ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการวางแผนในอนาคต พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 December 2022 22:54
- Hits: 2600
ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการวางแผนในอนาคต พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการวางแผนในอนาคต พ.ศ. 2565 [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 ที่ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) จัดเก็บข้อมูลและสถิติตัวเลข รวมทั้งสำรวจและสอบถามประชาชนเกี่ยวกับนโยบายหลักๆ ของรัฐบาลแล้วรายงานคณะรัฐมนตรีทราบ] ทั้งนี้ ดศ. โดย สสช. ได้ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการวางแผนในอนาคต พ.ศ. 2565 เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน นำข้อมูลไปใช้ในการติดตามประเมินผล และวางแผนกำหนดยโยบาย/มาตรการในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการจัดการตนเอง และการเตรียมความพร้อมของประชาชน ทั้งในมิติสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสภาพแวดล้อม ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยจัดเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 46,600 ราย ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน- 12 กรกฎาคม 2565 สาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. สรุปผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการวางแผนในอนาคต พ.ศ. 2565
ประเด็น |
สรุปผลสำรวจ |
|
(1) การวางแผน |
ประชาชนร้อยละ 73.2 มีวิธีการวางแผน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ฝากธนาคาร/สถาบันการเงินอื่น (2) เก็บเป็นเงินสด และ (3) เป็นสมาชิกฌาปนกิจสงเคราะห์ต่างๆ ขณะที่ร้อยละ 26.8 ระบุว่าไม่มีการวางแผนด้านการเงิน เนื่องจากไม่มีเงินเพียงพอ ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-59 ปี ระบุว่ามีการวางแผนด้านการเงินในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุ 18-19 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีรายได้สูงจะมีการวางแผนด้านการเงินมากกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย |
|
(2) การวางแผนด้านการทำงาน/อาชีพ |
ประชาชนร้อยละ 74 มีวิธีการวางแผน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ทำงานหรือประกอบอาชีพเดิมต่อไป เนื่องจากมีความมั่นคงสูง (2) หาแหล่งรายได้เสริม เช่น ทำงานล่วงเวลา และทำอาชีพเสริม และ (3) ประกอบธุรกิจส่วนตัว ขณะที่ร้อยละ 26 ระบุว่าไม่มีการวางแผนด้านการทำงาน/อาชีพ เนื่องจากไม่มีความรู้ในการวางแผน ทั้งนี้ พบว่า ผู้ที่มีอายุระหว่าง 20-59 ปี ระบุว่ามีการวางแผนด้านการทำงาน/อาชีพในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุ 18-19 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาชีพ เช่น ข้าราชการ ค้าขาย ประกอบธุรกิจส่วนตัว พนักงาน และลูกจ้างเอกชน มีการวางแผนด้านการทำงาน/อาชีพมากกว่าผู้ที่ว่างงาน/ไม่มีงานทำ นักเรียน/นักศึกษา และอาชีพอื่นๆ เช่น พ่อบ้าน และแม่บ้าน |
|
(3) การวางแผนชีวิตครอบครัว |
ประชาชนร้อยละ 72.7 มีวิธีการวางแผน 3 อันดับแรก ดังนี้ (1) สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ครอบครัว (2) ศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น และ/หรือวางแผนการศึกษาให้บุตรและคนในครอบครัว และ (3) ทำประกันชีวิต ขณะที่ร้อยละ 27.3 ระบุว่าไม่มีการวางเผนชีวิตครอบครัว เนื่องจากคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว/เป็นเรื่องของอนาคต |
|
(4) การดูแลสุขภาพตนเอง |
ประชาชนร้อยละ 89.5 มีวิธีการดูแลสุขภาพตนเอง 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ (2) ออกกำลังกายเป็นประจำ สม่ำเสมอ และ (3) เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น มังสวิรัติ วิตามิน และคอลลาเจน ขณะที่ร้อยละ 10.5 ระบุว่าไม่มีการดูแลสุขภาพตนเอง เนื่องจากคิดว่าร่างกายแข็งแรง ไม่จำเป็นต้องดูแลสุขภาพ และไม่มีเวลา เช่น ต้องทำงานหนัก และมีภาระต้องรับผิดชอบมาก ทั้งนี้ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการดูแลสุขภาพในสัดส่วนที่ สูงกว่าผู้ที่มีอายุน้อยกว่า เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีรายได้สูงมีการดูแลสุขภาพมากกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย |
|
(5) การวางแผนเพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดี |
ประชาชนร้อยละ 76.5 มีวิธีการวางแผน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ปรับปรุงที่อยู่อาศัย เช่น ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างความร่มรื่น (2) เลือกที่อยู่อาศัยที่ไม่แออัด และ (3) เลือกที่อยู่อาศัยที่สะดวกต่อการเดินทาง ขณะที่ร้อยละ 23.5 ระบุว่าไม่มีการวางแผนเพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดี เนื่องจากคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว/เป็นเรื่องของอนาคต ทั้งนี้ พบว่า ผู้ที่มีอายุ 20-59 ปี มีการวางแผนเพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีในสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ที่มีอายุ 18-19 ปี และอายุ 60 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกันกับผู้ที่มีรายได้สูงมีการวางแผนเพื่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีในสัดส่วนที่ สูงกว่าผู้ที่มีรายได้น้อย |
|
(6) ความพึงพอใจต่อสภาพความเป็นอยู่ในชุมชน/หมู่บ้าน |
ประชาชนมีความพึงพอใจมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ระบบสาธารณูปโภค เช่น น้ำดื่ม ไฟฟ้า และอาหาร (ร้อยละ 76) (2) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (ร้อยละ 72.9 และ (3) ความช่วยเหลือจากคนในสังคม เช่น เพื่อนบ้าน และคนในชุมชน/หมู่บ้าน (ร้อยละ 61.1) |
|
(7) เรื่องที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ |
ประชาชนต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) ควรลดค่าครองชีพ (ร้อยละ 65.5) (2) ควรส่งเสริมให้ประชาชนมีอาชีพเสริม (ร้อยละ 54.7) และ (3) ควรจัดหาอาชีพสำหรับผู้ด้อยโอกาส/ผู้สูงอายุ (ร้อยละ 48.3) |
2. ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จากผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการวางแผนในอนาคต พ.ศ. 2565 มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ดังนี้
2.1 ควรให้ความช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับประชาชนอย่างเร่งด่วน เช่น การลดค่าครองชีพ การสร้างอาชีพเสริมให้ประชาชน และจัดหาแหล่งเงินทุน/เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้
2.2 ควรส่งเสริมให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนในอนาคตด้านต่างๆ เช่น ด้านการเงิน และด้านการทำงาน/อาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุน้อย กลุ่มนักเรียน/นักศึกษาและกลุ่มที่มีรายได้น้อย เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ สามารถนำมาใช้ในการวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
2.3 ควรส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นของประชาชนเพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประชาชนในการมีรายได้จากการประกอบอาชีพ รวมทั้งการรู้จักวางแผนการออม
2.4 ควรส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้คนใน ชุมชน/หมู่บ้าน เช่น เพิ่มสถานที่จำหน่ายสินค้าของคนในชุมชน/หมู่บ้าน และส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชนอย่างยั่งยืนและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
2.5 ควรเพิ่มช่องทางการสื่อสารในการแจ้งข่าวสารต่างๆ ทั้งข่าวสารทั่วไป ข่าวการบริการของภาครัฐ และข่าวการเตือนภัยต่างๆ รวมทั้งสถานการณ์ฉุกเฉินอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบข่าวสารอย่างรวดเร็วทั่วถึง และเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12224