ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนตุลาคม 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 07 December 2022 00:13
- Hits: 2390
ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนตุลาคม 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูประเทศ ณ เดือนตุลาคม 2565 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขนุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศเสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
1.1 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติผ่านการขับเคลื่อนแผนระดับที่ 3 โดยมีสถานะการดำเนินการตามแผนระดับที่ 3 ในส่วนของแผนปฏิบัติการด้าน... ณ เดือนกันยายน 2565 รวม จำนวน 155 แผน สรุปได้ ดังนี้ (1) แผนที่เสนอคณะรัฐมนตรีทราบแล้วและมีผลบังคับใช้แล้ว จำนวน 74 แผน โดยเป็นแผนฯ ที่ประกาศบังคับใช้เพิ่มเติม จำนวน 2 แผน ได้แก่ 1) นโยบายและแผนปฏิบัติการว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (พ.ศ. 2565-2570) และ 2) แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564-2570 (2) แผนฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณากลั่นกรองของ สศช. จำนวน 47 แผน (3) แผนฯ ที่ยกเลิกการดำเนินการ/สิ้นสุดการดำเนินการ จำนวน 31 แผน และ (4) แผนฯ ที่อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี จำนวน 3 แผน* ได้แก่ 1) แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2566-2570) 2) (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) และ 3) (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) ทั้งนี้ หน่วยงานผู้รับผิดชอบในการจัดทำแผนระดับที่ 3 จำเป็นต้องให้ความสำคัญในการกำหนดประเด็นเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เกิดการ “พุ่งเป้า” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนระดับชาติร่วมกันและสามารถถ่ายระดับยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นแผนระดับที่ 1 และแผนระดับที่ 2 ไปสู่การบรรลุเป้าหมายได้อย่างเป็นธรรม
1.2 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 - 30 กันยายน 2570 ทั้งนี้ การขับเคลื่อนแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดกลไกการดำเนินการ 3 ระดับ ได้แก่ (1) กลไกเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นกลไกระดับนโยบายที่มุ่งบูรณาการหน่วยงานภาครัฐและภาคีการพัฒนาในการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนา 13 หมุดหมายไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่กำหนดผ่านกลไกคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 รวม 5 คณะ (2) กลไกตามภารกิจ เป็นกลไกการปฏิบัติงานตามภารกิจของหน่วยงานต่างๆ ที่ยึดโยงและถ่ายระดับเป้าหมายในยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ไปสู่แผนปฏิบัติราชการ แผนปฏิบัติการด้านต่างๆ และแผนอื่นๆ ซึ่งเป็นแผนระดับที่ 3 เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไปสู่การบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ และ (3) กลไกระดับพื้นที่ เป็นการเชื่อมโยงและกระจายผลของการพัฒนาจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 สู่ระดับชุมชน และเชื่อมต่อการพัฒนาจากพื้นที่ในระดับตำบลสู่ระดับประเทศผ่าน 2 กลไกหลัก ได้แก่ แผนพัฒนาอื่นของรัฐในระดับพื้นที่ (One Plan) โดยเริ่มจากความต้องการจุดย่อยสู่จุดใหญ่ (Bottom-up) เพื่อส่งความต้องการระดับพื้นที่และระดับตำบลสู่ระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดต่อไป และภาคีเครือข่ายการพัฒนาที่หลากหลายในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ชุมชน และภาคีการพัฒนา อื่นๆ โดยร่วมกันเสริมสร้างขีดความสามารถของพื้นที่เพื่อขยายผลในการขับเคลื่อนการดำเนินการที่ส่งผลต่อเป้าหมายการพัฒนาประเทศในภาพใหญ่
1.3 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ได้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้ขับเคลื่อนการดำเนินการของ ศจพ. ระดับต่างๆ และทีมปฏิบัติการในพื้นที่ โดยให้ใช้ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (Thai People Map and Analytics Platform: TPMAP) เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยในระดับพื้นที่ และได้เน้นย้ำให้พื้นที่ต้นแบบ ศจพ. นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี สระบุรี และนครสวรรค์ สนับสนุนการจัดทำแนวทางความร่วมมือเพื่อพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการลดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย เพื่อนำไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่นที่มีความสอดคล้องกับภูมิสังคมและบริบทของพื้นที่ต่อไป รวมทั้งเพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายได้รับการแก้ปัญหาและพัฒนาอย่างตรงจุดเพื่อให้สามารถ “อยู่รอด พอเพียง และยั่งยืน”
2. ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ การจัดทำ/ปรับปรุงกฎหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ทั้ง 13 ด้าน จำนวน 45 ฉบับ มีสถานะดำเนินการ ณ เดือนตุลาคม 2565 ดังนี้ (1) กฎหมายที่ดำเนินการแล้วเสร็จและมีผลบังคับใช้แล้ว 9 ฉบับ เช่น 1) พระราชบัญญัติการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 2) ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และแนวทางการจัดทำข้อกำหนดการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สาม 3) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ โดยได้รับการยกเว้นการยื่นรายการตามแบบรายการของคนต่างด้าวซึ่งเดินทางเข้ามาในหรือออกไปนอกราชอาณาจักร (ตม. 6) 4) พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. 2565 และ 5) พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. 2565 (2) กฎหมายที่ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ จำนวน 36 ฉบับ ซึ่งอยู่ระหว่างหน่วยงานของรัฐจัดทำร่างกฎหมาย จำนวน 23 ฉบับ อยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรี จำนวน 7 ฉบับ อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นชอบ จำนวน 3 ฉบับ และอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา จำนวน 3 ฉบับ
3. การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ หน่วยงานของรัฐได้นำเข้าข้อมูลในระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 สรุปได้ ดังนี้ (1) ข้อมูลโครงการ/การดำเนินงานที่นำเข้าระบบฯ ทั้งหมด จำนวน 34,780 โครงการ โดยหน่วยงานที่มีการนำเข้าข้อมูลฯ สูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งสอดคล้องกับสัดส่วนของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่หน่วยงานได้รับจัดสรร (2) ข้อมูลแผนระดับ 3 ที่นำเข้าระบบฯ จำนวน 447 แผน ประกอบด้วย แผนปฏิบัติการด้าน... จำนวน 54 แผน แผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 302 แผน และแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี จำนวน 91 แผน
4. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ จากการตรวจสอบการนำเข้าข้อมูลโครงการ/การดำเนินงานและแผนระดับที่ 3 ของหน่วยงานองค์การมหาชนในระบบ eMENSCR พบว่า มีองค์การมหาชนำเข้าข้อมูลในระบบ eMENSCR จำนวน 25 หน่วยงาน จากทั้งหมด 60 หน่วยงาน คิดเป็นร้อยละ 43 ขององค์การมหาชนทั้งหมด สะท้อนให้เห็นว่าองค์การมหาชนส่วนใหญ่ไม่ได้ดำเนินการตามที่กำหนดไว้ ดังนั้น เพื่อให้มีข้อมูลในการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศที่ครอบคลุมทุกการดำเนินงานของหน่วยงานทุกประเภทของรัฐ สศช. จึงได้ประสานสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมองค์การมหาชน เพื่อกำกับให้องค์การมหาชนให้ความสำคัญในการดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและนำเข้าแผนระดับที่ 3 การนำเข้าข้อมูลโครงการ/การดำเนินงาน และการรายงานผลในระบบ eMENSCR ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนด รวมทั้งให้มีการนำเข้าข้อมูลสถิติ สถานการณ์งานวิจัยที่เกี่ยวข้องในระบบฐานข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อสนับสนุนการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติ (Open Data Portal for Monitoring and Evaluating Government Projects under National Strategy: Open-D)
_____________________
*1. แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2566-2570) อยู่ระหว่างขั้นตอนเสนอคณะรัฐมนตรี 2. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566-2570) อยู่ระหว่างปรับปรุงรายละเอียดเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการอาหารแห่งชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป และ 3. (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 6 ธันวาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12140