สรุปผลการประชุมสหประชาชาติด้านมหาสมุทร ค.ศ. 2022 (2022 United Nations Ocean Conference)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 December 2022 20:53
- Hits: 2173
สรุปผลการประชุมสหประชาชาติด้านมหาสมุทร ค.ศ. 2022 (2022 United Nations Ocean Conference)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ สรุปผลการประชุมสหประชาชาติด้านมหาสมุทร ค.ศ. 2022 (2022 United Nations Ocean Conference) ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน - 1 กรกฏาคม 2565 ณ กรุงลิสบอน สาธารณรัฐโปรตุเกส โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมฯ [คณะรัฐมนตรีมีมติ (21 มิถุนายน 2565) เห็นชอบท่าทีไทยสำหรับการประชุมฯ ซึ่งประกอบด้วย ร่างปฏิญญาทางการเมือง (Our Ocean, Our Future, Our Responsibility) และร่างเนื้อหาคำมั่นโดยสมัครใจที่ประเทศไทยจะประกาศในประเด็นการสนับสนุนข้อมูล ด้านการติดตามและวิจัยภาวะการเป็นกรดในมหาสมุทร1] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. รัฐภาคีสมาชิก ได้มีมติให้ความเห็นชอบปฏิญญาทางการเมืองเพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนกับประชาคมโลก โดยเรียกร้องให้รัฐสมาชิกร่วมเร่งรัดดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 142 โดยการให้ความรู้ในการจัดการมหาสมุทรแบบบูรณาการฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรสัตว์น้ำให้อยู่ในระดับที่ผลิตได้ ขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน ป้องกันและควบคุมมลภาวะทางทะเลทุกประเภท รวมถึงการแก้ไขปัญหาขยะทะเล การวางแผนการใช้เครื่องมือในการจัดการเชิงพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ การบรรเทาและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้จะร่วมกันดำเนินการโดยตระหนักถึงกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กและประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดซึ่งเผชิญกับความท้าทายด้านขีดความสามารถที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ได้แก่ การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการสำรวจและรวบรวมข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในทุกระดับ การแสดงบทบาทของชนพื้นเมือง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและสร้างพันธมิตรที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมมาตรการทางการเงินเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานไปสู่เศรษฐกิจภาคมหาสมุทรที่ยั่งยืน การสนับสนุนให้ผู้หญิงรวมถึงเด็กและเยาวชนมีความเท่าเทียมและมีความรู้ทักษะที่เกี่ยวข้องสร้างความเชื่อมโยงด้านวิทยาศาสตร์และนโยบายสำหรับการขับเคลื่อน การดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 14 และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเต็มคณะ โดยเน้นย้ำความสำคัญในการเร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 14 แสดงความมุ่งมั่นของไทยในการใช้แนวทางของโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG) เพื่อเร่งขับเคลื่อนการจัดการปัญหาหลักด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและมลภาวะ รวมถึงเรียกร้องให้สนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และเทคโนโลยี รวมทั้งการสนับสนุนทางการเงินและความร่วมมือในทุกระดับ และแสดงความพร้อมของไทยในการเป็นที่ตั้งสำนักงานประสานงานทศวรรษแห่งมหาสมุทรเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานในภูมิภาคภายใต้ทศวรรษแห่งสหประชาชาติด้านมหาสมุทรเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ถ้อยแถลงดังกล่าวครอบคลุมถึงความมุ่งมั่นโดยสมัครใจของไทยที่จะสนับสนุนข้อมูลด้านการติดตามและวิจัยภาวะความเป็นกรดในมหาสมุทรเพื่อยืนยันเจตจำนงในการอนุวัติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 14 เป้าหมายย่อยที่ 14.3 และ 14.a3
3. ไทยได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม Interactive Dialogue และกิจกรรมคู่ขนาน เพื่อนำเสนอแนวคิดและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่จะได้นำมาพัฒนาและใช้ประโยชน์ในการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของประเทศ รวมถึงการยกระดับการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 14 ต่อไป
4. ประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้
1) การแสดงท่าทีและจุดยืนของไทยที่ชัดเจนต่อที่ประชุม ในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 14 และการแสดงถึงความร่วมมือ ช่วยเหลือ และสนับสนุนการดำเนินงาน รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ระหว่างประเทศ
2) การเจรจาเพื่อพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยมีหลายประเทศที่แสดงเจตจำนงในความร่วมมือกับไทย เช่น ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผลดีต่อไทยในการพัฒนาและยกระดับการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
3) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทั้งในเชิงวิชาการ เชิงปฏิบัติการ และการสร้างเครือข่าย การดำเนินงานภายใต้การเข้าร่วมประชุม Interactive Dialogue และการประชุมคู่ขนาน ซึ่งไทยจะได้นำมาพัฒนาต่อยอดการดำเนินงานให้สามารถบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 14 รวมถึงแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งของไทยสำหรับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ได้อย่างเต็มศักยภาพยิ่งขึ้น
5. ทส. โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะหน่วยประสานงานกลาง การขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 14 จะนำผลการประชุมไปปฏิบัติและติดตามความคืบหน้าผ่านกลไกคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 14 อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
____________________________
1ภาวะความเป็นกรดในมหาสมุทร เกิดจากการที่มหาสมุทรดูดซึมคาร์บอนไดออกไซด์จากอากาศทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีจนน้ำทะเลมีค่า pH ต่ำลง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล รวมทั้งสมดุลของธรรมชาติและห่วงโซ่อาหาร
2เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 14 (SDG 14) : อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มีเป้าประสงค์ครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับทะเลและมหาสมุทร ทั้งด้านมลพิษ การบริหารจัดการและอนุรักษ์ทรัพยากรประมง ความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรประมงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
3เป้าหมายย่อยที่ 14.3 : ลดและแก้ปัญหาผลกระทบของการเป็นกรดในมหาสมุทร ผ่านทางการเพิ่มพูนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ในทุกระดับ และเป้าหมายย่อยที่ 14.a : เพิ่มพูน พัฒนาขีดความสามารถและถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านการวิจัยทางทะเล
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12208