ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 December 2022 23:16
- Hits: 2222
ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ สปน. เสนอว่า
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ได้บัญญัติให้มีการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ โดยให้ดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศเป็นไปตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ซึ่งบัญญัติให้การจัดทำแผนปฏิรูปประเทศแต่ละด้านต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์และให้การจัดทำแผนการปฏิรูปประเทศมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ จึงได้มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การประกาศแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) โดยกำหนดให้มีการแก้ไขปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544 โดยให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2565 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน
2. ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของแผนการปฏิรูปประเทศตามข้อ 1 และสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน สปน. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ จึงได้ ยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และเสนอ ต่อคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว ในการประชุม ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 โดยคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาร่างระเบียบฯ ดังกล่าวแล้ว และมีมติเห็นชอบ และให้ดำเนินการเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544 และ ที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยาม องค์ประกอบ หน้าที่และอำนาจ ของ กคร. และ กคร. จังหวัด การรายงานการเงินของการเรี่ยไรผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและบทเฉพาะกาล สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ประเด็น |
ระเบียบฯ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม |
ร่างระเบียบฯ ที่ สปน. เสนอ |
||
1. แก้ไขบทนิยาม |
- “เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร” หมายความว่า เข้าไปช่วยเหลือโดยมีส่วนร่วมในการจัดให้มีการเรี่ยไรในฐานะเป็นผู้ร่วมจัดให้มีการเรี่ยไร หรือเป็นประธานกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงานที่ปรึกษาหรือในฐานะอื่นใดในการเรี่ยไรนั้น |
- “เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร” หมายความว่า เข้าไปช่วยเหลือโดยมีส่วนร่วมในการจัดให้มีการเรี่ยไรในฐานะเป็นผู้ร่วมจัดให้มีการเรี่ยไร ผู้สนับสนุน หรือเป็นกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงาน ที่ปรึกษา หรือในฐานะอื่นใดในการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐที่ขออนุมัติจัดให้มีการเรี่ยไรหรือหน่วยงานหรือองค์กรอื่นใดที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการเรี่ยไรนั้น (เพิ่มการเป็นผู้สนับสนุน หรือเป็นกรรมการ ของหน่วยงานของรัฐที่ขออนุมัติจัดให้มีการเรี่ยไรนั้น หรือหน่วยงาน หรือองค์กรอื่นใดที่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะโดยตรงหรือโดยอ้อมกับการเรี่ยไรนั้น เพื่อให้เกิดความครอบคลุมชัดเจนยิ่งขึ้น) |
||
- “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ส่วนราชการหรือหน่วยงานที่อยู่ในกำกับดูแลของรัฐทุกระดับ ทั้งในราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น และรัฐวิสาหกิจ | - “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานที่อยู่ในกำกับดูแลของฝ่ายบริหาร ทั้งในราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น (เพื่อให้ครอบคลุมหน่วยงานของรัฐทุกประเภท ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมติคณะรัฐมนตรี (20 ตุลาคม 2552) เรื่อง การปรับปรุงหลักการจำแนกประเภทหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร) | |||
- “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ | - “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นในหน่วยงานของรัฐ (เพื่อให้ครอบคลุมเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรประเภทต่างๆ ที่ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ) | |||
2. แก้ไของค์ประกอบของ กคร. |
- ข้อ 8 ให้มีคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ เรียกโดยย่อว่า “กคร.” ประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสี่คนเป็นกรรมการ และผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการและเลขานุการ กคร. จะแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรีจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้ |
- ข้อ 8 ให้มีคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ เรียกโดยย่อว่า “กคร.” ประกอบด้วยรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งอีกไม่เกินสี่คนเป็นกรรมการและผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการและเลขานุการ กคร. จะแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีจำนวนไม่เกินสองคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้ (เพิ่มผู้แทนจาก กก. และ วธ. เข้าร่วมเป็นกรรมการ เพื่อจะได้นำข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานมาประกอบการพิจารณาอนุมัติของ กคร. ให้มีความละเอียดรอบคอบยิ่งขึ้น) |
||
3. แก้ไขหน้าที่และอำนาจของ กคร. |
- ข้อ 12 กคร. มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ (1) พิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปรับปรุงระเบียบนี้ (2) พิจารณาอนุมัติให้หน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะทำการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรในเขตกรุงเทพมหานครหรือในเขตท้องที่เกินหนึ่งจังหวัด จัดให้มีการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ (3) ตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับ การปฏิบัติตามระเบียบนี้ (4) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการ ยื่นคำขออนุมัติให้จัดให้มีการเรี่ยไร หรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรตามระเบียบนี้ (5) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการกับสิ่งของที่หน่วยงานของรัฐได้รับมาจากการเรี่ยไรโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้ (6) ให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ (7) มอบหมายให้ กคร. จังหวัด ปฏิบัติการอื่นใดตามที่เห็นสมควร (8) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ระเบียบนี้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กคร. หรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เมื่อ กคร. ได้พิจารณาอนุมัติตาม (2) แล้ว ให้แจ้งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบด้วย |
- ข้อ 12 กคร. มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ (1) พิจารณาเสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปรับปรุงระเบียบนี้ (2) พิจารณาอนุมัติให้หน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะทำการเรี่ยไร หรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรในเขตกรุงเทพมหานครหรือในเขตท้องที่เกินหนึ่งจังหวัด จัดให้มีการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ (3) ระงับการเรี่ยไรที่ไม่ได้รับอนุมัติตามระเบียบนี้ หรือเพิกถอนการอนุมัติที่อยู่ระหว่างการเรี่ยไรในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้ (4) ตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับ การปฏิบัติตามระเบียบนี้ (5) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการ ยื่นคำขออนุมัติให้จัดให้มีการเรี่ยไร หรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรตามระเบียบนี้ (6) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการกับเงินหรือทรัพย์สินที่หน่วยงานของรัฐได้รับมาจากการเรี่ยไรโดยฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้ (7) ให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามระเบียบนี้ (8) มอบหมายให้ กคร. จังหวัด ปฏิบัติการอื่นใดตามที่เห็นสมควร (9) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ระเบียบนี้กำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของ กคร. หรือตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย เมื่อ กคร. ได้พิจารณาอนุมัติตาม (2) แล้ว ให้แจ้งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินทราบด้วย (แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำ จากเดิม “อำนาจหน้าที่” เป็น “หน้าที่และอำนาจ” และ “สิ่งของ” เป็น “เงินหรือทรัพย์สิน” และเพิ่มหน้าที่และอำนาจของ กคร. ในการระงับการเรี่ยไรที่ไม่ได้รับอนุมัติตามระเบียบนี้ เช่น การเรี่ยไรโดยไม่ได้ยื่นคำขออนุมัติตามที่ กคร. กำหนดผ่านทางสื่อออนไลน์เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยมีวัตถุประสงค์อื่น หรือเพิกถอนการอนุมัติที่อยู่ระหว่างการเรี่ยไรในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตาม ระเบียบนี้) |
||
4. แก้ไของค์ประกอบของ กคร. จังหวัด |
- ข้อ 15 ให้มีคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรจังหวัดในทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร เรียกโดยย่อว่า “กคร. จังหวัด” โดยออกนามจังหวัดนั้น ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายหนึ่งคน ปลัดจังหวัด อัยการจังหวัด ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งหนึ่งคน หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศึกษาธิการจังหวัด สรรพากรจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด นายกเทศมนตรีนครหรือนายกเทศมนตรีเมืองที่เป็นที่ตั้งจังหวัด ผู้แทนหอการค้าจังหวัด ผู้แทนสมาคมหรือชมรมธนาคารพาณิชย์จังหวัด ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมจังหวัด บุคคลอื่นซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งอีกไม่เกินสามคนเป็นกรรมการ และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งหนึ่งคนเป็นกรรมการและเลขานุการ กคร. จังหวัด จะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐภายในจังหวัดจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้ |
- ข้อ 15 ให้มีคณะกรรมการควบคุมการเรี่ยไรจังหวัดในทุกจังหวัด ยกเว้นกรุงเทพมหานคร เรียกโดยย่อว่า “กคร. จังหวัด” โดยออกนามจังหวัดนั้น ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ ปลัดจังหวัด อัยการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด สรรพากรพื้นที่จังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งอีกไม่เกินสี่คนเป็นกรรมการ และหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ กคร. จังหวัด จะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของสำนักงานจังหวัดจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการก็ได้ (กำหนดองค์ประกอบของ กคร. จังหวัด โดยตัด “รองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ผู้ว่าราชการจังหวัดมอบหมายหนึ่งคน” ออก และกำหนดให้ “นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด” เป็นกรรมการ แทน “ท้องถิ่นจังหวัด” และปรับปรุงชื่อตำแหน่งกรรมการให้เป็นปัจจุบัน) |
||
5. แก้ไขหน้าที่และอำนาจของ กคร. จังหวัด |
- ข้อ 16 ให้ กคร. จังหวัด มีหน้าที่ช่วย กคร. ปฏิบัติการในจังหวัด และให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1) พิจารณาอนุมัติให้หน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะทำการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรภายในเขตจังหวัด จัดให้มีการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ (2) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ระเบียบนี้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กคร. จังหวัด หรือตามที่ กคร. มอบหมาย เมื่อ กคร. จังหวัด ได้พิจารณาอนุมัติตาม (1) แล้ว ให้แจ้งหน่วยงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินในภูมิภาคนั้นและรายงาน กคร. ให้ทราบด้วย |
- ข้อ 16 ให้ กคร. จังหวัด มีหน้าที่ช่วย กคร. ปฏิบัติการในจังหวัด และให้มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ (1) พิจารณาอนุมัติให้หน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะทำการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรภายในเขตจังหวัด จัดให้มีการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไรตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ (2) ระงับการเรี่ยไรที่ไม่ได้รับอนุมัติตามระเบียบนี้หรือเพิกถอนการอนุมัติที่อยู่ระหว่างการเรี่ยไรในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตามระเบียบนี้ (3) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่ระเบียบนี้กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ กคร. จังหวัด หรือตามที่ กคร. มอบหมาย เมื่อ กคร. จังหวัด ได้พิจารณาอนุมัติตาม (1) แล้ว ให้แจ้งหน่วยงานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจังหวัดนั้น และรายงาน กคร. ให้ทราบด้วย (เพิ่มหน้าที่และอำนาจของ กคร. จังหวัด ในการระงับการเรี่ยไรที่ไม่ได้รับอนุมัติตามระเบียบนี้ เช่น การเรี่ยไรโดยไม่ได้ยื่นคำขออนุมัติตามที่ กคร. จังหวัด กำหนดผ่านทางสื่อออนไลน์เพื่อสาธารณประโยชน์ โดยมีวัตถุประสงค์อื่นหรือเพิกถอนการอนุมัติที่อยู่ระหว่างการเรี่ยไรในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไม่ปฏิบัติตาม ระเบียบนี้) |
||
6. รายงานการเงินของการเรี่ยไร |
- ข้อ 20 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้รับอนุมัติหรือได้รับยกเว้นตามข้อ 19 ให้จัดให้มีการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการดังต่อไปนี้ (4) จัดทำบัญชีการรับจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการเรี่ยไรตามระบบบัญชีของทางราชการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สิ้นสุดการเรี่ยไรหรือทุกสามเดือนในกรณีที่เป็นการเรี่ยไรที่กระทำอย่างต่อเนื่องและปิดประกาศโดยเปิดเผย ณ ที่ทำการของหน่วยงานของรัฐที่ได้ทำการเรี่ยไรไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้ทราบและจัดให้มีเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินการเรี่ยไรดังกล่าวไว้ ณ สถานที่สำหรับประชาชนสามารถใช้ในการค้นหาและศึกษาข้อมูลข่าวสารของราชการด้วย (5) รายงานการเงินของการเรี่ยไรพร้อมทั้งส่งบัญชีตาม (4) ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้จัดทำบัญชีตาม (4) แล้วเสร็จ หรือในกรณีที่เป็นการเรี่ยไรที่ได้กระทำอย่างต่อเนื่องให้รายงานการเงินพร้อมทั้งส่งบัญชีดังกล่าวทุกสามเดือน |
- ข้อ 20 ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้รับอนุมัติหรือได้รับการยกเว้นตามข้อ 19 ให้จัดให้มีการเรี่ยไรหรือเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรี่ยไร ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการดังต่อไปนี้ (4) จัดทำบัญชีการรับจ่ายเงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการเรี่ยไรตามระบบบัญชีของทางราชการภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สิ้นสุดการเรี่ยไร หรือทุกสามเดือน ในกรณีที่เป็นการเรี่ยไรที่กระทำอย่างต่อเนื่องและปิดประกาศโดยเปิดเผย ณ ที่ทำการของหน่วยงานของรัฐที่ได้ทำการเรี่ยไรไม่น้อยกว่าสามสิบวัน เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้ทราบและจัดให้มีเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินการเรี่ยไรดังกล่าวไว้ ณ สถานที่สำหรับประชาชนสามารถใช้ในการค้นหาและศึกษาข้อมูลข่าวสารของราชการ รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐนั้นด้วย (5) รายงานการเงินของการเรี่ยไรพร้อมทั้งส่งบัญชีตาม (4) ให้ กคร. หรือ กคร. จังหวัดแล้วแต่กรณี และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือสำนักตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด แล้วแต่กรณี ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้จัดทำบัญชีตาม (4) แล้วเสร็จ หรือในกรณีที่เป็นการเรี่ยไรที่ได้กระทำอย่างต่อเนื่องให้รายงานการเงินพร้อมทั้งส่งบัญชีดังกล่าวทุกสามเดือน รวมทั้งเผยแพร่รายงานการเงินผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐนั้นด้วย (เพิ่มการรายงานการเงินของการเรี่ยไร ให้ กคร. หรือ กคร. จังหวัดแล้วแต่กรณีทราบ โดยให้เผยแพร่ผ่านทางระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐนั้น) |
||
7. บทเฉพาะกาล |
- ให้ กคร. และ กคร. จังหวัด ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2539 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันที่ระเบียบนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปฏิบัติหน้าที่ กคร. และ กคร. จังหวัด ตามระเบียบนี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการซึ่งนายกรัฐมนตรีหรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี แต่งตั้งตามระเบียบนี้เข้ารับหน้าที่ |
- แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้ กคร. และ กคร. จังหวัด ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันที่ระเบียบนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ปฏิบัติหน้าที่ กคร. และ กคร. จังหวัด ตามระเบียบนี้ไปพลางก่อนจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการซึ่งนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งตามระเบียบนี้เข้ารับหน้าที่ (เนื่องจากได้มีการปรับปรุงแก้ไข กคร. และ กคร. จังหวัด ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการเรี่ยไรของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12228