ผลการสำรวจความต้องการของประชาชน พ.ศ. 2566 (ของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 07 December 2022 00:16
- Hits: 2816
ผลการสำรวจความต้องการของประชาชน พ.ศ. 2566 (ของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล)
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) เสนอผลการสำรวจความต้องการของประชาชน พ.ศ. 2566 (ของขวัญปีใหม่ที่ต้องการจากรัฐบาล) ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 ที่ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติจัดเก็ฐข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลักๆ ของรัฐบาลแล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ โดยเป็นการสัมภาษณ์สมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 6,970 ราย ระหว่างวันที่ 17-31 ตุลาคม 2565 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. เรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือเร่งด่วนเพื่อเป็นขวัญปีใหม่ในปี 2566 มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค (ร้อยละ 91.1) (2) ลดค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา (ร้อยละ 67) (3) แก้ปัญหาด้านการเกษตร เช่น ราคาพืชตกต่ำ จัดหาตลาดรองรับผลผลิต และราคาปุ๋ยแพง (ร้อยละ 30) (4) แก้ปัญหาการว่างงาน (ร้อยละ 23.4) และ (5) เพิ่มมาตรการ/สวัสดิการ/เงินช่วยเหลือเยียวยา เช่น โครงการคนละครึ่ง เพิ่มเงินผู้มีรายได้น้อย และเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา/ผู้พิการ
2. มาตรการ/โครงการที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในชุมชน/หมู่บ้านมากที่สุด ได้แก่ (1) โครงการคนละครึ่ง (ร้อยละ 75.8) (2) โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (ร้อยละ 69.9) (3) มาตรการลดค่าไฟฟ้า (ร้อยละ 59.2) (4) โครงการเราชนะ (ร้อยละ 25.1) และ (5) โครงการ ม.33 เรารักกัน (ร้อยละ 14.8)
3. ความพึงพอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลที่ผ่านมา โดยประชาชนมีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุด (ร้อยละ 42.1 แบ่งเป็น พึงพอใจมากที่สุด ร้อยละ 7.7 และพึงพอใจมาก ร้อยละ 34.4) ระดับปานกลาง (ร้อยละ 41) ระดับน้อย-น้อยที่สุด (ร้อยละ 14.7 แบ่งเป็น พึ่งพอใจน้อย ร้อยละ 11.8 และพึงพอใจน้อยที่สุด ร้อยละ 2.9) และไม่พึงพอใจ (ร้อยละ 2.2) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในภาคใต้มีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 62.2) ขณะที่ประชาชนในกรุงเทพมหานครมีความพึงพอใจ ในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่ต่ำกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 22.2) นอกจากนี้ ประชาชนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี เช่นเดียวกับกลุ่มอาชีพเกษตรกรและกลุ่มอาชีพอื่นๆ ได้แก่ พ่อบ้าน แม่บ้าน ผู้เกษียณอายุ นักเรียน นักศึกษา และผู้ว่างงาน มีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น
4. ความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยประชาชนมีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุด (ร้อยละ 35.4) แบ่งเป็นเชื่อมั่นมากที่สุด ร้อยละ 5.8 และเชื่อมั่นมาก ร้อยละ 29.6) ระดับปานกลาง (ร้อยละ 40.8) ระดับน้อย-น้อยที่สุด (ร้อยละ 20.6 แบ่งเป็น เชื่อมั่นน้อย ร้อยละ 15.7 และเชื่อมั่นน้อยที่สุด ร้อยละ 4.9) และไม่เชื่อมั่น (ร้อยละ 3.2) ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ประชาชนในภาคใต้ มีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าคนอื่น (ร้อยละ 54.8) ขณะที่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร มีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่ต่ำกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 19) นอกจากนี้ประชาชนที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มีความเชื่อมั่นในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี เช่นเดียวกับกลุ่มอาชีพเกษตรกรและกลุ่มอาชีพอื่นๆ ได้แก่ พ่อบ้าน แม่บ้าน ผู้เกษียณอายุ นักเรียน นักศึกษา และ ผู้ว่างงาน มีความพึงพอใจในระดับมาก-มากที่สุดในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มอาชีพอื่น
5. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้
5.1 ควรมีมาตรการ/โครงการช่วยเหลือและลดภาระค่าครองชีพของประชาชน เช่น มาตรการลดค่าไฟฟ้า/ค่าน้ำประปา ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค และเพิ่มวงเงินในโครงการคนละครึ่ง
5.2 ควรเร่งแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างจริงจัง เพื่อให้เกิดการจ้างงานและสร้างอาชีพแก่ประชาชน เช่น ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำในการประกอบอาชีพ และหาตลาดรองรับผลผลิตทางการเกษตร
5.3 ควรเร่งสร้างความร่วมมือ เครือข่าย และกระบวนการป้องกันไม่ให้คนในสังคมเข้าไปเกี่ยวข้องหรือเข้าไปสู่วงจรของยาเสพติด เช่น สร้างความสามัคคีในชุมชน สร้างการสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด รวมทั้งการใช้กฎหมายลงโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างจริงจังและเด็ดขาด
5.4 ควรมีการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ และภัยพิบัติต่างๆ
5.5 ควรประชาสัมพันธ์ข่าวสารเพื่อสร้างการรับรู้ของประชาชนเรื่องการถูกหลอกลวง/ล่อลวงทางโซเซียลมีเดียเพื่อให้รู้เท่าทันภัยออนไลน์ รวมทั้งประชาสัมพันธ์ช่องทางการร้องเรียน/ร้องทุกข์ เช่น สายด่วนศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212 และสายดาวนตำรวจไซเบอร์ 1441
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 6 ธันวาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12141