สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มกราคม 2566)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 05 April 2023 22:53
- Hits: 1854
สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มกราคม 2566)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอสรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มกราคม 2566) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. นโยบายหลัก 7 ด้าน ประกอบด้วย
นโยบายหลัก |
มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ |
|
1) การปกป้องและ เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ |
1.1) ดำเนินโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ ณ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วยการสืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 1.2) น้อมนำพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผ่านกิจกรรม “การแสดงแบบผ้าไทยใส่สนุก” ใน 20 จังหวัดภาคอีสาน ส่งเสริมการเรียนรู้และส่งเสริมอาชีพ “วิชชาลัยผ้าทอหนอง ลำภู” และกิจกรรมถ่ายทอดอัตลักษณ์ความหลากหลายผ้าพื้นถิ่นเมืองใต้ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ |
|
2) การสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ |
2.1) วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน โดยจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เช่น ฝึกอบรมเยาวชนขับขี่ปลอดภัยเสริมสร้างวินัยจราจรและการป้องกันอุบัติภัยในโรงเรียนและประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนผ่านช่องทางต่างๆ 2.2) บูรณาการมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเชิงรุก โดยกระทรวงมหาดไทยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาพร้อมยาบ้า เช่น จังหวัดขอนแก่น จับกุมผู้ต้องหาพร้อมยาบ้า 998,000 เม็ด และจังหวัดนนทบุรี จับกุมผู้ต้องหาพร้อมยาบ้า 200,000 เม็ด |
|
3) การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม |
3.1) จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ “วิถีถิ่น วิถีไทย” “อารยธรรมแห่งสายน้ำ วัฒนธรรมจีนไทยสานสายใยชาติพันธุ์” ณ จังหวัดนครสวรรค์ โดยเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนและท้องถิ่น สนับสนุนนโยบายโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว [Bio-Circular-Green (BCG) Economy] ของรัฐบาล และผลักดัน “Soft Power” ทั้งนี้ มีผู้รับชมและเข้าร่วมการจัดงาน ณ สถานที่จัดงาน และผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ จำนวนไม่น้อยกว่า 298,858 คน และมีรายได้หมุนเวียนช่วงการจัดงานไม่น้อยกว่า 1.94 ล้านบาท 3.2) จัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8 เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวิดีทัศน์ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียน กระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน และขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของภูมิภาคก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปในเวทีโลก 3.3) จัดโครงการเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะ “ครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชน” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกลดโลกร้อน เสริมสร้างความอบอุ่นและเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว และนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต |
|
4) การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย |
4.1) พัฒนาภาคอุตสาหกรรม เช่น (1) ดำเนินโครงการจิตอาสารักษ์แม่น้ำ โดยกำกับดูแลโรงงานบริเวณลุ่มน้ำ สร้างนวัตกรรมร่วมกับผู้ประกอบการจิตอาสา เช่น ระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนแบบติดกับที่ (Onsite) และ (2) พัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG เช่น ดำเนินโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน เพื่อเป้าหมายการฟื้นฟูและยกระดับเศรษฐกิจและสังคม (CSR-DIW to covid-19 Relief) และพัฒนาฐานระบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 39 จังหวัด 53 พื้นที่ 4.2) พัฒนาภาคเกษตร โดยขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมให้บรรลุตามเป้าหมาย : การลด การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2613 ซึ่งได้จัดงาน “ไถกลบแทนเผา บรรเทามลพิษ พิชิตหมอกควัน” ประจำปี 2566 ณ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักรู้ถึงการทำเกษตรกรรมที่ไม่เผาฟางและตอซังพืช ลดปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละออง และลดผลกระทบต่อการเกิดภาวะโลกร้อน 4.3) พัฒนาภาคการท่องเที่ยว โดยเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวภายใต้กิจกรรมสร้างเครือข่ายและเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด “การเป็นเจ้าบ้านที่ดี” ซึ่งมีแนวทางการทำงาน เช่น ยกระดับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว จัดทำมาตรฐานภาคบังคับกิจกรรมท่องเที่ยวแคมปิง และยกระดับอาสาสมัครท่องเที่ยวและกีฬา 4.4) พัฒนาการค้าการลงทุนเพื่อมุ่งสู่การเป็นชาติการค้าการบริการและการลงทุนในภูมิภาค โดยเปิดตัวแพลตฟอร์ม “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” ผ่านแอปพลิเคชัน “MOC Agri Mart” ทำให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรได้โดยตรง และเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า 4.5) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและการพัฒนาและนวัตกรรม โดยสร้างสรรค์เมนูอาหาร “ขนมชั้นแห่งอนาคต รางวัลชนะเลิศ Future for Sustainability” เป็นสูตรลดน้ำตาล เป็นหนึ่งในอาหารในงานเลี้ยงรับรองของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 |
|
5) การปฏิรูปกระบวน การเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย |
จัดทำโครงการ “หนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ” เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับพัฒนาการของเด็กไทยอย่างรอบด้าน โดยมีเป้าหมาย “4H” ได้แก่ Head ด้านปัญญา Heart ด้านทัศนคติ Hands ด้านเรียนรู้และปฏิบัติจริง และ Health ด้านสุขภาพ |
|
6) การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม |
ยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง 2 จังหวัดระยอง ในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) มูลค่าลงทุน 2,647 ล้านบาท เพื่อรองรับประชาชนและผู้ประกันตน 200,000 คน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ให้เข้าถึงบริการที่มีมาตรฐาน รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่งเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566 |
|
7) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน |
ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” โดยจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภายใต้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ เน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของหน่วยงานต่างๆ เช่น ภาพถ่ายดาวเทียมและระบบแอปพลิเคชัน ต่างๆ |
2. นโยบายเร่งด่วน 8 เรื่อง ประกอบด้วย
นโยบายเร่งด่วน |
มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ |
|
1) การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน |
1.1) ขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ลิตรละ 5 บาท ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม - 20 พฤษภาคม 2566 1.2) จัดทำโครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยลดภาระดอกเบี้ยสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้เงินกู้เพื่อการเกษตร 680 แห่ง จำนวน 182,869 ราย |
|
2) การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน |
ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 31 มกราคม 2566 ได้โอนเงินให้แก่ผู้มีสิทธิในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 118,983.99 ล้านบาท และจ่ายเงินสวัสดิการสังคมและเงินอื่นผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) จำนวน 47,109.27 ล้านบาท |
|
3) มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก |
จัดทำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 วงเงิน 2,016 ล้านบาท และโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย วงเงิน 1,930 ล้านบาท เพื่อช่วยผลักดันและสนับสนุนการสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมาย |
|
4) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม |
4.1) ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการขั้นพื้นฐาน 1.91 ล้านราย เบี้ยประกันรวม 2,889.85 ล้านบาท และจ่ายสินไหมทดแทนแล้ว 1,593.02 ล้านบาท 4.2) ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการขั้นพื้นฐาน 75,707 ราย เบี้ยประกันภัยรวม 229.04 ล้านบาท และจ่ายสินไหมทดแทนแล้ว 24.16 ล้านบาท |
|
5) การยกระดับศักยภาพของแรงงาน |
ดำเนินโครงการมหกรรมรวมพลัง สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ภายใต้นโยบาย “สืบสาน รักษา ต่อยอด ฟื้นฟู พลิกโฉมตลาดแรงงานไทย” เช่น กิจกรรมนัดพบแรงงาน และกิจกรรมจัดคลินิกส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน |
|
6) การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต |
ในเดือนมกราคม 2566 ได้ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยจัดให้มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC จำนวน 38 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 57,854 ล้านบาท |
|
7) การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ |
7.1) ตั้งแต่วันที่ 1-31 มกราคม 2566 ได้จับกุมคดียาเสพติด 7,324 คดี ผู้ต้องหา 1,802 คน ยึดยาบ้า 9.75 ล้านเม็ด ไอซ์ 255.47 กิโลกรัม เฮโรอีน 1.54 กิโลกรัม เคตามีน 6.81 กิโลกรัม ยาอี 8,480 เม็ด และฝิ่น 12.44 กรัม 7.2) เดือนตุลาคม 2565 - มกราคม 2566 ได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนยาเสพติด 1386 จำนวน 4,787 เรื่อง และผ่านสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 1111 จำนวน 7 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 2,142 เรื่อง |
|
8) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน |
อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) แก่บุคลากรทักษะสูง/ผู้เชี่ยวชาญ (Talents) นักลงทุน (Investors) ผู้บริหาร (Executives) และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ผ่านวีซ่าประเภทพิเศษ (SMART Visa) ซึ่งในเดือนมกราคม 2566 มีผู้ขอรับรองคุณสมบัติ 44 คำขอ และมีผู้ผ่านการรับรองคุณสมบัติทั้งสิ้น 39 คำขอ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 เมษายน 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A4146