ผลการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม ปี ค.ศ. 2022 (ITU Plenipotentiary Conference 2022: PP-22)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 11 April 2023 23:48
- Hits: 1703
ผลการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม ปี ค.ศ. 2022 (ITU Plenipotentiary Conference 2022: PP-22)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (สำนักงาน กสทช.) เสนอ ผลการประชุมใหญ่ผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม ปี ค.ศ. 2022 (ITU1 Plenipotentiary Conference 2022: PP-22) และรับทราบการแสดงเจตจำนงของประเทศไทยโดยสำนักงาน กสทช. ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการพัฒนาโทรคมนาคม ปี ค.ศ. 2025 (World Telecommunication Development Conference 2025: WTDC-25) ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักงาน กสทช. รายงานว่า การประชุม PP-22 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน-14 ตุลาคม 2565 ณ กรุงบูคาเรสต์ ราชอาณาจักรโรมาเนีย โดยที่ประชุมได้มีการพิจารณาประเด็นสำคัญต่างๆ และมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งสิ้น 3,783 คน โดยมีนาย Sarbin Sarmas ผู้แทนจากประเทศโรมาเนีย เป็นประธานการประชุม สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. ผลการเลือกตั้ง การประชุม PP-22 มีการเลือกตั้งตำแหน่งผู้บริหารของ ITU วาระปี ค.ศ. 2023-2026 คณะกรรมการกฎข้อบังคับวิทยุ และสมาชิกสภาบริหาร โดยประเทศไทยได้ลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหาร ITU ของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศสำหรับวาระการดำรงตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ. 2023-2026 และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาบริหาร ITU สำหรับภูมิภาคเอเชียและออสตราเลเชีย2วาระปี ค.ศ. 2023-2026 ด้วยคะแนนจำนวน 152 เสียง ซึ่งจัดอยู่ในลำดับที่ 4 จาก 13 ประเทศสมาชิกที่ได้รับเลือก (มีประเทศที่สมัคร 16 ประเทศ) เช่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สาธารณรัฐอินเดีย สาธารณรัฐอินโดนิเซีย และสหพันธรัฐมาเลเซีย ทั้งนี้ ผลการเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิก ITU วาระปี ค.ศ. 2023-2026 ของประเทศไทยแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยประสบผลสำเร็จอย่างมากจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมา ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมในสภาบริหารและในการประชุมอื่นๆ ในกรอบ ITU ตลอดระยะเวลาสี่ปีที่ผ่านมา รวมทั้งการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของ ITU ทั้งนี้ จะเป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้มีส่วนร่วมในการรับทราบและการแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่สำคัญต่างๆ ที่สภาบริหารพิจารณาในแต่ละปี และยังเปิดโอกาสให้ประเทศไทยได้แสดงบทบาทผู้แทนสมาชิกสภาบริหารและผู้แทนของประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชียและออสตราเลเชียในเวทีระหว่างประเทศอีกด้วย
2. การกล่าวถ้อยแถลงเชิงนโนบาย ประธาน กสทช. (ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์) หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงวิสัยทัศน์ของประเทศไทยเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเพิ่มจำนวนประชากรที่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม และโครงการเน็ตประชารัฐ รวมทั้งส่งเสริมด้านสาธารณสุข เช่น บริการการแพทย์ทางไกล ส่งเสริมการใช้ 5G ในโรงพยาบาลศิริราชให้เป็น “Smart Hospital” นอกจากนี้ ประเทศไทยโดยสำนักงาน กสทช. ได้ให้การสนับสนุน ITU มาโดยตลอด และสนับสนุนการย้ายที่ตั้งสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของ ITU และแสดงเจตจำนงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม WTDC-25 ทั้งนี้ ได้ขอให้ประเทศสมาชิกสนับสนุนประเทศไทยในการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งสภาบริหารของ ITU
3. สรุปผลการประชุมฯ และประเด็นที่สำคัญ การประชุม PP-22 ประกอบด้วย การประชุมเต็มคณะ การประชุมย่อย และการประชุมเฉพาะกิจ โดยมีมติที่ประชุมที่สำคัญ ได้แก่ (1) การแก้ไขข้อมติที่ 25 เรื่อง Strengthening the ITU regional presence ซึ่งได้ปรับเนื้อหาให้เป็นปัจจุบันขึ้น เช่น การทบทวนบทบาทของสำนักงานภูมิภาคอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งและการเพิ่มความสนใจให้กลุ่มประเทศด้อยพัฒนาหรือพัฒนาน้อยที่สุด (2) การแก้ไขข้อมติที่ 71 เรื่อง Strategic plan ซึ่งเป็นข้อมติที่ได้รับการแก้ไขว่าด้วยแผนยุทธศาสตร์ของ ITU ประจำปี ค.ศ. 2024-2027 โดยกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ และเป้าหมายสำคัญคือ การส่งเสริมการเข้าถึงบริการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ในราคาที่เหมาะสม และการเปลี่ยนสู่สังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืน (3) การแก้ไขข้อมติที่ 77 เรื่อง Scheduling and duration of conferences,forums, assemblies and Council sessions of the Union (2023-2027) ว่าด้วยการกำหนดช่วงระยะเวลาสำหรับการจัดการประชุมต่างๆ ของ ITU ระหว่างปี 2023-2027 โดยข้อมติดังกล่าวครอบคลุมถึงการจัดการประชุม WTDC-25 ในปี ค.ศ. 2025 ณ กรุงเทพมหานคร และ (4) การออกข้อมติใหม่ที่ 216 เรื่อง Use of frequency assignments by military radio installations for national defense services ซึ่งเป็นข้อมติว่าด้วยการจัดสรรคลื่นความถี่โดยการใช้งานทางทหารสำหรับกิจการเพื่อความมั่นคงของชาติ
4. การลงนามในกรรมสารสุดท้าย [Final Acts of the Plenipotentiary Conference (Bucharest, 2022)] โดยหัวหน้าคณะผู้แทนหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) จากรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมการประชุมฯ ได้ลงนามในกรรมสารสุดท้ายซึ่งรวบรวมข้อตัดสินใจและข้อมติที่แก้ไข รวมทั้งข้อมติใหม่ที่ที่ประชุมได้ให้การรับรอง ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกจะถือปฏิบัติตามกรรมสารสุดท้ายที่ได้ลงนามรับรอง
5. บทบาทของคณะผู้แทนไทย โดยผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศสำนักงาน กสทช. (นายนทชาติ จินตกานนท์) รองหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อนาง Doreen Bogdan-Martin จากประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ได้รับเลือกในตำแหน่งเลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว นอกจากนี้ ได้กล่าวแสดงความยินดีต่อนาย Tomas Lamanauskas จากสาธารณรัฐลิทัวเนียผู้ได้รับเลือกในตำแหน่งรองเลขาธิการ ITU และกล่าวในที่ประชุมเต็มคณะเพื่อแสดงความยินดีกับสาธารณรัฐอินเดียในการรับเป็นเจ้าภาพการประชุม World Telecommunication Standardization Assembly (WTSA) ในปี ค.ศ 2024 รวมทั้งกล่าวในที่ประชุม Working Group of the Plenary เพื่อสนับสนุนการส่งเสริมการเข้าถึงข้อมูลโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสารสนเทศของกลุ่มคนเปราะบางอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกับประเทศต่างๆ เช่น ราชอาณาจักรนอร์เวย์ สาธารณรัฐไอซ์แลนด์ลิทัวเนีย ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ และประเทศญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนถ้อยคำแถลงของราชอาณาจักรเดนมาร์กในหัวข้อที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติและการใช้ภาษาแก่ผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นผู้หญิง โดยได้กล่าวถึงประเด็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมประชุมที่ยึดจากเพศสภาพหรืออายุนั้นเป็นเรื่องที่ล้าหลังและไม่ควรทำ
6. การหารือทวิภาคีระหว่างการประชุม PP-22 โดยหัวหน้าคณะผู้แทนและรองหัวหน้าคณะผู้แทนจากประเทศต่างๆ ได้แก่ เครือรัฐบายามาส ลิทัวเนีย สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ออสเตรเลีย สหพันธรัฐรัสเซีย ราชอาณาจักรโรมาเนีย และราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียได้มีการประชุมหารือทวิภาคีกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล และผู้ประกอบการ เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือและสนับสนุนซึ่งกันและกันในการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งในตำแหน่งต่างๆ รวมทั้งตำแหน่งสมาชิก ITU
7. การแสดงเจตจำนงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม WTDC-25 รองหัวหน้าคณะผู้แทนไทยได้แสดงเจตจำนงในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมดังกล่าว ณ กรุงเทพมหานคร ในปี 2568 ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่การเชื่อมต่อการเข้าถึง และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นนโยบายสำคัญโดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ WTDC-25 ทั้งนี้ การรับเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม WITDC-25 ไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย ยังเป็นการแสดงศักยภาพของประเทศไทยที่จะรับรองการประชุมสำคัญระดับโลก รวมถึงบุคคลที่เป็นผู้นำสำคัญของโลกในระดับรัฐมนตรีของประเทศต่างๆ ซึ่งถือเป็นโอกาสอันดีในการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วโลกเห็นว่า ประเทศไทยมีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนการลงทุนและการพัฒนาในด้านอุตสาหกรรมโทรคมนาคม นอกจากนี้ การประชุม WTDC-25 เป็นการส่งเสริมให้มีการร่วมมือกันเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลต่อการพิจารณาการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการกำหนดนโยบายที่จะนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติในอนาคต
_______________
1สภาบริหารของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU)
2ดินแดนที่ประกอบด้วย เครือรัฐออสเตรเลีย ราชอาณาจักรนิวซีแลนค์ และหมู่เกาะใกล้เคียงในมหาสมุทรแปซิฟิก
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 เมษายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4415