WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

GOV 7

สรุปผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอสรุปผลการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 3 (The 3rd ASEAN Digital Ministers’ Meeting: ADGMIN ครั้งที่ 3) และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 9-10 กุมภาพันธ์ 2566 ณ เกาะโบราไคย์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2566 เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้องรวม 7 ฉบับ1 และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายลงนาม รับรองและให้ความเห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ) โดยมีผู้แทนระดับรัฐมนตรีและ ผู้ที่ได้รับมอบหมายของประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ2 ยกเว้นสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเข้าร่วมประชุมฯ (ประเทศไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้าร่วม) ร่วมกับประเทศคู่เจรจา [สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) ประเทศญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สาธารณรัฐอินเดีย (อินเดีย) สหรัฐอเมริกา และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union: ITU)] และเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมประชุมฯ โดยมีผลการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้

 

ประเด็น

 

ผลการประชุมฯ

1. การร่วมแลกเปลี่ยนความก้าวหน้าการพัฒนาด้านดิจิทัลในภูมิภาคอาเซียน

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงและแลกเปลี่ยนมุมมองภายใต้ห้อข้อ การผนึกกำลังสู่อนาคตดิจิทัลที่ยั่งยืน (Synergy Towards a Sustainable Digital Future) โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมด้านดิจิทัล การส่งเสริมความร่วมมือตามแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล .. 2025 (ASEAN Digital Masterplan 2025: ADM 2025) และแบ่งปันข้อมูล การปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลของไทยโดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในสาขาต่างๆ และเน้นย้ำถึงความท้าทายในระดับภูมิภาคและระดับโลกเกี่ยวกับผลกระทบจากภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มาพร้อมกับการเร่งการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล เช่น ปัญหาข่าวปลอม (Fake News) และปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์

2. การผลักดันประเด็นสำคัญเร่งด่วนของไทย

 

ไทยได้เสนอกิจกรรมความร่วมมือภายใต้คณะทำงานด้านการต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ของอาเซียน เช่น (1) การประสานงานและการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ (Anti-Online Scam) ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน (2) การสร้างเครือข่ายอาเซียน ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำมาตรการเพื่อปกป้องประชาชนจากการหลอกลวงทางออนไลน์ และ (3) การจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพของบุคลากร โดยที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านดิจิทัล ครั้งที่ 3 (The 3rd ASEAN Digital Senior Officials’Meeting: ADGSOM ครั้งที่ 3) และ ADGMIN ครั้งที่ 3 ได้สนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวของไทย พร้อมทั้งเสนอแนะให้มีการแจ้งเวียนร่างเอกสารแนวคิดด้านการต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ให้องค์กรอาเซียนสาขาที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อไป

3. การรายงานผลการดำเนินงานสำคัญ ปี 2565

 

รับทราบผลงานความสำเร็จของโครงการสำคัญ ประจำปี 2565 ได้แก่ (1) รายงานการศึกษาภูมิทัศน์ปัญญาประดิษฐ์ของอาเชียน (ASEAN AI Landscape Study Report) (2) แนวทางปฏิบัติร่วมระหว่างข้อสัญญาต้นแบบของอาเชียนและข้อสัญญามาตรฐานของสหภาพยุโรปสำหรับการโอนข้อมูลระหว่างประเทศ (Guide to ASEAN Model Contractual Clauses and EU Standard Contractual Clauses for International Data Transfers) (3) กรอบการดำเนินงานของศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ของอาเซียน (Operational Framework ASEAN Computer Emergency Response Team: ASEAN CERT) และ (4) โครงการ ASEAN Guidelines detailing Quality of Experience (QoE) Framework

4. การรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการประสานงานอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ครั้งที่ 3

 

ประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีการแลกเปลี่ยนพัฒนาการด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระดับประเทศ รวมถึงการดำเนินงานขององค์กรอาเซียนรายสาขาที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของภูมิภาค โดยในส่วนของกรอบการประชุมสภาปฏิบัติการอาเซียนด้านความมั่นคงปลอดภัยบนเครือข่าย (ASEAN Network Security Action Council: ANSAC) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนดิจิทัล มีกิจกรรมและการดำเนินงานที่สำคัญ เช่น โครงการศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และบริการดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ

5. การอนุมัติงบประมาณ ประจำปี 2566

 

ในปี 2566 ไทยได้รับอนุมัติงบประมาณจากกองทุน ASEAN ICT Fund 1 โครงการ คือ โครงการ Towards ASEAN regional analysis: ASEAN Guidelines and Preparation on conducting digital statistics for economy-wide CGE database and bridging-digital-divide integrated simulation3 จำนวน 57,900 ดอลลาร์สหรัฐ

6. เอกสารผลลัพธ์สำคัญของการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 3

 

ได้มีการรับรอง ให้ความเห็นชอบ และรับทราบเอกสาร จำนวน 6 ฉบับ ดังนี้

6.1 รับรองปฏิญญาดิจิทัลโบราไคย์ (Boracay Digital Declaration)

ซึ่งเป็นเอกสารที่มุ่งขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนแม่บทอาเซียนด้านดิจิทัล .. 2025 แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025: ADM 2025 และผลลัพธ์การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 40 และ 41 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ที่ให้ความสำคัญกับการบูรณาการนโยบายและการดำเนินงานในทุกประชาคมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ ได้มีการปรับแก้ไข และเพิ่มเติมถ้อยคำให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามแผนแม่บท ADM 2025 และการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศไทย

6.2 เห็นชอบกรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน (Framework for Promoting the Growth of Digital Startups in ASEAN) ซึ่งจัดทำขึ้นบนพื้นฐานตามความสมัครใจและไม่มีผลผูกพันโดยระบุถึงปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัล 6 เสาหลัก ได้แก่ ความสามารถ การศึกษา ความเชื่อมโยงสภาพแวดล้อมทางกฎหมาย โครงสร้างพื้นฐาน และเงินทุน

6.3 เห็นชอบร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย : กรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน (Policy Recommendation: Framework for Promoting the Growth of Digital Startups in ASEAN) เป็นเอกสารที่ระบุถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อลดช่องว่างของการพัฒนาและสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัล

6.4 เห็นชอบแถลงข่าวร่วมสำหรับการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง (The 3rd ASEAN Digital Ministers’ Meeting and Related Meetings Joint Media Statement) โดยเป็นเอกสารที่ระบุถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียนตามแผนแม่บท ADM 2025 และการขับเคลื่อนตามแผนงานของอาเซียนที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ได้มีการปรับแก้ไขและเพิ่มเติมถ้อยคำให้สอดคล้องกับการดำเนินงานความร่วมมือระหว่างอาเซียนและคู่เจรจา และสนับสนุนการดำเนินการตามแผนแม่บท

6.5 รับทราบแนวทางปฏิบัติร่วมระหว่างข้อสัญญาต้นแบบของอาเซียนและข้อสัญญามาตรฐานของสหภาพยุโรปสำหรับการโอนข้อมูลระหว่างประเทศ (Guide to ASEAN Model Contractual Clauses and EU Standard Contractual Clauses for International Data Transfers) เป็นเอกสารส่วนที่ 1 ที่เปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างระหว่างข้อสัญญาต้นแบบของอาเซียน (ASEAN MCCs) และข้อสัญญามาตรฐานของสหภาพยุโรป (EU SCCs) ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความสอดคล้องทางกฎหมายกฎระเบียบด้านการคุ้มครองข้อมูลของภูมิภาคอาเซียนและสหภาพยุโรป

6.6 รับทราบรายงานการศึกษาภูมิทัศน์ปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน

(ASEAN AI Landscape Study Report) เป็นเอกสารการศึกษายุทธศาสตร์ข้อริเริ่ม และกรอบธรรมาภิบาลด้านปัญญาประดิษฐ์ (Atificial intelligence: AI) ของประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศอื่นๆ และองค์การระหว่างประเทศเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานและแนวทางในการจัดทำธรรมาภิบาลด้าน AI สำหรับอาเซียน

ทั้งนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลของประเทศสมาชิกของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ฯ ยังไม่มีการพิจารณาการลงนามเอกสารฉบับดังกล่าว เนื่องจาก ITU อยู่ระหว่างการพิจารณาร่างเอกสารดังกล่าว

7. การประชุม ADGMIN ครั้งที่ 3 กับคู่เจรจา (จีน ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และ ITU)

 

ที่ประชุม ADGMIN ครั้งที่ 3 ให้ความเห็นชอบต่อแผนงานความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับความร่วมมือด้านดิจิทัล การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การแสวงหาเทคโนโลยีอุบัติใหม่เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ และการพัฒนาศักยภาพในระดับภูมิภาคเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยในโลกไซเบอร์ โดยมุ่งเน้นการดำเนินการที่สอดคล้องกับแผนแม่บท ADM 2025 และเน้นย้ำการส่งเสริมเวทีการหารือเชิงนโยบายและการกำกับดูแลระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจาและหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ตลอดจนการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านดิจิทัลอย่างครอบคลุมและยั่งยืนต่อไป

8. การจัดการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 4

 

สิงคโปร์จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 4 ซึ่งมีกำหนดการจะจัดขึ้นในช่วงต้นปี 2567

9. การหารือทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและประเทศอื่นๆ

 

9.1 สหรัฐอเมริกา ได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลทิศทางการพัฒนาด้านดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ และประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญและต้องการผลักดัน เช่น การพัฒนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G และการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล และความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

9.2 มาเลเซีย ได้หารือในประเด็น เช่น ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การพัฒนาเมืองอัจฉริยะเทคโนโลยี 5G การจัดการปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว และการส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย

9.3 ญี่ปุ่น ได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็น เช่น การพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G การส่งเสริมการเชื่อมโยงโครงข่ายผ่านระบบ OpenRAN และแสดงความขอบคุณและยินดีต่อความสำเร็จของโครงการศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคง ปลอดภัยไซเบอร์ (ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre: AJCCBC) ซึ่งดำเนินการโดยประเทศไทย

9.4 จีน ได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลความร่วมมือด้านดิจิทัล เช่น ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัล โดยไทยได้แจ้งความก้าวหน้าในการเตรียมการจัดการประชุมคณะทำงานร่วมไทย-จีน ด้านความร่วมมือในสาขาเศรษฐกิจดิจิทัล (Thailand-China Ministerial Dialogue on Digital Economy Cooperation) ครั้งที่ 2 ประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะจัดในช่วงปลายปี 2566 นอกจากนี้ จีนขอรับการสนับสนุนเสียงจากไทยในการลงสมัครรับเลือกตั้งตำแหน่งรองเลขาธิการขององค์การโทรคมนาคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (Asia Pacific Telecommunity: APT) วาระปี .. 2024-2026 และขอบคุณประเทศไทยที่ให้การสนับสนุนจีนในการเลือกตั้งตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และคณะกรรมการกฎข้อบังคับวิทยุ

10. การหารือทวิภาคีของปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในระหว่างการประชุม ADGSOM ครั้งที่ 3

 

10.1 สหรัฐอเมริกา ได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยี 5G และโครงสร้างพื้นฐานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกายินดีให้การสนับสนุนอาเซียนและไทยด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยเน้นถึงการพัฒนาศักยภาพบุคลากร รวมถึงการต่อต้านปัญหาการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์

10.2 ฟิลิปินส์ ได้หารือเกี่ยวกับความก้าวหน้าของการจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่าง ดศ. กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งฟิลิปินส์ และเร่งรัดการลงนามบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างกัน

10.3 อินโดนีเซีย ได้ร่วมหารือในประเด็นความร่วมมือด้านดิจิทัล

ที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญและต้องการผลักดัน เช่น การจัดการปัญหาการหลอกลวงออนไลน์ ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการเตือนภัยเพื่อวางมาตรการเชิงป้องกัน รวมถึงความเป็นไปได้ในการจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจสำหรับประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการระหว่างสองประเทศ ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจจะจัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านดิจิทัลระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลต่อไป

10.4 สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (US-ASEAN Business Council: USABC) ได้หารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลร่วมกันในประเด็นเทคโนโลยี 5G และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดย USABC ยินดีสนับสนุนไทยและอาเซียนในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์รวมถึงความร่วมมือด้านดิจิทัลอื่นๆ

11. บทบาทของคณะผู้แทนไทย

 

11.1 เร่งรัดการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ปลอดภัย มั่นคง และยั่งยืน โดยเฉพาะการเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงทางไซเบอร์และได้ผลักดันข้อเสนอการจัดตั้งคณะทำงานด้านการต่อต้านการหลอกลวงออนไลน์ เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

11.2 ขับเคลื่อนความร่วมมือด้านดิจิทัลของภูมิภาคอาเชียนที่สำคัญ เช่น การดำเนินโครงการศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (AJCCBC) โดยได้ยกระดับการดำเนินงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่ครอบคลุมถึงการสร้างบริการดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ ผ่านข้อเสนอโครงการศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-ญี่ปุ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการ ระหว่างปี .. 2023-2027 เพื่อสร้างความเข้มแข็งและการยกระดับขีดความสามารถด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการบริการดิจิทัลให้กับบุคลากรของไทย และสร้างโอกาสในการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ระหว่างอาเซียนและญี่ปุ่น รวมทั้งภาคีภายนอก

 

____________________

1 7 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ว่าด้วยสาขาความร่วมมือด้านดิจิทัล (2) ร่างปฏิญญาดิจิทัลโบราเคย์ (3) ร่างแนวทางปฏิบัติร่วมระหว่างข้อสัญญาต้นแบบของอาเซียนและข้อสัญญามาตรฐานของสหภาพยุโรปสำหรับการโอนข้อมูลระหว่างประเทศ (4) ร่างรายงานการศึกษาภูมิทัศน์ปัญญาประดิษฐ์ของอาเซียน (5) ร่างกรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัลในอาเซียน (6) ร่างข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย กรอบการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวิสาหกิจเริ่มต้นด้านดิจิทัสในอาเซียน และ (7) ร่างแถลงข่าวร่วมสำหรับการประชุม ADGMIN ครั้งที่ 3 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

2 ได้แก่ ประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เนการาบรูไนดารุสซาลาม สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และราชอาณาจักรกัมพูชา

3 เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแนวทางสำหรับการบริหารจัดการสถิติดิจิทัลสำหรับใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับแบบจำลองคำนวณดุลยภาพทั่วไป (Computable General Equilibrium: CGE) เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการลดช่องว่างด้านดิจิทัลของอาเซียนได้อย่างครอบคลุมและบูรณาการ โดยโครงการนี้เป็นระยะที่สอง สืบเนื่องจากโครงการระยะแรกในปี 2564

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 21 มีนาคม 2566

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

 

A3921

Click Donate Support Web  

kasat 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

PTG 720x100ais 720x100 

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!