ความก้าวหน้าของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำเดือนมกราคม 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 21 March 2023 22:20
- Hits: 2128
ความก้าวหน้าของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำเดือนมกราคม 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอ ความก้าวหน้าของการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำเดือนมกราคม 2566 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติ
1.1 แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2566-2580) (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566*
1.2 การปฏิรูปประเทศ ภายหลังจากที่แผนการปฏิรูปประเทศได้สิ้นสุดเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2565 หน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานร่วมดำเนินการต้องนำประเด็นปฏิรูปประเทศมาดำเนินการต่อเนื่องผ่านกลไกของแผนระดับที่ 2 แผนระดับที่ 3 และการดำเนินการต่างๆ ของหน่วยงาน เพื่อให้ผลสัมฤทธิ์เกิดความยั่งยืนตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
1.3 การขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ดำเนินการผ่านกลไก 3 ระดับ ได้แก่ (1) กลไกเชิงยุทธศาสตร์ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 จำนวน 5 คณะทำหน้าที่กำกับดูแลการขับเคลื่อนกลยุทธ์การพัฒนาประเทศในแต่ละหมุดหมาย (2) กลไกตามภารกิจเป็นการดำเนินงานของหน่วยงานเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศผ่านการบูรณาการงานและงบประมาณ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะให้ความสำคัญกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาตาม 13 หมุดหมาย และ (3) กลไกระดับพื้นที่ปัจจุบันได้มีการดำเนินงานของภาคีที่เป็นกลไกในระดับพื้นที่นำร่องระดับตำบลในภาคต่างๆ ประเทศ เพื่อร่วมขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในหมุดหมายการพัฒนาที่มีความสอดคล้องกับบริบท ความต้องการ สภาพปัญหา ตลอดจนศักยภาพของพื้นที่เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและนำไปสู่การสังเคราะห์ต้นแบบการสร้างภาคีเครือข่ายการทำงานแบบบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาในระดับพื้นที่ต่อไป
1.4 ความก้าวหน้าการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มีการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับประเทศไทย (Thaland's SDG Roadmap) ได้แก่ (1) การสร้างการตระหนักรู้ (2) การเชื่อมโยง SDGs กับแผน 3 ระดับของประเทศ (3) กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน (4) การดำเนินงานเพื่อให้บรรลุ SDGs และการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ (5) ภาคีการพัฒนา และ (6) การติดตามและประเมินผล ซึ่งในส่วนยุทธศาสตร์ชาติได้มีการเชื่อมโยงเป้าหมายแผนแม่บทย่อยของแผนแม่บทฯ เข้ากับเป้าหมายย่อยของ SDGs เช่น เป้าหมายย่อยของแผนแม่บทฯ : ประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเพิ่มขึ้น สัมพันธ์กับเป้าหมายย่อย SDGs : ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
2. การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ
2.1 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มเป้าหมายเร่งด่วน จำนวน 655,365 คน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ตกเกณฑ์มิติความขัดสน (2) กลุ่มครัวเรือนเปราะบาง จำนวน 11,023,225 ครัวเรือน 33,384,526 คน ซึ่งเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีบุคคลในภาวะพึ่งพิงที่ต้องได้รับความช่วยเหลือและดูแลจากครอบครัวและ/หรือเป็นครัวเรือนที่มีรายได้น้อย (3) กลุ่มคนที่ต้องสำรวจเพิ่มเติม จำนวน 13,220,965 คน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับสิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและได้รับการสำรวจข้อมูลความจำเป็นพื้นฐานแต่ไม่ตกเกณฑ์มิติความขัดสนหรือไม่มีข้อมูลมิติความขัดสน และ (4) กลุ่มคนที่ตกหล่นจากระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในฐานข้อมูลที่มีการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือข้อมูลระดับพื้นที่ โดยจะต้องดำเนินการสำรวจเพิ่มเติมเพื่อนำผู้ที่ตกหล่นเข้าระบบต่อไปซึ่งคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (คจพ.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2566 เห็นชอบการดำเนินการและมอบหมายให้ ศจพ. ทุกระดับและทีมปฏิบัติการในพื้นที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาคนกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวต่อไป
2.2 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติผ่านแผนระดับที่ 3 ณ เดือนธันวาคม 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 165 แผน มีสถานะของแผนปฏิบัติการด้าน...สรุปได้ ดังนี้ (1) คณะรัฐมนตรีรับทราบแล้วและยังมีผลบังคับใช้อยู่ จำนวน 44 แผน (2) อยู่ระหว่าง สศช. พิจารณา จำนวน 48 แผน (3) ยกเลิกการดำเนินการ/สิ้นสุดการดำเนินการ จำนวน 61 แผน และ (4) ผ่านกระบวนการพิจารณาในรอบเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565 จำนวน 12 แผน โดยคณะรัฐมนตรีมีมติ (7 มีนาคม 2566) เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (พ.ศ. 2566-2570) และคณะรัฐมนตรีมีมติ (14 มีนาคม 2566) เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทยระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570)* ทั้งนี้ แผนฯ ที่ผ่านการพิจารณาจาก สศช. และยังมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน รวม 62 แผน พบว่า เป็นแผนฯ ที่มีกฎหมายรองรับ 25 แผน โดยส่วนหนึ่งยังมีความทับซ้อนของประเด็นการพัฒนา ทำให้แผนฯ ที่ประกาศใช้มีมากเกินความจำเป็นและยังไม่ครอบคลุมช่องว่างของประเด็นการพัฒนา ดังนั้น หน่วยงานของรัฐผู้จัดทำแผนฯ จะต้องให้ความสำคัญในการกำหนดประเด็นที่ตรงจุดและพุ่งเป้าการพัฒนาที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทฯ ต่อไป
3. การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
3.1 ระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) การนำเข้าข้อมูลในระบบ eMENSCR ของปีที่ผ่านมา พบว่า มีบางหน่วยงานที่ให้ความสำคัญในการนำเข้าข้อมูลในระบบแต่เป็นข้อมูลของบางหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงนั้น เช่น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีหน่วยงานในสังกัดและมหาวิทยาลัย รวม 103 หน่วยงาน มีข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR รวม 20,008 โครงการ แต่โครงการมากกว่าร้อยละ 50 ของโครงการทั้งหมดเป็นโครงการของหน่วยงานเพียง 12 หน่วยงาน โดยมีหน่วยงานกว่า 50 หน่วยงานที่ไม่มีการนำเข้าข้อมูลโครงการ ดังนั้น ขอให้ทุกกระทรวงเน้นย้ำ กำกับ ติดตามให้ทุกหน่วยงานในสังกัดนำเข้าข้อมูลทุกโครงการ/การดำเนินงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2566
3.2 การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลผ่านกลไกการตรวจราชการ มีการกำหนดประเด็นการตรวจราชการเพื่อใช้เป็นกรอบในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลในภาคราชการของผู้ตรวจราชการในปี 2565 และ 2566 โดยให้ความสำคัญในบางเป้าหมายแผนแม่บทย่อยที่มีสถานการณ์บรรลุเป้าหมายในระดับวิกฤตหรืออยู่ในระดับเสี่ยง ซึ่งยังไม่ครอบคลุมประเด็นที่มีความจำเป็นเร่งด่วน โดยในปี 2565 ได้กำหนดประเด็นการตรวจราชการ 2 ประเด็น ได้แก่ (1) การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรแปรรูปและผลิตภัณฑ์ และ (2) การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของเศรษฐกิจฐานราก และในปี 2566 ได้กำหนดประเด็นการตรวจราชการ 2 ประเด็น ได้แก่ (1) การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมและการพัฒนาระบบนิเวศการท่องเที่ยว และ (2) การพัฒนาช่วงวัยเรียน/วัยรุ่น และการพัฒนาและยกระดับศักยภาพวัยแรงงาน ซึ่งยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องนำมากำหนดเป็นประเด็นในการตรวจสอบเพิ่มเติม ดังนั้น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ให้ผู้ตรวจราชการในทุกระดับติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล เพื่อ “พุ่งเป้า” ไปสู่การบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามยุทธศาสตร์ชาติโดยให้ความสำคัญในการจัดทำแนวนโยบายการตรวจสอบ กำหนดแผนการตรวจสอบ รวมถึงประเด็นในการตรวจสอบให้มีความเฉพาะเจาะจงและมีความเชื่อมโยงบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ สศช. ได้พัฒนาระบบ eMENSCR ให้รองรับการติดตามและตรวจสอบรวมถึงให้มีการนำเข้ารายงานผลการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการทุกระดับในระบบด้วย
4. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติจากข้อมูลโครงการวิจัยและนวัตกรรมปีงบประมาณ พ.ศ. 2563-2565 ภายใต้แผนด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2563-2565 พบว่า มีโครงการวิจัยและนวัตกรรมฯ ที่ได้รับจัดสรรทุน จำนวนทั้งสิ้น 12,189 โครงการ เป็นโครงการเพื่อการสนับสนุนงานวิจัยเชิงกลยุทธ์ 6,021 โครงการ และโครงการเพื่อการสนับสนุนงานวิจัยมูลฐาน 6,168 โครงการ ซึ่งได้จัดสรรทุนวิจัยให้โครงการฯ ตามประเด็นวิจัย 17 โปรแกรม สะท้อนให้เห็นว่าที่ผ่านมา ยังไม่มีการพิจารณาถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการจัดทำโครงการวิจัยและนวัตกรรมฯ เท่าที่ควร ดังนั้น เพื่อให้การจัดทำงานวิจัยเป็นประโยชน์และมุ่งเน้นเฉพาะประเด็นที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงควรกำหนดประเด็นโดยพิจารณาข้อมูลประกอบ ดังนี้ (1) ความซ้ำซ้อนของประเด็นวิจัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน (2) ประเด็นช่องว่างในการขับเคลื่อนปัจจัยภายใต้ห่วงโซ่คุณค่าของประเทศไทย และ (3) ข้อมูลสถานะการบรรลุเป้าหมายแผนแม่บทฯ ที่จำเป็นต้องมีงานวิจัยมารองรับแนวทางการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
_______________________
*จากการตรวจสอบข้อมูลของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 มีนาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3927