การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 December 2022 22:50
- Hits: 2297
การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (คณะกรรมการนโยบายฯ) เสนอการกำหนดให้จังหวัดสุโขทัย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดกระบี่ จังหวัดตราด และจังหวัดสระแก้ว เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา*
สาระสำคัญ
คณะกรรมการนโยบายฯ รายงานว่า
1. พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 6 บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการนโยบายฯ มีอำนาจกำหนดให้จังหวัดใดเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งก่อนที่พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 จะประกาศใช้ ในปี พ.ศ. 2561 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 12 แห่งพระราฃบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ได้มีประกาศ ศธ. เรื่อง การจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ใน 6 พื้นที่ 8 จังหวัด ประกอบด้วย พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล จังหวัดระยอง จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดเชียงใหม่ และสามจังหวัดชายแดนใต้ (จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส) รวม 491 โรงเรียน เพื่อให้เกิดรูปแบบการบริหารจัดการการศึกษารูปแบบใหม่โดยมีการบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในรูปแบบของคณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจ อาทิ กำหนดยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน การพัฒนากลไกภาคีเครือข่ายการจัดการศึกษา การปรับใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ส่งเสริมพัฒนาศักยภาพครู ออกแบบการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของผู้เรียน ส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาของสถานศึกษานำร่องซึ่งภายหลังที่พระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 ได้มีผลบังคับใช้ สถานศึกษานำร่องสามารถจัดการศึกษาได้อย่างอิสระและคล่องตัวมากขึ้น เช่น การเลือกใช้หลักสูตร การเลือกใช้สื่อการเรียนการสอน การวัดและประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา เป็นต้น โดยที่ผ่านมามีผลการดำเนินงาน เช่น (1) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล มีการคิดค้นพัฒนานวัตกรรมโครงงานบนฐานวิจัย 14 ขั้นตอน ช่วยให้เด็กมีความสามารถด้านการคิด การสื่อสาร และนำความรู้ไปถ่ายทอดให้ชุมชนได้ (2) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง มีการจัดตั้งสถาบันการเรียนนรู้ของคนทุกวัยจังหวัดระยอง (Rayong Inclusive Learning Acadamy : RILA) เพื่อเป็นกลไกการบริหารจัดการเพื่อการขับเคลื่อนระบบนิเวศการเรียนรู้ระดับเมือง (3) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา มีต้นทุนที่สำคัญของการขับเคลื่อน คือ มีกลไกเชิงพื้นที่ในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา (4) พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดนราธิวาส จัดการศึกษาเพื่อความรักและสันติสุข บทความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่กลมกลืน เป็นต้น
2. ต่อมาคณะกรรมการนโยบายฯ ได้มีประกาศคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการพิจารณาความพร้อมของจังหวัด จำนวนและคุณสมบัติของคณะผู้เสนอ หลักเกณฑ์และวิธีการเสนอจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2564 ประกาศ ณ วันที่ 10 กันยายน 2564 และในการประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ [รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เป็นประธาน] ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 และครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการนโยบายฯ ได้มีมติเห็นชอบให้จังหวัดสุโขทัย จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดกระบี่ จังหวัดตราด และจังหวัดสระแก้ว เป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ด้วยเหตุผล ดังนี้
2.1 จังหวัดสุโขทัย มีการดำเนินโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยมุ่งเน้นไปที่เด็กด้อยโอกาส และมีความพร้อมทำงานร่วมกับภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐอื่น รวมทั้งภาคีเครือข่ายที่พร้อมช่วยเหลือสนับสนุนการศึกษาในจังหวัด จึงมีความพร้อมและมีศักยภาพให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานในจังหวัดเป็นสถานศึกษานำร่องทั้งจังหวัด
2.2 จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ในพื้นที่สูงและพื้นที่ติดชายแดนและมีเด็กด้อยโอกาสจำนวนมาก มีผู้เรียนและประชาชนหลากหลายชาติพันธุ์ ขาดแคลนครูทำให้การเรียนรู้ของนักเรียนขาดความต่อเนื่อง จังหวัดจึงได้จัดตั้งองค์กรต่างๆ เพื่อพัฒนาการศึกษาของจังหวัด โดยให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และการรวมกลุ่มเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา และจะใช้ประโยชน์จากการศึกษาในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูและผู้บริหารสถานศึกษา
2.3 จังหวัดกระบี่ มีบุคลากรทางการศึกษาที่มีความเข้าใจบริบทของพื้นที่และมีศักยภาพในการสนับสนุนการปฏิรูปการศึกษา โดยให้ความสำคัญกับการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ความเสมอภาคด้านการศึกษา รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจตนเอง และเลือกเส้นทางในการศึกษาต่อตามความถนัดและความสนใจ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในพื้นที่
2.4 จังหวัดตราด มีผู้นำการศึกษาที่มีศักยภาพ มีสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพด้านจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ รวมทั้งได้ร่วมขับเคลื่อนการศึกษาโดยร่วมมือกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาและมีการประสานความร่วมมือระหว่างคนในพื้นที่เป็นอย่างดี
2.5 จังหวัดสระแก้ว เป็นพื้นที่ติดชายแดน ขาดการบูรณาการในด้านการศึกษา เด็กส่วนใหญ่ยากจนและด้อยโอกาส เด็กและเยาวชนของจังหวัดมีผลการทดสอบทางการศึกษาทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่ำกว่าระดับประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงต้องส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกระบวนการเรียนรู้เชิงรุกและสร้างความร่วมมือด้านการศึกษา รวมทั้งให้ความสำคัญกับการพัฒนาหลักสูตรของสถานศึกษา พัฒนาคุณภาพผู้เรียนทั้งด้านวิชาการ ทักษะชีวิต และทักษะอาชีพ เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในพื้นที่
3. ประมาณการค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการจัดตั้งพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา 5 จังหวัด ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 – 2569 รวมทั้งสิ้นจำนวน 68,700,000 บาท โดย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะขอรับการจัดสรรงบประมาณตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
_________________________
*พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา คือ พื้นที่การปฏิรูปการบริหารและการจัดการการศึกษาเพื่อสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมการศึกษาซึ่งเป็นพื้นที่ระดับจังหวัดที่สถานศึกษานำร่องสามารถจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ โดยสามารถมีการบริหารจัดการที่ยืดหยุ่นคล่องตัว ไม่ต้องอิงกับกฎระเบียบที่ ไม่จำเป็นหรือไม่เอื้อจากส่วนกลาง มีกลไกการจัดการศึกษาระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12223