รายงานสรุปผลการพิจารณาในภาพรวมต่อข้อเสนอแนะมาตรการการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพและสิทธิเด็กในสถานการณ์การใช้กัญชาในประเทศไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 26 April 2023 00:09
- Hits: 1431
รายงานสรุปผลการพิจารณาในภาพรวมต่อข้อเสนอแนะมาตรการการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพและสิทธิเด็กในสถานการณ์การใช้กัญชาในประเทศไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลสรุปการพิจารณาในภาพรวมต่อข้อเสนอแนะมาตรการการคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพและสิทธิเด็กในสถานการณ์การใช้กัญชาในประเทศไทยของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และแจ้งให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. กสม. ได้พิจารณาถึงผลกระทบของการประกาศให้กัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษต่อสิทธิด้านสุขภาพของประชาชนและสิทธิเด็ก นับแต่ที่ได้มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติดในปี 2564 และต่อมา สธ. ได้ออกประกาศ เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 กสม. พบว่า มีรายงานการใช้กัญชานอกเหนือจากการใช้ทางการแพทย์ และรายงานผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกี่ยวเนื่องจากการใช้กัญชาออกมาเป็นระยะ โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน สตรีตั้งครรภ์ บุคคลที่มีโรคประจำตัวบางโรค และผู้บริโภคทั่วไป รวมถึงผลกระทบในด้านอื่นๆ
2. กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศ สธ. ตามข้อ 1 ที่ทำให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ยกเว้นสารสกัดที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล เกินร้อยละ 0.2 ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงการบริโภคกัญชาได้อย่างแพร่หลาย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดมาตรการและออกกฎหมายลำดับรองเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากการใช้กัญชาหลายฉบับ แต่มาตรการส่วนใหญ่ไม่มีกลไกบังคับใช้ที่ชัดเจนและยังไม่ครอบคลุมเพียงพอที่จะสามารถป้องกันผลกระทบจากการใช้หรือการบริโภคกัญชาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้อย่างมีประสิทธิผล นอกจากนี้ จากการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การใช้กัญชา ปรากฏรายงานผลกระทบจากการใช้กัญชาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจและการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องเพียงพอต่อการใช้กัญชาอย่างปลอดภัย กสม. จึงเห็นว่า การประกาศให้กัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ และการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงและบริโภคกัญชา อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ผู้บริโภค รวมถึงเด็กและเยาวชนประกอบกับมาตรการในการคุ้มครองสุขภาพยังไม่ครอบคลุมเพียงพอที่จะสามารถป้องกันผลกระทบจากการใช้หรือการบริโภคกัญชา กัญชง หรือผลิตภัณฑ์ที่ส่วนผสมของกัญชา กัญชง ได้อย่างมีประสิทธิผล ดังนั้น กสม. ได้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนรวมทั้งข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งมอบหมายให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้ สธ. สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงานว่า ได้ประชุมหารือร่วมกับ อว. กษ. คค. มท. ยธ. ศธ. และ ตช. แล้ว เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2566 ซึ่งมีผลการพิจารณาสรุปในภาพรวมได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ กสม. |
สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม |
|
1. ข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน |
|
|
1.1 คณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้ สธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาบังคับใช้มาตรการคุ้มครองสุขภาพตามประกาศต่างๆ เช่น การปกป้องคุ้มครองเด็ก เยาวชน สตรีตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร และบุคคลที่มีความเปราะบางด้านสุขภาพ การควบคุมการผลิตและจำหน่ายหรือใช้กัญชา กัญชง ที่ไม่ใช่ทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งปริมาณกัญชา กัญชงที่ใช้ในอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ต่างๆ การควบคุมลักษณะบรรจุภัณฑ์และฉลากต้องไม่มีลักษณะจูงใจเด็กและเยาวชนในการบริโภค ผลิตภัณฑ์ต้องให้ข้อมูลส่วนผสมของกัญชา กัญชง การมีคำเตือนด้านสุขภาพ การควบคุมการขาย การวางจำหน่าย และการโฆษณา เป็นต้น |
• สธ. มีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และกฎหมายลำดับรองที่ออกมาเพื่อรองรับในส่วนของการปกป้องคุ้มครองเด็ก เยาวชน สตรีตั้งครรภ์ หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร การควบคุมการผลิตและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง ที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์โดยเฉพาะช่อดอกอย่างเคร่งครัดรวมถึงการควบคุมการใช้กัญชา กัญชงในอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ต่างๆ การควบคุมลักษณะบรรจุภัณฑ์ และฉลากต้องไม่มีลักษณะจูงใจเด็กและเยาวชน ซึ่งในกฎหมายลำดับรองที่อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการโฆษณา ข้อกำหนดฉลาก ข้อกำหนดบรรจุภัณฑ์เพื่อเตือนเด็กและเยาวชน รวมถึงกลุ่มเปราะบางโดยกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประกาศ สธ. ประกาศกรมอนามัยและคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุข |
|
1.2 คณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้ สธ. อว. ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมือ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ |
• สธ. ได้พัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมือ และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับบุคลากรโดยการจัดอบรม และผลิตสื่อความรู้ต่างๆ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยกรมต่างๆ • อว. มีประกาศเรื่อง แนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนราชการ หน่วยงานในสังกัด และในกำกับของ อว. ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2565 ในส่วนการพัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมือสถาบันอุดมศึกษาได้ตระหนักและพัฒนาจัดหาเครื่องมือที่สามารถตรวจสารสำคัญกัญชา รวมถึงมีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านกัญชา • ศธ. ได้พัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมือ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งได้ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ส. จัดทำคู่มือเพื่อใช้เป็นเครื่องมือให้กับครู อาจารย์สอนในรายวิชาสุขศึกษาและพลศึกษา สำหรับใช้ในการสอนในแต่ละระดับชั้น โดยในคู่มือมีเนื้อหาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับโทษพิษภัยของกัญชา มีแผนการสอนของครูในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ยาเสพติดในแต่ละระดับและมีสื่อการสอนเพื่อใช้ประกอบการสอน |
|
1.3 คณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้ สธ. กษ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการให้มีมาตรการส่งเสริมและควบคุมคุณภาพการปลูกกัญชา กัญชง เพื่อความปลอดภัย |
• สำนักงาน ป.ป.ส. ยธ. อนุญาตให้ประชาชนปลูกกัญชาใช้เอง หากประชาชนขาดองค์ความรู้อาจส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง จึงควรมีมาตรฐาน/องค์ความรู้ให้ประชาชนได้ปฏิบัติตามได้ครอบคลุมทั้งในส่วนของผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงประชาชนที่ปลูกกัญชาเองด้วย • สธ. ได้พัฒนาการตรวจสารปนเปื้อนโลหะหนัก ยาฆ่าแมลง ปริมาณสารสำคัญ ทั้งในพืช ผลิตภัณฑ์ ยา อาหาร เครื่องสำอาง รวมถึงการตรวจหาสารในปัสสาวะและในเลือด และพัฒนาห้องปฏิบัติการตรวจกัญชาของกรมวิทย์ฯ และเครือข่ายได้จัดทำคู่มือมาตรฐานการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวพืชกัญชาในประเทศไทยสำหรับอบรมเกษตรกรและเตรียมพร้อมกับการตรวจรับรองการเก็บเกี่ยว จัดอบรม อสม. ในเรื่องการปลูกและใช้กัญชาอย่างเข้าใจสำหรับภาคประชาชนจัดประชุมผ่านสื่อและถ่ายทอดให้เกษตรกรต่อไป • กษ. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในส่วนของการปลูกและการดูแลรักษา เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และเศรษฐกิจต่อไป |
|
1.4 คณะรัฐมนตรีควรมอบหมาย สธ. อว. ศธ. และ มท. พิจารณาดำเนินการพัฒนากลไกในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การใช้กัญชา กัญชง รวมทั้งเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการควบคุมการปลูกและการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง |
• อว. เห็นว่า ควรเผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้เห็นความสำคัญของการรายงาน เพื่อให้เห็นมิติการละเมิดสิทธิได้ทันทีและเป็นการปกป้องสิทธิเด็กตามเจตนารมณ์ • สธ. มีกลไกการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การใช้กัญชาโดยการสำรวจ ส่วนผลกระทบปลายทางมีกลไกการเฝ้าระวังและติดตามข้อมูล โดยการกำกับติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้กัญชา อาการทางจิตเวช และการรายงานผ่านระบบ Online ผ่านแบบฟอร์มรายงานอาการไม่พึงประสงค์ และประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกเดือน ด้านความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก มีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงาน มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการลงทะเบียนปลูกกัญชาผ่านทาง application และให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนเพื่อปลูกกัญชาได้ • ศธ. มีกลไกในการดูแลและติดตามการใช้สารเสพติดในสถานศึกษา |
|
2. ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย คณะรัฐมนตรีควรมอบหมายให้ สธ. และ คค. ปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้กัญชา กัญชง ดังนี้ |
|
|
2.1 กำหนดระดับของการสูบหรือบริโภคกัญชา กัญชง ที่ห้ามขับขี่ยานพาหนะและห้ามทำงานกับเครื่องจักร ทำงานในที่สูง หรือทำงานในลักษณะอื่นที่อาจก่อให้เกิดอุบัตเหตุ และพัฒนาอุปกรณ์การตรวจระดับการสูบหรือบริโภคกัญชา กัญชงรวมถึงกำหนดให้มีการตรวจวัดระดับการสูบหรือบริโภคกัญชา กัญชง ขณะขับขี่ยานพาหนะเช่นเดียวกับการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ | • มีกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้กัญชา กัญชง ได้แก่ พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 โดยมาตรา 57 ทวิ แห่ง พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 ได้ให้อำนาจผู้ตรวจการสั่งให้ผู้ขับรถหยุดเพื่อตรวจสอบการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. นี้กับมีอำนาจปฏิบัติการเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบนั้นได้และมาตรา 102 ทวิ แห่ง พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ได้ให้อำนาจผู้ตรวจการหรือพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตรวจหรือทดสอบหรือสั่งให้รับการตรวจหรือทดสอบว่าผู้ขับรถมีสารอันเกิดจากการเสพของมึนเมาอยู่ในร่างกายหรือไม่รวมถึงได้กำหนดไว้ใน ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ. .... ซึ่งมีมาตราที่ห้ามขับรถขณะมึนเมากัญชาและมีการตรวจหาสาร | |
2.2 พัฒนากฎหมาย มาตรการในการไม่ขับขี่ยานพาหนะ และการห้ามทำงานกับเครื่องจักร ทำงานในที่สูง หรือทำงานในลักษณะอื่นที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุในขณะที่บริโภคกัญชา กัญชง ไว้ในกฎหมายเป็นการเฉพาะ รวมทั้งปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ให้มีความชัดเจนครอบคลุมถึงการใช้กัญชา กัญชงของบุคคล เป็นต้น |
• พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ตช. ตามมาตรา 43 (2) ได้กำหนดไว้ว่าห้ามมิให้ผู้ขับขี่รับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ซึ่งใน พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มีบทบัญญัติในทำนองเดียวกันกับ พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ดังนั้น จึงไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 แต่อย่างใด • นอกจากนี้ คค. โดยกรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด กรมเจ้าท่า และสำนักงานการบินพลเรือนได้ออกประกาศแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงรวมทั้งองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้กำหนดมาตรการป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชง และมีแผนดำเนินการศึกษาแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างประเทศก่อนพิจารณาดำเนินการพัฒนากฎหมายต่อไป โดยบรรจุมาตราต่างๆ ไว้ ในร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ. .... ซึ่งได้มีการกำหนดในกฎหมายไว้โดยเฉพาะแล้ว |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 25 เมษายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4837