝึกอบรมให้แรงงานภาคเกษตรมีทักษะ ความรู้ เพื่อสนับสนุนการเกษตรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 • ศธ. โดยสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยได้ดำเนินการจัดการฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นให้กับประชาชนทั่วไป เพื่อให้ประชาชนได้นำไปต่อยอดอาชีพเดิม สร้างอาชีพใหม่ เพิ่มรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาสู่วิสาหกิจชุมชนที่รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของประเทศ
|
|
• พัฒนาการศึกษาที่ส่งเสริมการทำงาน |
• ศธ. ได้มีการดำเนินการต่างๆ เช่น 1. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการส่งเสริมการเรียนรู้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอัจฉริยะให้กับผู้เรียนระดับมัธยมศึกษา โดยดำเนินการกับโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษของภูมิภาค ซึ่งเป็นโรงเรียนคุณภาพพิเศษ จำนวน 12 โรงเรียน ให้เป็นโรงเรียนนำร่องเพื่อให้ผู้เรียนบูรณาการความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ เครื่องจักรกล คอมพิวเตอร์และทักษะการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ ในการออกแบบนวัตกรรมที่เอื้อการดำรงชีวิต และสามารถต่อยอดสู่การศึกษาต่อและการประกอบอาชีพในอนาคต 2. สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยได้ดำเนินการจัดการศึกษาให้กับประชาชนกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อเสริมสร้างการมีสุขภาวะที่ดี มีงานทำ มีรายได้ โดยได้จัดทำโครงการ “การจัดและส่งเสริมการจัดการศึกษาตลอดชีวิตเพื่อคงสมรรถนะทางกาย จิต และสมองของผู้สูงอายุ” ในรูปแบบกิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิตใน 5 มิติ ได้แก่ มิติสุขภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสภาพแวดล้อม มิติสังคม และมิติเทคโนโลยีและนวัตกรรม • รง. โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีนโยบายในการส่งเสริมการจัดการศึกษา พัฒนาทักษะทางอาชีพและส่งเสริมการมีงานทำ โดยเน้นพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่นักเรียนนักศึกษา ก่อนเข้าสู่ตลาดแรงงานให้เป็นแรงงานฝีมือ เป็นการสร้างความมั่นคง ด้านอาชีพ สร้างรายได้และมีงานทำ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดี และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานผ่านคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ และคณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 2 พฤษภาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A5061