รายงานผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ประจำปี 2563 และประจำปี 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 07 December 2022 00:48
- Hits: 3116
รายงานผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ประจำปี 2563 และประจำปี 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ประจำปี 2563 และประจำปี 2564 ตามมติคณะกรรมการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ สทพ.) ในการประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 และครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 20กรกฎาคม 2565 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศฯ มาตรา 10 (6) บัญญัติให้คณะกรรมการ สทพ. เสนอรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งและมาตรา 16 (4) บัญญัติให้กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวจัดทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เสนอคณะกรรมการ สทพ. เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศฯ พระราชบัญญัติฯ ได้กำหนดให้มีกลไกคณะกรรมการในการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ จำนวน 3 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการ สทพ. คณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (คณะกรรมการ วลพ.) และคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยมีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวรับผิดชอบเป็นเลขานุการในคณะกรรมการทั้ง 3 คณะ รวมทั้งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ มีผลการปฏิบัติงาน ดังนี้
คณะกรรมการ |
ผลการปฏิบัติงานประจำปี 2563 |
|
1. คณะกรรมการ สทพ. |
- กำหนดมาตรการและแผนงานที่สำคัญ โดยการปรับปรุงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน1 เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพขึ้น เช่น ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการประกาศเจตนารมณ์เป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจน ปรับเปลี่ยนทัศนคติเกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศและกำหนดให้เป็นประเด็นหนึ่งในหลักสูตรการพัฒนาบุคลากรทุกระดับ เพิ่มมาตรการการคุ้มครองผู้ถูกกระทำและพยาน โดยให้มีศูนย์ประสานการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในที่ทำงาน ให้กระทรวงแรงงานเพิ่มประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศในการทำงานเข้าไปในการตรวจโรงงาน และการให้หน่วยงานขจัดสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดการส่วงละเมิดทางเพศหรือคุกคามทางเพศในการทำงานจัดทำแผนปฏิบัติการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ประกาศเจตนารมณ์ “การส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศโดยมีหน่วยงานเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ จำนวน 63 หน่วยงาน แบ่งเป็น ภาคเอกชน 34 หน่วยงาน ภาครัฐ/รัฐวิสาหกิจ 22 หน่วยงาน สถาบันการศึกษา 6 หน่วยงาน และพรรคการเมือง 1 พรรค - พัฒนากลไกและกระบวนการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เช่น การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในคณะกรรมการ สทพ. จำนวน 3 คณะ คือ (1) คณะอนุกรรมการด้านนโยบายมาตรการ และแผนปฏิบัติการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ (2) คณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย และ (3) คณะอนุกรรมการรณรงค์การสื่อสารความเท่าเทียมระหว่างเพศและการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานของคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศให้มีความสะดวกและประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น |
|
2. คณะกรรมการ วลพ. |
รับพิจารณาคำร้องที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ จำนวน 15 คำร้อง ใน 6 ประเด็น ดังนี้ (1) สถานบันเทิงกีดกันไม่ให้ผู้มีเพศสภาพแตกต่างจากเพศโดยกำเนิดเข้าใช้บริการ (2) หน่วยงานรัฐปฏิเสธไม่รับบริจาคโลหิตจากผู้แสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด (3) สถาบันการศึกษาให้ใช้ใบรับรองแพทย์ประกอบการยื่นร้องขอแต่งกายชุดครุยวิทยฐานะตามเพศสภาพ (4) หน่วยงานรัฐปฏิเสธการยื่นความประสงค์ขอออกหนังสือเดินทางและวีซ่า (5) แรงงานถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยอ้างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และ (6) สถานศึกษาจำกัดสิทธิการแต่งกายตามเพศสภาพในการเข้าเรียน สอบวัดผล และฝึกปฏิบัติงาน และการรับพระราชทานปริญญาบัตร โดยคณะกรรมการ วลพ. มีคำวินิจฉัยแล้ว จำนวน 1 คำร้อง2 อยู่ระหว่างการพิจารณา จำนวน 10 คำร้อง ถอนคำร้องระหว่างการพิจารณา จำนวน 3 คำร้องและไม่รับพิจารณา จำนวน 1 คำร้อง3 |
|
3. คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ |
กองทุนฯ ได้รับงบประมาณประจำปี 2563 จำนวน 7.30 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายและก่อหนี้ผูกพัน จำนวน 4.31 ล้านบาท และคงเหลือ จำนวน 2.99 ล้านบาท โดยเป็นการดำเนินงานเกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติและความไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เช่น การจ่ายเงินชดเชย เยียวยาหรือบรรเทาทุกข์แก่ผู้เสียหายจากการถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ การปรับทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างเพศของสังคม โดยการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศให้แก่เครือข่ายต่างๆ ภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมสร้างความตระหนักรู้เรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศเพื่อเป็นคู่มือแกนกลางเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนหลักคิดและสร้างการยอมรับเกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างเพศ รวมถึงการสนับสนุนโครงการเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศให้แก่หน่วยงาน/องค์กรต่างๆ |
คณะกรรมการ |
ผลการปฏิบัติงานประจำปี 2564 |
|
1. คณะกรรมการ สทพ. |
- จากการปรับปรุงมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน ได้มีการติดตามประเมินผลหน่วยงานที่ได้มีการดำเนินการตามมาตรการฯ พบปัญหาการล่วงละเมิดฯ จำนวน 13 หน่วยงาน4 (ตามข้อ 2.1) - ประกาศใช้แผนปฏิบัติการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563-2565) 5 และแจ้งเวียนให้หน่วยงานภาครัฐทราบ - พัฒนากลไกและกระบวนการในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยการปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานของคณะกรรมการ วลพ. ให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น - พิจารณางบประมาณและเห็นชอบแผนปฏิบัติการและการใช้จ่ายงบประมาณกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ประจำปีงบประมาณ 2565 ในวงเงิน 7.30 ล้านบาท |
|
2. คณะกรรมการ วลพ. |
รับพิจารณาคำร้องที่เกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ จำนวน 2 คำร้อง ใน 2 ประเด็น ดังนี้ (1) หน่วยงานรัฐจำกัดสิทธิการใช้รูปถ่ายในใบประกอบวิชาชีพครูและบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่รัฐ และ (2) สำนักอบรมกฎหมายจำกัดสิทธิการแต่งกายตามเพศสภาพในการอบรมวิชาว่าความ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาทั้ง 2 คำร้อง |
|
3. คณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ |
กองทุนฯ ได้รับงบประมาณประจำปี 2564 จำนวน 7.80 ล้านบาท มีผลการเบิกจ่ายและก่อหนี้ผูกพัน 5.17 ล้านบาท และคงเหลือ จำนวน 2.63 ล้านบาท โดยเป็นการดำเนินงานเกี่ยวกับการขจัดการเลือกปฏิบัติและความไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เช่น การพัฒนาระบบสารสนเทศ เพื่อคุ้มครองและป้องกันการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ การปรับทัศนคติและค่านิยมเกี่ยวกับความเท่าเทียมระหว่างเพศของสังคม รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สังคมตระหนักเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ นอกจากนี้ ได้จัดประกวดสื่อสร้างสรรค์ โดยมีผู้สนใจส่งผลงานเข้าประกวด จำนวน 373 ผลงาน และมีผู้ได้รับรางวัลจากการประกวด จำนวน 12 ผลงาน ตลอดจน สนับสนุนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ โดยสนับสนุนงบประมาณให้แก่องค์กร/เครือข่าย จำนวน 15 หน่วยงาน ในการดำเนินโครงการเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ |
2. ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศฯ
2.1 การดำเนินงานตามมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน พบว่า มีกรณีที่เข้าข่ายการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน จำนวน 13 หน่วยงาน และหน่วยงานที่ถูกร้องว่ามีการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานได้มีการดำเนินการจัดตั้งกลไกร้องทุกข์ในหน่วยงานและแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวนวินัยผู้กระทำและกำหนดบทลงโทษให้สอดคล้องกับกฎ ก.พ. ว่าด้วยการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ พ.ศ. 2553 แล้ว จำนวน 4 หน่วยงาน รวมถึงกำหนดนโยบายและแนวทางในการจัดการกรณีการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศในการทำงานแล้ว จำนวน 3 หน่วยงาน และอยู่ระหว่างการติดตามผลการดำเนินงาน จำนวน 6 หน่วยงาน
2.2 การดำเนินงานตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. ตั้งแต่ ปี 2558-2564 (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564) คณะกรรมการ วลพ. ได้รับคำร้องจำนาน 61 คำร้อง มีคำวินิจฉัยแล้ว จำนวน 41 คำร้อง โดยมีผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยและคำสั่งของคณะกรรมการ วลพ. ได้แก่ (1) ผู้ถูกร้องที่เป็นสถาบันการศึกษาได้มีการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. โดยออกระเบียบอนุญาตให้นักศึกษา ผู้แสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิดสามารถแต่งกายและไว้ทรงผมตามเพศสภาพในการเข้าเรียน สอบวัดผล และฝึกปฏิบัติงาน รวมทั้งใช้รูปถ่ายชุดครุยวิทยฐานะตามเพศสภาพในเอกสารรับรองการศึกษา และแต่งกายชุดครุยวิทยฐานะตามเพศสภาพเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรได้ และ (2) ผู้ถูกร้องที่เป็นสถานประกอบการ องค์กรเอกชน หรือบุคคลได้มีการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการ วลพ. โดยสถานประกอบการได้กำหนดแนวทางปฏิบัติให้ผู้แสดงออกแตกต่างจากเพศโดยกำเนิดเข้าใช้บริการ และผู้ถูกร้องได้มีการกล่าวคำขอโทษต่อผู้ร้องตามที่ผู้ร้องต้องการแล้ว รวมถึงได้จัดทำบันทึกสรุปบทเรียนที่เป็นเหตุแห่งการร้อง
3. ข้อท้าทายและการดำเนินงานในระยะต่อไป เพื่อให้การปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติฯ มีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติฯ ดังนั้น (1) ควรมีการกำหนดและขับเคลื่อนนโยบาย มาตรการ เพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศโดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ (2) ทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับที่ทำให้เกิดการจำกัดสิทธิและเป็นการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ (3) สร้างเครือข่ายความร่วมมือในภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนต่างๆ ในการสร้างความรู้ความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ การเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนทุกเพศอย่างต่อเนื่อง และ (4) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติฯ เพื่อนำข้อเสนอแนะต่างๆ มาขับเคลื่อนให้เกิดประสิทธิภาพต่อไป
___________________
1คณะรัฐมนตรีมีมติ (16 มิถุนายน 2558) เห็นชอบร่างมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน จำนวน 7 ข้อ และให้หน่วยงานภาครัฐถือปฏิบัติ ตามที่ พม. เสนอ ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติ (21 เมษายน 2563) เห็นชอบร่างมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงานที่ปรับใหม่ จำนวน 12 ข้อ ตามที่ พม.เสนอ
2ผลการวินิจฉัยในประเด็นสถาบันการศึกษาให้ใช้ใบรับรองแพทย์ประกอบการยื่นร้องขอแต่งกายชุดครุยวิทยฐานะตามเพศสภาพ คือ การกระทำของ ผู้ถูกร้องเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ
3คณะกรรมการ วลพ. ไม่รับพิจารณาคำร้อง จำนวน 1 คำร้อง ในประเด็นหน่วยงานรัฐปฏิเสธการยื่นความประสงค์ขอออกหนังสือเดินทางและวีซ่า เนื่องจากเหตุแห่งการร้องไม่เข้าลักษณะการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ
4จากหน่วยงานที่มีการรายงานผลการดำเนินงานตามป้องกันและแก้ไขปัญหาการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศในการทำงาน จำนวน 2,049 หน่วยงาน
5ประกาศคณะกรรมการ สทพ. เรื่อง ประกาศใช้แผนฏิบัติการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2563-2565) เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 6 ธันวาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12147