รายงานสรุปผลการเข้าร่วมการประชุมใหญ่คณะกรรมการนโยบายด้านกฎหมาย (Regulatory Policy Committee - RPC) ครั้งที่ 27 ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 11 April 2023 23:24
- Hits: 1624
รายงานสรุปผลการเข้าร่วมการประชุมใหญ่คณะกรรมการนโยบายด้านกฎหมาย (Regulatory Policy Committee - RPC) ครั้งที่ 27 ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) เสนอ รายงานสรุปผลการเข้าร่วมการประชุมใหญ่คณะกรรมการนโยบายด้านกฎหมาย (Regulatory Policy Committee - RPC) ครั้งที่ 27 ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) และการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (18 มกราคม 2565) เห็นชอบให้ประเทศไทย โดย สคก. เข้าร่วมเป็นสมาชิกของคณะกรรมการ RPC ดังกล่าว และที่ประชุม RPC ได้มีมติรับประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ RPC ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป
OECD ได้จัดให้มีการประชุมใหญ่ RPC ครั้งที่ 27 (The 27th Meeting of the Regulatory Policy Committee) ระหว่างวันที่ 4 - 6 ธันวาคม 2565 ณ สำนักงานใหญ่ OECD กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่ง สคก. ได้เข้าร่วมประชุมใหญ่ดังกล่าวในฐานะสมาชิก รวมทั้งได้มีการหารือระดับทวิภาคีกับเจ้าหน้าที่ของ OECD เพื่อขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือระหว่าง สคก. กับ OECD ในระยะต่อไป โดย สคก. ได้รายงานสรุปผลการเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ดังนี้
1. สรุปผลการประชุมใหญ่คณะกรรมการนโยบายด้านกฎหมาย (Regulatory Policy Committee - RPC) ครั้งที่ 27 ซึ่งมีหัวข้อการประชุม 3 หัวข้อ ได้แก่
1.1 การออกกฎหมายเพื่อผลลัพธ์ที่ดี (Regulating for Results) โดยที่ประชุมได้อภิปรายถึงความสำคัญของกฎหมายว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้รัฐสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของนโยบายที่สำคัญ และมีการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอภิปรายว่ารัฐบาลจะสามารถรับประกันว่ากฎระเบียบจะถูกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ เช่น การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน และการพัฒนาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอย่างไร โดยในหัวข้อนี้ที่ประชุมได้มีประเด็นอภิปราย 4 ประเด็น คือ
1) การพิจารณาว่ากฎระเบียบเป็นทรัพย์สิน (Regulations as assets) โดยในปัจจุบันกฎระเบียบต่าง ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นและจะเกิดขึ้น เพื่อให้ยังสามารถคงสถานะความเป็นทรัพย์สินและเป็นประโยชน์ต่อรัฐได้ต่อไปรัฐจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงกฎระเบียบทั้งระบบมากกว่าการศึกษาหรือประเมินกฎระเบียบเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และรัฐต้องดูแลการใช้บังคับกฎระเบียบระบบอย่างเหมาะสมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ทั้งนี้ การประเมินคุณค่าของกฎระเบียบว่ากฎระเบียบนั้นเป็นทรัพย์สินหรือมีประโยชน์ต่อรัฐและสังคมในวงกว้างหรือไม่จะต้องมีการใช้ข้อมูลสถิติต่างๆ มาใช้ประกอบการประเมินอย่างกว้างขวางว่ารัฐควรออกกฎระเบียบเพื่อแทรกแซงสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากน้อยเพียงใด และควรดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ ในการดำเนินการรัฐบาลคาดหวังให้หน่วยงานกำกับดูแลเผยแพร่ (1) ข้อมูลบนเว็บไซต์ของตนเกี่ยวกับลักษณะขอบเขต และวัตถุประสงค์ของกฎระเบียบที่รับผิดชอบหรือมีส่วนรับผิดชอบ (2) การทบทวนในปัจจุบันหรือล่าสุดของกฎระเบียบและระบบการกำกับดูแลเหล่านั้น รวมทั้งผลจากการประเมินนั้นและ (3) ส่งต่อแผนสำหรับการปรับปรุงกฎหมายหรือการปฏิบัติงานที่ได้รับไปยังผู้รับผิดชอบ
2) ความเชื่อมั่นในกฎระเบียบและหน่วยงานกำกับดูแล (Trust in regulation and regulators) โดยได้มีการนำเสนอรายงานผลสำรวจของ OECD เรื่อง การสร้างความไว้วางใจเพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตย (OECD (2022), Building Trust to Reinforce Democracy: Main Findings from the 2021 OECD Survey on Drivers of Trust in Public Institutions) ซึ่งผลสำรวจในปี 2564 แสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้ที่เชื่อใจและไม่เชื่อใจรัฐบาลของประเทศตนมีจำนวนเท่าๆ กัน ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามค่อนข้างมีความมั่นใจในความน่าเชื่อถือของรัฐบาลของตนในการให้บริการและเตรียมพร้อมสำหรับวิกฤตการณ์ในอนาคต แต่รัฐบาลยังคงไม่สามารถตอบสนองอย่างเพียงพอต่อข้อเสนอแนะที่ได้รับจากสาธารณะ และคนส่วนใหญ่เห็นว่ายังไม่ได้รับโอกาสในการเป็นตัวแทนและการมีส่วนร่วมการตัดสินใจเกี่ยวกับกฎระเบียบมากเท่าที่ควร ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายถึงวิธีการสร้างความเชื่อมั่นว่ารัฐที่นำความคิดเห็นที่ได้รับจากประชาชนไปดำเนินการต่อจะได้รับความเชื่อมั่นมากขึ้น หรืออย่างน้อยต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่ารัฐได้รับฟังประชาชนแล้วและอธิบายว่ามีการนำความคิดเห็นนั้นไปใช้หรือไม่อย่างไร และเพราะเหตุใด รวมทั้งแสดงให้เห็นผลงานที่เกิดขึ้นจากการนำความคิดเห็นของประชาชนไปแก้ปัญหา อย่างไรก็ดี รัฐไม่ควรรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมากจนเกินความจำเป็นเนื่องจากประชาชนจะเกิดความเหนื่อยหน่ายเมื่อแสดงความคิดเห็นไปหลายครั้งแล้วแต่ยังไม่เห็นผลลัพธ์ของการมีส่วนร่วมนั้นอย่างเป็นรูปธรรม
3) การกำกับดูแลเพื่อผลลัพธ์ (Regulating for outcomes) ซึ่งกฎระเบียบและกระบวนการกำกับดูแลควรได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงการบรรลุผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสำหรับสังคม พลเมือง สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ในกรณีของการออกกฎระเบียบซึ่งเป็นไปเพื่อกำกับดูแลเรื่องที่เป็นความท้าทายใหม่หรือเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น รัฐต้องให้ความสำคัญกับการพิจารณาอย่างเป็นระบบถึงความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ทั้งความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในระยะสั้นและระยะยาวโดยต้องพิจารณาด้วยว่าการออกกฎระเบียบอย่างรวดเร็วหรือการรีรอไม่ออกกฎระเบียบในเรื่องนั้นอาจส่งผลเสียได้ จึงควรต้องมีการหาจุดสมดุลและออกกฎระเบียบที่ยืดหยุ่น รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นเพื่อออกกฎระเบียบที่ชัดเจน เป็นประโยชน์ และไม่สร้างภาระให้แก่ผู้ประกอบการหรือผู้ได้รับผลกระทบอื่นมากจนเกินควร และพยายามรวบรวมและใช้ประโยชน์จากข้อมูลสถิติต่างๆ ให้มากที่สุด
4) การกำกับดูแลเพื่ออนาคต (Regulating for the future) โดยปัจจุบันมีฉันทามติระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องปรับแนวปฏิบัติด้านกฎระเบียบหากรัฐต้องดำเนินการตามนโยบายที่มีความสำคัญ เช่น การต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการส่งเสริมนวัตกรรมที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางและเคารพสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมได้นำเสนอประสบการณ์และข้อแนะนำในเรื่องต่างๆ ที่รัฐบาลสามารถดำเนินการเพื่อนำมาซึ่งรูปแบบการกำกับดูแลที่ปรับเปลี่ยนได้ และมีการประสานงานที่ดีขึ้น เช่น (1) กรอบการดำเนินการเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่ง OECD อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานเพื่อกำหนดกรอบการกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าว (OECD STI Outlook 2023: emerging technology governance framework) และ (2) การกำกับดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่รัฐต้องดำเนินการประเมินกฎระเบียบและปรับปรุงการกำกับดูแลอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ สิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาระดับนานาชาติ แต่การดำเนินการด้านกฎระเบียบภายในของแต่ละประเทศยังคงขาดการเชื่อมต่อกัน
1.2 ความท้าทายในการส่งเสริมนโยบายการกำกับดูแลในระดับต่างๆ ของรัฐ (The challenge of fostering regulatory policy across levels of governments) โดยได้มีการนำเสนอประสบการณ์ระดับชาติในการประยุกต์ใช้แนวปฏิบัติของ OECD และร่วมกันหารือเกี่ยวกับ (1) ความท้าทายของรัฐว่ามีทางเลือกอะไรบ้างเพื่อส่งเสริมความสอดคล้องกันของกฎระเบียบในระดับต่างๆ และลดความซ้ำซ้อนของกฎระเบียบของรัฐบาล (2) กลยุทธ์ เครื่องมือ แนวปฏิบัติที่ดี และบทเรียนที่จะช่วยรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในการออกแบบ และใช้นโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งเสริมคุณภาพการกำกับดูแลในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น (3) แบบของการจัดการด้านธรรมาภิบาลที่เหมาะสมที่สุดสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น และ (4) ปัญหาด้านข้อจำกัดในแง่ของทรัพยากร บุคลากร การเงิน และทางเทคนิค ที่รัฐบาลระดับท้องถิ่นต้องเผชิญเมื่อดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติด้านกฎระเบียบที่ดี
1.3 ความคืบหน้าการดำเนินโครงการต่างๆ ของ OECD โดยผู้รับผิดชอบโครงการต่างๆ ได้รายงานความคืบหน้าของโครงการต่อที่ประชุม
2. สรุปผลการหารือระดับทวิภาคีกับเจ้าหน้าที่ของ OECD เพื่อขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกากับ OECD ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้
2.1 วัตถุประสงค์ โดย สคก. จำเป็นต้องเร่งดำเนินการด้านการพัฒนากฎหมายอย่างต่อเนื่องทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้การพัฒนาระบบกฎหมายของประเทศไทยส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน สคก. จึงหารือกับเจ้าหน้าที่ OECD เพื่อกำหนดรายละเอียดของโครงการความร่วมมือร่วมกัน
1) โครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย โดยมีโครงการ 3 ประเภท ที่น่าจะมีความสำคัญสำหรับประเทศไทย (1) จัดทำหรือปรับปรุงคู่มือการดำเนินการตามคำแนะนำของ OECD รวมทั้งจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง (2) ดำเนินการประเมินผลของการนำคำแนะนำจากโครงการ Country Programme ไปใช้บังคับรวมถึงแสวงหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และ (3) ต่อยอดจากโครงการแรกด้วยการประเมินและพัฒนาองค์ประกอบอื่นๆ ของการมีกฎระเบียบที่ดีขึ้น เช่น การตราและบังคับใช้กฎหมายและกระบวนการตรากฎหมาย และจากการประชุมร่วมกันได้ข้อสรุปว่า สคก. ควรดำเนินโครงการเหล่านี้ในลักษณะของแผนงานความร่วมมือระยะยาว โดยในลำดับแรก (ปีงบประมาณ 2566) สคก. ควรเลือกดำเนินโครงการตาม (1) ก่อนเป็นลำดับแรก
2) แนวทางการดำเนินโครงการ โดยโครงการความร่วมมือระหว่าง สคก. กับ OECD ในปีงบประมาณ 2566 มุ่งเน้นไปที่การออกแบบแนวทางการจัดลำดับความสำคัญเพื่อรองรับการดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมาย (RIA) และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายของประเทศไทยให้เหมาะสมกับกฎหมายแต่ละฉบับหรือแต่ละประเทศ โดยหวังว่าคู่มือการจัดลำดับความสำคัญของกฎหมายจะสามารถทำให้ประเทศไทยบริหารจัดการทรัพยากรของรัฐที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยดำเนินการตามลำดับ (1) จัดทำคู่มือการจัดลำดับความสำคัญของกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบของร่างกฎหมาย (RIA) และการประเมินผลสัมฤทธิ์ของประเทศไทย (2) จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และ (3) ทดลองใช้บังคับคู่มือดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานนำร่องที่มีศักยภาพ
3) งบประมาณที่ต้องใช้ โดยเจ้าหน้าที่ของ OECD ประเมินว่า สคก. จะต้องใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการนี้ 249,644 ยูโร (ประมาณ 9 ล้านบาท) ต้องสนับสนุนเงินสมทบให้แก่ OECD เพื่อดำเนินการจัดทำคู่มือการจัดลำดับความสำคัญและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับภารกิจและการเดินทางของเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญจาก OECD (ที่พัก ค่าเดินทาง ฯลฯ) และค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ทั้งนี้ งบประมาณไม่รวมค่าใช้จ่ายของที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมในประเทศ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ โดยจะใช้งบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2566 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ซึ่ง สคก. ได้รับอนุมัติงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2566 สำหรับโครงการพัฒนาคุณภาพของระบบกฎหมายของประเทศตามข้อกำหนดว่าด้วยแนวทางในการออกกฎหมาย หรือRecommentation of the Council on Regulatory Policy and Governance 2021 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 11,946,800 บาทถ้วน โดยมีรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณ ดังนี้
รายการ |
จำนวนเงิน (บาท) |
1. โครงการเพิ่มพูนทักษะการทำงานของเจ้าหน้าที่ สคก. ที่สำนักงานใหญ่ของ OECD ประเทศฝรั่งเศส |
1,444,000 |
2. โครงการความร่วมมือระหว่าง สคก. กับ OECD 2.1 ส่วนของการให้เงินสนับสนุนสมทบแก่ OECD 2.2 ส่วนของการสำรองเงิน (เพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดประชุมในประเทศและการดำเนินการอื่นๆ) |
10,502,800 ประมาณ 9,000,000 ประมาณ 1,500,000 |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 เมษายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4411