ผลการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 40 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 December 2022 23:49
- Hits: 2395
ผลการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 40 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอผลการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 40 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 13 - 16 กันยายน 2565 โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมฯ ผ่านระบบการประชุมทางไกล [คณะรัฐมนตรีมีมติ (13 กันยายน 2565) เห็นชอบร่างเอกสารสำหรับการประชุมฯ และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ให้การรับรองในเอกสารสำหรับ การประชุมดังกล่าว] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 40 ที่ประชุมฯ ได้รับทราบผลการดำเนินงานที่ ผ่านมาและการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการด้านพลังงานอาเซียน ระยะที่ 2 พ.ศ. 2564 - 2568 รวมทั้งได้รับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 40 ด้วยแล้ว สรุปได้ ดังนี้
ด้าน |
รายละเอียด |
|
(1) การเชื่อมโยงโครงข่ายสายส่งไฟฟ้าอาเซียน (รวม 16 โครงการ สถานะ ณ เดือนกันยายน 2564) |
- มีกำลังไฟฟ้าที่ถ่ายเทระหว่างประเทศสมาชิกรวม 26,644 - 30,114 เมกะวัตต์ - ดำเนินโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ไทย มาเลเชีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ได้สำเร็จ โดยกำหนดปริมาณการซื้อ-ขายไฟฟ้าสูงสุดที่ 100 เมกะวัตต์ชั่วโมง ระหว่างปี 2565 - 2566 - ส่งเสริมให้มีการศึกษารูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคีและพัฒนาแผนเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าที่สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้อย่างเหมาะสมต่อไป |
|
(2) การเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซอาเซียน |
มุ่งเน้นการพัฒนาตลาดก๊าชร่วมสำหรับภูมิภาค การขยาย การเชื่อมโยงและการเข้าถึงก๊าชธรรมชาติ การติดตามความคืบหน้าในการพัฒนาท่อส่งก๊าซข้ามพรมแดน และการขยายอายุข้อตกลงความมั่นคงทางปิโตรเลียมอาเซียน เป็นต้น |
|
(3) ถ่านหินและเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด |
จัดการประชุมหารือเชิงนโยบายเกี่ยวกับถ่านหินสะอาดของผู้แทนระดับสูงอาเซียน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 เพื่อรวบรวมแนวทางและนโยบายเกี่ยวกับเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด และเทคโนโลยีการดักจับ การกักเก็บ และการใช้ประโยชน์คาร์บอน เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินการด้านถ่านหินของอาเซียนให้เป็นทิศทางเดียวกัน รวมทั้งศึกษาแผนที่นำทางและกรอบการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับฯ สำหรับอาเซียน |
|
(4) ประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน |
เช่น ความคืบหน้าของการศึกษาเกี่ยวกับสถานะและขีดความสามารถด้านประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งและอุตสาหกรรมของอาเซียน ข้อริเริ่มการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงานในภาคไฟฟ้าและสถานะของการลดความเข้มของการใช้พลังงานในภูมิภาค ปี 2563 โดยอาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายคิดเป็นร้อยละ 22.3 จากการตั้งเป้าหมายว่าทั้งภูมิภาคจะต้องลดค่าความเข้มของการใช้พลังงานให้ได้ร้อยละ 32 ในปี 2568 |
|
(5) พลังงานหมุนเวียน |
- การเปิดตัวรายงานทิศทางพลังงานหมุนเวียนในอาเซียน ฉบับที่ 2 โดยวิเคราะห์ทิศทางและสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ในอาเซียนตามนโยบายของแต่ละประเทศ และการคาดการณ์ประเภทของพลังงานหมุนเวียนที่จะมีบทบาทสำคัญในภูมิภาค รวมทั้งข้อเสนอแนะแนวทางเพื่อให้อาเซียนสามารถบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ - สถานะของการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของอาเซียน โดยในปี 2563 สัดส่วนพลังงานทดแทนเมื่อเทียบกับปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ผลิตได้ของอาเซียนอยู่ที่ร้อยละ 14.2 ซึ่งอาเซียนตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 23 ในปี 2568 และสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนเมื่อเทียบกับปริมาณกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าทั้งหมดที่ร้อยละ 33.5 ซึ่งอาเซียนตั้งเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 35 ในปี 2568 |
|
(6) นโยบายและแผนพลังงานของภูมิภาค |
การขับเคลื่อนและผลักดันนโยบายและการวางแผนด้านพลังงานของอาเซียน การวิเคราะห์ข้อมูล การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรระหว่างประเทศและประเทศคู่เจรจา การส่งเสริมการลงทุน ตลอดจนการดำเนินการและติดตามการปฏิบัติงานของแต่ละสาขาความร่วมมือด้านพลังงานของอาเซียน ทั้งนี้ ในปี 2565 ได้มีการหารือข้อริเริ่มความร่วมมือระหว่างอาเซียนในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสกับองค์กรระหว่างประเทศได้แก่ สหภาพยุโรปและธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในอาเซียนอย่างยั่งยืนและพัฒนาทางการเงิน |
|
(7) พลังงานนิวเคลียร์เพื่อประชาชน |
มุ่งเน้นความร่วมมือในระดับภูมิภาคและนานาชาติ การเสริมสร้างศักยภาพบนกรอบกฎหมายและกฎระเบียบข้อบังคับด้านนิวเคลียร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และความร่วมมือในการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ประชาชนและการเสริมสร้างความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีการดำเนินการที่สำคัญ เช่น การสนับสนุนทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์และเทคโนโลยีแก่ประเทศสมาชิกอาเซียนจากมหาวิทยาลัยซิงหัว สาธารณรัฐประชาชนจีน |
2. การประชุมอื่นๆ และการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง
2.1 การประชุมรัฐนตรีพลังานอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 19 มุ่งเน้นความร่วมมือด้านความมั่นคงทางพลังงาน ตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานสะอาด และการแลกเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีใหม่เกี่ยวกับพลังงานผ่านโครงการต่างๆ โดยในปี 2565 ได้มีการประชุมที่สำคัญ เช่น การประชุมเวทีหารือความมั่นคงทางพลังงานครั้งที่ 19 การประชุมเวทีพลังานหมุนเวียน ประสิทธิภาพพลังงาน และการอนุรักษ์พลังงาน ครั้งที่ 16 และการประชุมโต๊ะกลมพลังงานสะอาดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 5 ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 19 ด้วยแล้ว
2.2 การประชุมรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 16 รับทราบความคืบหน้าของกิจกรรมภายใต้ 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานด้านประสิทธิภาพและการอนุรักษ์พลังงาน แผนงานด้านเชื้อเพลิงชีวภาพเพื่อการขนส่งและวัตถุประสงค์อื่นๆ และแผนงานด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทน รวมทั้งได้หารือเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานเพื่อความมั่นคงทางพลังงานเละการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ฯ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้นำเสนอแนวทางการจัดทำแผนพลังงานชาติเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ใน ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ใน ค.ศ. 2065 รวมทั้งได้แสดงวิสัยทัศน์ในการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอาเซียนและประเทศกลุ่มเอเชียตะวันออกเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงานในภูมิภาคร่วมกันในสภาวะวิกฤตทางพลังงานปัจจุบัน ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมรัฐมนตรีพลังงานแห่งเอเชียตะวันออก ครั้งที่ 16 ด้วยแล้ว
2.3 การประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนกับทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ ครั้งที่ 8 ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศคาดการณ์ว่า การลงทุนด้านพลังงานจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 อยู่ที่ระดับ 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและโครงสร้างพื้นฐานพลังงานหมุนเวียน การเสริมสร้างประสิทธิภาพพลังงาน และยานยนต์ไฟฟ้า แต่ยังไม่เร็วพอที่จะก้าวข้ามผ่านวิกฤตพลังงานในปัจจุบัน นอกจากนี้ การเติบโตอย่างรวดเร็วของความต้องการใช้พลังงานสะอาดจะเป็นการสร้างโอกาสที่สำคัญแก่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เนื่องจากเป็นภูมิภาคที่มีแหล่งแร่สำคัญและมีความสามารถในการผลิตเพียงพอต่อความต้องการของอุตสาหกรรมในอนาคต
2.4 การประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนกับทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ ครั้งที่ 6 การจัดทำรายงานทิศทางของพลังงานหมุนเวียนในอาเซียน ฉบับที่ 2 พบว่า อาเซียนจะเพิ่มความพยายามเพื่อมุ่งไปสู่การลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานใน ค.ศ. 2050 ลดลงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับการดำเนินการตามแผนพลังงานตามปกติในปัจจุบันและจะมีการใช้พลังงานชีวมวล พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมเพิ่มขึ้น อีกทั้งเชื้อเพลิงไฮโดรเจนจะมีบทบาทสำคัญในภาคอุตสาหกรรม
2.5 การประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนกับสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงาน โดยกำหนดเป้าหมายที่จะให้มีการจำหน่ายยานยนต์ไฟฟ้าทั่วประเทศให้ได้ร้อยละ 50 ภายใน ค.ศ. 2030 และผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดให้ได้ร้อยละ 100 ภายใน ค.ศ. 2035 เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายใน ค.ศ. 2050 ทั้งนี้ สหรัฐอเมริกาได้นำเสนอโครงการ Southeast Asia Smart Power Program ที่มุ่งเน้นการพัฒนาโครงการด้านพลังงานสะอาดในภูมิภาคและยกระดับการเชื่อมโยงทางพลังงานและส่งเสริมการค้าพลังงานแบบพหุภาคีในภูมิภาคอีกด้วย
2.6 การประชุมระดับรัฐมนตรีพลังงานของการประชุมโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าระหว่าง สปป. ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ ครั้งที่ 3 รัฐมนตรีพลังงานทั้ง 4 ประเทศได้ให้การรับรองถ้อยแถลงร่วมของการประชุมโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าฯ โดยริเริ่มการซื้อ-ขายไฟฟ้าพหุภาคีข้ามพรมแดนที่ใช้การเชื่อมต่อโครงข่ายที่มีอยู่ของแต่ละประเทศเป็นระยะเวลา 2 ปี ระหว่างปี 2565 - 2566 เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาค
2.7 การประกาศผลรางวัลดีเด่นด้านพลังงานอาเซียน ประจำปี 2565 ไทยมีผู้รับรางวัลทั้งสิ้น 23 รางวัล ใน 4 ประเกท ดังนี้ (1) ประเภทการบริหารจัดการพลังงานในอาคารและภาคอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม จำนวน 3 รางวัล (2) ประเภทอาคารอนุรักษ์พลังงาน จำนวน 5 รางวัล (3) ประเภทโครงการด้านพลังงานหมุนเวียน 12 รางวัล และ (4) รางวัลประกาศเกียรติคุณบุคคลดีเด่นด้านพลังงานในอาเซียน ประจำปี 2565 จำนวน 3 รางวัล
3. บทบาทของไทยและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการประชุม ไทยได้แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสถานการณ์พลังงานในปัจจุบันว่า อาเซียนต้องคำนึงถึงความสำคัญในการจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการ การมีเสถียรภาพ มีราคาที่หาซื้อได้และยั่งยืน และมุ่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น โดยไทยยินดีให้การสนับสนุนในสาขาความร่วมมือต่างๆ รวมถึงกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาและองค์กรระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ไทยได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานในภูมิภาคกับประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศคู่เจรจา และองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาภาคพลังงานของไทยต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 6 ธันวาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12134