ร่างพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 December 2022 23:04
- Hits: 2697
ร่างพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและรับทราบดังนี้
1. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอและส่งให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
3. ให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงพลังงานไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค พ.ศ. 2503 มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
ประเด็นที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม |
สาระสำคัญ/วัตถุประสงค์ |
|
1. บทนิยามคำว่า “พนักงาน” |
• ให้นิยามคำว่า “พนักงาน” หมายความว่า พนักงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยไม่ให้หมายความรวมถึงผู้ว่าการ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจที่กำหนดให้ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจไม่มีฐานะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ |
|
2. กำหนดพื้นที่ดำเนินการของ กฟภ. ให้ชัดเจนและสอดคล้องกับสถานการณ์ |
• กำหนดให้ กฟภ. สามารถดำเนินการตามวัตถุประสงค์ได้ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งในส่วนการดำเนินการภายในประเทศได้กำหนดข้อยกเว้นในการดำเนินกิจการไฟฟ้า ได้แก่ ในเขตส่วนภูมิภาคซึ่งอยู่นอกเขตพื้นที่ที่การไฟฟ้านครหลวงดำเนินการอยู่ และพื้นที่ที่ กฟภ. ได้รับมอบหมายหรือรับโอนภารกิจมาดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อให้ กฟภ. มีอำนาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมทั้งมีความชัดเจนเกี่ยวกับขอบเขตพื้นที่การดำเนินการของ กฟภ. ในการผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานในประเทศ |
|
3. การผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า และการประกอบกิจการพลังงานไฟฟ้า |
• กำหนดให้การผลิต จัดให้ได้มา จัดส่ง และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าเป็นกิจการสาธารณูปโภคที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง • กำหนดให้การประกอบกิจการพลังงานไฟฟ้าที่ไม่ใช่การดำเนินกิจการสาธารณูปโภคจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการนั้นด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการปฏิบัติ |
|
4. อำนาจในการกระทำต่างๆ ภายใต้วัตถุประสงค์ของ กฟภ. |
• ปรับปรุงอำนาจกระทำการต่างๆ ภายใต้ขอบวัตถุประสงค์ของ กฟภ. เช่น ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง หรือทรัพยสิทธิต่างๆ ก่อตั้งสิทธิหรือกระทำนิติกรรมต่างๆ มีอำนาจกำหนดประเภท ขนาด และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้า ให้กู้ยืมเงินโดยมีหลักประกันที่เหมาะสมแก่บริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่ กฟภ. จัดตั้งหรือถือหุ้น รวมทั้งพัฒนาและส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการ หรือกิจการ เช่น การสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้า การซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบ SMART GRID ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการจัดการทรัพย์สิน นิติกรรม กิจการที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจ เช่น การให้เงินกู้ยืมแก่บริษัทลูกของ กฟภ. และเพื่อให้สามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และการบริหารจัดการมาพัฒนากิจการของ กฟภ. ที่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมีขึ้นในอนาคต อันเป็นการเพิ่มประสิทธภาพและเพิ่มโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจและรองรับการให้บริการในปัจจุบัน |
|
5. คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการ กรรมการและผู้ว่าการ |
• แก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการ กรรมการ และผู้ว่าการ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เช่น เป็นผู้ที่สามารถทำงานให้แก่รัฐวิสาหกิจได้เต็มเวลา ไม่เป็นข้าราชการการเมือง รวมทั้งกำหนดเพิ่มเติมให้เป็นผู้มีความรู้และมีความชัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับการจัดการธุรกิจ การไฟฟ้า วิศวกรรม การเงิน หรือกฎหมาย และต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้เสียกับ กฟภ. |
|
6. อำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ |
• แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดให้คณะกรรมการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและวางข้อบังคับเกี่ยวกับการประชุมและการดำเนินกิจการของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ทั้งนี้ เพื่อเป็นกลไกในการช่วยดำเนินงานของคณะกรรมการ ซึ่งเดิมไม่มีกลไกคณะอนุกรรมการดังกล่าว |
|
7. การพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระของกรรมการ |
• แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดรองรับกรณีที่ประธานกรรมการหรือกรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนถึงวาระ ให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ โดยให้กรรมการที่เหลืออยู่เลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานกรรมการเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานของคณะกรรมการมีความชัดเจน |
|
8. การยื่นและวินิจฉัยคำร้อง ในกรณีที่มีเหตุที่จะใช้ที่ดินของบุคคล |
• แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการยื่นและวินิจฉัยคำร้องในกรณีที่มีเหตุที่จะใช้ที่ดินของบุคคลให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยมีการกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนขึ้นในกรณีที่ กฟภ. ต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่จะกระทำการ (เดินสาย หรือข้ามพื้นที่ของบุคคลใดๆ หรือปัก หรือตั้งเสาไฟฟ้า หรืออุปกรณ์ต่างๆ) ในเวลาอันสมควรไม่น้อยกว่า 3 วัน (จากเดิมระบุเพียงว่าภายในเวลาอันสมควร) และขยายระยะเวลาให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ทรงสิทธิอื่นสามารถยื่นคำร้องแสดงเหตุที่ไม่สมควรกระทำการต่างๆ ข้างต้นไปยังคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยภายใน 30 วัน (จากเดิมภายใน 15 วัน) นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้ง และให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเป็นที่สุด ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการตามกฎหมาย |
|
9. การดำเนินการที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี |
• แก้ไขเพิ่มเติมการดำเนินการของ กฟภ. ที่สำคัญต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน โดยให้มีการปรับปรุงในเรื่องดังต่อไปนี้ - เพิ่มกรอบวงเงินการกู้ยืมเงิน จากเดิม “เกิน 100 ล้านบาท” เป็น “เกิน 500 ล้านบาท” - เพิ่มกรอบวงเงินการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์ จากเดิม “เกิน 10 ล้านบาท” เป็น “เกิน 50 ล้านบาท” - กำหนดให้การดำเนินการของ กฟภ. ในต่างประเทศ ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับสภาพ เศรษฐกิจในปัจจุบันและลดเรื่องที่ต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะทำให้เกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น |
|
10. การบัญชี การสอบ และการตรวจทางบัญชี |
• ปรับปรุงบทบัญญัติว่าด้วยการบัญชี การสอบ และการตรวจทางบัญชีของ กฟภ. เช่น จัดทำรายงานการเงินส่งผู้สอบบัญชีภายใน 90 วันนับแต่วันสิ้นบัญชี จำทำและเผยแพร่รายงานประจำปีที่ล่วงมาแล้ว จัดทำรายงานของผู้สอบบัญชีและแสดงความเห็นต่อรายงานการเงินตามมาตรฐานการสอบบัญชี เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีของรัฐวิสาหกิจที่มีขึ้นในระยะหลัง รวมทั้งสอดคล้องกับพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12226