WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มกราคม 2566)

GOV 5

 

 

 

สรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มกราคม 2566)

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอสรุปรายงานการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 22 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 - 31 มกราคม 2566) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

 

 

 

 

          1. นโยบายหลัก 7 ด้าน ประกอบด้วย

 

นโยบายหลัก

 

มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ

1) การปกป้องและ เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์

 

1.1) ดำเนินโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระแม่ของแผ่นดิน กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำตามแนวพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้วยการสืบสานพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

1.2) น้อมนำพระดำริผ้าไทยใส่ให้สนุกในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า สิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ผ่านกิจกรรมการแสดงแบบผ้าไทยใส่สนุกใน 20 จังหวัดภาคอีสาน ส่งเสริมการเรียนรู้และส่งเสริมอาชีพวิชชาลัยผ้าทอหนอง ลำภูและกิจกรรมถ่ายทอดอัตลักษณ์ความหลากหลายผ้าพื้นถิ่นเมืองใต้ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้

2) การสร้างความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศ และความสงบสุขของประเทศ

 

2.1) วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน โดยจัดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เช่น ฝึกอบรมเยาวชนขับขี่ปลอดภัยเสริมสร้างวินัยจราจรและการป้องกันอุบัติภัยในโรงเรียนและประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนผ่านช่องทางต่างๆ

2.2) บูรณาการมาตรการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดเชิงรุก โดยกระทรวงมหาดไทยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการจับกุมผู้ต้องหาพร้อมยาบ้า เช่น จังหวัดขอนแก่น จับกุมผู้ต้องหาพร้อมยาบ้า 998,000 เม็ด และจังหวัดนนทบุรี จับกุมผู้ต้องหาพร้อมยาบ้า 200,000 เม็ด

3) การทำนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม

 

3.1) จัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติวิถีถิ่น วิถีไทย” “อารยธรรมแห่งสายน้ำ วัฒนธรรมจีนไทยสานสายใยชาติพันธุ์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยเป็นการดำเนินการตามเป้าหมายส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนและท้องถิ่น สนับสนุนนโยบายโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว [Bio-Circular-Green (BCG) Economy] ของรัฐบาล และผลักดัน “Soft Power” ทั้งนี้ มีผู้รับชมและเข้าร่วมการจัดงาน สถานที่จัดงาน และผ่านช่องทางสื่อออนไลน์ จำนวนไม่น้อยกว่า 298,858 คน และมีรายได้หมุนเวียนช่วงการจัดงานไม่น้อยกว่า 1.94 ล้านบาท

3.2) จัดงานเทศกาลภาพยนตร์อาเซียนแห่งกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8 เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวิดีทัศน์ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านภาพยนตร์ของอาเซียน กระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียน และขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของภูมิภาคก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปในเวทีโลก

3.3) จัดโครงการเข้าวัดปฏิบัติธรรมวันธรรมสวนะครอบครัวหิ้วตะกร้า ศรัทธาอิ่มบุญ อุดหนุนชุมชนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชนและลดปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกลดโลกร้อน เสริมสร้างความอบอุ่นและเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว และนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิต

4) การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย

 

4.1) พัฒนาภาคอุตสาหกรรม เช่น (1) ดำเนินโครงการจิตอาสารักษ์แม่น้ำ โดยกำกับดูแลโรงงานบริเวณลุ่มน้ำ สร้างนวัตกรรมร่วมกับผู้ประกอบการจิตอาสา เช่น ระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนแบบติดกับที่ (Onsite) และ (2) พัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG เช่น ดำเนินโครงการส่งเสริมโรงงานอุตสาหกรรมให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชน เพื่อเป้าหมายการฟื้นฟูและยกระดับเศรษฐกิจและสังคม (CSR-DIW to covid-19 Relief) และพัฒนาฐานระบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ 39 จังหวัด 53 พื้นที่

4.2) พัฒนาภาคเกษตร โดยขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมให้บรรลุตามเป้าหมาย : การลด การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2613 ซึ่งได้จัดงานไถกลบแทนเผา บรรเทามลพิษ พิชิตหมอกควันประจำปี 2566 จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรตระหนักรู้ถึงการทำเกษตรกรรมที่ไม่เผาฟางและตอซังพืช ลดปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละออง และลดผลกระทบต่อการเกิดภาวะโลกร้อน

4.3) พัฒนาภาคการท่องเที่ยว โดยเตรียมความพร้อมในการต้อนรับนักท่องเที่ยวภายใต้กิจกรรมสร้างเครือข่ายและเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรด้านการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิดการเป็นเจ้าบ้านที่ดีซึ่งมีแนวทางการทำงาน เช่น ยกระดับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว จัดทำมาตรฐานภาคบังคับกิจกรรมท่องเที่ยวแคมปิง และยกระดับอาสาสมัครท่องเที่ยวและกีฬา

4.4) พัฒนาการค้าการลงทุนเพื่อมุ่งสู่การเป็นชาติการค้าการบริการและการลงทุนในภูมิภาค โดยเปิดตัวแพลตฟอร์มเกษตรผลิต พาณิชย์ตลาดผ่านแอปพลิเคชัน “MOC Agri Mart” ทำให้เกษตรกรมีช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรได้โดยตรง และเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า

4.5) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและการพัฒนาและนวัตกรรม โดยสร้างสรรค์เมนูอาหารขนมชั้นแห่งอนาคต รางวัลชนะเลิศ Future for Sustainability” เป็นสูตรลดน้ำตาล เป็นหนึ่งในอาหารในงานเลี้ยงรับรองของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022

5) การปฏิรูปกระบวน

การเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของคนไทยทุกช่วงวัย

 

จัดทำโครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งครูอนามัย สร้างเด็กไทยรอบรู้สุขภาพ เป็นโครงการที่ให้ความสำคัญกับพัฒนาการของเด็กไทยอย่างรอบด้าน โดยมีเป้าหมาย “4H” ได้แก่ Head ด้านปัญญา Heart ด้านทัศนคติ Hands ด้านเรียนรู้และปฏิบัติจริง และ Health ด้านสุขภาพ

6) การพัฒนาระบบสาธารณสุขและหลักประกันทางสังคม

 

ยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง 2 จังหวัดระยอง ในรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) มูลค่าลงทุน 2,647 ล้านบาท เพื่อรองรับประชาชนและผู้ประกันตน 200,000 คน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ให้เข้าถึงบริการที่มีมาตรฐาน รวดเร็ว และปลอดภัย ซึ่งเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2566

7) การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

 

ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภายใต้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ เน้นการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของหน่วยงานต่างๆ เช่น ภาพถ่ายดาวเทียมและระบบแอปพลิเคชัน ต่างๆ

 

 

          2. นโยบายเร่งด่วน 8 เรื่อง ประกอบด้วย

 

นโยบายเร่งด่วน

 

มาตรการ/ผลการดำเนินงานที่สำคัญ

1) การแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตของประชาชน

 

1.1) ขยายเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชนและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ลิตรละ 5 บาท ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม - 20 พฤษภาคม 2566

1.2) จัดทำโครงการช่วยเหลือด้านหนี้สินสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร โดยลดภาระดอกเบี้ยสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้เงินกู้เพื่อการเกษตร 680 แห่ง จำนวน 182,869 ราย

2) การปรับปรุงระบบสวัสดิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 31 มกราคม 2566 ได้โอนเงินให้แก่ผู้มีสิทธิในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 118,983.99 ล้านบาท และจ่ายเงินสวัสดิการสังคมและเงินอื่นผ่านระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) จำนวน 47,109.27 ล้านบาท

3) มาตรการเศรษฐกิจเพื่อรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

 

จัดทำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 วงเงิน 2,016 ล้านบาท และโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทย วงเงิน 1,930 ล้านบาท เพื่อช่วยผลักดันและสนับสนุนการสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเป้าหมาย

4) การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและพัฒนานวัตกรรม

 

4.1) ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการขั้นพื้นฐาน 1.91 ล้านราย เบี้ยประกันรวม 2,889.85 ล้านบาท และจ่ายสินไหมทดแทนแล้ว 1,593.02 ล้านบาท

4.2) ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการขั้นพื้นฐาน 75,707 ราย เบี้ยประกันภัยรวม 229.04 ล้านบาท และจ่ายสินไหมทดแทนแล้ว 24.16 ล้านบาท

5) การยกระดับศักยภาพของแรงงาน

 

ดำเนินโครงการมหกรรมรวมพลัง สร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ภายใต้นโยบายสืบสาน รักษา ต่อยอด ฟื้นฟู พลิกโฉมตลาดแรงงานไทยเช่น กิจกรรมนัดพบแรงงาน และกิจกรรมจัดคลินิกส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

6) การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต

 

ในเดือนมกราคม 2566 ได้ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC โดยจัดให้มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในเขตพื้นที่ EEC จำนวน 38 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 57,854 ล้านบาท

7) การแก้ไขปัญหายาเสพติดและสร้างความสงบสุขในพื้นที่ชายแดนภาคใต้

 

7.1) ตั้งแต่วันที่ 1-31 มกราคม 2566 ได้จับกุมคดียาเสพติด 7,324 คดี ผู้ต้องหา 1,802 คน ยึดยาบ้า 9.75 ล้านเม็ด ไอซ์ 255.47 กิโลกรัม เฮโรอีน 1.54 กิโลกรัม เคตามีน 6.81 กิโลกรัม ยาอี 8,480 เม็ด และฝิ่น 12.44 กรัม

7.2) เดือนตุลาคม 2565 - มกราคม 2566 ได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านศูนย์รับเรื่องร้องเรียนยาเสพติด 1386 จำนวน 4,787 เรื่อง และผ่านสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี 1111 จำนวน 7 เรื่อง ดำเนินการแล้วเสร็จ 2,142 เรื่อง

8) การพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน

 

อำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) แก่บุคลากรทักษะสูง/ผู้เชี่ยวชาญ (Talents) นักลงทุน (Investors) ผู้บริหาร (Executives) และผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ที่ประสงค์จะเข้ามาทำงานหรือลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ผ่านวีซ่าประเภทพิเศษ (SMART Visa) ซึ่งในเดือนมกราคม 2566 มีผู้ขอรับรองคุณสมบัติ 44 คำขอ และมีผู้ผ่านการรับรองคุณสมบัติทั้งสิ้น 39 คำขอ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 4 เมษายน 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A4146

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!