รายงานความคืบหน้าการดำเนินการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG และการขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 22 November 2022 22:54
- Hits: 1585
รายงานความคืบหน้าการดำเนินการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG และการขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ดังนี้
1. ความคืบหน้าการดำเนินการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG
2. การขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG จากระยะเวลา 3 เดือน (1 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2565) เป็นระยะเวลา 9 เดือน (1 กรกฎาคม 2565 - 31 มีนาคม 2566)
สาระสำคัญของเรื่อง
อว. รายงานว่า
1. โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG เป็นการต่อยอดการดำเนินการจาก “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ” (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย)1 โดยจะใช้ข้อมูลจาก Thailand Community Big Data (TCD)2 ที่ได้ดำเนินการมาใช้ในการบ่งบอกถึงศักยภาพและความพร้อมของทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของพื้นที่ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนารายพื้นที่ ด้วยยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ BCG รวมถึงการเพิ่มและรักษาระดับการจ้างงานบัณฑิตและประชาชนในพื้นที่ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1.1 วัตถุประสงค์ : (1) เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาค การผลิตและบริการด้าน BCG ในพื้นที่ ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (2) เพิ่มการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่ (3) พัฒนากำลังคนให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการทำงานในปัจจุบันและทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG และ (4) พัฒนาฐานข้อมูล TCD ให้มีความสมบูรณ์ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของประเทศ
1.2 กลุ่มเป้าหมาย : ได้แก่ บัณฑิตใหม่ ไม่เกิน 5 ปี ผู้ที่ถูกเลิกจ้าง/ประชาชนในพื้นที่ ครอบคลุม 7,435 ตำบล ทั่วประเทศ (ตำบลพื้นที่ที่เคยดำเนินการ “โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ” จำนวน 3,000 ตำบล และตำบลพื้นที่ใหม่ จำนวน 4,435 ตำบล)
1.3 ระยะเวลาดำเนินโครงการ : 3 เดือน เริ่มดำเนินการ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม - 30 กันยายน 2565
1.4 กิจกรรมหลัก
(1) กิจกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่เป้าหมายเพื่อเป็นการพัฒนา ส่งเสริม ผลักดันผลิตภัณฑ์และบริการด้าน BCG ของชุมชนออกสู่ตลาดอย่างเป็นระบบและยั่งยืน เช่น 1) การพัฒนาสินค้าและบริการชุมชนให้ได้มาตรฐานด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 2) การทำการตลาดและขายสินค้าในรูปแบบ online/offline ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 3) การพัฒนาบรรจุภัณฑ์หรืออัตลักษณ์ของสินค้า/บริการ ให้มีความโดดเด่น น่าสนใจ และสามารถกระจายสินค้าได้อย่างกว้างขวาง
(2) การวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และส่งเสริมการใช้ประโยชน์และสนับสนุนการจัดทำข้อมูล TCD ให้สมบูรณ์ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ และ การถ่ายทอดการใช้ประโยชน์จาก TCD ให้ผู้ที่จะใช้ประโยชน์ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน
1.5 การบริหารงบประมาณ :
(1) งบประมาณสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG รวมทั้งสิ้น 965.58 ล้านบาท ในพื้นที่ตำบลเดิม จำนวน 322.50 ล้านบาท (จำนวน 107,500 บาท/ตำบล) พื้นที่ตำบลใหม่ จำนวน 643.07 ล้านบาท (จำนวน 145,000 บาท/ตำบล) โดยใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดประชุม หรือ จัดกิจกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตสินค้าและบริการ เพื่อส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์ การสร้าง Brand การส่งเสริมการตลาด ตลอดจนค่าใช้จ่ายในการเดินทาง วัสดุใช้สอย และค่าบริหารจัดการ
(2) งบประมาณค่าตอบแทนสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ (การจ้างงาน) รวมทั้งสิ้น 2,460.60 ล้านบาท ตลอดโครงการ ในพื้นที่ตำบลเดิม จำนวน 864.00 บาท [วงเงิน 288,000 บาท/ตำบล สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 8 คน/ตำบล (บัณฑิตจบใหม่ ไม่เกิน 5 ปี จำนวน 4 คน/ตำบล คนละ 45,000 บาท และผู้ที่ถูกเลิกจ้าง/ประชาชน จำนวน 4 คน/ตำบล คนละ 27,000 บาท)] และพื้นที่ตำบลใหม่ จำนวน 1,596.6 ล้านบาท [วงเงิน 360,000 บาท/ตำบล สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 10 คน/ตำบล (บัณฑิตจบใหม่ ไม่เกิน 5 ปี จำนวน 4 คน/ตำบล คนละ 45,000 บาท และผู้ที่ถูกเลิกจ้าง/ประชาชน จำนวน 4 คน/ตำบล คนละ 27,000 บาท)]
(3) ค่าบริหารจัดการและกิจกรรมส่วนกลาง รวมทั้งสิ้น 139.66 ล้านบาท เช่น (1) การดำเนินการจัดทำ TCD และการจัดทำการวิเคราะห์ข้อมูล [ต่อยอดจากโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ครอบคลุมพื้นที่ 7,435 ตำบลทั่วประเทศ] จำนวน 10 ล้านบาท (2) การสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาในฐานหน่วยดำเนินงานระดับจังหวัด จำนวน 10 ล้านบาท และ (3) การพัฒนา Platform เพื่อผลักดันผลที่ได้รับจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สู่การพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการผลักดันสินค้าและบริการออกสู่ตลาดผ่านช่องทางการจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับตำบล (U2T Market Place Platform) จำนวน 70 ล้านบาท
2. ผลการดำเนินการ
2.1 ผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ จำนวน 64,428 คน คิดเป็นร้อยละ 94.26 จากเป้าหมาย 68,350 คน โดยแบ่งเป็นบัณฑิตจบใหม่ จำนวน 32,420 คน และประชาชน จำนวน 32,008 คน
2.2 กิจกรรมที่ดำเนินการในพื้นที่ รวม 15,631 โครงการ ดังนี้
พื้นที่ |
จำนวน (โครงการ) |
ภาคกลาง |
3,375 |
ภาคตะวันออก |
1,035 |
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ |
5,632 |
ภาคเหนือ |
3,329 |
ภาคใต้ |
2,260 |
2.3 สถาบันอุดมศึกษาที่รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่ จำนวน 98 แห่ง ทำหน้าที่เป็น ผู้บูรณาการระบบ (System Integrator) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่ ให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยใช้องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
2.4 การใช้จ่ายงบประมาณ (ข้อมูล ณ วันที่ 10 กันยายน 2565) มีการใช้จ่ายงบประมาณ จำนวน 2,701.61 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.76 ของงบประมาณที่ได้รับการจัดสรร (จำนวน 3,565.84 ล้านบาท) โดยในส่วนของงบประมาณส่วนที่เหลือสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจะได้ประสานกับสำนักงบประมาณและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง* เกี่ยวกับการขยายระยะเวลาและการเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับการดำเนินการโครงการดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ การขยายระยะเวลาการดำเนินการโครงการดังกล่าวอีก 6 เดือน (1 ตุลาคม 2565 - 31 มีนาคม 2566) จะเป็นการดำเนินการในส่วนของกิจกรรมที่จำเป็นที่ต้องดำเนินการภายหลังจากที่ได้ผลลัพธ์จากการดำเนินการในระยะเวลา 3 เดือน (กรกฎาคม - กันยายน 2565) ได้แก่ (1) การพัฒนา ส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์และบริการ BCG ของชุมชนอย่างเป็นระบบและยั่งยืน (2) การพัฒนา Platform เพื่อผลักดันผลที่ได้รับจากการดำเนินกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG ของ 7,435 ตำบล สู่การพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการผลักดันสินค้าและบริการออกสู่ตลาดผ่านช่องทางการจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับตำบล (U2T Market Place Platform) (3) การจัดทำ TDC และการวิเคราะห์ข้อมูล และ (4) การติดตามและประเมินผลการดำเนินการโครงการ
_____________________
1เป็นโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) พ.ศ. 2563
2ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนรายตำบล เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน
*อว. แจ้งว่า จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการขอกันเงินงบประมาณปี พ.ศ. 2565 ไว้เบิกเหลื่อมปี ตามหนังสือ กค. ด่วนที่สุด ที่ กค 0402.5/ว138 ลงวันที่ 2 กันยายน 2565
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11978