รายงานความคืบหน้าการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID และกรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565 - พ.ศ. 2567) เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 07 December 2022 00:23
- Hits: 2572
รายงานความคืบหน้าการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID และกรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565 - พ.ศ. 2567) เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ดังนี้
1. รับทราบรายงานความคืบหน้าการพัฒนาระบบรองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล หรือ Digital ID สำหรับข้อเสนอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) รายงานการดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล (Digital Infrastructure) ในส่วนของการพัฒนาระบบ Digital ID เป็นไปตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.)
ทั้งนี้ สคก. มีความเห็นว่า โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2564 เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) หรือ ดศ. แล้วแต่กรณี รายงานการดำเนินการดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะแล้ว กรณีจึงไม่มีความจำเป็นต้องเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีก
2. รับทราบกรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565 - พ.ศ. 2567) เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ
3. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการของกรอบการขับเคลื่อนฯ จัดทำโครงการเพื่อขอรับงบประมาณจากสำนักงบประมาณและดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบการขับเคลื่อนที่กำหนด สำหรับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ให้เป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ โครงการที่ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะต้องอยู่ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงินกองทุนฯ ตามกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
4. ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของสำนักงบประมาณ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ดศ. รายงานว่า
1. การดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลในส่วนของการพัฒนาระบบ Digital ID
1.1 ความคืบหน้าด้านกฎหมาย ได้พัฒนากฎหมายเพื่อรองรับการนำโครงสร้างพื้นฐานด้านการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลไปปรับใช้กับการให้บริการของหน่วยงานของรัฐและเอกชน เช่น (1) พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 โดยเป็นการเพิ่มเติมหมวด 3/1 ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อรองรับผลทางกฎหมายของการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (2) พระราชบัญญัติการบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 มาตรา 12 (4) บัญญัติให้หน่วยงานของรัฐจัดให้มีระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อประโยชน์ในการอำนวยความสะดวกในการบริการประชาชน ซึ่งมีมาตรฐานและแนวทางที่สอดคล้องกันตามที่คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกำหนด (3) ร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ....1 มาตรา 8 วรรค 2 บัญญัติให้การยืนยันตัวตนจะกำหนดให้ดำเนินการด้วยวิธีอื่นนอกจากการแสดงบัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทางก็ได้ ถ้าวิธีอื่นดังกล่าวนั้นจะเป็นการสะดวกแก่ประชาชนยิ่งขึ้น และ (4) ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่ต้องได้รับใบอนุญาต พ.ศ. ....2 ซึ่งเป็นการรองรับการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์การดูแลผู้ให้บริการการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
1.2 ความคืบหน้าด้านการจัดทำมาตรฐานทางด้านเทคนิคหรือแนวทางการพัฒนาและใช้งานระบบ Digital ID ของประเทศ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ได้พัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อให้การพัฒนาและใช้งานระบบ Digital ID ของประเทศไทยมีมาตรฐานสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ลดความเสี่ยงและสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียดความคืบหน้า |
|
(1) มาตรฐานกลางสำหรับภาคส่วนต่างๆ นำไปใช้งาน |
(1.1) ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (1.1.1) กรอบการทำงาน เลขที่ ขมธอ. 18-2564 เพื่ออธิบายคำศัพท์กระบวนการการประเมินความเสี่ยง และการกำหนดระดับความน่าเชื่อถือที่เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบ Digital ID มีความเข้าใจตรงกัน (1.1.2) ข้อกำหนดของการพิสูจน์ตัวตน เลขที่ ขมธอ. 19-2564 เพื่อเป็นข้อกำหนดสำหรับผู้พิสูจน์และยืนยันตัวตน (Identity Provider : IdP) ในการพิสูจน์ตัวตนของบุคคลที่ประสงค์จะใช้บริการหรือทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ IdP มีแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกันตามระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ตัวตน (1.1.3) ข้อกำหนดของการยืนยันตัวตน เลขที่ ขมธอ. 20-2564 เพื่อเป็นข้อกำหนดสำหรับ IdP ในการบริหารจัดการสิ่งที่ใช้ยืนยันตัวตนและการยืนยันตัวตนของผู้ใช้บริการ ให้มีแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกันตามระดับความน่าเชื่อถือของการยืนยันตัวตน (1.2) ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยเทคโนโลยีชีวมิติ (1.2.1) เล่ม 1 : การใช้งานเทคโนโลยีชีวมิติสำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เลขที่ ขมธอ. 29 เล่ม 1-2565 เพื่อเป็นข้อกำหนดและข้อเสนอแนะสำหรับ การบริหารจัดการอัตลักษณ์บุคคลจากการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยการใช้เทคโนโลยี ชีวมิติ (1.2.2) เล่ม 2 : การใช้งานเทคโนโลยีการรู้จำใบหน้าสำหรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตน เลขที่ ขมธอ. 29 เล่ม 2-2565 เพื่อเป็นข้อกำหนดและข้อเสนอแนะสำหรับการบริหารจัดการอัตลักษณ์บุคคลที่มาจากการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยเทคโนโลยีการรู้จำใบหน้า (1.3) ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ว่าด้วยการทดสอบสมรรถนะการทำงานเทคโนโลยีชีวมิติ เลขที่ ขมธอ. 30-2565 เพื่อเป็นข้อกำหนดและข้อเสนอแนะสำหรับการทดสอบสมรรถนะการทำงานของเทคโนโลยีชีวมิติในการลงทะเบียน พิสูจน์ยืนยันชีวมิติและระบุชีวมิติ รวมถึงการทดสอบสมรรถนะการป้องกันการโจมตีหลอกระบบ |
|
(2) มาตรฐานสำหรับหน่วยงานของรัฐ |
(2.1) ประกาศคณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เรื่อง มาตรฐานและหลักเกณฑ์การจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัลว่าด้วยเรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐ สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย (2.2) มาตรฐานรัฐบาลดิจิทัล ว่าด้วยแนวทางการจัดทำกระบวนการและการดำเนินงานทางดิจิทัล เรื่องการใช้ดิจิทัลไอดีสำหรับบริการภาครัฐ (2.2.1) ภาพรวม (เวอร์ชัน 1.0) (2.2.2) การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีสัญชาติไทย (เวอร์ชัน 1.0) |
2. กรอบการขับเคลื่อนการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2565 - พ.ศ. 2567) พร้อมแผนปฏิบัติการ สพธอ. ได้จัดทำกรอบการขับเคลื่อนฯ โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมการใช้งานระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของประเทศ3 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2565 และวันที่ 31 มีนาคม 2565 และได้ผ่านการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดแผนปฏิบัติการเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติและขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันสามารถเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลบนมาตรฐานเดียวกันได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งกำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อเร่งผลักดันการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ประกอบด้วย กลยุทธ์หลัก 8 หลักการ ดังนี้
กลยุทธ์หลัก |
แผนปฏิบัติการ |
|
(1) Digital ID ครอบคลุมบุคคล นิติบุคคล และบุคคลต่างชาติ พร้อมรองรับการยืนยันตัวตนการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การมอบอำนาจ และการให้ความยินยอมทางอิเล็กทรอนิกส์ |
(1.1) กำหนดนิยาม ความสัมพันธ์ สถาปัตยกรรม ความเชื่อมโยงของกฎหมาย ระเบียบ มาตรฐานที่ออกโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในบริบทของการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Digital ID การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การมอบอำนาจและการให้ความยินยอมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ. และหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง) (1.2) จัดให้มีการปรับปรุงระบบตรวจสอบข้อมูลสถานะของหนังสือเดินทางไทย (กรมการกงสุล สพธอ. และ สพร.) (1.3) จัดให้มีบริการยืนยันตัวตนด้วย Digital ID สำหรับบุคคลต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย [กรมการปกครอง สพธอ. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) กระทรวงแรงงาน (รง.) และกรมสรรพากร)] (1.4) จัดให้มีระบบตรวจสอบข้อมูลสถานะของคนต่างชาติที่อยู่ในประเทศไทยให้กับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง (สตม. สพธอ. และ สพร.) (1.5) จัดให้มีสนามทดสอบนวัตกรรมใหม่ๆ (Sandbox) ที่เกี่ยวกับการให้บริการ Digital ID ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธนาคาร และภาคโทรคมนาคม เช่น จัดให้มีการทำการยืนยันตัวตนระหว่างหน่วยงาน (Cross Sector Authentication) ในการทดสอบการเปิดบัญชีธนาคารโดยให้ Mobile ID [สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สพธอ. สพร. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย] |
|
(2) ประชาชนสามารถเลือกใช้ Digital ID ในระดับความเชื่อมั่นที่เหมาะสมในการเข้าถึงบริการออนไลน์ของภาครัฐและเอกชน |
(2.1) จัดให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ประโยชน์ของบริการ Digital ID กลุ่มประชาชนและภาคธุรกิจเพื่อส่งเสริมการใช้งาน Digital ID และส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมด้วยกิจกรรม Hackathon (สพธอ. สพร. ธปท. สำนักงาน ก.ล.ต. คปภ. และสำนักงาน กสทช.) (2.2) IdP ที่ให้บริการกับหน่วยงานของรัฐ เป็นบริการที่ได้มาตรฐานตามที่คณะกรรมการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลกำหนด โดยรวมถึง IdP ภาคเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตฯ ตามกฎหมาย (สพร. สพธอ. และสำนักงาน ก.พ.ร.) (2.3) ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐนำ Digital ID ที่รวมถึง Digital ID ของภาคเอกชนที่ได้รับอนุญาต ไปใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล สำหรับการเข้าใช้งานบริการประชาชนผ่านทางออนไลน์ในระยะแรก (กระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.พ.ร. สพธอ. และ สพร.) |
|
(3) มท. เป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูลและบริการสนับสนุนการพิสูจน์ตัวตนให้กับ IdP ทั้งภาครัฐและเอกชนในการออก Digital ID สำหรับบุคคลธรรมดาทั้งคนไทยและคนต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย โดยมีกระบวนการกำกับดูแลให้มีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ |
(3.1) กรมการปกครอง มท. จัดให้มีบริการยืนยันตัวตนในรูปแบบดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA ให้ครอบคลุมคนไทยทั้งประเทศ และให้บริการข้อมูลแก่ IdP ทั้งภาครัฐและเอกชน (กรมการปกครอง สพธอ. และ สพร.) (3.2) มท. จัดให้มีบริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัลให้กับ IdP (มท. สพธอ. และ สพร.) |
|
(4) การใช้ Digital ID ในการทำธุรกรรมของนิติบุคคลเป็นการใช้ Digital ID บุคคลธรรมดาของผู้มีอำนาจของนิติบุคคลนั้นร่วมกับการมอบอำนาจหากจำเป็น |
จัดให้มีการทดลองนวัตกรรม Digital ID สำหรับนิติบุคคล เช่น การทำธุรกรรมเปิดบัญชีธนาคารผ่านช่องทางออนไลน์และการให้บริการด้านโทรคมนาคมผ่านช่องทางออนไลน์ ในลักษณะ Co-Sandbox (สพธอ. ธปท. สำนักงาน กสทช. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยและผู้ให้บริการ Digital ID เอกชน) |
|
(5) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือของนิติบุคคลเพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมของนิติบุคคลผ่าน Digital ID |
(5.1) ดำเนินการให้ฐานข้อมูลพื้นฐานสำคัญเป็นแบบดิจิทัล โดยปรับปรุงระบบนำเข้าข้อมูล (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร สพธอ. และ สพร.) (5.2) จัดให้มีบริการเชื่อมโยงข้อมูลสำหรับการตรวจสอบข้อมูลผู้มีอำนาจในการทำธุรกรรม/นิติกรรมของนิติบุคคล ในรูปแบบดิจิทัลที่ตรวจสอบได้ตามที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร สพธอ. และ สพร.) (5.3) จัดให้มีบริการหนังสือรับรองนิติบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบ PDF/A3 (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร สพธอ. และ สพร.) |
|
(6) ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐผ่านระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่น่าเชื่อถือและประชาชนใช้งานอย่างกว้างขวาง โดยไม่ต้องลงทะเบียนพิสูจน์ตัวตนซ้ำซ้อนด้วยมาตรฐานสากลแบบเปิด (Open Standards) |
(6.1) หน่วยงานของรัฐดำเนินการพัฒนาระบบหรือบริการของหน่วยงานเพื่อรองรับการใช้งานระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลด้วย IdP (หน่วยงานของรัฐ สพร. สำนักงาน ก.พ.ร. สพธอ. และกรมการปกครอง) (6.2) สพร. พัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์มกลางเพื่อเชื่อมโยงไปยัง IdP รายต่างๆ (สพร. กรมการปกครอง และ สพธอ.) |
|
(7) สพธอ. กำหนดนโยบาย Digital ID ในภาพรวม ซึ่งรวมถึงการพัฒนามาตรฐานกลางที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้บริการที่เกี่ยวกับ Digital ID ของรัฐและเอกชนมีมาตรฐานสอดคล้องกัน และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ โดยหน่วยงานกำกับในแต่ละภาคส่วน (Sector) นำไปประยุกต์ใช้ รวมถึงกำหนดนโยบายเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับบริการหรือธุรกิจที่กำกับหรือดูแล |
(7.1) จัดให้มีนโยบายและมาตรฐานบริการดิจิทัลไอดีสำหรับการใช้งานของแต่ละ Sector ตามลักษณะเฉพาะของตน โดยคำนึงถึงภาระของผู้ให้บริการ (สำนักงาน ก.พ.ร. ธปท. สำนักงาน ก.ล.ต. คปภ. สำนักงาน กสทช. สพร. และ สพธอ.) (7.2) จัดให้มีการนำร่องการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลของระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลกับต่างประเทศผ่านระบบ National Digital Trade Platform (NDTP) และระบบ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business (สำนักงาน ก.พ.ร. กรมการปกครอง ธปท. สำนักงาน กสทช. สพธอ. และ สพร.) |
|
(8) สพร. พัฒนามาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐเพื่อให้บริการที่เกี่ยวกับ Digital ID ของรัฐและเอกชนได้มาตรฐานสอดคล้องกัน และเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับบริการ Digital ID ระหว่างรัฐและเอกชนได้ |
(8.1) จัดทำแนวทางการเชื่อมโยงระบบและข้อมูลของระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล สำหรับหน่วยงานรัฐและเอกชน [สพร. กรมการปกครอง สำนักงาน กสทช. สพธอ. ธปท. และหน่วยงานภาคเอกชน เช่น สภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย และผู้ให้บริการดิจิทัลไอดี เช่น ระบบ National Digital ID (NDID) และระบบ Mobile National ID (MNID)] (8.2) จัดทดสอบการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับบริการ Digital ID ระหว่างรัฐและเอกชน สำหรับบริการภาครัฐ (สพร. และหน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง) |
3. การพัฒนาระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าทางดิจิทัล ประกอบด้วย 2 ระบบ ดังนี้
3.1 ระบบ FVS ได้แก่ (1) พัฒนาระบบ FVS เพื่อให้บริการตรวจสอบภาพใบหน้า รองรับธุรกรรมสูงสุด 60 รายการต่อวินาที หรือประมาณ 5 ล้านรายการต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอสำหรับการลงทะเบียนใช้งานทั่วไป (2) การตรวจสอบภาพใบหน้า ใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก พร้อมใบหน้า เพื่อตรวจสอบกับระบบ FVS โดยต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของภาพใบหน้า (3) กรมการปกครองจะส่งผลการตรวจสอบภาพใบหน้า ในรูปแบบเปอร์เซ็นต์ความถูกต้องเมื่อเทียบกับฐานข้อมูลภาพใบหน้าที่น่าเชื่อถือ (4) ผู้ใช้งานระบบ FVS เป็น IdP โดยจะมีการกำหนดเงื่อนไขของ IdP ที่สามารถใช้บริการระบบได้ และ (5) IdP ตรวจสอบคุณภาพของภาพใบหน้าตามมาตรฐานองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศก่อนส่งมาตรวจสอบกับระบบ FVS
3.2 ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) และแอปพลิเคชัน D.DOPA ได้แก่ (1) ขยายระบบรองรับผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน D.DOPA เป็น 60 ล้านคน (2) รองรับการพิสูจน์ตัวตนโดยไม่ต้องเดินทางไปที่สำนักงานเขตหรืออำเภอเพื่อรองรับการลงทะเบียนในการพิสูจน์ตัวตนด้วยตนเอง (Self-Enrolment) โดยใช้ภาพใบหน้า ตามระดับความน่าเชื่อถือของการพิสูจน์ตัวตน (Identity Assurance Level : IAL) ที่ระดับ IAL 2.3 (3) การตรวจสอบภาพใบหน้า พัฒนาจากระบบที่มีอยู่โดยเพิ่มเติมฟังก์ชันการตรวจจับการปลอมแปลงชีวมิติเพื่อป้องกันการถ่ายภาพจากรูปถ่ายหรือวิดีโอ เพื่อให้สอดคล้องกับกระบวนการ Self-Enrolment (4) หน่วยงานของรัฐหรือเอกชนสามารถใช้ผลการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของแอปพลิเคชัน D.DOPA ได้ เนื่องจากประชาชนที่เป็นผู้ถือแอปพลิเคชัน D.DOPA เป็นผู้อนุญาตให้มีการตรวจสอบ (5) D.DOPA-Digital ID รองรับการยืนยันตัวตนสูงสุดที่ 100 ธุรกรรมต่อวินาที และ (6) D.DOPA-Digital ID รองรับให้ประชาชนสามารถส่งข้อมูลพื้นฐานตามข้อมูลหน้าบัตรประจำตัวประชาชน ไปให้หน่วยงานผู้อาศัยการยืนยันตัวตน ผ่านโปรโตคอล OpenID Connect ได้
4. ความก้าวหน้าการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 สำนักงาน ก.พ.ร. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยส่งเสริมให้นำ Digital ID มาใช้ในการยืนยันตัวตนก่อนเข้าใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ 12 บริการ Agenda4 ได้มีการทำแผนการขับเคลื่อนพัฒนา (Roadmap) ในแต่ละบริการระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2565 - พ.ศ. 2567) และส่งให้คณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาทางดิจิทัลตามงานบริการ Agenda สำคัญ พิจารณาเรียบร้อยแล้ว และจะมีการทำงานร่วมกับหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อน Roadmap โดยมีข้อเสนอสำหรับแนวทางการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแรก ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐนำดิจิทัลไอดีของระบบ NDID และเป๋าตังไปใช้ในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับการเข้าใช้งานบริการประชาชนผ่านทางออนไลน์ และระยะต่อไป ผลักดันระบบ DOPA-Digital ID และแอปพลิเคชัน D.DOPA ของกรมการปกครองให้รองรับผู้ใช้งานได้มากกว่า 1 แสนราย และให้ มท. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในการจัดทำแผนงานหรือโครงการตามแนวทางการพัฒนาระบบ FVS รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการทำงานเพื่อให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนสามารถใช้บริการระบบ FVS ได้ นอกจากนี้ สำนักงาน ก.พ.ร. และ สพร. ได้จัดทำแอปพลิเคชันทางรัฐที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐได้แบบจุดเดียวทุกที่ทุกเวลาผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งส่วนหนึ่งใช้งานดิจิทัลไอดีด้วยแอปพลิเคชัน D.DOPA ที่ปัจจุบันมีบริการหลายหมวดหมู่ เช่น ตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโร ตรวจสอบข้อมูลหนังสือรับรองผล O-NET ตรวจสอบสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และขอรับความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา
5. ปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลของระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ปัจจุบันรัฐและเอกชนได้พัฒนาและให้บริการระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่สำคัญ 3 ระบบหลัก ได้แก่ (1) ระบบ NDID (ดูแลโดยบริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด และมีกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยเป็น IdP) รองรับการนำไปใช้กับธุรกรรมการเงินต่างๆ เช่น การเปิดบัญชีเงินฝาก/e-Money และการยื่นภาษี และตรวจสอบค่าลดหย่อน (2) ระบบ Mobile ID (ดูแลโดยสำนักงาน กสทช. และมีผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ในประเทศไทย เป็น IdP รองรับการนำไปใช้กับธุรกรรมการเปิดบัญชีธนาคารและเตรียมขยายไปใช้กับบริการอื่นๆ เพิ่มเติม และ (3) ระบบ DOPA-Digital ID (ดูแลโดยกรมการปกครอง มท. และเป็น IdP) รองรับการนำ Digital ID ของกรมการปกครองไปใช้กับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของกรมการปกครอง เช่น ระบบตรวจสอบประวัติตนเองและการขอย้ายทะเบียนบ้านออนไลน์ อย่างไรก็ตาม แต่ละระบบได้ถูกออกแบบทางเทคนิคมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการใช้งานบริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน จึงมีข้อจำกัดในการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูล และจำเป็นต้องมีการบูรณาการภาพรวมการให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลประเทศไทย เพื่อลดภาระการออกแบบและพัฒนาระบบให้บริการของผู้อาศัยการยืนยันตัวตนในอนาคต และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐและภาคเอกชนโดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนซ้ำๆ รวมทั้งประชาชนมีอิสระในการเลือกใช้ Digital ID ตามความต้องการ ทั้งนี้ สพร. ได้จัดตั้งคณะทำงานจัดทำแนวทางการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลของระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งครอบคลุมผู้ให้บริการระบบพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลที่สำคัญ 3 ระบบหลักที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยคณะทำงานฯ อยู่ระหว่างร่วมกันออกแบบด้านเทคนิคเพื่อทดสอบให้สามารถทำงานร่วมกันได้ และได้จัดทำหลักการพื้นฐานและแนวทางการส่งผ่านข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริการด้าน Digital ID พร้อมทั้งแนวทางการเชื่อมโยงระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย (1) ขั้นตอนสำหรับการพิสูจน์ตัวตนผู้ใช้งาน เพื่อออก Digital ID ให้กับผู้ใช้งาน และ (2) ขั้นตอนสำหรับการรับบริการยืนยันตัวตนด้วย Digital ID ของผู้ใช้งานที่ IdP ออกให้ จำนวน 3 ขั้นตอนย่อย ซึ่งคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้มีมติเห็นชอบต่อหลักการพื้นฐานและขั้นตอนการดำเนินงานด้านการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อวางกรอบการให้บริการที่เหมาะสมและเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยการดำเนินงานด้าน Digital ID ควรเป็นระบบเปิดที่มี IdP ได้หลายรายและไม่จำกัดเฉพาะเทคโนโลยีใดเทคโนโลยีหนึ่งเป็นการเฉพาะ
________________________________________
1 พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565
2 คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 กันยายน 2563) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจฯ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณา ซึ่ง สคก. ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี
3 คณะกรรมการส่งเสริมฯ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นประธาน ผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐและเอกชนเป็นกรรมการ และ สพธอ. เป็นเลขานุการฯ เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ร่วมกันผลักดันให้เกิดการอำนวยความสะดวกในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนหน่วยงานของรัฐ เอกชน และประชาชนให้ใช้งานระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
4 งานบริการ Agenda หมายถึง งานบริการที่มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องหลายส่วนราชการ แล้วมีผลกระทบให้คุณภาพชีวิตประชาชนดีขึ้น หรือสนับสนุนช่วยเหลือให้ภาคเศรษฐกิจและสังคมที่ประสบปัญหาในภาวะสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและยั่งยืน เช่น ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (DOPA-Digital ID) ระบบการรับชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และระบบช่วยเหลือผู้ว่างงานให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการปกครอง กรมที่ดิน และกรมการจัดหางาน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 6 ธันวาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12142