รายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 December 2022 23:58
- Hits: 2632
รายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เสนอรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของ กสศ. ในรอบสามปีที่หนึ่ง (ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 – 13 พฤษภาคม 2565) (เป็นการดำเนินการตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติให้ทุกสามปีอันถือว่าเป็นรอบการประเมินให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานของกองทุน และให้คณะกรรมการฯ รายงานผลการประเมินให้คณะรัฐมนตรีทราบภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นรอบการประเมิน) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายของ กสศ.
1.1 กสศ. ได้ดำเนินงานบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง กสศ. โดยสามารถให้ความช่วยเหลือสนับสนุนเงินและค่าใช้จ่ายแก่เด็กและเยาวชนจนสำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งเสริมสร้างการพัฒนาคุณภาพครูและสถานศึกษาให้มีความพร้อมในการจัดการเรียนการสอน เกิดผลสัมฤทธิ์สำคัญที่นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม ได้แก่ (1) นวัตกรรมการคัดกรองความยากจน (2) ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ “Information System for Equitable Education หรือ iSEE” (3) ระบบการติดตามนักเรียนทุนรายบุคคลผ่านเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก (4) การระดมความร่วมมือร่วมกับภาคเอกชน (Innovative Finance) ผ่านความร่วมมือในรูปแบบต่างๆ (5) การระดมทุนจากภาคประชาสังคมและเอกชน และ (6) เกิดต้นแบบการทำงานร่วมกันในพื้นที่
1.2 การใช้งบประมาณและผู้ได้รับประโยชน์ กสศ. ใช้งบประมาณจากทุกแหล่งเงิน จำนวน 21,886.43 ล้านบาท นำไปช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมายของ กสศ. ส่งผลให้มีผู้ได้รับประโยชน์รวมกว่า 3 ล้านคน/ครั้ง (นับตามครั้งที่มีการจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่เด็ก 1 คน มากกว่า 1 ครั้งต่อปี) ครอบคลุม (1) เด็กและเยาวชนในระบบการศึกษา 3.02 ล้านคน/ครั้ง จากเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 45,028 คน นักเรียนทุนเสมอภาค 2.97 ล้านคน/ครั้ง นักเรียนทุนระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษา 8,013 คน (2) เด็ก เยาวชน และแรงงานนอกระบบการศึกษา 44,829 คน (3) ครู 26,648 คน และ (4) สถานศึกษา 727 แห่ง
1.3 ผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายการดำเนินงานของ กสศ. ตามแผนกลยุทธ์ กสศ. ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565-25671 สรุปได้ ดังนี้
เป้าประสงค์ |
ผลลัพธ์ตามเป้าประสงค์ |
|
(1) การเข้าถึงการเรียนรู้ (Learning Access) |
เด็กและเยาวชนวัยเรียนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาผ่านการได้รับเงินอุดหนุน ซึ่งส่งผลให้อัตราการเข้าเรียนของเด็กปฐมวัยและวัยเรียนเพิ่มขึ้นโดยนักเรียนกลุ่มเสี่ยงซึ่งมีอัตราการเข้าเรียนน้อยกว่าร้อยละ 85 ลดลงจาก 18,345 คน ในภาคเรียน 1/2563 เหลือ 1,024 คน ในภาคเรียน 2/2563 และเด็กยากจนและยากจนพิเศษ 11,783 คน มีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น โดยสามารถเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาผ่านระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาผ่านระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย (TCAS64) ในสถาบันอุดมศึกษา 69 แห่งทั่วประเทศ |
|
(2) ผลลัพธ์การเรียนรู้ (Learning Outcome) |
มีการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนในด้านการจัดการเรียนรู้และการบริหารภายใน การบริหารจัดการด้านวิชาการ ส่งผลให้สามารถยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้และทักษะความสามารถของนักเรียนกว่า 190,000 คน โดยนักเรียนมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพสูงขึ้น รวมทั้งครูและหน่วยจัดการเรียนรู้ได้รับการพัฒนาศักยภาพเพื่อจัดการศึกษาตามความต้องการที่หลากหลายเพื่อคุณภาพของผู้เรียน |
|
(3) การศึกษาทางเลือก (Alternative Education) |
เด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาใน 20 จังหวัดนำร่อง ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ตามศักยภาพและมีโอกาสกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาหรือได้รับการพัฒนาความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามศักยภาพ สำหรับแรงงานนอกระบบได้รับการพัฒนาทักษะการดูแลสุขภาพจิต ทักษะชีวิตด้านการเงิน ทักษะการบริหารจัดการสำหรับศตวรรษที่ 21 และทักษะอาชีพส่งผลให้แรงงานมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพตามความถนัดเพิ่มขึ้นและศักยภาพที่จะพึ่งพาตนเองในการดำรงชีวิตได้ |
|
(4) การเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (Systems Change) |
เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ เช่น (1) นวัตกรรมการคัดกรองความยากจน ได้พัฒนาระบบการคัดกรองนักเรียน สร้างแนวทางการค้นหาเด็กนักเรียนยากจนร่วมกับครูในพื้นที่ตามหลักการความเป็นธรรมและโปร่งใส (2) การเปลี่ยนระบบการสนองทุนเพื่อการศึกษา2 โดยมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนโดยตรงซึ่งเป็นการพิจารณาจากความจำเป็นและความต้องการของนักเรียนเป็นรายบุคคล (3) เกิดต้นแบบการทำงานร่วมกันในพื้นที่ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบแยกส่วนมาเป็นการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาสำหรับจังหวัดต้นแบบ โดยให้คนในพื้นที่จากทั้งหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการออกแบบและวางระบบเฉพาะพื้นที่ให้มีโครงสร้างที่สามารถขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนด้วยตนเอง (4) ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ “iSEE” ที่เชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐ 6 กระทรวง3 ครอบคลุมผู้รับประโยชน์ในกลุ่มเด็กและเยาวชนผู้ด้อยโอกาส ทำให้การช่วยเหลือตรงตามกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งมีระบบการติดตามนักเรียนทุนรายบุคคลผ่านเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อให้ความช่วยเหลือเป็นรายบุคคลและใช้ติดตามรายที่หลุดออกจากระบบการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยถึงอุดมศึกษาและ (5) การระดมความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อให้มีส่วนสนับสนุน กสศ. ทั้งในรูปแบบการระดมทุนให้ความช่วยเหลือและระดมความร่วมมือสนับสนุนกว่า 200 องค์กร |
2. ผลการตรวจสอบและประเมินผลการดำเนินกิจการของ กสศ.
2.1 ด้านการใช้จ่ายเงิน พบว่า การใช้จ่ายเงินเป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดย กสศ. มีการประเมินความเสี่ยงเพื่อป้องกันการทุจริต มีมาตรการส่งเสริมความโปร่งใสและป้องกันการทุจริตภายในหน่วยงาน และมีแผนปฏิบัติการป้องกันการทุจริตที่ชัดเจน รวมทั้งมีระบบการบริหารจัดการเพื่อยืนยันการจ่ายเงินไปยังระดับรายบุคคลที่มีการเฉพาะเจาะจงซึ่งมีประสิทธิภาพสูงและสามารถตรวจสอบได้ ส่งผลให้ไม่มีการรั่วไหลของเงิน
2.2 ด้านการประเมินผลการดำเนินงาน ตามแนวคิดองค์กรสมรรถนะสูง พบ่วา กสศ. มีคะแนนผลการประเมินในระดับองค์กร เท่ากับ 2.32 คะแนน จากคะแนนเต็ม 4 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนระดับกลางค่อนข้างสูง โดยมีคะแนนในแต่ละมิติหลัก ดังนี้ มิติที่ 1 ทิศทางและกลยุทธ์ เป็นมิติที่ได้คะแนนสูงสุดที่ 2.93 คะแนน มิติที่ 2 โครงสร้างและกลไกการบริหารองค์กร ได้ 2.12 คะแนน มิติที่ 3 กระบวนการทำงาน เป็นมิติที่ได้คะแนนต่ำสุดที่ 2.00 คะแนน มิติที่ 4 เครือข่ายความร่วมมือและบุคคล ได้ 2.25 คะแนน และมิติที่ 5 การสื่อสารและการรับรู้ ได้ 2.22 คะแนน
2.3 ข้อค้นพบสำคัญจากการประเมินองค์กรสมรรถนะสูง พบว่า กสศ. มีจุดแข็ง คือ มีการกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ และเป้าหมาย โดยมีแผนอย่างเป็นระบบที่สนับสนุนองค์กรให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีโครงสร้างและกลไกการบริหารที่แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในงานแต่ละด้านอย่างชัดเจน มีลักษณะการทำงานแบบองค์กรอิสระ มีความยืดหยุ่นในการตัดสินใจ มีระบบจัดเก็บข้อมูล iSEE และ Q-Info4 ให้การจัดสรรเงินทุนอุดหนุนมีความโปร่งใสสามารถติดตามและตรวจสอบได้ และระบุผู้ได้รับประโยชน์ตามกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนได้โดยไม่มีการรั่วไหลของเงินทุน รวมถึงมีการทำงานร่วมกับภาคีที่หลากหลายเป็นเครือข่ายความร่วมมือ ส่วนจุดที่ควรต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คือ การปรับปรุงกระบวนการทำงานภายในองค์กรให้เป็นมาตรฐาน การมีคู่มือการปฏิบัติงานที่ชัดเจน การพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัล การจัดทำระบบการบันทึกหรือจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลด้วยดิจิทัล การวางแผนอัตรากำลังให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงขององค์กร การเพิ่มช่องทางและการจัดทำระบบการบริหารจัดการความรู้อย่างเป็นระบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและสร้างการรับรู้ให้มากขึ้น
3. รายงานข้อจำกัดหรืออุปสรรคของการดำเนินกิจการของ กสศ. ได้แก่ ระดับการบริหารองค์กร พบว่า ตัวชี้วัดในการติดตามผลตามแผนกลยุทธ์บางตัวชี้วัดเป็นเชิงคุณภาพ ทำให้ยากต่อการวัดผล กระบวนการทำงานยังขาดการบูรณาการระหว่างสายงาน จำนวนบุคลากรน้อย และมีอัตราการลาออกค่อนข้างสูง ยังไม่มีการติดตามประเมินผลด้านความเข้าใจและการรับรู้ของบุคลากรเกี่ยวกับกลยุทธ์และนโยบายขององค์กร รวมทั้งยังขาดการจัดการความรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้จากภาคีภายนอกกลับมาสู่บุคลากรภายในองค์กร และระดับการบริหารโครงการ พบว่า บางโครงการมีแผนหรือปฏิทินการดำเนินงานไม่ชัดเจน และบางครั้งมีระยะเวลาจำกัดในการดำเนินกิจกรรม สถานศึกษาบางแห่งขาดแคลนอุปกรณ์ และการใช้ระบบเทคโนโลยีมีข้อจำกัดและไม่เสถียร บางขั้นตอนโดยเฉพาะการคัดกรองเป็นกระบวนการซับซ้อนจึงเกิดความล่าช้า บางโครงการยังขาดการสื่อสารสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดหรือหลักเกณฑ์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้ ข้อจำกัดและอุปสรรคทั้งในระดับการบริหารองค์กรและระดับการบริหารโครงการดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่ กสศ. สามารถจะปรับปรุงแก้ไขให้สามารถดำเนินการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้ตามแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) ใน ๙ ด้าน5
4. ข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาต่อเนื่อง ดังนี้
4.1 การเสริมสร้างการบริหารจัดการภายใน (Strengthening Internal Foundation) โดยเริ่มตั้งแต่การทบทวนกระบวนการ กฎระเบียบ และนโยบายภายในสำนักงานและการวางโครงสร้างพื้นฐานของระบบเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานอย่างบูรณาการ รวมถึงการพิจารณาการจัดสรรเงินทุนในรูปแบบเงินสะสมของกองทุนเพื่อใช้จ่ายเงินทุนตามปีการศึกษาเพื่อให้มีความอิสระและคล่องตัวจากเงินงบประมาณ
4.2 ความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย (Networking and Partnership) โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนาบุคลากร การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ไปสู่การสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบให้บรรลุผลสำเร็จโดยเน้นการร่วมมือกับภาคเอกชนในด้านต่างๆ เช่น การสนับสนุนเงินทุน การทำกิจกรรมเพื่อสังคมและเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานหลัก เช่น หน่วยงานในระดับอุดมศึกษาเพื่อส่งเสริมให้เด็กยากจนได้เรียนในระดับที่สูงขึ้น
4.3 การมุ่งหน้าสู่ความเสมอภาคทางการศึกษา (Supporting Equitable Education) โดยมุ่งเน้นการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบในด้านต่างๆ ได้แก่ ความเท่าเทียมของคุณภาพสถานศึกษาในแต่ละพื้นที่ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ การส่งเสริมการศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ การคัดกรองที่ครอบคลุมทุกพื้นที่และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน โดยการขับเคลื่อนองค์กรและการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อส่งต่อโครงการและนวัตกรรมด้านการศึกษาต้องพิจารณาให้มีแผนการส่งต่อและมีผู้รับผิดชอบโครงการที่ชัดเจน โดยจัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอและสื่อสารทำความเข้าใจกับหน่วยงานหลัก ภาคี และหน่วยงานด้านนโยบายเกี่ยวกับบทบาทและภารกิจในการดำเนินการ
___________________
1 เป็นการทบทวนและปรับปรุงแผนแม่บท กสศ. จากเดิม (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2566) และกำหนดเป้าประสงค์ 4 ประการ ให้ชัดเจนมากขึ้น
2 จากเดิมเป็นการให้เงินงบประมาณกับโรงเรียนและจ่ายเงินรายหัวตามจำนวนนักเรียนเพื่อให้โรงเรียนไปจัดการศึกษา (Supply-Side Financing) เพียงอย่างเดียว
3 ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข
4 Q-Info หรือระบบเพิ่มคุณภาพการศึกษาและพัฒนาคุณภาพนักเรียนเป็นนวัตกรรมการศึกษาเพื่อลดภาวะครูและเพิ่มคุณภาพนักเรียนโดยจัดเก็บข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของนักเรียนได้เกือบจะเรียลไทม์ ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เวลาการมาเรียนของนักเรียนทั้งแบบรายวัน รายวิชา น้ำหนักส่วนสูง ผลการสอบ คะแนนกิจกรรมเพื่อนำไปประเมินผลและสามารถนำข้อมูลที่ได้มาปรับปรุงการเรียนของนักเรียนให้ดีขึ้น
5 ประกอบด้วย (1) การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์โดยใช้ข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน (2) การประเมินผลประสิทธิภาพการดำเนินงาน (3) การพัฒนากระบวนการทำงาน (4) วิธีใหม่ในการทำงานและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ (5) การใช้เทคโนโลยีในการดำเนินงาน (6) ระบบฐานข้อมูลกลาง (7) การวางแผนอัตรากำลังคน (8) วัฒนธรรมองค์กรในการปรับตัวและรับการเปลี่ยนแปลง และ (9) เครือข่ายความร่วมมือ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 6 ธันวาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12137