เอกสารผนวกท้ายตราสารเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เครือข่ายการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (EANET) (Text for the Supplementary Document (Annex) to the Instrument for Strengthening the EANET)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 22 November 2022 20:03
- Hits: 1198
เอกสารผนวกท้ายตราสารเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เครือข่ายการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (EANET) (Text for the Supplementary Document (Annex) to the Instrument for Strengthening the EANET)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบเอกสารผนวกท้ายตราสารเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เครือข่ายการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (EANET) [Text for the Supplementary Document (Annex) to the Instrument for Strengthening the EANET] (เอกสารผนวกท้ายตราสารฯ)
2. เห็นชอบกับร่างหนังสือให้ความยินยอมอย่างเป็นทางการ (official consent letter) และอนุมัติให้อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ลงนามในหนังสือให้ความยินยอมอย่างเป็นทางการ
3. มอบหมายกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) เพื่อให้อธิบดีกรมควบคุมมลพิษลงนามในหนังสือให้ความยินยอมอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขถ้อยคำในเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ และไม่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับและผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้ ทส. พิจารณาดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
[ประเทศเครือข่าย EANET ต้องรายงานผลการพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ ในการประชุมระดับรัฐบาล ครั้งที่ 24 (IG24) ระหว่างวันที่ 24 - 25 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์]
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบเอกสารผนวกท้ายตราสารเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่เครือข่าย EANET (เอกสารผนวกท้ายตราสารฯ) รวมทั้งให้ความเห็นชอบร่างหนังสือให้ความยินยอมอย่างเป็นทางการโดยอนุมัติให้อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นผู้ลงนามในหนังสือให้ความยินยอมดังกล่าว และให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้อธิบดีกรมควบคุมมลพิษในการลงนามดังกล่าว
เครือข่ายการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (Acid Deposition Monitoring Network in East Asia หรือ EANET) จัดตั้งขึ้นในปี 2541 เพื่อรับมือกับปัญหาการตกสะสมของกรดที่เป็นปัญหามลพิษข้ามพรมแดนในภูมิภาค โดยในช่วงเวลานั้นมีประเทศเครือข่าย จำนวน 10 ประเทศ1 รวมถึงประเทศไทยด้วย (ไม่มีการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนเข้าร่วมเครือข่าย) ต่อมาในปี 2543 จึงมีการจัดตั้งศูนย์เครือข่าย (Network Center) เป็นศูนย์ทางวิชาการในประเทศญี่ปุ่น และจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการ EANET ในประเทศไทย โดยให้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNEP เป็นฝ่ายเลขาธิการ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานของ EANET เป็นไปอย่างเหมาะสม มีขอบเขตความร่วมมือ กิจกรรม ภารกิจของประเทศเครือข่าย และการสนับสนุนด้านการเงินแก่ EANET ที่ชัดเจน จึงมีการจัดทำตราสารเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ EANET (Instrument for Strengthening the EANET) (ตราสารฯ) (คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 16 พฤศจิกายน 2553) เพื่อเป็น แนวทางการดำเนินงานภายใต้ EANET โดยมีการดำเนินงานหลัก เช่น การติดตามตรวจสอบ การศึกษาวิจัย การฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกสาธารณะเกี่ยวกับการตกสะสมของกรด เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบันหลายประเทศประสบปัญหามลพิษทางอากาศหลายชนิดที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ประเทศเครือข่ายจึงเห็นควรให้มีการขยายขอบเขตการดำเนินงานของ EANET ให้ครอบคลุมปัญหามลพิษทางอากาศด้วย ระหว่างปี 2562 - 2564 จึงมีการประชุมภายใต้ EANET เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและได้ข้อสรุปให้ขยายขอบเขตการดำเนินงานภายใต้ตราสารฯ ในรูปแบบของเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ (ข้อเสนอในครั้งนี้ ตามข้อ 1) โดยเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดสารที่เป็นมลพิษทางอากาศ เช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ ฝุ่นละออง เป็นต้น และในส่วนของข้อกำหนดการดำเนินงานของตราสารฯ เช่น การติดตามและการประเมินผล ความร่วมมือด้านวิชาการ ให้มีผลบังคับใช้กับเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ ต่อไปโดยอนุโลม ยกเว้นมีข้อกำหนดเพิ่มเติมไว้ในเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ รวมถึงเมื่อประเทศเครือข่ายให้ความเห็นชอบต่อเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ แล้ว ขอให้แจ้งสำนักงานเลขาธิการ EANET ในรูปแบบหนังสือให้ความยินยอมอย่างเป็นทางการ (official consent letter) (ข้อเสนอในครั้งนี้ตามข้อ 2) ซึ่งประเทศเครือข่ายสามารถพิจารณารูปแบบและเนื้อหาของหนังสือได้ตามความเหมาะสม โดยเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ จะมีผลบังคับใช้ ณ วันที่ทุกประเทศเครือข่ายให้ความเห็นชอบ หรือในกรณีประเทศเครือข่ายให้ความเห็นชอบไม่ครบจะมีผลเฉพาะกับประเทศที่ให้ความเห็นชอบแล้ว ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565 แล้วแต่ว่ากำหนดวันใดจะถึงก่อน ทั้งนี้ ทส. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไม่เป็นทางการว่า ในส่วนของประเทศไทย ซึ่ง ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565 ยังไม่ได้เห็นชอบเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ เอกสารดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้กับประเทศไทย ณ วันที่ประเทศไทยลงนามในหนังสือให้ความยินยอมอย่างเป็นทางการ และในประเด็นผลของเอกสารผนวกท้ายตราสารฯ ทส. แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไม่เป็นทางการว่า เอกสารดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยมากนัก เนื่องจากกรมควบคุมมลพิษของ ทส. ซึ่งเป็นหน่วยดำเนินการของ EANET ของประเทศไทย ได้ดำเนินการติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ เช่น ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน อยู่แล้ว เป็นต้น
______________________________________
1 ประเทศเครือข่าย EANET ประกอบด้วย ประเทศจีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย มองโกเลีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ รัสเซีย เวียดนาม และไทย ซึ่งปัจจุบันมีประเทศเครือข่ายเพิ่มขึ้นอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศกัมพูชา ลาว และ เมียนมา รวมทั้งสิ้น 13 ประเทศ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11964