ผลการดำเนินความร่วมมือด้านความมั่นคงกับมิตรประเทศของกระทรวงกลาโหม
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 06 December 2022 20:31
- Hits: 1549
ผลการดำเนินความร่วมมือด้านความมั่นคงกับมิตรประเทศของกระทรวงกลาโหม
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการดำเนินความร่วมมือด้านความมั่นคงกับมิตรประเทศของกระทรวงกลาโหมตามที่กระทรวงกลาโหม (กห.) เสนอ
สาระสำคัญ
กระทรวงกลาโหม ขอรายงานผลการดำเนินความร่วมมือด้านความมั่นคงกับมิตรประเทศของกระทรวงกลาโหม ประกอบด้วย การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Defence Ministers’ Meeting Retreat: ADMM Retreat) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 9 (9th ASEAN Defence Ministers’ Meeting Plus: 9th ADMM-Plus) รวมทั้งการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองเสียมราฐ ซึ่งราชอกณาจักรกัมพูชา เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ตลอดจนการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) ไทย - กัมพูชา ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงเทพฯ โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มอบหมายให้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุม ADMM Retreat และการประชุม 9th ADMM –Plus รวมทั้งการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 22 ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองเสียมราฐ ราชอาณาจักรกัมพูชา และเป็นผู้แทนทำหน้าที่ประธานร่วมกับ สมเด็จพิชัยเสนา เตีย บันห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมราชอาณาจักรกัมพูชา ในการประชุม GBC ไทย - กัมพูชา ครั้งที่ 15 ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ณ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล อะลักซ์ชัวรี คอลเลคชั่น กรุงเทพฯ
1. การประชุม ADMM Retreat
1.1 รัฐมนตรีกลาโหมประเทศสมาชิกอาเซียน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองด้านความมั่นคง โดยยืนยันความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ และขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคง ให้เกิดความต่อเนื่อง สอดคล้องกับพลวัตของสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงของภูมิภาค และมีความเป็นรูปธรรม รวมทั้งให้ความสำคัญกับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และความเป็นแกนกลางของอาเซียน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงภัยคุกคามแบบดั้งเดิมที่ยังคงมีอยู่ ผลักดันความร่วมมือในกรอบ ADMM ภายใต้บทบาทนำของกระทรวงกลาโหม รวมทั้งกล่าวชื่นชมข้อริเริ่มให้มีการจัดทำยุทธศาสตร์ เพื่อกำหนดทิศทางของ ADMM ในอนาคต โดยได้เสนอให้จัดระเบียบความร่วมมือเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรทางทหารอย่างคุ้มค่า การขยายบทบาทของฝ่ายทหารอาเซียนในการร่วมกันรับมือกับภัยคุกคามข้ามแดน และการมีปฏิสัมพันธ์กับทุกฝ่ายอย่างครอบคลุมและสมดุล
1.2 ที่ประชุมฯ ยินดีที่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้มีฉันทามติเห็นชอบการเป็นผู้สังเกตการณ์ในกิจกรรมของคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในกรอบ ADMM-Plus (ADMM-Plus Experts’
Working Groups: ADMM-Plus EWGs) ของสหราชอาณาจักร แคนาดา และสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยให้เข้าร่วมกิจกรรม ADMM-Plus EWGs ในปี 66
2. การประชุม 9th ADMM-Plus
2.1 ที่ประชุมฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยมีประเด็นสำคัญ อาทิ การแข่งขันในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ การฟื้นฟูภายหลัง COVD-19 การจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรในภูมิภาค การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณทะเลจีนใต้ คาบสมุทรเกาหลี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และยูเครน ซึ่งที่ประชุมฯ เน้นย้ำบทบาทและความเป็นแกนกลางของอาเซียน ในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความมั่นคงในภูมิภาคที่เป็นรูปธรรมผ่านคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญทั้ง 7 ด้าน ที่เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับอาเซียน ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวชื่นชมกลไก ADMM-Plus ในการสร้างความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือและพันธมิตร พัฒนาขีดความสามารถร่วมกันภายใต้บริบทใหม่ของโลกที่ใช้เทคโนโลยีเป็นพื้นฐาน เพื่อการดำรงอยู่ในสภาวะแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลง เกิดผลประโยชน์ร่วมกันอย่างสมดุล มุ่งมั่นการแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี รวมทั้งให้ความสำคัญกับใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเกิดประโยชน์สูงสุด
2.2 รัฐมนตรีกลาโหมประเทศสมาชิก ADMM-Plus ได้ให้การรับรองปฏิญญาร่วมของการประชุม 9th ADMM-Plus เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการสร้างความเข้มแข็งให้กับอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมความเชื่อมั่นระดับยุทธศาสตร์ และความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม เพื่อความพร้อมรับมือกับพลวัตด้านความมั่นคงที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
2.3 การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน +1 อย่างไม่เป็นทางการ โดยมีการหารือกับสหรัฐอเมริกา และสาธารณรัฐอินเดีย ซึ่งเป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกัน โดยประเทศคู่เจรจาทั้งสองประเทศ ได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความร่วมมือ บนพื้นฐานของการความเป็นแกนกลางของอาเซียน และพร้อมให้การสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถให้กับอาเซียน
2.4 การหารือทวิภาคีร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเครือรัฐออสเตรเลีย โดยทั้งสองประเทศได้ยืนยันความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์กับเครือรัฐออสเตรเลีย ผ่านการเสริมสร้างความร่วมมือทางทหารที่สร้างสรรค์ในทุกระดับ
2.5 กระทรวงกลาโหมราชอาณาจักรกัมพูชา ได้ส่งมอบตำแหน่งประธานการประชุม ADMM ในปี พ.ศ. 2566 ให้กับกระทรวงกลาโหมสาธารณรัฐอินโดนีเซีย โดยรัฐมนตรีกลาโหมสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้แสดงเจตนารมณ์ในการเสริมสร้างเพื่อมุ่งเน้นให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตนำไปสู่เสรีภาพ ความเจริญรุ่งเรือง และความมั่นคงของภูมิภาค (Peace, Prosperity and Security)
3. การประชุม GBC ไทย - กัมพูชา ครั้งที่ 15
3.1 การหารือก่อนการประชุมของประธานร่วม โดยมีประเด็นที่กระทรวงกลาโหมผลักดัน ได้แก่ 1) การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด 2) การจัดตั้งกลไกการทำงานร่วมกันในระดับต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างทั้งสองกองทัพ และ 3) การจัดตั้งคณะทำงานร่วม เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน
3.2 การประชุม GBC ไทย - กัมพูชา ครั้งที่ 15
ที่ประชุมฯ ได้หารือและทบทวนผลการปฏิบัติตามบันทึกการประชุมฯ ครั้งที่ 14 รวมทั้งหารือประเด็นสำคัญในการเสริมสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างทั้งสองกองทัพ โดยยินดีที่จะมีการประชุมระดับผู้บัญชาการทหารสูงสุดและการประชุมระหว่างกองบัญชาการป้องกันชายแดนจันทบุรี - ตราด กับภูมิภาคทหารที่ 5 ของราชอาณาจักรกัมพูชา เพื่อช่วยให้มีการหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางทหารในบริบทต่างๆ ได้มากขึ้น และสามารถการแก้ไขปัญหาตามชายแดนที่มีพื้นที่ติดต่อกันได้อย่างรวดเร็ว ขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาตามแนวชายแดนให้นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม รวมทั้งได้เห็นชอบให้ทั้งสองฝ่ายร่วมมือกัน ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติอย่างใกล้ชิด การประชุมและแลกเปลี่ยนการเยือนในทุกระดับ นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายยังเห็นชอบในการสนับสนุนความร่วมมือด้านการเก็บกู้ทุ่นระเบิดตามแนวชายแดน โดยจะมีการแลกเปลี่ยนกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือเก็บกู้ระหว่างทั้งสองประเทศในพื้นที่ที่ไม่มีปัญหาเรื่องเขตแดน ซึ่ง รองนายกรัฐมนตรี ขอบคุณราชอาณาจักรกัมพูชาที่สนับสนุนการดำเนินความร่วมมือในด้านความมั่นคงบริเวณแนวชายแดน ได้แก่ ความร่วมมือด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ความร่วมมือด้านการเปิดจุดผ่านแดนและการสัญจรข้ามแดน การผยแพร่หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านความมั่นคงของไทยกับหน่วยทหาร และตำรวจของกัมพูชาในพื้นที่ชายแดน เป็นต้น ทั้งนี้ภายหลังการประชุมฯ รองนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมกัมพูชา ได้ร่วมลงนามในบันทึกผลการประชุมฯ เพื่อให้หน่วยงานของทั้งสองประเทศดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
4. ประโยชน์ที่จะได้รับ
ผลการประชุม ADMM Retreat และการประชุม 9th ADMM-Plus รวมทั้งการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นการร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองด้านความมั่นคงของภูมิภาคเพื่อส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ แสวงหาความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน และรับทราบพัฒนาการการดำเนินงานภายใต้กรอบ ADMM และ ADMM-Plus รวมทั้งผลักดันประเด็นที่กระทรวงกลาโหมเป็นผู้ริเริ่ม ตลอดจนเสริมสร้างการปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา จึงนับว่าการประชุมฯ ดังกล่าวประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี นอกจากนี้ผลการประชุม GBC ไทย - กัมพูชา ครั้งที่ 15 เป็นการพัฒนาความสัมพันธ์และเสริมสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมและคลอบคลุมทุกมิติ ในการดำรงไว้ซึ่งเสถียรภาพและความสงบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ชายแดนไทยและกัมพูชา สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทกระทรวงกลาโหมในการเสริมสร้างความร่วมมือและพัฒนาสัมพันธ์อันดีกับมิตรประเทศ ให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงในอาเซียนและภูมิภาคต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 29 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A12201