(ร่าง) นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 - 2580)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 22 November 2022 21:49
- Hits: 1369
(ร่าง) นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (พ.ศ. 2566 - 2580)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ (นโยบายและแผนฯ) (พ.ศ. 2566 - 2580) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) เสนอ
(ร่าง) นโยบายและแผนฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
1. หลักการ
1.1 วัตถุประสงค์ มี 3 ประการ
1) เพื่อเป็นกรอบนโยบายและทิศทางในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศอย่างบูรณาการในระยะ 15 ปีข้างหน้า
2) เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินระยะกลาง (5 ปี) และสามารถนำไปขับเคลื่อนในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเป็นไปอย่างเหมาะสม เป็นไปในเชิงรุก และมีประสิทธิภาพ
3) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ โดยคำนึงถึงมิติทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ รวมถึงสามารถสร้างความสมดุลและยั่งยืนในการพัฒนาประเทศ
1.2 หลักการสำคัญในการกำหนดนโยบาย ประกอบด้วย
1) หลักธรรมาภิบาลที่มุ่งให้เกิดความยั่งยืนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
2) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มุ่งเน้นการวางรากฐานของสังคมให้พึ่งพาตนเองได้และเกิดความมั่นคงสามารถต่อยอดสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่สร้างความเจริญเติบโตให้กับประเทศอย่างมั่นคั่ง
3) หลักการอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดบนพื้นที่ดิน มีความยั่งยืน โดยเลือกวิธีการผสมผสานมาตรการให้เหมาะสมเพื่อให้การทำการเกษตรเกิดความยั่งยืน
4) หลักการบริหารจัดการเชิงระบบนิเวศที่มุ่งเน้นให้เกิดความสมดุล การแบ่งปันการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติอย่างเท่าเทียมกัน
5) หลักการระวังไว้ก่อนที่มุ่งเน้นการจัดการเชิงรุกที่เน้นการป้องกันผลกระทบ โดยการสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
6) หลักภูมิสังคมที่มุ่งเน้นการพัฒนาตามสภาพความเป็นจริงของภูมิประเทศ ลักษณะของพื้นที่ วิถีชีวิต ค่านิยม ความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยคำนึงถึงความพร้อมของทุกคนในสังคม
7) หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มุ่งเน้นการร่วมคิด ร่วมแก้ไขปัญหา ร่วมตัดสินใจ และร่วมกันพัฒนาที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
8) หลักการพัฒนาที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางเพื่อให้เกิดภาวะยั่งยืน เกิดความสมดุลซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่พึงปรารถนา
9) หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มุ่งเน้นการคำนึงถึงขีดจำกัดของทรัพยากรธรรมชาติควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการสร้างสมดุลของการพัฒนาทั้ง 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน มิติด้านการพัฒนาสังคมที่ยั่งยืน และมิติด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
10) หลักการพัฒนาที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ซึ่งมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับวัตถุประสงค์และผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินงานทั้งในแง่ของผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcome) และความคุ้มค่าของเงิน (Value for Money)
1.3 วิสัยทัศน์
การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน
1.4 พันธกิจ มี 4 ประการ
1) สงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐ และอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ป่าเพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศ
2) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
3) กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และส่งเสริมการจัดที่ดินทำกินให้ประชาชน
4) เพิ่มศักยภาพกลไก เครื่องมือ องค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน
1.5 เป้าประสงค์ มี 4 ประการ
1) แนวเขตที่ดินของรัฐมีความชัดเจน รวมถึงเพิ่มและรักษาพื้นที่ป่าธรรมชาติและป่าเศรษฐกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ให้มีสัดส่วนร้อยละ 50 ของพื้นที่ประเทศ เป็นไปตามเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
2) ที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศมีการนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
3) การกระจายการถือครองที่ดินของประเทศมีการกระจายตัวมากขึ้น และประชาชนที่ได้รับการจัดที่ดินมีคุณภาพชีวิตที่ดี
4) มีกลไก เครื่องมือ องค์ความรู้ ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่มีประสิทธิภาพ
2. นโยบายหลัก 4 ด้าน 19 ตัวชี้วัด 11 แนวทางการพัฒนาหลัก และ 17 แผนงานที่สำคัญ มีดังนี้
ประเด็นนโยบายที่ 1 การสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพ และการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ |
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก : กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ สคทช. |
มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสงวนหวงห้ามและบริหารจัดการที่ดินของรัฐในภาพรวมและมุ่งเน้นการอนุรักษ์ ดูแลรักษา และฟื้นฟูพื้นที่ป่าธรรมชาติและป่าเศรษฐกิจเพื่อการใช้ประโยชน์ของประเทศให้มีความอุดมสมบูรณ์และรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ เพื่อเป็นฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นไปตามเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ โดยมุ่งหวังเพื่อให้แนวเขตที่ดินของรัฐมีความชัดเจน การบริหารจัดการที่ดินของรัฐเกิดประสิทธิภาพ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติเกิดความสมดุลและยั่งยืน ประชาชนได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศ โดยมีการดำเนินงานภายใต้ 5 ตัวชี้วัด 3 แนวทางการพัฒนาหลัก และ 4 แผนงานที่สำคัญ ดังนี้ |
ตัวชี้วัด |
แนวทางการพัฒนาหลัก |
แผนงานที่สำคัญ |
||
1. จำนวนพื้นที่ที่มีการจัดทำเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐตามหลักเกณฑ์ One Map แล้วเสร็จ 2. ที่ดินของรัฐถูกบุกรุก (ลดลง) 3. ความสำเร็จของการพิสูจน์สิทธิเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน (เพิ่มขึ้น) 4. สัดส่วนของพื้นที่ป่าต่อพื้นที่ประเทศ (เพิ่มขึ้น) 5. ระดับความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่า (คงเดิม/เพิ่มขึ้น) |
1. การแก้ไขปัญหาความทับซ้อนเกี่ยวกับแนวเขตที่ดินของรัฐ 2. การป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ 3. การอนุรักษ์ ดูแลรักษาและฟื้นฟูพื้นที่ป่าเพื่อรักษาความสมดุลทางธรรมชาติด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม |
1. แผนงานแก้ไขปัญหาแนวเขตที่ดินของรัฐและให้ความช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบ 2. แผนงานป้องกันและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ 3. แผนงานพิสูจน์สิทธิในที่ดินของรัฐ เพื่อแก้ไขข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน 4. แผนงานอนุรักษ์บริหารจัดการและฟื้นฟูพื้นที่ป่า |
||
เป้าหมายระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) เช่น ปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแล้วเสร็จ เป้าหมายระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2571 - 2575) เช่น ความขัดแย้ง/ข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชนลดลง และที่ดินของรัฐถูกบุกรุกน้อยลง เป้าหมายระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2576 - 2580) เช่น พื้นที่ป่ามีสัดส่วนร้อยละ 50 ของพื้นที่ประเทศ ผลลัพธ์สุดท้าย แนวเขตที่ดินของรัฐมีความชัดเจน และประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ ทรัพยากรธรรมชาติมีความสมดุลและยั่งยืน และประชาชนได้รับประโยชน์จากระบบนิเวศและมีส่วนร่วม |
ประเด็นนโยบายที่ 2 : การใช้ที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด |
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก : กค. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม ทส. มท. กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) |
มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐและเอกชนมีความเหมาะสมกับศักยภาพของที่ดินและสมรรถนะของดิน มีความสมดุล และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและความมั่นคงของประเทศ ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีการดำเนินงานภายใต้ 5 ตัวชี้วัด 3 แนวทางการพัฒนาหลัก และ 7 แผนงานที่สำคัญ ดังนี้ |
ตัวชี้วัด |
แนวทางการพัฒนาหลัก |
แผนงานที่สำคัญ |
||
1. สัดส่วนของที่ดินที่มีการใช้ประโยชน์ไม่เหมาะสมกับศักยภาพของที่ดิน และสมรรถนะของดิน (ลดลง) 2. สัดส่วนของที่ดินที่ถูกทิ้งร้างหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ (ลดลง) 3. สัดส่วนของดินที่ได้รับการฟื้นฟูหรือพัฒนาคุณภาพเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ (เพิ่มขึ้น) 4. สัดส่วนของพื้นที่เกษตรกรรมที่มีการทำการเกษตรตามแนวทางเกษตรอย่างยั่งยืน (เพิ่มขึ้น) 5. สัดส่วนของการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมายผังเมือง (เพิ่มขึ้น) |
1. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐและเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด 2. การปรับปรุง ฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพดินให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม 3. การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินรายสาขาอย่างเหมาะสมตามศักยภาพ |
1. แผนงานวางแผนและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดิน 2. แผนงานฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพดิน 3. แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพฐานการผลิตภาคเกษตร 4. แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการชุมชนเมืองและชนบท 5. แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอุตสาหกรรม การบริการ การท่องเที่ยว และโครงสร้างพื้นฐาน 6. แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเล แม่น้ำ และปากแม่น้ำ 7. แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่เฉพาะและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษ |
||
เป้าหมายระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) เช่น ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู/พัฒนาให้มีคุณภาพดีขึ้น เป้าหมายระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2571 - 2575) เช่น ที่ดินที่ถูกทิ้งร้างหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ของประเทศลดลง เป้าหมายระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2576 - 2580) เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับสมรรถนะของที่ดิน เช่น การเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การบริการ การท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่เฉพาะและพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ผลลัพธ์สุดท้าย การใช้ประโยชน์เหมาะสมกับศักยภาพของที่ดินและสมรรถนะของดิน และการใช้ประโยชน์ที่ดินเกิดประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ และความมั่นคงของประเทศ |
ประเด็นนโยบายที่ 3 : การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน |
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก : กค. กษ. ทส. มท. สคทช. สถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) |
มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการกระจายการถือครองที่ดินด้วยวิธีการที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมถึงการจัดที่ดินทำกิน และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ที่ได้รับการจัดที่ดินทำกินให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยมีการดำเนินงานภายใต้ 4 ตัวชี้วัด 2 แนวทางการพัฒนาหลัก และ 3 แผนงานที่สำคัญ ดังนี้ |
ตัวชี้วัด |
แนวทางการพัฒนาหลัก |
แผนงานที่สำคัญ |
||
1. สัดส่วนผู้ยากไร้ไม่มีที่อยู่อาศัยหรือที่ดินทำกิน (ลดลง) 2. ระดับรายได้ของผู้ได้รับการจัดที่ดิน (เพิ่มขึ้น) 3. ระดับความพึงพอใจของผู้ได้รับการจัดที่ดินทำกิน (เพิ่มขึ้น) 4. สัดส่วนการถือครองที่ดินของประเทศมีการกระจายตัว (เพิ่มขึ้น) |
1. การยกระดับเครื่องมือและกลไกกำกับควบคุมการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม 2. การจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน |
1. แผนงานยกระดับเครื่องมือและกลไกกระจายการถือครองที่ดิน 2. แผนงานจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนในลักษณะแปลงรวมโดยไม่ให้กรรมสิทธิ์ ภายใต้กลไกของ คทช. 3. แผนงานเพิ่มประสิทธิภาพและมาตรฐานการจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนตามภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง |
||
เป้าหมายระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการการกระจายการถือครองที่ดิน เป้ามหายระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2571 - 2575) เช่น ประชาชนที่ได้รับการจัดที่ดินมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์และเป้าหมาย และมีระบบการขับเคลื่อนและกำกับติดตามผลการจัดที่ดินที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เป้าหมายระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2576 - 2580) เช่น สัดส่วนการถือครองที่ดินมีการกระจายตัวเพิ่มขึ้น และจำนวนผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยลดลง ผลลัพธ์สุดท้าย การกระจายการถือครองที่ดินมีความเหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้น และประชาชนที่ได้รับการจัดที่ดินมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถพึ่งพาตนเองได้ |
ประเด็นนโยบายที่ 4 : การบูรณาการและเสริมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินอย่างมีเอกภาพ |
หน่วยงานที่รับผิดชอบหลัก : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) สคทช. กรมประชาสัมพันธ์ |
มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินให้เอื้อต่อการกำหนดทิศทางและกำกับดูแลการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดความเป็นเอกภาพ โดยมีการดำเนินงานภายใต้ 5 ตัวชี้วัด 3 แนวทางการพัฒนาหลัก และ 3 แผนงานที่สำคัญ ดังนี้ |
ตัวชี้วัด |
แนวทางการพัฒนาหลัก |
แผนงานที่สำคัญ |
||
1. มีระบบฐานข้อมูลที่ดินและทรัพยากรดินที่ทันสมัยและเป็นมาตรฐานเดียวกัน 2. มีการพัฒนาศักยภาพของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับที่ดินและทรัพยากรดิน 3. มีการพัฒนาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ มาตรการทางสังคม และมาตรการทางเลือก เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน 4. มีการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน 5. มีการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน |
1. การพัฒนากลไกการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินให้มีประสิทธิภาพ 2. การพัฒนาเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นธรรม 3. การพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน |
1. แผนงานพัฒนากลไกเชิงสถาบันและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน 2. แผนงานพัฒนาเครื่องมือในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน 3. แผนงานพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน |
||
เป้าหมายระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 - 2570) เช่น ประสิทธิภาพการบูรณาการภารกิจในรูปแบบคณะอนุกรรมการภายใต้ คทช. มีเครือข่ายและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่เข้มแข็ง เป้าหมายระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2571 - 2575) เช่น มีฐานข้อมูลด้านที่ดินและทรัพยากรดิน มีเครื่องมือเชิงเศรษฐศาสตร์ มาตรการทางสังคม มาตรการทางเลือกที่หลากหลาย และมีกฎหมายที่ทันสมัยและไม่ซ้ำซ้อนกัน มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เป้าหมายระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2576 - 2580) เช่น เอกภาพในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ผลลัพธ์สุดท้าย ประสิทธิภาพการสงวนหวงห้ามที่ดินของรัฐและสมดุลทางธรรมชาติ การใช้ที่ดินและทรัพยากรดินเกิดประโยชน์สูงสุด และการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม |
การขับเคลื่อนนโยบายและแผนฯ (พ.ศ. 2566 - 2580) ไปสู่การปฏิบัติ มีดังนี้
1. แนวทางการขับเคลื่อนนโยบายและแผนฯ ไปสู่การปฏิบัติ
1.1 การผลักดันให้นโยบายและแผนฯ เป็นส่วนขยายภายใต้แผนระดับที่ 1 (ยุทธศาสตร์ชาติ) แผนระดับที่ 2 (แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติแผนการปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายและแผนว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ) เพื่อถ่ายทอดลงสู่หน่วยงานแต่ละระดับ ให้มีความสอดคล้องมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน
1.2 การถ่ายทอดเป้าหมายและแนวนโยบายสู่แผนปฏิบัติการด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ ระยะ 5 ปี พร้อมทั้งกำหนดหน่วยงานรับผิดชอบที่ชัดเจนเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติให้เห็นผลเป็นรูปธรรม โดย สคทช. จะชี้แจงทำความเข้าใจและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน องค์การพัฒนาชุมชน เพื่อนำนโยบายและแผนฯ ไปผนวกไว้ในแผนแม่บทของหน่วยงานเพื่อให้มีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
1.3 การสร้างความเข้าใจในบทบาทของแต่ละภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา รวมถึงประชาชนเพื่อให้เข้าใจบทบาทตนเอง รวมทั้งยอมรับและตระหนักถึงความสำคัญของนโยบายและแผนฯ นำไปสู่การดำเนินงานที่สอดประสานกันในการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ
1.4 การสร้างระบบการกำกับการตรวจสอบการดำเนินงานตามนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศให้มีประสิทธิภาพ เช่น การพัฒนาตัวชี้วัดเป้าหมายที่มีลักษณะบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงาน การรายงานผลความคืบหน้าของเป้าหมายและตัวชี้วัด รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการถ่ายทอดไปสู่การปฏิบัติให้ คทช. เพื่อกระตุ้นและเร่งรัดให้การขับเคลื่อนนโยบายและแผนฯ บรรลุเป้าหมาย
2. การติดตามความก้าวหน้าและทบทวนนโยบายและแผนฯ เป็นระยะทุก 5 ปี เพื่อพิจารณาความสำเร็จและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน รวมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะเสนอต่อ คทช. เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายและแผนฯ ในแต่ละช่วงระยะเวลาเกิดประสิทธิภาพ
ผลกระทบ (ร่าง) นโยบายและแผนฯ (พ.ศ. 2566 - 2580) จะเป็นกรอบนโยบายและทิศทางการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศที่เอื้อต่อการเสริมสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม เพื่อให้การเติบโตของประเทศเป็นการเติบโตที่ยั่งยืน สร้างความสมดุลในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ประเทศไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยทุกคนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11972