ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ...
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 22 November 2022 23:17
- Hits: 1746
ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ...
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เสนอและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่ สคบ. เสนอ เป็นการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติหลักการ (มติคณะรัฐมนตรี 21 พฤศจิกายน 2560) เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยเป็นการกำหนดความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อความชำรุดบกพร่องของการขายหรือให้เช่าซื้อสินค้าบางประเภท ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล และสินค้าอื่นที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภคในกรณีที่สินค้าเกิดความชำรุดบกพร่องให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับสภาพปัญหาในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดย สคบ. ได้นำร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ไปดำเนินการตามแนวทางการจัดทำและการเสนอร่างกฎหมายตามบทบัญญัติมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมติคณะรัฐมนตรี (19 พฤศจิกายน 2562) เรื่อง การดำเนินการเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมกับการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบแล้ว
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดบทนิยามตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่
1.1 “ผู้ประกอบธุรกิจ” หมายความว่า
(1) ผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้ว่าจ้างให้ผลิตเพื่อขาย
(2) ผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย
(3) ผู้ขายหรือผู้ให้เช่าซื้อสินค้าที่ไม่สามารถระบุตัวผู้ผลิตผู้ว่าจ้างให้ผลิต หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้
1.2 “ผู้บริโภค” หมายความว่า ผู้ซื้อหรือผู้เช่าซื้อสินค้าจากผู้ประกอบธุรกิจอันมิใช่เพื่อการแสวงหาประโยชน์โดยตรงในทางการค้าหรือการประกอบธุรกิจ
2. กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับกับสัญญาซื้อขายหรือสัญญาเช่าซื้อระหว่างผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคในสินค้า ดังนี้
2.1 เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นเครื่องใช้หรืออุปกรณ์ที่ต้องอาศัยกระแสไฟฟ้าหรือสนามแม่เหล็กไฟฟ้าในการทำงาน
2.2 รถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
2.3 สินค้าอื่นที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
3. กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับกับกรณีดังต่อไปนี้
3.1 การขายหรือให้เช่าซื้อสินค้าใช้แล้ว
3.2 การขายหรือให้เช่าซื้อสินค้าตามสภาพ ซึ่งผู้ขายหรือผู้ให้เช่าซื้อระบุไว้โดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายหรือให้เช่าซื้อสินค้าตามสภาพ
3.3 การขายทอดตลาด
4. กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่
4.1 ประโยชน์ของสินค้าที่มุ่งหมายโดยสัญญา
4.2 ประโยชน์อันจะมุ่งใช้สินค้าเป็นปกติ
4.3 ประโยชน์อันจะมุ่งใช้สินค้าซึ่งผู้บริโภครู้จากข้อมูลของสินค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้แทนของผู้ประกอบธุรกิจได้เผยแพร่ให้สาธารณชนทราบ
ซึ่งมีอยู่ในเวลาส่งมอบและปรากฏขึ้นภายในสองปีนับแต่วันส่งมอบสินค้าไม่ว่าผู้ประกอบธุรกิจจะรู้ถึงความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือไม่ก็ตาม โดยในกรณีที่สินค้าชำรุดบกพร่องภายในหนึ่งปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าสินค้านั้นชำรุดบกพร่องในเวลาส่งมอบสินค้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจยังต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้ติดตั้งหรือประกอบสินค้านั้น หรือในกรณีที่ผู้บริโภคเป็นผู้ติดตั้งหรือประกอบสินค้าตามคู่มือที่ผู้ประกอบธุรกิจจัดให้แต่คู่มือนั้นกำหนดวิธีติดตั้งหรือประกอบสินค้าโดยไม่ถูกต้องหรือครบถ้วน
5. กำหนดข้อยกเว้นให้ผู้ประกอบธุรกิจไม่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องในกรณีดังต่อไปนี้
5.1 ผู้บริโภคได้รู้อยู่แล้วแต่ในเวลาซื้อขายว่าสินค้านั้นมีความชำรุดบกพร่อง
5.2 ผู้บริโภคได้ดัดแปลงสินค้าโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ประกอบธุรกิจอันเป็นเหตุให้ เกิดความชำรุดบกพร่องดังกล่าว
5.3 ผู้บริโภคไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่จำเป็นและสมควรเพื่อการบำรุงรักษาสินค้าที่ระบุในคู่มือการใช้งาน อันเป็นเหตุให้เกิดความชำรุดบกพร่องดังกล่าว
6. กำหนดสิทธิของผู้บริโภคต่อผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่อง ดังนี้
6.1 เรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจซ่อมแซมสินค้า
6.2 เรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจเปลี่ยนสินค้า
6.3 ขอลดราคาสินค้า
6.4 เลิกสัญญา
โดยการใช้สิทธิดังกล่าวไม่กระทบต่อสิทธิในการเรียกค่าเสียหายอื่นจากผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัตินี้ ยังกำหนดรายละเอียดและขั้นตอนการใช้สิทธิดังกล่าวไว้ด้วย
7. กำหนดให้ข้อตกลงที่ได้ตกลงไว้ล่วงหน้าก่อนที่ผู้บริโภคจะพบว่าสินค้านั้นชำรุดบกพร่อง ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติในร่างพระราชบัญญัตินี้และเป็นผลเสียหรือภาระแก่ผู้บริโภคให้ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ
8. กำหนดให้สิทธิของผู้บริโภคตามร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นอันขาดอายุความเมื่อพ้นสองปีนับแต่เวลาที่ผู้บริโภคได้พบเห็นความชำรุดบกพร่องของสินค้าหรือเมื่อผู้ประกอบธุรกิจได้ปฏิเสธที่จะดำเนินการตามที่ผู้บริโภคร้องขอ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ผู้ประกอบธุรกิจยอมรับที่จะซ่อมแซมหรือเปลี่ยนสินค้าให้อายุความสะดุดหยุดลง
9. กำหนดให้ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบต่อการที่ผู้บริโภคจะเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้าโดยอาศัยสิทธิตามกฎหมายอื่น
10. กำหนดให้สินค้าใดที่ได้ขายหรือให้เช่าซื้อแก่ผู้บริโภคก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ไม่อยู่ภายใต้บังคับของร่างพระราชบัญญัตินี้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11982