รายงานผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ.2562 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 ธันวาคม 2564)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 April 2023 01:14
- Hits: 1469
รายงานผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ.2562 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 ธันวาคม 2564)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) รายงานผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564-31 ธันวาคม 2564) (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 มาตรา 6 วรรคสี่ที่บัญญัติให้ รง. จัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปีเกี่ยวกับสถานการณ์ จำนวนคดีการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการดำเนินงานในอนาคตเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานในงานประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนด) สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. รง. ได้ดำเนินการรวบรวมผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2564) จากหน่วยงานในสังกัด รง. และหน่วยงานอื่นประกอบด้วย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน สำนักงานประกันสังคมและกรมประมง ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน กฎหมายว่าด้วยการเดินเรือใน น่านน้ำไทย กฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว กฎหมายว่าด้วยการประมง กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน และกฎหมายว่าด้วยแรงานสัมพันธ์ โดยมีผลการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง ภายใต้กรอบนโยบาย 5 P ดังนี้
1.1 ด้านนโยบาย (Policy) รง. ได้สร้างกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน ได้แก่ (1) คณะอนุกรรมการป้องกันการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (2) คณะทำงานกำกับและติดตามการป้องกันปัญหาการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และ (3) คณะทำงานกำกับและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมง ทั้งนี้ ในปี 2564 ปลัดกระทรวงแรงงานได้แต่งตั้งคณะทำงานกำกับและติดตามการป้องกันปัญหาการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และคณะทำงานกำกับและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของ รง. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงาน เพื่อมุ่งสู่ Tier1* และมาตรการถอดรายการสินค้าออกจากรายการที่ถูกขึ้นบัญชี การใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ (List of Produced by Child Labor or Force Labor: TVPRA List)
1.2 ด้านการป้องกัน (Prevention) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รง. ได้มีมาตรการห้ามเคลื่อนย้ายแรงานต่างด้าวและได้มีการห้ามนำเข้าแรงงานต่างด้าวตามระบบ MOU ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ซึ่งในปี 2564 รง.โดยกรมการจัดหางานได้ดำเนินการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงและแปรรูปสัตว์น้ำ รวมทั้งสิ้น 129,248 ราย แบ่งเป็น แรงานสัญชาติเมียนมา 111,900 ราย แรงงานสัญชาติลาว 2,424 ราย แรงงานสัญชาติกัมพูชา 14,916 ราย และแรงงานสัญชาติเวียดนาม 8 ราย และจากข้อมูสสถิติแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงและเแปรรูปสัตว์น้ำได้ให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือผ่านศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว 2,686 ราย และส่งเสริมให้สถานประกอบการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีไปใช้เป็นแนวทางในการปรับปรุงสภาพการจ้างและสภาพการทำงานเพื่อพัฒนาไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับกฎหมาย ส่งผลให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้างและสถานประกอบกิจการ
1.3 ด้านการบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) รง. ได้ตรวจสอบสภาพการจ้างสภาพของการทำงาน และสภาพความเป็นอยู่ของแรงงาน ณ ศูนย์ควบคุม การแจ้งเรือเข้า-ออก ในพื้นที่ 22 จังหวัดชายทะเล และการตรวจเรือประมงกลางทะเล มีเรือประมงผ่านการตรวจ 47,529 ลำ แรงงานผ่านการตรวจ 590,782 ราย และพบการกระทำความผิด 30 ลำ ในจำนวนนี้เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานดำเนินการออกคำสั่ง 8 ครั้ง ดำเนินคดี 24 คดี [เป็นการกระทำความผิดฐานนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างผ่านบัญชีธนาคาร 15 คดี ฐานความผิดไม่จัดทำเวลาพัก 1 คดีและความผิดฐานไม่จัดทำสัญญาจ้าง 5 คดี (ข้อมูลระหว่างวันที่ 1 มกราคม-31 พฤษภาคม 2564)] รวมทั้งบูรณาการร่วมกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในการตรวจคุ้มครองแรงงานในเรือประมงกลางทะเลเพื่อตรวจสอบเรือประมง 431 ลำ มีแรงงานผ่านการตรวจ 5,423 ราย และพบการปฏิบัติไม่ถูกต้อง 8 ลำ
1.4 ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) ดำเนินการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้กับแรงงาน ต่างด้าวในกิจการประมงทะเล โดยผ่านกองทุนประกันสังคม 1,067 ราย จำนวน 18.63 ล้านบาท และกองทุนเงินทดแทน 249 ราย จำนวน 49.23 ล้านบาทในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เนื่องจากการทำงานในกิจการประมง
1.5 ด้านการมีส่วนร่วม (Partnership) รง. ได้ดำเนินโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shoer Rights Project) ร่วมกับสหภาพยุโรป (European Union: EU) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) เพื่อดำเนินการสำรวจข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ของแรงานประมงและแรงานแปรรูปอาหารทะเลให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 22 จังหวัดชายทะเลของไทย ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจ พบว่าสภาพการทำงานของแรงงานในอุตสาหกรรมการประมง และแปรรูปอาหารทะเลเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีเมื่อเทียบกับผลสำรวจปี พ.ศ. 2559 และได้ส่งเสริมให้ รง. สามารถให้สัตยาบันพิธีสาร ปี ค.ศ. 2014 ส่วนสริมอนุสัญญาองค์การแรงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยกระทรวงแรงงานบังคับ ค.ศ. 1930 และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง ค.ศ. 2007 รวมทั้งส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลจังหวัดสงขลา ร่วมกับศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว (Stella Maris) เพื่อช่วยเหลือแรงงานประมงทะเลให้ได้รับสิทธิตามกฎหมาย ซึ่งต่อมาโครงการฯ ขยายขอบเขตการดำเนินงานครอบคลุมประเทศในภูมิภาคอาเซียนแล้ว 7 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า สาธารณรัฐฟิลิปนส์ ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการฯ ระหว่างเดือนสิงหาคม 2563 - กรกฎาคม 2567 โดย EU เป็นหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการฯ รวมทั้งร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาดำเนินโครงการ Attaining Lasting Change for Better Enforcement of Labor and Criminal Law to Address Child Labor, Forced Labor and Human Trafficking Project (ATLAS Project) เป็นการยกระดับการบังคับใช้กฎหมายแรงงาน และกฎหมายอาญาเพื่อแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ เพื่อการแลกเปลี่ยนที่ยั่งยืนโดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการระหว่างปี 2562-2566 ซึ่งจะได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการและงบประมาณจากกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา (United States Department of Labor: USDOL) จำนวน 7.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดำเนินโครงการใน 4 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรไทย (เป็นประเทศนำร่อง) สาธารณรัฐปารากวัย และอีก 2 ประเทศ** ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยมีองค์กรวินร็อคอินเตอร์เนชั้นแนล (Winrock International) เป็นผู้ดำเนินโครงการฯ ประกอบด้วย 3 กิจกรรม ได้แก่ (1) การพัฒนากฎหมาย (2) การบังคับใช้กฎหมาย และ (3) การประสานงานที่มีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายและคุ้มครองทางสังคมที่เกี่ยวกับแรงงานเด็ก แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ ในปี 2564 ได้มีจัดการอบรมแล้ว จำนวน 3 รุ่น และมีผู้ผ่านการอบรม 115 คน
2. รง. ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานในอนาคตเพื่อให้แรงงานในงานประมงได้รับการคุ้มครองสิทธิสอดคล้องตามมาตรฐานสากล เช่น การกำหนดนโยบาย งบประมาณ บุคลากร หรือแผนงานเพื่อส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานในงานประมง ทั้งในน่านน้ำและนอกน่านน้ำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ การกำหนดกลไกในการดำเนินงานรวมถึงวางบรรทัดฐานในการคุ้มครองแรงงานประมงทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวให้ได้รับการช่วยเหลือและได้รับประโยชน์ตามกฎหมายอย่างเท่าเทียม และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อผลักดันให้กลไกของหน่วยงานภาครัฐ สามารถป้องกันการลักลอบไปทำงานประมงในต่างประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมุ้งเน้นการดำเนินงานในเชิงรุกเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาแรงงานถูกเอารัดเอาเปรียบที่อาจนำไปสู่การค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ
_______________
*รายการสถานการณ์การค้ามนุษย์ประจำปีที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาจัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี ตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ของทั่วโลกกับมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาและจัดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศต่างๆ แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ดังนี้
1. ระดับที่ 1 (Tier 1) หมายถึง ประเทศที่ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกาในการป้องกันและบังคับใช้กฎหมายการต่อต้านการค้ามนุษย์
2. ระดับที่ 2 (Tier 2) หมายถึง ประเทศที่มีการดำเนินการยังไม่สอคคล้องกับกฎหมายของสหรัฐอเมริกา แต่ได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์
3. ระดับที่ 2 ซึ่งต้องจับตามอง (Tier 2 Watch List) หมายถึง ประเทศที่มีลักษณะคล้ายระดับที่ 2 แต่มีรายงาบถึงเหยื่อการค้ามนุษย์ที่เพิ่มขึ้น หรือไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ารัฐบาลได้พยายามต่อต้านการค้ามนุษย์
4. ระดับที่ 3 (Tier 3) หมายถึง ประเทศที่ดำเนินการไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำตามกฎหมายของสหรัฐอเมริกาและไม่มีความพยายามแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์
**สาธารณรัฐไลบีเรีย และสาธารณรัฐอาร์เจนตินา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 เมษายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4841