รายงานประจำปี 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและผลการสอบบัญชี สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 April 2023 00:40
- Hits: 1508
รายงานประจำปี 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและผลการสอบบัญชี สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ดังนี้
1. รับทราบรายงานประจำปี 2565 ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษ ภาคตะวันออก ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ และให้เสนอ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบต่อไป
2. รับทราบผลการสอบบัญชี สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. รายงานประจำปี 2565 ของ สกพอ.
สกพอ. ได้จัดทำรายงานประจำปี 2565 โดยมีผลงานที่สำคัญ ดังนี้
ประเด็น |
การดำเนินการ |
|
1. โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ (EEC Project List) โดยมีโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแล้ว รวม 5 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 2) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก 3) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F 4) โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และ 5) โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (Maintenance Repair and Overhaul : MRO) |
• โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มีความก้าวหน้าของโครงการ เช่น มีการส่งมอบพื้นที่โครงการให้เอกชนตามคู่สัญญาดำเนินการ มีการออกแบบและก่อสร้างโครงการพื้นฐานเกี่ยวกับโครงการก่อนวันที่เริ่มต้นนับระยะเวลาโครงการ (เช่น งานก่อสร้างถนนและสะพานชั่วคราว งานก่อสร้างสำนักงานสนามและบ้านพักคนงาน) และการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ • โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีความก้าวหน้าของโครงการ เช่น มีการก่อสร้างทางวิ่งและทางขับที่ 2 และทางขับที่เกี่ยวข้อง มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่โครงการ (เช่น ระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น ระบบประปาและบำบัดน้ำเสีย และระบบน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน) และมีการชดเชยและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ • โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ท่าเทียบเรือ F มีความก้าวหน้าของโครงการ เช่น มีการถมทะเล มีการสร้างอาคารท่าเทียบเรือชายฝั่งและมีการชดเชยและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ • โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 มีความก้าวหน้าของโครงการ เช่น มีการก่อสร้างเขื่อนกันทรายในงานถมทะเล และมีการชดเชยและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโครงการ • โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) มีการชะลอโครงการ เนื่องจาก การบินไทยอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ และมีสถานะเป็นเอกชนจึงไม่สามารถดำเนินโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนได้ |
|
2. เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ เป็นพื้นที่ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายภายใน EEC โดยมี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ และ 2) เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม |
• เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการพิเศษ มีการจัดตั้งไปแล้ว 7 เขต รวมพื้นที่ประมาณ 18,314 ไร่ เช่น เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) เขตส่งเสริมรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (EECh) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) และเขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) • เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเพื่อกิจการอุตสาหกรรม มีการประกาศจัดตั้งแล้ว รวม 28 เขต รวมพื้นที่ประมาณ 96,892.42 ไร่ เช่น นิคมอุตสาหกรรมเหมราชอีสเทิร์น ซีบอร์ด 4 จังหวัดระยอง นิคมอุตสาหกรรม ทีเอฟ ดี 2 นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย คลีน นิคมอุตสาหกรรมโรจนะแหลมฉบัง และนิคมอุตสาหกรรมโรจนะหนองใหญ่ ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมทุกแห่งได้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว |
|
3. แผนผังการพัฒนาพื้นที่ EEC โดยแบ่งประเภทการใช้ที่ดินออกเป็น 4 กลุ่มตามการใช้ประโยชน์ที่ดิน ได้แก่ 1) พื้นที่พัฒนาเมืองและชุมชน 2) พื้นที่พัฒนาอุตสาหกรรม 3) พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม และ 4) พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม |
• กรมโยธาธิการและผังเมือง อยู่ระหว่างการจัดทำผังเมืองรวม ระดับอำเภอ รวม 30 อำเภอ ในพื้นที่ EEC โดยคาดว่าจะประกาศบังคับใช้ได้ทั้งหมดภายในปี 2567 โดยมีความก้าวหน้า เช่น มีการสำรวจ กำหนดเขตผังเมืองและวิเคราะห์จัดทำร่างผังเมือง จำนวน 17 ผัง |
|
4. ความก้าวหน้าโครงการ EECi และ EECd ดำเนินการโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อเป็นพื้นที่ต้นแบบการนำนวัตกรรมผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเพื่อเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านดิจิทัลและเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ |
• โครงการ EECi มีความก้าวหน้าในการพัฒนาพื้นที่ของ EECi เช่น มีการก่อสร้างกลุ่มอาคาร เพื่อรองรับการพัฒนานวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการตกแต่งพื้นที่ส่วนกลางและปรับภูมิทัศน์โดยรอบ ติดตั้งแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมในโรงงานอุตสาหกรรมนำร่อง และจัดตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยทดสอบประสิทธิภาพมอเตอร์ไฟฟ้าที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 17025 • โครงการ EECd มีการจัดโซน (Zoning) เพิ่มพื้นที่สำหรับกิจกรรมเชิงพาณิชย์และพิจารณาการวางรูปแบบแผนผังการดำเนินการในพื้นที่เป็นระยะ (Phasing) เพื่อสร้างจุดสมดุลระหว่างความจำเป็นในการใช้พื้นที่และการพัฒนา โดยแบ่งพื้นที่โครงการออกเป็น 5 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 0 ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่ EECd ระยะที่ 1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค ระยะที่ 2 พัฒนาพื้นที่เพื่อการดำเนินการด้านธุรกิจเชิงพาณิชย์ ระยะที่ 3 พัฒนาพื้นที่เพื่อกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และระยะที่ 4 พัฒนาพื้นที่เพื่อธุรกิจเชิงพาณิชย์เพิ่มเติม |
|
5. การให้บริการศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (EEC - OSS) เป็นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในพื้นที่ EEC รวม 44 งานบริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การขอขยายกิจการ และการต่ออายุใบอนุญาต |
• ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจร (EEC - OSS) มีความก้าวหน้าในการดำเนินงาน เช่น มีการดำเนินงานร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกำหนดให้หน่วยงานในพื้นที่เป็นพื้นที่นำร่องในการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (Digital Government) และร่วมกันพัฒนางานให้บริการที่เกี่ยวเนื่องในรูปแบบ e-Service เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ผู้ประกอบการและประชาชนในพื้นที่ |
|
6. การชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายพิเศษ เพื่อสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศ |
• EEC มีการปรับแผนการชักจูงการลงทุนใหม่ โดยมุ่งเน้น 4 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 1 แนวคิด ได้แก่ อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Circular Economy) • สกพอ. มีการดำเนินกิจกรรมเพื่อชักจูงนักลงทุนเป้าหมายจากประเทศต่างๆ ให้เข้ามาลงทุนจำนวน 19 ประเทศทั่วโลก และ 1 องค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหราชอาณจักร สาธารณรัฐฝรั่งเศส ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) |
|
7. การประชาสัมพันธ์และการสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่ |
• มีการสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนพื้นที่ในด้านนโยบาย และความก้าวหน้าของการพัฒนาพื้นที่ รวมทั้งขยายผลการสื่อสารผ่านกลุ่มเครือข่ายสำคัญในรูปแบบต่างๆ ผ่านกิจกรรม เช่น การจัดสัมมนา การจัดค่ายพัฒนาศักยภาพเยาวชน และการจัดค่ายฝึกอบรมในด้านต่างๆ |
|
8. แผนงานบูรณาการ EEC |
• สกพอ. มีการดำเนินงานร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขับเคลื่อนแผนบูรณการฯ โดยให้ความสำคัญกับการสานต่อโครงการร่วมทุนภาครัฐและเอกชน (EEC Project List) และการพัฒนากำลังคนให้ตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมยกระดับคุณภาพระบบสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานสากล เพียงพอต่อการให้บริการควบคู่ไปกับการขยายตัวของเมืองและการพัฒนาเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ |
|
9. ความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC |
• สกพอ. ร่วมลงนาม MOU ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาทักษะบุคลากรเพื่อส่งเสริมประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และ5G แก่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC • สกพอ. ร่วมกับสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และมหาวิทยาลัยบูรพาจัดทำโครงการสนับสนุนพัฒนายาจากสารสกัดพืชสมุนไพรที่ได้รับการส่งเสริมการปลูกในพื้นที่ EEC เช่น ฟ้าทะลายโจร • คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้เห็นชอบแผนการพัฒนาแหล่งน้ำรองรับ EEC ปี 2563 -2580 ประกอบด้วย 38 โครงการ ซึ่งจะทำให้มีความเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำถึงปี 2580 • สกพอ. ร่วมกับเมืองพัทยาขับเคลื่อนโครงการพัฒนาพื้นที่ตลาดลานโพธิ์นาเกลือเป็นโครงการนำร่องตามแนวทาง NEO PATTAYA ภายใต้แนวคิด “พัทยาโฉมใหม่ใส่ใจไม่ทิ้งกัน” เพื่อเป็นต้นแบบอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ |
|
10. กองทุนพัฒนา EEC จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ EEC พ.ศ. 2561 เพื่อเป็นกองทุนสนับสนุนพัฒนาพื้นที่ ชุมชน และประชาชนที่อยู่ภายในหรือที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา EEC |
• กองทุนพัฒนา EEC มีการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น โครงการบัณฑิตอาสาต้นแบบ โครงการยกระดับการผลิตทุเรียนพรีเมี่ยมด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืนและโครงการหลักสูตรวุฒิบัตรการพัฒนาความสามารถผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีการจัดอบรมไปแล้ว 2 รุ่น |
|
11. ระเบียบ/ประกาศที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC |
• คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายได้พิจารณากลั่นกรองความเห็นเกี่ยวกับร่างกฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา EEC แล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้แล้ว รวม 10 ฉบับ |
2. ผลการสอบบัญชี สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565
2.1 งบแสดงฐานะการเงิน ณ วันที่ 30 กันยายน 2565
หน่วย : ล้านบาท
รายการ |
ปี 2565 |
ปี 2564 |
สินทรัพย์ |
859.02 |
957.74 |
สินทรัพย์หมุนเวียน (เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ลูกหนี้ระยะสั้น วัสดุคงเหลือ และสินทรัพย์หมุนเวียนอื่น) |
744.29 |
873.97 |
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน (ส่วนปรับปรุงอาคารและอุปกรณ์และสินทรัพย์ไม่มีตัวตน) |
114.72 |
83.77 |
หนี้สิน |
75.63 |
66.11 |
หนี้สินหมุนเวียน (เจ้าหนี้ระยะสั้น - บุคคลภายนอก ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เงินประกันสัญญาและเงินประกันผลงาน และหนี้สินหมุนเวียนอื่น) |
61.03 |
46.95 |
หนี้สิ้นไม่หมุนเวียน (ผลประโยชน์พนักงานและเงินชดเชยการเลิกจ้าง) |
14.60 |
19.16 |
สินทรัพย์สุทธิ/ส่วนทุน |
783.38 |
891.63 |
2.2 งบแสดงผลการดำเนินงานทางการเงิน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565
หน่วย : ล้านบาท
รายการ |
ปี 2565 |
ปี 2564 |
รายได้ (เงินงบประมาณ การดำเนินงาน เงินกู้ตาม พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาจากการระบาดไวรัส 2019 และรายได้อื่นๆ) |
493.96 |
666.48 |
ค่าใช้จ่าย (บุคลากร การดำเนินงาน เงินงบประมาณ - เงินกู้ตาม พ.ร.ก. กู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาจากการระบาดไวรัสโคโรนา 2019 และค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย) |
602.21 |
647.26 |
รายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ |
(108.24)1 |
19.22 |
_____________________
1 ค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ารายได้ เป็นภาระผูกพันที่สะสมมาจากการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่ไม่ตรงตามปีงบประมาณ เช่น ใบสั่งซื้อ ใบสั่งจ้าง และสัญญาต่างๆ อย่างไรก็ตาม ในภาพรวม สกพอ. มีการเร่งรัดผลการดำเนินงานได้ดีขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 เมษายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4839