รายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 22 November 2022 21:22
- Hits: 1341
รายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอและให้เสนอต่อรัฐสภาต่อไป
ข้อเท็จจริง
กค. เสนอว่า โดยที่พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 74 บัญญัติให้ กค. จัดทำรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณที่สิ้นสุด เสนอต่อรัฐมนตรีภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอรายงานดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีภายในหกสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณและเสนอต่อรัฐสภาภายในเก้าสิบวันนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณ ซึ่ง กค. ได้จัดทำรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2564 – 30 กันยายน 2565 ตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว จึงได้เสนอรายงานฯ มาเพื่อดำเนินการ
สาระสำคัญของรายงานฯ
1. รายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีเกณฑ์ในการจัดทำ ขอบเขตของรายงาน และข้อมูลที่ใช้ในการจัดทำ ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลการรับและการจ่ายเงินของหน่วยงานของรัฐที่ได้รับจัดสรรตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้แก่ รายได้แผ่นดินที่หน่วยงานของรัฐจัดเก็บและนำเงินส่งคลัง (รายได้จากภาษีอากร รายได้ค่าธรรมเนียม รายได้จากรัฐพาณิชย์) รายรับจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ รายจ่ายตามงบประมาณ (รายจ่ายของหน่วยงานและรายงานจ่ายงบกลาง) ข้อมูลรายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี และรายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง โดย กค. ได้ประมวลข้อมูลดังกล่าวจากรายงานในระบบสารสนเทศเพื่อการบริหาร (MIS : Financial Analytics) ในระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ (New GFMIS Thai) ข้อมูลที่หน่วยงานของรัฐบันทึกเข้ามาในระบบการบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) และระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ (New GFMIS Thai) ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2565
2. สาระสำคัญของผลการดำเนินงานรับเงินจ่ายเงินงบประมาณประจำปี สิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2565) สรุปได้ดังนี้
รายการ |
งบประมาณ (1) |
รับจริง – จ่ายจริง (2) |
เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี (3) |
รวมรับจริง-จ่ายจริง และเงินกันฯ (4) = (2) + (3) |
สูง (ต่ำ) กว่างบประมาณ (5) = (4) – (1) |
1. รายรับ 1.1 รายได้แผ่นดิน 1.2 เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ |
2,400,000.00 700,000.00 |
2,551,222.78 652,552.56 |
- - |
2,551,222.78 652,552.56 |
151,222.78 (47,447.44) |
รวม (ก) |
3,100,000.00 |
3,203,775.34 |
- |
3,203,775.24 |
103,775.34 |
2. รายจ่าย 2.1 รายจ่ายตามงบประมาณ 2.2 รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 2.3 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง 2.4 รายจ่ายเพื่อชดใช้ทุนสำรองจ่าย |
3,007,942.97 66,481.80 596.67 24,978.56 |
2,808,688.34 66,481.80 596.67 24,960.67 |
190,555.91 - - - |
2,999,244.25 66,481.80 596.67 24,960.67 |
(8,698.72) - - (17.89) |
รวม (ข) |
3,100,000.00 |
2,900,727.48 |
190,555.91 |
3,091,283.39 |
(8,716.61) |
3. รายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี (งบประมาณปี 64) |
237,238.55 |
213,677.57 |
- |
213,677.57 |
(23,560.98) |
รวม (ค) |
237,238.55 |
213,677.57 |
- |
213,677.57 |
(23,560.98) |
4. รายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง รวม (ง) |
-
- |
33,655.42
33,655.42 |
-
- |
33,655.42
33,655.42 |
33,655.42
33,655.42 |
รวมรายจ่ายทั้งสิ้น (จ) = [(ข) + (ค) + (ง)] |
3,337,238.55 |
3,148,060.47 |
190,555.91 |
3,338,616.37 |
1,337,819.31 |
5. ดุลของงบประมาณประจำปี 5.1 รายได้แผ่นดินสูง (ต่ำ) กว่ารายจ่ายตามงบประมาณ [1.1 – (ข)] 5.2 รายรับสูง (ต่ำ) กว่ารายจ่ายตามงบประมาณ [(ก) – (ข)] |
(700,000.00)
- |
(349,504.70)
303,047.86 |
(190,555.91)
(190,555.91) |
(540,060.61)
112,491.95 |
159,939.39
112,491.94 |
6. ดุลการรับ – จ่ายเงิน รายรับสูง (ต่ำ) กว่ารายจ่ายทั้งสิ้น (ก) – (จ) |
(237,238.55) |
55,714.87 |
(190,555.91) |
(134,841.03) |
102,397.52 |
หมายเหตุ :
1. ข้อมูลเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีที่ได้รับการอนุมัติจากกรมบัญชีกลาง ณ วันที่ 12 ตุลาคม 2565 จำนวน 189,666.38 ล้านบาท อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ จำนวน 889.53 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 190,555.91 ล้านบาท
2. รายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ได้แก่ งบกลาง จำนวน 23,596.33 ล้านบาท งบบุคลากร จำนวน 8,2339.54 ล้านบาท และงบชำระหนี้ จำนวน 1,819.55 ล้านบาท รวมทั้งสิ้นจำนวน 33,655.42 ล้านบาท
2.1 รายรับ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ รายรับจากรายได้แผ่นดินและรายรับจากเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ โดยรัฐบาลได้ประมาณการรายรับรวมทั้งสิ้น จำนวน 3,100,000.00 ล้านบาท รายรับที่รัฐบาลได้รับรวมทั้งสิ้น จำนวน 3,203,775.34 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ จำนวน 103,775.34 ล้านบาท ประกอบด้วย
1) รายได้แผ่นดิน มีการประมาณการรายได้ จำนวน 2,400,000.00 ล้านบาท และมีการรับรายได้แผ่นดินรวมทั้งสิ้น จำนวน 2,551,222.78 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ จำนวน 151,222.78 ล้านบาท
2) เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ มีการประมาณการวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 700,000.00 ล้านบาท และมีการกู้เงินรวมทั้งสิ้น จำนวน 652,552.56 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ จำนวน 47,447.44 ล้านบาท
2.2 รายจ่าย ประกอบด้วย รายจ่ายตามงบประมาณ รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย โดยรัฐบาลได้ประมาณการรายจ่ายตามงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รวมทั้งสิ้น จำนวน 3,100,000.00 ล้านบาท รายจ่ายที่รัฐบาลจ่ายรวมทั้งสิ้น จำนวน 3,091,283.39 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ จำนวน 8,716.61 ล้านบาท ประกอบด้วย
1) รายจ่ายตามงบประมาณ มีการประมาณการรายจ่ายตามงบประมาณ จำนวน 3,007,942.97 ล้านบาท และมีรายจ่ายจากเงินงบประมาณ จำนวน 2,808,688.34 ล้านบาท และเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 190,555.91 ล้านบาท รวมรายจ่ายตามเงินงบประมาณและเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีรวมทั้งสิ้น จำนวน 2,999,244.25 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ จำนวน 8,698.72 ล้านบาท
2) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ มีการประมาณการรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 66,481.80 ล้านบาท มีรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เท่ากับประมาณการ จำนวน 66,481.80 ล้านบาท
3) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง มีการประมาณการรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 596.67 ล้านบาท มีรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังเท่ากับประมาณการ จำนวน 596.67 ล้านบาท
4) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย มีการประมาณการรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 24,978.56 ล้านบาท และมีรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย จำนวน 24,960.67 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ จำนวน 17.89 ล้านบาท
2.3 รายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี (เงินงบประมาณปีก่อน) รัฐบาลมีเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 รวมทั้งสิ้น จำนวน 237,238.55 ล้านบาท มีรายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 213,677.57 ล้านบาท ต่ำกว่าเงินที่กันไว้ จำนวน 23,560.98 ล้านบาท
2.4 รายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 33,655.42 ล้านบาท เป็นการจ่ายเงินคงคลังตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 7 (1) รายการจ่ายที่มีการอนุญาตให้จ่ายเงินได้แล้วตามกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ แต่เงินที่ตั้งไว้มีจำนวนไม่พอจ่ายและพฤติการณ์เกิดขึ้นให้มีความจำเป็นต้องจ่ายโดยเร็ว
2.5 ดุลของงบประมาณประจำปี เมื่อเปรียบเทียบผลรายรับกับรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 รายรับประเภทรายได้แผ่นดิน จำนวน 2,551,222.78 ล้านบาท เปรียบเทียบกับรายจ่ายตามงบประมาณประจำปี จำนวน 2,900,727.48 ล้านบาท ทำให้รายได้แผ่นดินต่ำกว่ารายจ่ายตามงบประมาณประจำปี จำนวน 349,504.70 ล้านบาท ประกอบกับรัฐบาลมีรายรับประเภทเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 652,552.56 ล้านบาท จึงทำให้รายรับรวมสูงกว่ายจ่ายตามงบประมาณประจำปี จำนวน 303,047.86 ล้านบาท
2.6 ดุลการรับ – จ่ายเงิน เมื่อเปรียบเทียบรายรับของรัฐบาล รายได้แผ่นดิน และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 3,203,775.34 ล้านบาท เปรียบเทียบกับรายจ่ายตามงบประมาณประจำปี รายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี และรายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง จำนวน 3,148,060.47 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลรายรับสูงกว่ารายจ่ายทั้งสิ้น จำนวน 55,714.87 ล้านบาท
3. ผลการวิเคราะห์ ด้านรายได้แผ่นดิน รัฐบาลควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ขยายฐานภาษี และดำเนินการจัดเก็บภาษีรายการใหม่ให้ครอบคลุมบริบททางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การบริหารจัดการที่ราชพัสดุเพื่อการพาณิชย์ เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง และควรเร่งส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกระดับและเพิ่มสัดส่วนของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงมุ่งพัฒนาธุรกิจด้านการท่องเที่ยวให้มีมูลค่าสูงเพิ่มมากยิ่งขึ้น เพื่อให้รัฐบาลมีรายได้ที่สามารถตอบสนองความต้องการใช้จ่ายตามยุทธศาสตร์ของประเทศและมีการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและมีความยั่งยืน และด้านรายจ่าย รัฐบาลควรกำหนดมาตรการการคลังด้านการใช้จ่ายภาครัฐในการติดตามและเร่งรัดเบิกจ่ายเงินงบประมาณและเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณมมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ควรเร่งรัดนโยบายปรับหน่วยงานภาครัฐให้มีขนาดที่เหมาะสม ตรวจสอบความซ้ำซ้อนและ ปรับภารกิจและพันธกิจของหน่วยงานภาครัฐให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติในเชิงบูรณาการ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11971