ขออนุมัติกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 29 และ การประชุมระหว่างคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 27
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 22 November 2022 19:59
- Hits: 1139
ขออนุมัติกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 29 และ การประชุมระหว่างคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 27
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 29 และการประชุมระหว่างคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 27
2. เห็นชอบให้คณะผู้แทนไทยหารือกับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงตามประเด็นในกรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 29 และการประชุมระหว่าง คณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 27 เพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานและ ความร่วมมือเป็นไปตามพันธกรณีของความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538
3. อนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมาย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเป็นผู้ลงนามรับรองในรายงานการประชุม โดยที่เอกสารดังกล่าว มิได้ใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดพันธกรณีกันตามกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เข้าข่ายหนังสือสัญญา
(การประชุมข้างต้น มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 ณ จังหวัดบ่าเสียะ-หวุงเต่า สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม)
สาระสำคัญของเรื่อง
1. รัฐบาลไทยได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 ร่วมกับรัฐบาลกัมพูชา ลาว และเวียดนาม เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2538 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินความร่วมมือในทุกด้านของการพัฒนาที่ยั่งยืน การใช้ การบริหารจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องของลุ่มแม่น้ำโขง เป็นผลให้มีการก่อตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) มีสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศ ในการสนับสนุนการดำเนินงานและความร่วมมือให้เป็นไปตามพันธกรณีของความตกลงฯ โดยโครงสร้างการบริหารของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง แบ่งออกเป็นองค์กรบริหารถาวร 3 องค์กร คือ (1) คณะมนตรี (Council) ประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศสมาชิกในระดับรัฐมนตรี ประเทศละ 1 คน (2) คณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ประกอบด้วย ผู้แทนจากประเทศสมาชิกในระดับอธิบดีขึ้นไป ประเทศละ 1 คน และ (3) สำนักงานเลขาธิการ (Secretariat) มีหัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ซึ่งคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแต่งตั้งทำหน้าที่บริหารงาน โดยที่ในแต่ละปีผู้แทนในคณะมนตรี จะหมุนเวียนทำหน้าที่ประธานคณะมนตรี ตามลำดับตัวอักษรของประเทศสมาชิก เพื่อสนับสนุนการกำหนดนโยบายและตัดสินใจการดำเนินงานตามความตกลงฯ ให้บรรลุผลสำเร็จ
2. การประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 29 และการประชุมระหว่าง คณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 27 มีวัตถุประสงค์เพื่อหารือและกำหนดนโยบายความร่วมมือในการบริหารองค์กรของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และกำหนดแนวทางความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจา รวมถึงหุ้นส่วนการพัฒนาและองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหรือผู้แทนจากประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประกอบด้วย ราชอาณาจักร กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมทั้งประเทศคู่เจรจา (สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหภาพเมียนมา) และหุ้นส่วนการพัฒนา เข้าร่วมการประชุม
3. กรอบการหารือสำหรับการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 29 และ การประชุมระหว่างคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกับกลุ่มหุ้นส่วนการพัฒนา ครั้งที่ 27 มีสาระสำคัญ สรุปดังนี้
1) การพิจารณาร่างปฏิญญาสำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 ลงวันที่ 21 กันยายน 2565 และกำหนดการประชุมร่างสุดท้ายของการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 2 - 5 เมษายน 2566 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยที่ประชุมจะพิจารณาร่างปฏิญญาเวียงจันทน์จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 ซึ่งประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้พิจารณาร่วมกับประเทศเจ้าภาพ (สปป.ลาว) กำหนดแนวคิดหลักของร่างปฏิญญาฯ คือ “นวัตกรรมและความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านน้ำและความยั่งยืนของลุ่มน้ำโขง” (Theme: Innovation and Cooperation for a Water Secure and Sustainable Mekong) โดยกำหนดเป้าหมาย เช่น จัดทำแนวปฏิบัติระดับภูมิภาคเพื่อวางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำโขง การแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุทกวิทยากับสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นต้น โดยผู้นำประเทศสมาชิกฯ จะพิจารณาและร่วมให้การรับรอง ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ในการประชุมสุดยอดผู้นำฯ ครั้งที่ 4
2) การอนุมัติแผนการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประจำปี พ.ศ. 2566 – 2567 โดยแผนดำเนินงานฯ ประกอบด้วยการจัดทำแผนงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณซึ่งจัดทำเป็นแผนงบประมาณต่อเนื่องหลายปี โดยในส่วนของแผน ปี 2564 – 2565 จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ดังนั้นจึงมีการจัดทำแผนปี 2566 – 2567 เพื่อให้คณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงพิจารณา อนุมัติในการประชุมคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ครั้งที่ 29 ซึ่งมีสาระสำคัญ อาทิ (1) ประมาณการรายรับและรายจ่าย (2) กิจกรรมสำหรับแผนปี 2566 – 2567 ได้แก่ กิจกรรมหลัก เป็นกิจกรรมที่เป็นงานประจำของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เช่น การบริหารองค์กร การบริหารจัดการลุ่มน้ำ (จัดทำข้อมูลลุ่มน้ำ การวิเคราะห์และสร้างแบบจำลอง การวางแผนพัฒนาลุ่มน้ำ การพยากรณ์สภาวะแวดล้อม) และกิจกรรมรอง เป็นกิจกรรมที่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อตอบสนองความท้าทายใหม่ๆ หรือตอบสนองต่อผลสัมฤทธิ์ของแผนพัฒนาลุ่มน้ำ เช่น การศึกษาทางเลือกในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า อื่นนอกจากไฟฟ้าพลังน้ำ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11963