WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร

GOV 13

แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ และมอบหมายให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติต่อไป

          ด้วยพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ได้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2566 สลค. จึงขอเสนอ

          1. แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร และให้แจ้งหน่วยงานต่างๆ ทราบและถือปฏิบัติต่อไป ดังนี้

                  1.1. ด้านนิติบัญญัติ

                          1.1.1 สมาชิกสภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงทันทีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับ1 และต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน2

                          1.1.2 เงินประจำตำแหน่งและเงินเพิ่มของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะคำนวณถึงก่อนวันยุบสภาผู้แทนราษฎร 1 วัน

                          1.1.3 ภายใน 5 วันนับแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการการเลือกตั้งจะประกาศกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งต้องไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่ยุบสภาผู้แทนราษฎร3

                          1.1.4 กระทู้ถามและญัตติทั้งหมดตกไป4

                          1.1.5 กรรมาธิการสามัญและกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรพ้นจาก ตำแหน่ง5

                          1.1.6 ร่างพระราชบัญญัติที่ได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาและได้ส่งให้รัฐบาลนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ไม่ตกไป และดำเนินการต่อไปได้6

                          1.1.7 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วแต่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยหรือเมื่อพ้น 90 วันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้เป็นอันตกไป7

                          1.1.8 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบ ให้เป็นอันตกไป เว้นแต่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะร้องขอต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี พิจารณาต่อไป ภายใน 60 วันนับแต่วันเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป8

[หมายเหตุ : มาตรา 85 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง และมาตรา 121 บัญญัติให้ภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก]

                          1.1.9 วุฒิสภายังไม่สิ้นสุด9 แต่จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้เว้นแต่10

                                  (1) กรณีที่ต้องประชุมเพื่อดำเนินการบางประการที่รัฐธรรมนูญกำหนด เช่น การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งไว้ก่อน การปฏิญาณตนของผู้สำเร็จราชการในพระองค์ การประกาศสงคราม เป็นต้น

                                  (2) กรณีที่ต้องประชุมเพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ [ได้แก่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (มาตรา 204 และมาตรา 207) กรรมการการเลือกตั้ง (มาตรา 222 และมาตรา 223) ผู้ตรวจการแผ่นดิน (มาตรา 228 และมาตรา 229 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (มาตรา 232 และมาตรา 233) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (มาตรา 238มาตรา 239 และมาตรา 241) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (มาตรา 246)] [หมายเหตุ : กรณีวุฒิสภาต้องดำเนินการประชุมข้างต้น มาตรา 126 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญและประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ]

                          1.1.10 คณะกรรมาธิการของวุฒิสภาจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แหนราษฎรมิได้ เว้นแต่จะดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการนั้นๆ หรือตามที่วุฒิสภามอบหมาย11

 

kasat 720x100

 

                  1.2 คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

                          1.2.1 สถานะของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

                                  (1) คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป (ไม่เรียกว่า รักษาการ และได้รับเงินเดือนแต่ยังไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน) (มาตรา 168 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)

                                  (2) คณะรัฐมนตรียังคงมีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศเท่าที่จำเป็นทุกประการ กรณีมีสถานการณ์คุกคามความมั่นคงของชาติ ย่อมมีอำนาจหน้าที่ที่จะประกาศมาตรการเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติได้ เช่น ประกาศภาวะฉุกเฉินหรือประกาศกฎอัยการศึก เป็นต้น12

                                  (3) การลงชื่อตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรียังคงลงชื่อในตำแหน่งเดิม มิใช่เป็นการรักษาการหรือรักษาการในตำแหน่ง13

                                  (4) นายกรัฐมนตรีจะปรับรัฐมนตรีออก หรือรัฐมนตรีจะลาออกก็กระทำได้ แต่ไม่ควรแต่งตั้งแทน14

                          1.2.2 การปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี

                                  (1) การประชุมคณะรัฐมนตรี15

                                          (1.1) คณะรัฐมนตรีประชุมต่อไปได้ตามปกติจนกว่าจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาจัดเฉพาะระเบียบวาระที่เป็นไปตามปกติปฏิบัติ

                                          (1.2) สำหรับเรื่องใดที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการหรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะกลั่นกรองไว้ชั้นหนึ่งก่อน แล้วเสนอคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้กำกับการบริหารราชการแทนนายกรัฐมนตรี เพื่อมีมติหรือคำสั่งให้เสนอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ต่อไป

                                  (2) การอนุมัติงานหรือโครงการ (มาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)

                                          (2.1) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี

                                          (2.2) การกระทำใดๆ ที่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะกระทำมิได้ เช่น การกำหนดนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติที่มีผลต้องดำเนินการต่อเนื่อง

                                  (3) การแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง (มาตรา 169 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)

                                          (3.1) ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

                                          (3.2) การใช้อำนาจตามข้อ (3.1) จะต้องกระทำเท่าที่จำเป็นและต้องเป็นไปเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะและต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

                                          การใช้อำนาจดังกล่าวให้หมายความรวมถึงกรณีที่มีกฎหมาย กฎ หรือระเบียบกำหนดเป็นเงื่อนไขให้การแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพันจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน นั้น มีผลต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีได้รับทราบ อนุญาต อนุมัติ เห็นชอบ หรือการดำเนินการอื่นที่มีผลลักษณะเดียวกัน

                                          (3.3) เมื่อมีกรณีที่ต้องขอรับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังต่อไปนี้

                                          (ก) จัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง โยกย้าย การให้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน

                                          (ข) ประวัติย่อของบุคคลดังกล่าว

                                          (ค) จัดทำสรุปสาระสำคัญต่างๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งรวมถึงกระบวนการ เหตุผลในการพิจารณา รวมทั้งเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องใช้อำนาจในระหว่างเวลาดังกล่าว

                                          ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้การแต่งตั้งโยกย้าย การให้พ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทนเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลดังกล่าว และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

                                          (3.4) ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หน่วยงานต้นสังกัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือในการส่งผู้แทนไปชี้แจงหรือส่งข้อมูลเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งร้องขอ

                                          (3.5) เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามแนวปฏิบัตินี้ คำว่า “กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่”16 ให้พิจารณาโดยคำนึงถึงกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 ด้วย

[หมายเหตุ ข้อ (3.2) - (3.5) เป็นไปตามแนวปฏิบัติและขั้นตอนดำเนินการตามมาตรา 169 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง]

 

QIC 720x100

 

                                  (4) การอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น (มาตรา 169 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)

                                          (4.1) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

                                          (4.2) การกระทำตามข้อ (4.1) จะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น และต้องเป็นไปเพื่อรักษาประโยชน์ของรัฐ รักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดภัยพิบัติสาธารณะ หรือเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการหรือเป็นการบรรเทาภัยพิบัติแก่ประชาชน และต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน

                                          การดำเนินการดังกล่าวจะกระทำได้เฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณนอกเหนือจากที่ได้รับการจัดสรร หรือที่ได้รับการจัดสรรไปแล้วแต่ไม่เพียงพอและมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องขอใช้บประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อฉุกเฉินหรือจำเป็น

                                          (4.3) เมื่อมีกรณีที่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าว ให้สำนักงบประมาณรวมรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องเหตุผลและความจำเป็นในการขอใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นของส่วนราชการหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ที่มีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณรายจ่ายดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

                                          (4.4) ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงบประมาณ หน่วยงานต้นสังกัด หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือในการส่งผู้แทนไปชี้แจง หรือส่งข้อมูลเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งร้องขอ

[หมายเหตุ ข้อ (4.2) - (4.4) เป็นไปตามแนวปฏิบัติและขั้นตอนดำเนินการตามมาตรา 169 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง]

                                  (5) การใช้ทรัพยากรหรือบุคลากรของรัฐ (มาตรา 169 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)

                                          (5.1) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการผ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด (ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563) ดังนั้น ถ้าเป็นการดำเนินการในการปฏิบัติราชการปกติ ซึ่งไม่มีผลต่อการเลือกตั้งก็ยังคงดำเนินการได้

                                          (5.2) ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 ได้กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งด้วยวิธีการ ดังต่อไปนี้

                                          (ก) ใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ โดยการกำหนดนโยบาย โครงการ แผนงาน โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันที และมีลักษณะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

                                          (ข) จัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่นอกเหนือจากการประชุมตามปกติ และมีการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

                                          (ค) กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการประชุม อบรม หรือสัมมนาบุคคลากรของรัฐหรือเอกชน โดยใช้เงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐหรือเงินของกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ โดยอาจให้มีการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดเว้นแต่เป็นการประชุมตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องมิใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

                                          (ง) กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการอนุมัติ โอนหรือเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายของหน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้หน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ทำการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่ประชาชน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องมิใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

                                          (จ) กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการแจกจ่ายหรือจัดสรรทรัพยากรของรัฐให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่เป็นกรณีต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องมิใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

                                          (ฉ) ใช้พัสดุหรือเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือใช้บุคลากรของรัฐปฏิบัติงานเพื่อสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

                                          (ช) ใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น คลื่นความถี่ หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือใช้งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่จะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

                                          ทั้งนี้ ในกรณีใดที่ไม่ได้กำหนดไว้หรือมีเหตุจำเป็น คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจกำหนดยกเว้นหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามความในระเบียบดังกล่าวได้

 

วิริยะ 720x100

 

                                  (6) การปฏิบัติตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

                                          (6.1) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 

                                          (ก) มาตรา 73 บัญญัติห้ามมิให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไรหรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมืองหรือผู้สัมครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่รวมถึงการที่ข้าราชการการเมืองผู้นั้นเข้าร่วมกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง โดยมิได้กระทำหรือมีส่วนกระทำการอันเป็นการต้องห้ามนั้น

                                          (ข) มาตรา 76 บัญญัติห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ บริจาคเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองหรือเข้าร่วมกิจกรรมระดมทุนของพรรคการเมือง

                                          (6.2) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

 มาตรา 73 บัญญัติห้ามมิให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

                                          (ก) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด

                                          (ข) ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา สถานสงเคราะห์ หรือสถาบันอื่นใด 

                                          (ค) ทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ

                                          (ง) เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด

                                          (จ) หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพล คุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

                                  (7) การออกกฎหมาย17

                                          (7.1) การเสนอร่างกฎหมายใหม่โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติซึ่งเป็นเรื่องในทางนโยบาย ไม่สมควรดำเนินการเสนอในระหว่างยุบสภา ส่วนร่างอนุบัญญัติ เช่น พระราชกฤษฎีกา ร่างกฎกระทรวง ร่างระเบียบ เป็นตัน ซึ่งเป็นการกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายแม่บทให้อำนาจไว้ ย่อมดำเนินการได้ตามปกติ

                                          (7.2) ร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหลักการและส่งให้ สคก. หรือคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรี (คกอ.) ตรวจพิจารณา

                                          (ก) ถ้าเป็นร่างพระราชบัญญัติ เมื่อ สคก.ตรวจพิจารณาแล้ว จะดำเนินการต่อไปไม่ได้ เพราะยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องรอให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่เป็นผู้พิจารณาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร

                                          (ข) ถ้าเป็นร่างอนุบัญญัติซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่จะดำเนินการเพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไปนั้นเนื่องจากเป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการไว้ก่อนที่จะมีการยุบสภา ดังนั้น เมื่อ สคก. หรือ คกอ. ตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ไปตามขั้นตอน เพื่อให้ร่างอนุบัญญัติดังกล่าวประกาศใช้บังคับต่อไปได้

                                  (8) การแต่งตั้งคณะกรรมการ

                                  การสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตามกฎหมายเป็นการดำเนินการเพื่อให้มีคณะกรรมการตามกฎหมายอันจำเป็นต่อการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย สามารถดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการตามกฎหมายได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข หรือกระบวนการที่กฎหมายบัญญัติและเมื่อได้แต่งตั้งแล้ว คณะกรรมการตามกฎหมายดังกล่าวสามารถปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายแต่ละฉบับอันเป็นงานประจำตามปกติได้18

                                  (9) การปฏิบัติเรื่องอื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี

                                          (9.1) กรณีการประชุมสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ การประชุมทางวิชาการ หากเป็นการนัดหมายล่วงหน้าก่อนพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับ และเป็นการปฏิบัติตามปกติดังเช่นที่เคยปฏิบัติ รัฐมนตรีสามารถเข้าร่วมประชุมดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการหาเสียงเลือกตั้ง

                                          (9.2) รัฐมนตรีซึ่งลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรห้ามใช้เวลาราชการในการหาเสียงเลือกตั้ง หากประสงค์จะใช้เวลาหาเสียงเลือกตั้งให้ลากิจต่อนายกรัฐมนตรี20 และกรณีที่นายกรัฐมนตรีมีความประสงค์จะลากิจ ให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีแจ้งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 หมวด 3 การลาของข้าราชการการเมือง

                                          (9.3) การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนของรัฐมนตรีควรใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะกรณีการได้รับเชิญไปสัมภาษณ์ออกโทรทัศน์ในฐานะของตำแหน่งรัฐมนตรี จะให้สัมภาษณ์ได้เฉพาะหน้าที่รัฐมนตรีเท่านั้น แต่บางครั้งสื่อมวลชนอาจมีคำถามในฐานะสมาชิกพรรคการเมืองที่จะทำให้คำสัมภาษณ์ของรัฐมนตรีเป็นการให้คุณต่อพรรคการเมืองของตน ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีกับสื่อของรัฐโดยมิชอบได้ แต่หากเป็นการเชิญผู้แทนพรรคการเมืองหลายๆ พรรคไปสัมภาษณ์ในลักษณะเท่าเทียมกัน ก็เป็นความรับผิดของสื่อมวลชนนั้นๆ ไป21

                                          (9.4) ให้รัฐมนตรีทุกท่านระมัดระวังในการดำเนินเรื่องดังต่อไปนี้ระหว่างที่พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับ22

                                          (ก) การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ ที่มีรูปภาพของรัฐมนตรีปรากฏอยู่ ไม่ว่าจะเป็นป้ายโฆษณา หรือการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางวิทยุและโทรทัศน์ ควรจะปลดป้ายหรือยกเลิกการโฆษณาประชาสัมพันธ์ดังกล่าวทั้งหมด เว้นแต่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ใช้เงินของพรรคการเมืองที่ตนสังกัด

                                          (ข) การใช้รถประจำตำแหน่งและเจ้าหน้าที่ของทางราชการที่มิได้ใช้ในการปฏิบัติภารกิจและหน้าที่ในฐานะรัฐมนตรี

                                          (ค) การให้สัมภาษณ์รายการวิทยุและโทรทัศน์ และการรับเชิญไปบรรยายตามสถานที่ต่างๆ ในรายการที่ทางหน่วยงานราชการซื้อเวลาไว้หรือจัดขึ้น ยกเว้นรายการที่สถานีวิทยุหรือโทรทัศน์ที่มิใช่กิจการของรัฐจัดขึ้นเอง

 

AXA 720 x100

 

                                (10) การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน 

 ประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าพนักงานของรัฐต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้ในกรณีคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะให้ถือวันที่คณะรัฐมนตรีคณะใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ เป็นวันพ้นจากตำแหน่ง ดังนั้น คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันจะยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดังนี้

                                          (10.1) กรณีรัฐมนตรีมีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วย ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วันนับแต่วันถัดจากวันพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (วันที่ยุบสภาผู้แทนราษฎร) และต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินอีกครั้งภายใน 60 วันนับแต่วันถัดจากวันพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี (วันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ)

                                          (10.2) กรณีรัฐมนตรีไม่มีสถานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วันนับแต่วันถัดจากวันพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี (วันที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ)

                                (11) การผลัดเวรเฝ้าฯ ให้ปฏิบัติตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจัดไว้ตามปกติ

                  1.3 สถานะข้าราชการการเมืองอื่น

                  คณะกรรมการกฤษฎีกาเคยมีคำวินิจฉัย (เรื่องเสร็จที่ 511/2533) ไว้ว่าสถานะข้าราชการการเมืองอื่น เช่น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เลขานุการรัฐมนตรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฯลฯ ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และพ้นจากตำแหน่งพร้อมกับการสิ้นสุดการอยู่ในตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีผู้แต่งตั้ง แต่ต้องไม่เกินกว่าที่คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะเข้ารับหน้าที่

          2. ให้ทุกส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำชับข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างในสังกัดของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐถือปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 [เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป (แจ้งตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0503/ว61 ลงวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2562)] โดยเคร่งครัด โดยเฉพาะการให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อได้รับการร้องขอจากคณะกรรมการ การเลือกตั้ง ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง รวมทั้งการวางตัวเป็นกลางทางการเมืองของข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่และลูกจ้างทุกประเภทและทุกระดับดังกล่าวด้วย

_____________________

1มาตรา 101 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง เมื่อถึงคราวออกตามอายุของสภาผู้แทนราษฎร หรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

2ข้อ 9 (2) ประก้อบข้อ 11 (2) แห่งประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าพนักงานของรัฐต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินภายใน 60 วันนับแต่วันถัดจากวันพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (วันที่ยุบสภาผู้แทนราษฎร) 

3มาตรา 103 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

4ข้อ 155 (4) แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 กำหนดให้กระทู้ถามตกไปเมื่อสภาสิ้นอายุ หรือสภาถูกยุบ

5ข้อ 108 แห่งข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 กำหนดให้กรรมาธิการพ้นจากตำแหน่งเมื่อสภาสิ้นอายุ หรือสภา ถูกยุบ

6แนวทางตามข้อ 1.1.6 เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556 (เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร)

7มาตรา 147 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

8มาตรา 147 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

9มาตรา 269 (4) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ในวาระเริ่มแรก ให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 250 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติถวายคำแนะนำ โดยอายุของวุฒิสภาตามมาตรานี้มีกำหนด 5 ปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง [วุฒิสภาชุดปัจจุบันได้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเมื่อวันที่ 11พฤษภาคม 2562 (ครบวาระวันที่ 10 พฤษภาคม 2567)]

10มาตรา 126 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

11ข้อ 101 ประกอบข้อ 78 แห่งข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 (คณะกรรมาธิการมีอำนาจหน้าที่ศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการตามที่กำหนดในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2562 กำหนด เช่น คณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่และอำนาจศึกษาเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน แก้ไขปัญหาและพัฒนาเกษตรกรรมการใช้ประโยชน์ที่ดิน น้ำและปัจจัยการผลิตทางการเกษตร เป็นต้น)

12แนวทางตามข้อ 1.2.1 (2) เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556 (เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร)

13ความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย คณะที่ 6) เรื่อง การพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการการเมือง (กรณีที่คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากนายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง) (เรื่องเสร็จที่ 511/2533)

14แนวทางตามข้อ 1.2.1 (4) เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556 (เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร)

15แนวทางตามข้อ 1.2.2 (1) เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556 (เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร)

16ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 กำหนดนิยามคำว่า “กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่” หมายความว่า กิจการที่รัฐเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นอยู่เป็นจำนวนมากที่สุดในบรรดาผู้เป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นแต่ละคนทุกคน และจำนวนหุ้นส่วนหรือหุ้นมีจำนวนไม้น้อยกว่าหนึ่งในสามของหุ้นส่วนหรือหุ้นทั้งหมดของนิติบุคคลนั้น

17 แนวทางตามข้อ 1.2.2 (7) เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556 (เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร) ประกอบมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 (เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร)

18 แนวทางตามข้อ 1.2.2 (8) เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 (เรื่อง การเสนอเรื่องเกี่ยวกับการแต่งตั้งกรรมการในช่วงการยุบสภาผู้แทนราษฎร)

19 แนวทางตามข้อ 1.2.2 (9.1) เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 (เรื่อง หารือการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในระหว่างที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร)

20 แนวทางตามข้อ 1.2.2 (9.2) เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 (เรื่อง หารือการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีในระหว่างที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร)

21 แนวทางตามข้อ 1.2.2 (9.3) เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2556 (เรื่อง แนวทางปฏิบัติอันเนื่องมาจากการยุบสภาผู้แทนราษฎร)

22 แนวทางตามข้อ 1.2.2 (9.4) เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 (เรื่อง แนวทางการดำเนินงานของคณะรัฐมนตรีภายหลังจากพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับ)

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 มีนาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A3929

Click Donate Support Web  

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!