สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 21 March 2023 22:13
- Hits: 2118
สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอสรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565) และแนวทางในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรค โดย สปน. จะประสานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความร่วมมือในการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการประชาชน และการบริหารจัดการเรื่องร้องทุกข์ต่อไป [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (29 พฤศจิกายน 2548) ที่รับทราบแนวทางการจัดระเบียบของระบบกระบวนการแก้ไขปัญหาตามข้อร้องเรียนของประชาชนและมอบหมายให้ทุกกระทรวงดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โดยให้ สปน. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการติดตามผลการดำเนินการและสรุปรายงานผลความคืบหน้าในการดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีรับทราบทุก 3 เดือน] สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สรุปผลการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นจากประชาชน ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2565)
1.1 สถิติการแจ้งเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นของประชาชนที่ยื่นเรื่องผ่านช่องทางการร้องทุกข์ 1111 รวมทั้งสิ้น 14,439 เรื่อง สามารถดำเนินการจนได้ข้อยุติ 12,133 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 84.03 และรอการพิจารณาของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 2,306 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 15.97
1.2 หน่วยงานที่ได้รับการประสานงานเรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็นมากที่สุด 5 ลำดับแรก ดังนี้
(1) ส่วนราชการ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1,430 เรื่อง กระทรวงคมนาคม 383 เรื่อง กระทรวงการคลัง 302 เรื่อง กระทรวงสาธารณสุข 285 เรื่อง และกระทรวงมหาดไทย 279 เรื่อง ตามลำดับ
(2) รัฐวิสาหกิจ ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 615 เรื่อง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 127 เรื่อง องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ 124 เรื่อง การไฟฟ้านครหลวง 109 เรื่อง และการประปาส่วนภูมิภาค 70 เรื่อง ตามลำดับ
(3) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 767 เรื่อง จังหวัดนนทบุรี 237 เรื่อง สมุทรปราการ 212 เรื่อง ปทุมธานี 203 เรื่อง และชลบุรี 177 เรื่อง ตามลำดับ
2. การประมวลผลและวิเคราะห์เรื่องร้องทุกข์และรับข้อคิดเห็น ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สรุปได้ ดังนี้
2.1 สถิติจำนวนเรื่องร้องทุกข์เปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีเรื่องร้องทุกข์ 33,052 เรื่อง ซึ่งน้อยกว่าในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 1,039 เรื่อง (มีเรื่องร้องทุกข์ 34,091 เรื่อง)
2.2 ประเด็นเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด 10 ลำดับแรก ได้แก่
(1) เสียงรบกวน/สั่นสะเทือน เช่น การเปิดเพลงเสียงดัง และเล่นดนตรีสดของร้านอาหาร สถานบันเทิง การจับกลุ่มสังสรรค์ของเพื่อนบ้าน รวมถึงเสียงดังจากการรวมกลุ่มแข่งหรือเร่งเครื่องจักรยานยนต์ 1,576 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 1,487 เรื่อง (ร้อยละ 94.35)
(2) ไฟฟ้า เช่น ขอให้แก้ไขปัญหากระแสไฟฟ้าขัดข้อง และซ่อมแซมไฟฟ้าส่องสว่างริมทาง หม้อแปลงไฟฟ้า สายไฟฟ้า และเสาไฟฟ้า รวมทั้งขอให้ขยายเขตการให้บริการไฟฟ้าในพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ห่างไกล 696 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 595 เรื่อง (ร้อยละ 85.49)
(3) สลากกินแบ่งรัฐบาล เช่น ขอให้พิจารณาจัดสรรโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลให้เพียงพอกับจำนวนผู้จัดจำหน่าย แจ้งเบาะแสจำหน่ายสลากเกินราคาและขอให้ตรวจสอบการกว้านซื้อสลากของบริษัทเอกชนเจ้าของแพลตฟอร์มจำหน่ายสลากออนไลน์ 644 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 623 เรื่อง (ร้อยละ 96.74)
(4) อุทกภัย เช่น ขอความช่วยเหลือกรณีได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน ขอความช่วยเหลือเงินเยียวยาผู้ประสบภัย และขอให้ระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขังทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานครและในพื้นที่จังหวัดที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากรวมทั้งเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในภาพรวม 556 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 521 เรื่อง (ร้อยละ 93.71)
(5) โทรศัพท์ เช่น การให้บริการผ่านโทรศัพท์ของหน่วยงานของรัฐ (เช่น หมายเลข 1422 ของกรมควบคุมโรค และหมายเลข 1506 ของสำนักงานประกันสังคม) มีการให้รอสายนาน ต่อสายไปยังหน่วยงานย่อยภายในหลายครั้ง และคู่สายเต็ม 543 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 474 เรื่อง (ร้อยละ 87.29)
(6) ยาเสพติด เช่น การแจ้งเบาะแสการจำหน่ายและเสพยาเสพติดประเภทยาบ้าและยาไอซ์ ประกอบกับขณะนี้รัฐบาลได้มีนโยบายรับแจ้งปัญหายาเสพติดเพื่อการบำบัด จึงทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว และแจ้งเรื่องร้องทุกข์/เสนอความคิดเห็นเข้ามามากขึ้น 490 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 452 เรื่อง (ร้อยละ 92.24)
(7) การเมือง เช่น แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่อยู่ในกระแสสังคม (เช่น การตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง และการบริหารงานของรัฐบาล) 487 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 479 เรื่อง (ร้อยละ 98.36)
(8) ประเด็นเกี่ยวกับทรัพย์สิน เช่น ขอให้แก้ไขปัญหามิจฉาชีพหลอกลวงประชาชนทางโทรศัพท์ (แก๊งคอลเซ็นเตอร์) และขอให้ตรวจสอบเว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่มีลักษณะหลอกลวง 473 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 314 เรื่อง (ร้อยละ 66.38)
(9) ถนน เช่น ขอให้ปรับปรุงซ่อมแซมถนนชำรุด มีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ ซึ่งมีสาเหตุมาจากถนนมีการใช้งานมาเป็นระยะเวลานานถนนมีรถบรรทุกหนักสัญจรไป-มา เป็นประจำ และเกิดน้ำท่วมขังในฤดูฝน รวมทั้งขอให้ปรับปรุงถนนลูกรังเป็นถนนลาดยางแอสฟัลต์หรือถนนคอนกรีต 473 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 391 เรื่อง (ร้อยละ 82.66)
(10) ประเด็นเกี่ยวกับชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง และเสรีภาพ เช่น ขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการถูกข่มขู่คุกคาม ถูกทำร้ายร่างกาย และถูกหมิ่นประมาทซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากความไม่ปลอดภัยในชีวิต 320 เรื่อง ดำเนินการจนได้ข้อยุติ 281 เรื่อง (ร้อยละ 87.81)
3. ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการเรื่องร้องทุกข์
3.1 ปริมาณเรื่องร้องทุกข์ในไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีอัตราลดลงร้อยละ 18.36 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีงบประมาณที่ผ่านมา ทั้งนี้ พบว่าประชาชนมีแนวโน้มการใช้บริการช่องทางไลน์เพิ่มขึ้นมาก รวมทั้งมีความคาดหวังให้หน่วยงานรับผิดชอบเร่งแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว จึงควรขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์และกำหนดระยะเวลาการแก้ไขให้แล้วเสร็จตลอดจนตอบผู้ร้องทราบความคืบหน้าเป็นระยะ
3.2 ประเด็นการร้องเรียน ร้องทุกข์/เสนอข้อคิดเห็นที่ประชาชนยื่นเรื่องมากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ เช่น เสียงดังรบกวนจากการมั่วสุมดื่มสุรา การแข่งขันรถจักรยานยนต์ การเปิดเพลงในร้านอาหาร สถานบันเทิง หรือเสียงดังจากการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลต่างๆ ในช่วงปลายปี และน้ำท่วมฉับพลันหรือน้ำท่วมขังซ้ำซากอันเนื่องมาจากการเกิดพายุฝนตกในช่วงฤดูมรสุม หากแต่หน่วยงานอาจยังไม่มีมาตรการ/แผนในการรับมือ หรือแผนเผชิญเหตุ หรือมีแต่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน
3.3 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่มีแนวโน้มดีขึ้นโดยลำดับ ส่งผลให้ประเด็นการร้องเรียน ร้องทุกข์/เสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลมีปริมาณลดลง แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องมีการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศได้ทำการเปิดประเทศ ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามายังประเทศไทยเป็นจำนวนมากจึงควรมีมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นหากมีการแพร่ระบาดจากกลุ่มนักท่องเที่ยว
3.4 ปัญหาเรื่องร้องทุกข์ที่ประชาชนขอให้หน่วยงานภาครัฐมีมาตรการแก้ไขที่ชัดเจน เข้มงวด ได้แก่ ปัญหาการจำหน่ายและเสพยาเสพติดที่มีการแพร่ระบาดในหลายพื้นที่ เนื่องจากหาซื้อได้โดยง่าย กลุ่มการเข้าถึงยาเสพติดเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนมากขึ้น และการปล่อยปละละเลยของผู้ที่เกี่ยวข้อง และปัญหากรณีการหลอกลวงของมิจฉาชีพที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบกลวิธีต่างๆ ทำให้มีประชาชนหลงเชื่อหรือเข้าใจผิดในข้อเท็จจริง (เช่น กรณีอ้างอิงว่าเป็นหน่วยงานราชการ การส่งพัสดุและเรียกเก็บเงินปลายทางโดยไม่ได้สั่งของ และประเด็นการถูกข่มขู่คุกคามจากนายทุนปล่อยเงินกู้นอกระบบ) ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงต้องอาศัยความร่วมมือในการแก้ไขจากทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งจากตัวประชาชนเอง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และในระดับรัฐบาลที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย
4. ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาปรับปรุงการให้บริการ/การปฏิบัติงาน ดังนี้
4.1 สปน. ได้พัฒนาช่องทางการให้บริการเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ตลอดจนพัฒนาการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยในการปฏิบัติงาน หากแต่ยังไม่ครอบคลุมในระดับท้องถิ่นจึงเห็นควรขยายผลการเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องทุกข์ไปยังหน่วยงานในระดับท้องถิ่นโดยตรงผ่านระบบการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์หรือนวัตกรรมการทำงานอื่นที่ทันสมัยเพื่อให้มีเครือข่ายการทำงานเรื่องร้องทุกข์ครอบคลุมทั่วประเทศ จะทำให้ปัญหาในระดับท้องถิ่นได้รับการแก้ไขที่รวดเร็วขึ้น และไม่ขยายวงกว้าง นอกจากนี้ ควรให้หน่วยงานระดับท้องถิ่นได้เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหา
4.2 ขอให้หน่วยงานเน้นการทำงานเชิงรุก วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์และเฝ้าระวังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เคยเกิดขึ้นแล้ว หรือเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดิม มาจัดทำเป็นแนวทาง มาตรการ และแผนเผชิญเหตุรองรับการแก้ไขปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันอย่างเป็นระบบ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ประชาชนทราบอย่างถูกต้องและรวดเร็วทันต่อสถานการณ์
4.3 ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเน้นย้ำมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ประชาชนทราบภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยให้มีความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตประจำวันและการประกอบอาชีพที่ต้องพบปะผู้คนหรือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่โรคโควิด-19 จะกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งหากว่าประชาชนละเลยในการป้องกันตนเอง
4.4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาด้านสังคมควรบูรณาการฐานข้อมูลและการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนอย่างจริงจัง และประชาสัมพันธ์ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางไซเบอร์เพื่อเตือนภัยให้ประชาชนมีการเฝ้าระวังมากขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 มีนาคม 2566
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3925