ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 22 November 2022 21:09
- Hits: 1214
ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 (ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ พ.ศ. 2567) ตามที่สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญของเรื่อง
สงป. รายงานว่า สงป. ได้ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงาน ก.พ.ร. และสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดองพิจารณาจัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ พ.ศ. 2567 ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 - 2580) (ยุทธศาสตร์ชาติ) (ร่าง) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ (พ.ศ. 2566 - 2580) (ฉบับปรับปรุง) (ร่างแผนแม่บทฯ ฉบับปรับปรุง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 - 2570) (แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13) (ร่าง) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2566 - 2570) (ร่างแผนความมั่นคงแห่งชาติฯ) และนโยบายรัฐบาล โดยมุ่งให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกกับประเด็นการพัฒนาที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุ 13 หมุดหมายการพัฒนาตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และประเด็นสำคัญของ 17 นโยบายและแผนความมั่นคงตามร่างแผนความมั่นคงแห่งชาติฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศในการรับมือกับความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบที่รุนแรง ควบคู่กับการให้ความสำคัญกับประเด็นการพัฒนาตามแผนย่อยของร่างแผนแม่บทฯ (ฉบับปรับปรุง) ประเด็นความมั่นคงภายใต้ร่างแผนความมั่นคงแห่งชาติฯ และนโยบายรัฐบาล เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามแนวทางการพัฒนาของยุทธศาสตร์ชาติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตาม หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยมีหลักการสำคัญ ดังนี้
1. กำหนดโครงสร้างยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ พ.ศ. 2567 ตามยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ ประกอบด้วย
1.1 ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ จำนวน 6 ยุทธศาสตร์ (กำหนดตามยุทธศาสตร์ชาติ) ดังนี้
(1) ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
(2) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
(3) ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
(4) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม
(5) ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
(6) ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
1.2 รายการค่าดำเนินการภาครัฐ ประกอบด้วย รายจ่ายเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น รายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ และรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง
2. นำเป้าหมาย/ตัวชี้วัดของยุทธศาสตร์ชาติและร่างแผนแม่บทฯ ฉบับปรับปรุง มากำหนดไว้ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ ในแต่ละด้าน เพื่อแสดงให้เห็นเป้าหมาย/ตัวชี้วัดของแผนในแต่ละระดับที่สามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างเป็นรูปธรรม
3. นำแผนย่อย 85 ประเด็น ภายใต้ร่างแผนแม่บทฯ ฉบับปรับปรุงมากำหนดเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ภายใต้ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณฯ ในแต่ละด้าน พร้อมทั้งนำเป้าหมาย/ตัวชี้วัดของ แผนดังกล่าวมากำหนดไว้ภายใต้แต่ละประเด็นยุทธศาสตร์เพื่อแสดงให้เห็นถึงเป้าหมายที่ต้องการบรรลุในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และตัวชี้วัดที่สามารถติดตามผลได้
4. นำประเด็นสำคัญของ 13 หมุดหมาย ภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 และประเด็นสำคัญของ 17 นโยบายและแผนความมั่นคงตามร่างแผนความมั่นคงแห่งชาติฯ ที่ต้องเร่งดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมาย/ตัวชี้วัดที่ต้องการบรรลุมากำหนดเป็นจุดเน้นการพัฒนาที่ต้องให้ความสำคัญลำดับสูงควบคู่กับการนำแนวทางการพัฒนาภายใต้แผนย่อยของร่างแผนแม่บทฯ ฉบับปรับปรุง และประเด็นความมั่นคงภายใต้ร่างแผนความมั่นคงแห่งชาติฯ ที่ต้องดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มากำหนดเป็นนโยบายการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำโครงการรองรับประเด็นดังกล่าว ซึ่งรวมถึงโครงการเพื่อขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 1,026 โครงการ ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 และเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11970