ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers: AEM) ครั้งที่ 54 และ การประชุมที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 December 2022 23:44
- Hits: 2352
ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers: AEM) ครั้งที่ 54 และ การประชุมที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Ministers: AEM) ครั้งที่ 54 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 14 - 18 กันยายน 2565 ณ จังหวัดเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายสรรเสริญ สมะลาภา) เข้าร่วมประชุม [คณะรัฐมนตรีมีมติ (6 กันยายน 2565) เห็นชอบร่างเอกสารที่จะมีการลงนามรับรอง และให้ความเห็นชอบในการประชุม AEM และการประชุมที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายให้ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายลงนามและรับรองเอกสารตามที่เสนอ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการประชุม AEM ครั้งที่ 54 สรุปได้ ดังนี้
1.1 ดำเนินการเกี่ยวกับประเด็นด้านเศรษฐกิจที่กัมพูชาในฐานะประธานอาเซียนผลักดันให้บรรลุผลสำเร็จในปี 2565 (Priority Economic Deliverables: PEDs) แล้วเสร็จ 4 ประเด็น จาก 9 ประเด็น เช่น การประกาศการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยการแข่งขันของอาเซียน การจัดทำแผนงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามกรอบเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการประกาศเริ่มการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน ทั้งนี้ มีประเด็นใน PEDร ที่ดำเนินการเสร็จแล้วในสาระสำคัญ 1 ประเด็น คือ ความตกลงว่าด้วยการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดาของอาเซียน ซึ่งได้ขอให้สมาชิกอาเซียนเร่งดำเนินการเพื่อให้ AEM สามารถลงนามพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงฯ ได้ภายในปี 2565
1.2 มอบหมายให้สมาชิกอาเซียนเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถลงนามความตกลงเพื่อขยายอายุและแก้ไขบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการมาตรการที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้าจำเป็นภายใต้แผนปฏิบัติการฮานอยว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานของอาเซียนให้เข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และบัญชีรายการสินค้าจำเป็นภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ (สิ้นสุดในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2565) ให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 รวมทั้งให้พิจารณารายการสินค้าเพิ่มติมเพื่อให้มีรายการสินค้าจำเป็นที่สมาชิกอาเซียนเห็นชอบร่วมกัน อย่างน้อย 100 รายการ
1.3 มอบหมายให้คณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจกำกับดูแลการจัดทำองค์ประกอบหลักของวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ภายหลังปี 2568 ในส่วนของเสาเศรษฐกิจให้ครอบคลุม กระชับ ชัดเจน มียุทธศาสตร์ และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยคำนึงถึงแนวโน้มและความท้าทายใหม่ๆ เพื่อเสนอผู้นำอาเซียนให้การรับรองต่อไป
1.4 รับทราบแผนการจัดทำความตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2566 และคาดว่าอาเซียนจะสามารถเริ่มต้นเจรจาความตกลงฯ ได้ในช่วงปลายปี 2566 หรือ ต้นปี 2567
1.5 รับทราบผลการประเมินของคณะค้นหาความจริงเยือนติมอร์-เลสเต ของเสาเศรษฐกิจ ซึ่งมีข้อกังวลด้านความเข้าใจในกระบวนการทำงานของอาเซียน ความรู้เชิงเทคนิค และทักษะการเจรจ จึงเสนอโครงการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อการเข้าสู่อาเซียนของติมอร์-เลสเต และเพิ่มจำนวนกิจกรรมและการประชุมในกรอบอาเซียนที่ติมอร์-เลสเตเข้าร่วมได้เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถ
2. การประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน ครั้งที่ 36 สรุปได้ ดังนี้
2.1 เห็นชอบบัญชีกฎเฉพาะรายสินค้า บัญชีรายการสินค้าสิ่งทอ และบัญชีรายการสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศของอาเซียนในระบบพิกัดศุลกากรฮาร์โมไนซ์อาเซียน ฉบับ ค.ศ. 2022 และให้เร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้ภายในวันที่ 1 เมษายน 2566
2.2 เห็นชอบเอกสารข้อเสนอแนวทางการเจรจายกระดับความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ASEAN Trade in Goods Agreement: ATIGA) โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะเจรจายกระดับความตกลง ATIGA ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 - 30 กันยายน 2565 ณ จังหวัดกระบี่ และตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาฯ ให้ได้ภายใน 2 ปี
2.3 กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเรียกร้องให้ไทยหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้นำเข้าทั่วไปสามารถนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ตลอดทั้งปี ซึ่งไทยแจ้งว่าได้แก้ปัญหาอย่างต่อเนื่องและมีการปรับกฎระเบียบให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
3. การประชุมคณะรัฐมนตรีเขตการลงทุนอาเซียน ครั้งที่ 25 มอบหมายให้คณะกรรมการประสานงานด้านการลงทุนของอาเซียนจัดทำพิธีสารเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการลงทุนอาเซียน ฉบับที่ 5 ให้แล้วเสร็จตามเป้าหมายภายในปี 2566
4. การหารือของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค สรุปได้ ดังนี้
การหารือ |
สาระสำคัญ |
|
อาเซียน-จีน |
- เห็นชอบ (1) ผลการศึกษาการยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ซึ่งครอบคลุมการเปิดเสรีเพิ่มเติมด้านการค้าสินค้า ด้านการลงทุนและการคุ้มครองการลงทุน และการขยายสาขาความร่วมมือต่างๆ เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และ (2) แผนงานว่าด้วยการขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าอาเซียน-จีนในเชิงลึก ปี 2565 – 2569 - รับรองแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด - รับทราบข้อริเริ่มอาเซียน-จีนในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ |
|
อาเซียน-อินเดีย |
เห็นชอบเอกสารขอบเขตการทบทวนความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย และประกาศจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภายใต้ความตกลงการค้าสินค้าอาเซียน-อินเดีย เพื่อเป็นกลไกการทบทวนความตกลงฯ โดยมุ่งหวังให้มีการเปิดตลาดเพิ่มเติม และปรับกฎระเบียบให้สอดคล้องกับสถานการณ์การค้า และเอื้อต่อการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ |
|
อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ |
รับทราบความคืบหน้าการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ ซึ่งมีความคืบหน้าร้อยละ 80 และยืนยัน การประกาศสรุปผลการเจรจายกระดับความตกลงฯ อย่างมีนัยสำคัญภายในปีนี้ |
|
อาเซียน-เกาหลีใต้ |
รับทราบความคืบหน้าการศึกษาร่วมเพื่อยกระดับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลีใต้ |
|
อาเซียน-แคนาดา |
รับทราบความคืบหน้าการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดารอบแรก ซึ่งได้หารือขอบเขตโครงสร้างข้อบทและประเด็นเจรจาต่างๆ เช่น การค้าสินค้าและบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และการแข่งขันทางการค้า นอกจากนี้ จะเร่งหารือประเด็นการค้าใหม่ๆ เช่น แรงานและสิ่งแวดล้อม |
|
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) |
รับทราบสถานะล่าสุดของการมีผลใช้บังคับความตกลง RCEP โดยฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียอยู่ระหว่างดำเนินการภายในเพื่อให้สัตยาบันความตกลงฯ นอกจากนี้ ให้จัดตั้งสำนักเลขาธิการ RCEP ในระยะแรกในรูปแบบหน่วยงานพิศษภายใต้สำนักงานเลขาธิการอาเซียน และให้คณะกรรมการร่วม RCEP เร่งสรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกลไกการสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้สามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปี 2566 |
5. การหารือระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน มีการแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นการเปลี่ยนผ่านอาเซียนสู่ความเป็นดิจิทัล การส่งเสริมความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาทักษะและเสริมทักษะใหม่ๆ และการพัฒนาขีดความสามารถของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small & Medium Enterprises: MSMEs)
6. การหารือของรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนกับผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างอาเซียนและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ให้ครอบคลุมการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อขยายธุรกิจ Startups และ MSMEs และเห็นชอบการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียนและ WIPO เพื่อเป็นกรอบส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมและเป็นประโยชน์ร่วมกัน
7. การหารือทวิภาคีระหว่างไทยกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ สรุปได้ ดังนี้
การหารือ |
สาระสำคัญ |
|
ไทย-ติมอร์-เลสเต |
ติมอร์-เลสเตขอรับการสนับสนุนการสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนและองค์การการค้าโลก นอกจากนี้ ผลการพิจารณาบันทึกความตกลงว่าด้วยการค้าข้าวรัฐต่อรัฐระหว่างไทยกับติมอร์-เลสเต อยู่ระหว่างการพิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย |
|
ไทย-นิวซีแลนด์ |
นิวซีแลนด์ขอบคุณไทยสำหรับการปรับปรุงเงื่อนไขการนำเข้าหอมหัวใหญ่ซึ่งทำให้สามารถส่งออกมายังไทยได้ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 และขอให้ไทยสนับสนุนการเปิดปรับปรุงข้อบทการระงับข้อพิพาทด้านการลงทุนระหว่างรัฐภาคีกับนักลงทุน (Investor-State Dispute Settlement: ISDS) ภายใต้ความตกลงเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ (Agreement Establishing the ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Area: AANZFTA) เพื่อให้สมาชิกสามารถเลือกผูกพัน ISDS ได้ตามความสมัครใจ นอกจากนี้ ไทยขอให้นิวซีแลนด์สนับสนุนการลงคะแนนเสียงให้ไทยในการสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงานเอ็กซ์โปวาระพิเศษ ในปี 2571 ด้วย |
|
ไทย-ออสเตรเลีย |
ออสเตรเลียขอให้ไทยสนับสนุนการเปิดปรับปรุง ISDS เช่นเดียวกับนิวซีแลด์ และเพิ่มเรื่องการคัดกรองและการระงับข้อพิพาทโดยไม่อยู่ภายใต้กลไกการระงับข้อพิพาทภายใต้ความตกลง AANZFTA และการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าแบบเต็มส่วน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายเห็นควรมีการลงนามเอกสารยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในการประชุมรัฐมนตรีเอเปค เดือนพฤศจิกายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร |
|
ไทย-รัสเซีย |
ผลักดันให้การค้าทั้งสองฝ่ายขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเน้นสินค้าเกษตรและอาหาร พลังงาน ปุ๊ย และยางพารา เป็นต้น |
|
ไทย-คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Commission: EEC) |
EEC เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะทำงานร่วมระหว่างไทย-EEC ครั้งที่ 3 ระหว่างเดือนตุลาคม 2565 -มกราคม 2566 ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย |
|
ไทย-ฮ่องกง |
หารือแนวทางความร่วมมือด้านธุรกิจบริการดิจิทัลคอนเทนต์และสื่อภาพยนตร์ และฮ่องกงขอให้ไทยสนับสนุนการเป็นสมาชิก RCEP ซึ่งฮ่องกงได้ยื่นหนังสือแจ้งความประสงค์ต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนแล้ว |
8. ความเห็นและข้อสังเกต ในช่วงที่ผ่านมาอาเซียนดำเนินการเกี่ยวกับการตอบสนองต่อแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมของอาเซียนไปสู่ยุคดิจิทัลและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต เช่น การจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจดิจิทัลและกรอบการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนของอาเซียน รวมทั้งให้ความสำคัญเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการสร้างแนวทางใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน เช่น ด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี ทรัพยากรมนุษย์ และสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ตระหนักถึงแนวโน้มการค้ายุคใหม่ โดยมีการผนวกประเด็นการค้าใหม่ๆ ในการเจรจายกระดับความตกลงการค้าเสรีของอาเซียนและอาเซียนกับคู่เจรจา เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง แรงงาน สิ่งแวดล้อม การค้าดิจิทัล และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าและเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีให้มากขึ้นเพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และรักษาสถานะการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่อุปทานโลกของอาเซียนได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 6 ธันวาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12133