ผลการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 28
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 December 2022 20:50
- Hits: 2165
ผลการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 28
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เสนอผลการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 281 เมื่อวันที่ 9 - 10 กันยายน 2565 ณ จังหวัดภูเก็ต และผ่านระบบการประชุมทางไกล [คณะรัฐมนตรีมีมติ (6 กันยายน 2565) เห็นชอบในหลักการต่อเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ และมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย (1) รับรองแถลงการณ์ร่วมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 28 หรือ (2) ออกประกาศแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปคในกรณีที่เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคไม่สามารถเห็นชอบเพื่อรับรองแถลงการณ์ร่วมฯ หรือ (3) รับรองแถลงการณ์ร่วมฯ พร้อมทั้งออกประกาศแถลงการณ์ประธานฯ ในกรณีที่มีประเด็นอ่อนไหวหรือประเด็นที่ยังไม่มีฉันทามติจากทุกสมาชิกเอเปค] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. สสว. เป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมฯ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ฯ) ประธานการประชุม มีผู้เข้าร่วมจากเขตเศรษฐกิจ 20 ประเทศ ซึ่งมีเขตเศรษฐกิจเข้าร่วมการประชุม ณ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย จำนวน 16 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ เครือรัฐออสเตรเลีย เนการาบรูไนดารุสซาลาม แคนาดา สาธารณรัฐชิลี สาธารณรัฐจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สหพันธรัฐมาเลเซีย นิวซีแลนด์ สาธารณรัฐฟิลิปนส์ สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐสิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และประเทศไทย และเข้าร่วมประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล อีก 4 เขตเศรษฐกิจ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธรัฐรัสเซีย สหรัฐเม็กซิโก และสาธารณรัฐเปรู โดยที่ประชุมมีการหารือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นต่างๆ ดังนี้
ประเทศ |
สาระสำคัญ/ผลการประชุม |
(1) การประยุกต์ใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) |
|
ญี่ปุ่น |
ส่งเสริมให้เกิด “ตลาดสินค้าสีเขียว” โดยส่งเสริมให้สินค้าติดฉลากการปล่อย ก๊าซคาร์บอนและสินค้าสีเขียวเข้าสู่การจัดซื้อจัดจ้างทั้งภาครัฐและเอกชน และเสนอให้ภูมิภาคเอเปคสร้างและพัฒนาตลาด “สินค้าสีเขียว” ให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) |
สิงคโปร์ |
ส่งเสริมการผลิตปุ๋ยจากบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วและเศษอาหารให้เป็นธุรกิจ Startup สำหรับ SMEs และพัฒนาการรับรองมาตรฐานสินค้าสีเขียวให้แก่ SMEs เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น |
(2) การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างครอบคลุม |
|
รัสเซีย |
พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ โดยสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทางธุรกิจของผู้ประกอบการเพื่อให้ธนาคารเครือข่ายใช้เป็นข้อมูลปล่อยกู้ และแบบรายการยื่นภาษีอัตโนมัติ และสามารถส่งเอกสารขอยื่นกู้ธนาคารไปยังธนาคารเครือข่ายได้ |
เวียดนาม |
เวียดนามจะต้องมีผู้ประกอบการ 100,000 ราย ที่ได้รับการอบรมและเข้าถึงบริการด้านการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล รวมทั้งพัฒนาหน่วยบริการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัล ครบ 100 หน่วยงาน ภายในปี 2025 |
อินโดนีเซีย |
มีแผนดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้ SMEs เปลี่ยนผ่านสู่การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยผู้ประกอบการจะต้องได้รับการเปลี่ยนผ่านอย่างน้อย 30 ล้านราย ภายในปี 2024 |
เกาหลีใต้ |
แนะนำนโยบายนำร่องเพื่อช่วยเหลือด้านดิจิทัลให้แก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises: MSMEs) ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดย MSMEs สามารถเข้าถึงบริการและอุปกรณ์ดิจิทัลได้มากขึ้นและสามารถดำเนินธุรกิจดิจิทัลได้อย่างรวดเร็ว |
(3) การรับมือกับตลาดที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป |
|
สหรัฐอเมริกา |
มุ่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าสู่การค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนโดยเฉพาะผู้ประกอบการสตรี โดยมีหลักสูตรการประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการและการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการสตรีเป็นการเฉพาะ รวมทั้งจัดให้มีการเข้าถึงแพลตฟอร์มในการโอนเงิน |
(4) การจัดหาเงินทุนและการปรับโครงสร้างหนี้ |
|
แคนาดา |
จัดให้มีสินเชื่อโดยไม่หวังกำไรและกองทุนร่วมลงทุนให้ผู้ประกอบการสตรี |
จีน |
มีการค้ำประกันสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนธุรกิจ |
(5) ประเด็นอื่นๆ เช่น |
|
มาเลเซีย |
จัดกิจกรรม SME National Champion โดยคัดเลือกจากธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตทางรายได้สูง และรัฐบาลจะให้การสนับสนุนใน 3 มิติ คือ การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีสู่ 4.0 การปฏิรูปองค์การให้มีสมรรถะสูง และการพัฒนากลยุทธ์การตลาดสู่สากล |
จีน |
ยกเลิกกฎ ระเบียบใบอนุญาตที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจของ SMEs มากกว่า 1,000 รายการ |
2. ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับหน่วยงานต่างๆ
1) ทุกเขตเศรษฐกิจให้ความสำคัญกับการส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการตลาด โดยสหรัฐอเมริกาและองค์การสหประชาชาติได้ผลักดันให้มีข้อบทด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีโดยเฉพาะ ดังนั้น หน่วยงานของไทยจึงควรมีการพัฒนาฐานข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลผู้ประกอบการสตรีเพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบายในการส่งเสริมผู้ประกอบการสตรีต่อไป
2) ที่ประชุมเน้นย้ำการส่งเสริมการประยุกต์ใช้แนวทางการพัฒนาตาม BCG Model ซึ่งจะช่วยสร้างธุรกิจ Startup ใหม่ในสาขาบริการ และหน่วยงานภาครัฐควรเร่งให้ความช่วยเหลือ MSMEs ในการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่สอดรับกับ BCG Model รวมทั้งแบ่งปันแนวทางและเครื่องมือนโยบาย เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจให้แก่ MSMEs
3) ควรจัดทำแพลตฟอร์มกลางเพื่อให้บริการที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม MSMEs ที่มีทักษะ ในด้านดิจิทัล ซึ่งจะช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้ตอบสนองต่อความต้องการที่เป็นปัจจุบันได้มากขึ้น และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
4) MSMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ยากเนื่องจากมีขนาดเล็ก ผลิตภัณฑ์ และบริการ ไม่หลากหลาย และอาจมีโครงสร้างทางการเงินที่อ่อนแอ ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ จึงสนับสนุนให้มีมาตรการในการแก้ปัญหาที่เกิดจากข้อจำกัดของการปล่อยกู้เพื่อให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้
3. สหรัฐอเมริกาจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 29 ในปี 2566
____________________
1จากการประสานข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 สสว. แจ้งว่า ที่ประชุมฯ ได้ออกแถลงการณ์ประธานรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค เนื่องจากเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคไม่สามารถเห็นชอบร่วมกันในประเด็นสถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคเอเปค
2สินค้าสีเขียว หมายถึง สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลกหรือลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน เช่น ถุงผ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12207