รายงานการดำเนินการตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 22 November 2022 23:00
- Hits: 1603
รายงานการดำเนินการตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ผลการดำเนินการประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และการคงสถานะ วช. เป็นส่วนราชการ เพื่อขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญตามแนวทางการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
อว. รายงานว่า
1. ปัจจุบัน วช. เป็นส่วนราชการภายใน อว. ตามมาตรา 8 (4) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 โดยเมื่อครบกำหนดสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (ครบกำหนดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565) ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูป การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม1 ประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการตามหน้าที่และอำนาจของ วช. และในกรณีที่เห็นว่า ผลการปฏิบัติราชการดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงโครงสร้างและกลไกในการบริหารเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้อย่าง มีประสิทธิภาพ ให้มีอำนาจเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้ง วช. เป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชนโดยเสนอพร้อมร่างพระราชกฤษฎีกาด้วย (ตามมาตรา 37)
2. คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2565 เห็นชอบผลการประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการตามหน้าที่และอำนาจของ วช. และข้อเสนอของคณะกรรมการกำกับ การประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการของ วช.2 พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ (สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) จัดทำแผนและระยะเวลาการปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรของ วช. ทั้งนี้ ได้เสนอผลการประเมินและข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
2.1 ผลการประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการของ วช.
ประเด็นการประเมิน |
ผลการประเมิน |
|
1. ประสิทธิภาพและประสิทธิผล(Efficiency & Effectiveness) ของการดำเนินงานตามภารกิจของ วช. |
● สามารถบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมได้ตามแผนที่กำหนดไว้ แม้จะมีปัญหาและอุปสรรคในส่วนงานที่ได้รับโอนมาจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยเดิม ● บุคลากรของ วช. มีงานที่รับผิดชอบจำนวนมาก (หลายกรณีรับผิดชอบโครงการมากกว่า 100 โครงการต่อคน) ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการดูแลคุณภาพการดำเนินงาน ● ด้านประสิทธิผลยังไม่สามารถเห็นได้ชัดเจนเนื่องจากเป็น การดำเนินงานภายใต้บทบาทใหม่ภายหลังจากการปฏิรูปเพียง 2-3 ปี ● สัดส่วนต้นทุนการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมเท่ากับร้อยละ 4.88-6.67 ของงบประมาณสนับสนุน |
|
2. การปรับเปลี่ยนองค์กร (Organization Transformation) |
● มีการปรับตัวอย่างมากทั้งด้านโครงสร้างและระเบียบขั้นตอน การดำเนินงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัวต่อกระบวนการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม ● ยังขาดความชัดเจนในเรื่องการปรับระบบบริหารและพัฒนาบุคลากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาศักยภาพด้าน Academic Leadership ในขณะที่ วช. มีบุคลากรหลายสถานะ (เช่น ข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างโครงการ) หลายช่วงวัย หลากหลายทัศนคติ แนวคิดและวัฒนธรรมการทำงาน ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายในการบริหารจัดการและการพัฒนาบทบาทขององค์กรและการพัฒนาบุคลากรในอนาคตที่รองรับกับภารกิจของ วช. |
|
3. การเรียนรู้ขององค์กร (Organization Learning) |
● วัฒนธรรมการทำงานในภาพรวมเป็นการสั่งการจากผู้บริหารค่อนข้างมากและขาดกระบวนการที่ชัดเจนในการแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อผู้บังคับบัญชาอย่างเป็นระบบ ● ผู้บริหารมีความเข้าใจนโยบายและตอบสนองต่อพลวัตของระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้เป็นอย่างดีแต่ในระดับบุคลากรยังมีความจำเป็นต้องทำความเข้าใจนโยบายและทิศทางการเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่ของระบบ รวมถึงช่องทางและโอกาสที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับบุคลากรของหน่วยงานระดับนโยบายและหน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาความเข้าใจในงานร่วมกัน |
|
4. การประสานและร่วมมือกับ หน่วยงานระดับต่างๆ (Coordination & Collaboration) |
● ผู้บริหารมีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานนโยบายและหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ● บุคลากรมีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานผู้ใช้ประโยชน์ ทั้งภาครัฐและภาคสังคม/ชุมชนได้เป็นอย่างดี แต่ยังมีความจำเป็นต้องพัฒนากลไก/วิธีการประสานความร่วมมือกับผู้ใช้ประโยชน์ภาคเอกชนและผู้ประกอบการเพิ่มมากขึ้น |
|
5. การสื่อสารไปสู่สังคม และสาธารณะ (Social & Public Communication) |
วช. มีความเข้มแข็งในส่วนนี้ จากการจัดกิจกรรมเชิดชูเกียรติบุคลากร องค์กร และการประกวดสิ่งประดิษฐ์และผลงานวิจัยที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และในอนาคตมีความจำเป็นต้องต่อยอดการสื่อสารสาธารณะเพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อความสำคัญและคุณค่าของการวิจัยที่มีต่ออนาคตการพัฒนาประเทศ |
|
6. การพัฒนาระบบข้อมูล และการเชื่อมโยงข้อมูล (Data Platform and Connecting) |
● มีการพัฒนาการเชื่อมโยงระบบข้อมูลโดยการวางผังสถาปัตยกรรมระบบข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมร่วมกับหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำแผนการพัฒนาระบบข้อมูลดังกล่าวซึ่งยังอยู่ระหว่างดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูล ● ยังพบปัญหาความเสถียรของระบบข้อมูลสำหรับผู้วิจัยและหน่วยงานวิจัย (National Research and Innovation Information System: NRIS) โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีผู้ใช้ระบบเป็นจำนวนมาก ● ระบบข้อมูลสำหรับการบริหารและจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมส่วนกลางยังไม่ตอบโจทย์ทั้งหน่วยงานผู้บริหารจัดการงานวิจัยและ การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เพื่อบริหารจัดการเชิงนโยบายอีกทั้งการนำข้อมูลไปใช้ยังไม่สามารถทำได้โดยอัตโนมัติตลอดทั้งกระบวนการ |
2.2 ข้อเสนอการปรับปรุงโครงสร้างและกลไกการบริหารเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจและขับเคลื่อนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ จากการประเมินและวิเคราะห์ใน 3 ส่วน คือ (1) การประเมินประสิทธิภาพและผลการดำเนินงานของ วช. ในสถานะส่วนราชการ (2) การประเมินจุดแข็ง จุดอ่อนและประเด็นแวดล้อมของ วช. ในการดำเนินภารกิจในสถานะปัจจุบัน (ผลการประเมินปรากฏตามข้อ 2.1) และ (3) การวิเคราะห์เพื่อกำหนดและออกแบบทางเลือกการปรับปรุงโครงสร้างและกลไกการบริหารเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจและขับเคลื่อนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการตั้งโจทย์ 3 โจทย์ ได้แก่ (1) สถานะองค์กรแบบใดที่ส่งเสริมการพัฒนา วช. ให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูง (2) การบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของ วช. ควรมีบทบาทการให้ทุนประเภทและรูปแบบใดบ้าง
และ (3) ขอบเขตภารกิจของ วช. ควรครอบคลุมมากกว่าการเป็นหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมหรือไม่ ได้นำไปสู่ข้อเสนอการเปลี่ยนสภาพ วช. ไปสู่การเป็นองค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 25423 เพื่อตอบโจทย์การขับเคลื่อนการปฏิรูปและการพัฒนาองค์กรไปสู่องค์กรสมรรถนะสูง โดยให้จัดทำแผนและระยะเวลาการปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรของ วช. รวมทั้งให้สำนักงาน ก.พ.ร. คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาองค์การมหาชน และ อว. หารือร่วมกันเพื่อดำเนินการในระยะต่อไป ทั้งนี้ ในส่วนของการกำหนดรูปแบบการบริหารและจัดการทุนควรมุ่งเน้นที่การวิจัยพื้นฐานเพื่อการสร้างองค์ความรู้ที่จะเป็นฐานในการพัฒนานวัตกรรมและการสร้างความเข้มแข็งของหน่วยวิจัยและนักวิจัย รวมทั้งควรมีส่วนงานหรือบุคคลที่ทำหน้าที่วางระบบการวิเคราะห์โจทย์และจัดทำ/พัฒนาแผนการวิจัยและนวัตกรรมซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่ดีของหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรม
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้พิจารณารายงานผลการประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการของ วช. ร่วมกับผลงานการปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงาน ส่วนราชการ องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ สถาบันอุดมศึกษาในกำกับและสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ในการประชุมคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2565 มีข้อพิจารณาว่าการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการจัดตั้ง อว. และ มีการจัดโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ของหน่วยงานครั้งใหญ่สามารถแสดงผลงานเชิงประจักษ์ได้ตามความคาดหวังของรัฐบาลและประชาชน รวมทั้งยังได้รับการยอมรับและชื่นชมจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ วช. ในสถานะส่วนราชการ ได้มีบทบาทและเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญตามแนวทาง การปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในภารกิจการเป็นกลไกขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและ อว. พร้อมการทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐในทุกรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์การประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการ ดังนั้น เพื่อให้ การปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นไปอย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์โดยรวมต่อประเทศ เห็นสมควรให้ วช. คงสถานะความเป็นส่วนราชการและเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีทราบผล การดำเนินการประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการของ วช. และทราบการคงสถานะ วช. เป็น ส่วนราชการ เพื่อขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญตามแนวทางการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อไป
–––––––––––––––––––––
1แต่งตั้งตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 209/2562 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2562 โดยมีรองศาสตราจารย์ศักรินทร์ ภูมิรัตน เป็นประธานฯ มีหน้าที่และอำนาจตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ อว.ฯ เช่น จัดทำแนวทางการพัฒนาระบบ กลไก การบูรณาการการทำงานและวิธีการปฏิบัติราชการ การจัดโครงสร้างและอัตรากำลังของหน่วยงานในบังคับบัญชาและในกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมให้แล้วเสร็จภายในสามปี เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ และคณะรัฐมนตรี
2แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม คำสั่ง อว. ที่ 120/166685 ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2563 โดยมีศาสตราจารย์กิตติคุณ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน มีหน้าที่และอำนาจ เช่น (1) เสนอแนะเกณฑ์และแนวทางการประเมินประสิทธิภาพและผลการปฏิบัติราชการของ วช. ต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ (2) เสนอแนะการพัฒนาหรือปรับปรุงโครงสร้างและกลไกการบริหารของ วช. ให้สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ และ (3) รายงานผลการปฏิบัติงานต่อคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ เพื่อเสนอให้ อว. นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
3เนื่องจากพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการ อว.ฯ มาตรา 37 บัญญัติให้การปรับรูปแบบองค์กรของ วช. เป็นองค์การมหาชนตามกฎหมายว่าด้วยองค์การมหาชน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11979