การขอความเห็นชอบให้ไทยร่วมรับรองข้อมติเรื่อง ‘Investing in the Core Structure of IOM’ ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานและการยืนยันข้อสั่งการของคณะรัฐมนตรีเรื่องการจ่ายค่าบำรุงสมาชิกองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 22 November 2022 20:14
- Hits: 1142
การขอความเห็นชอบให้ไทยร่วมรับรองข้อมติเรื่อง ‘Investing in the Core Structure of IOM’ ขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานและการยืนยันข้อสั่งการของคณะรัฐมนตรีเรื่องการจ่ายค่าบำรุงสมาชิกองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ประเทศไทยร่วมให้ความเห็นชอบต่อข้อมติเรื่อง “Investing in the Core Structure of IOM1” (ข้อมติฯ IOM) ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นและมีการเสนอปรับแก้เอกสารดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการโดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก รวมทั้งอนุมัติในหลักการให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ (สงป.) ในส่วนของงบประมาณสำหรับจ่ายค่าบำรุงสมาชิก IOM ที่เพิ่มขึ้นตามอัตราที่ได้รับแจ้งจาก IOM เป็นรายปี ซึ่งประเทศไทยในฐานะรัฐสมาชิกยังคงต้องปฏิบัติตามพันธกรณีเรื่องการจ่ายเงินค่าบำรุงสมาชิกต่อไปเช่นเดียวกับแนวปฏิบัติที่ผ่านมาตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. IOM หรือ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานมีชื่อเดิมว่า “คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐาน (ICM)” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2494 (ค.ศ. 1951) ซึ่งต่อมาได้ทำความตกลงเข้าเป็นส่วนหนึ่งในระบบขององค์การสหประชาชาติและปัจจุบัน IOM มีสมาชิก 174 ประเทศ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยและประเทศผู้สังเกตการณ์ 8 ประเทศ โดยมีอาณัติในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้การโยกย้ายถิ่นฐานเป็นไปอย่างปลอดภัย เป็นระเบียบ มีศักดิ์ศรีสอดคล้องกับหลักมนุษยธรรม รวมถึงส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของผู้โยกย้าย ถิ่นฐาน
2. กระทรวงการต่างประเทศนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบให้ประเทศไทยร่วมให้ความเห็นชอบต่อข้อมติเรื่อง “Investing in the Core Structure of IOM” (ข้อมติ IOM) เนื่องจาก IOM (International Organization for Migration) หรือองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานได้มีมติให้ปรับนิยามของโครงสร้างหลักของ IOM ที่เป็นภารกิจที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการ จึงทำให้ IOM ประสบปัญหาขาดงบประมาณในการสนับสนุนโครงสร้างหลัก (Core Structure) ดังกล่าว ดังนั้น IOM จึงได้จัดทำข้อมติฯ IOM เพื่อให้ประเทศสมาชิกซึ่งรวมถึงประเทศไทยร่วมสนับสนุนการจ่ายเงินค่าบำรุงสมาชิกเพิ่มเติมโดยเป็นการเพิ่มแบบขั้นบันไดระหว่างปี พ.ศ. 2566 - 2570 ดังนี้
ปี พ.ศ. |
เงินค่าบำรุงสมาชิกที่จะต้องจ่าย |
เงินค่าบำรุงสมาชิกส่วนที่ จ่ายเพิ่มในแต่ละปี (ฟรังก์สวิส) |
|
ฟรังก์สวิส |
บาท |
||
2566 |
248,609 |
9,278,834 |
77,024 |
2567 |
291,498 |
10,879,580 |
42,889 |
2568 |
334,388 |
12,480,363 |
42,889 |
2569 |
377,277 |
14,081,109 |
42,889 |
2570 |
420,166 |
15,681,856 |
42,889 |
โดยขออนุมัติในหลักการให้กระทรวงมหาดไทยทำความตกลงกับสำนักงบประมาณในส่วนของงบประมาณสำหรับจ่ายค่าบำรุงสมาชิก IOM ที่เพิ่มขึ้นข้างต้น ซึ่ง IOM มีกำหนดการที่จะเสนอข้อมติฯ IOM ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี IOM สมัยที่ 113 เพื่อให้รัฐสมาชิกรับรองระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ทั้งนี้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาแล้วเห็นควรให้ความเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
3. ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการสนับสนุนข้อมติฯ IOM รวมถึงการจ่ายค่าบำรุงสมาชิก IOM ได้แก่
1) การคงบทบาทที่สร้างสรรค์และการรักษาภาพลักษณ์ของประเทศไทยในฐานะหนึ่งในรัฐสมาชิกที่ให้การสนับสนุนความร่วมมือพหุภาคีและองค์การระหว่างประเทศด้านการโยกย้ายถิ่นฐานภายใต้สหประชาชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเวลาสำคัญที่ IOM กำลังพยายามปรับโครงสร้างทางการเงินขององค์กรเข้าสู่ระบบการเงินตามมาตรฐานของสหประชาชาติ
2) ความร่วมมือพหุภาคีและการสนับสนุน IOM ข้างต้น รวมถึงเครือข่ายระหว่างประเทศด้านการโยกย้ายถิ่นฐานที่ผ่านมาได้นำมาซึ่งประโยชน์ในการยกระดับมาตรฐานการบริหารจัดการและการแก้ไขปัญหาหรือความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยประเทศไทยในฐานะประเทศที่มีผู้โยกย้ายถิ่นฐานจำนวนมากและหลากหลายกลุ่ม จัดเป็นหนึ่งในประเทศที่จะมีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงจากการดำเนินงานที่ต่อเนื่องและการรักษาความเข้มแข็งของ IOM ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ IOM ตามพันธกรณีที่เป็นที่เห็นชอบร่วมกันอย่างต่อเนื่องต่อไป
3) การร่วมสนับสนุนข้อมติฯ IOM และจ่ายค่าบำรุงสมาชิกจะส่งเสริมและรักษาสถานะของประเทศไทยในการร่วมกำหนดทิศทางของวาระที่สำคัญด้านการโยกย้ายถิ่นฐานในเวทีระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงการตัดสิทธิการลงคะแนนเสียงใน IOM หากรัฐสมาชิกค้างชำระค่าบำรุงสมาชิกหลังปี พ.ศ. 2570 (ค.ศ. 2027) นอกจากนี้ หน่วยงานของประเทศไทยยังสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการจัดทำโครงการของ IOM ในประเทศเพื่อให้สอดรับกับประโยชน์ของประเทศตนเองได้ และลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ ที่ประเทศไทยประสงค์จะได้รับการสนับสนุนจาก IOM ได้ต่อไปด้วย
____________________________________________
1 IOM (International Organization for Migration) คือ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน มีสถานะเป็นองค์การเฉพาะทางของสหประชาชาติด้านการโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นรัฐสมาชิกขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานในปี พ.ศ. 2529 ปัจจุบัน IOM ประเทศไทย ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานครและมีสำนักงานย่อย 8 แห่ง ในพื้นที่รอบกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แม่สะเรียง และแม่สอด การดำเนินการที่สำคัญของ IOM ประเทศไทย ได้แก่ โครงการที่เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติ การทำงานร่วมกับภาคเอกชน งานวิจัยด้านการย้ายถิ่น การให้ความช่วยเหลือผู้ย้ายถิ่น การต่อต้านการค้ามนุษย์ การรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินและวิกฤตการณ์ การตรวจคนเข้าเมืองและบริหารจัดการพรมแดน สุขภาพของผู้ย้ายถิ่น และการจัดส่งผู้ย้ายถิ่นในประเทศที่สาม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11965