แนวทางเสริมสร้างศักยภาพการคลังท้องถิ่น (แบบประเมินสุขภาพการคลังท้องถิ่น)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 16 November 2022 01:13
- Hits: 1025
แนวทางเสริมสร้างศักยภาพการคลังท้องถิ่น (แบบประเมินสุขภาพการคลังท้องถิ่น)
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ และเห็นชอบตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอ ดังนี้
1. รับทราบแนวทางเสริมสร้างศักยภาพการคลังท้องถิ่น (แบบประเมินสุขภาพการคลังท้องถิ่น) และแนวทางการขับเคลื่อน
2. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง (กค.) โดยคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด1 (คบจ.) เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการ ดังนี้
2.1 นำแนวทางเสริมสร้างศักยภาพการคลังท้องถิ่น (แบบประเมินสุขภาพการคลังท้องถิ่น) ไปใช้เป็นเครื่องมือประเมินสถานะด้านการคลังและงบประมาณของท้องถิ่น และให้ประเมินตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยใช้ข้อมูลผลการปฏิบัติงานของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในการประเมิน และให้พิจารณาคัดเลือกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้ครอบคลุมทุกประเภท ยกเว้น อปท. รูปแบบพิเศษ2
2.2 ในกรณีที่ คบจ. พบประเด็นที่ควรเพิ่มความเข้มแข็ง ปัญหาหรือข้อจำกัดจากการประเมิน สามารถให้ความช่วยเหลือทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติอย่างเหมาะสมโดยตรงหรือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเสนอแนะหน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
2.3 นำข้อมูลเผยแพร่ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสาธารณชนภายในจังหวัดได้รับทราบเพื่อร่วมกันส่งเสริมผลักดันให้ อปท. มีศักยภาพในการบริหารการเงินและงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. ให้ กค. สรุปและรายงานผลการประเมินในภาพรวม และแผนการดำเนินการในระยะต่อไป ต่อ ก.พ.ร. เพื่อสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องมือประเมินสถานะด้านการคลังและงบประมาณของท้องถิ่น และให้ข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความเข้มแข็งการให้บริการประชาชนในพื้นที่ โดยให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความคิดเห็นและข้อสังเกตเพิ่มเติมของสำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
ก.พ.ร. รายงานว่า
1. ปัจจุบัน อปท. รูปแบบทั่วไป (อบจ. เทศบาล และ อบต.) มีจำนวนมาก ประมาณ 7,850 แห่ง โดยทุกแห่งเป็นหน่วยรับงบประมาณตามกฎหมายงบประมาณและได้รับเงินงบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐสูง ซึ่งยังขาดเครื่องมือในการตรวจสอบสถานะด้านการคลังและงบประมาณท้องถิ่น เพื่อสร้างความตระหนักให้ อปท. สามารถปรับปรุงระบบการกำกับดูแลตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. ก.พ.ร. ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการปรับปรุงระบบการเงินและงบประมาณ (อ.ก.พ.ร.ฯ) ศึกษาแนวทางปรับปรุงระบบการเงินการคลังและงบประมาณของ อปท. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคลังท้องถิ่นให้เกิดการพัฒนาการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้และปรับปรุงระบบการกำกับดูแลตนเองให้มีการตรวจสอบภายใน การควบคุมภายใน และการบริหารจัดการความเสี่ยงตามมาตรา 79 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ซึ่ง อ.ก.พ.ร.ฯ ได้มีการทดสอบ แนวทางฯ แล้วในกลุ่ม อปท. นำร่อง ของพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี ชลบุรี และสมุทรปราการ รวมทั้งสิ้น 21 แห่ง และจังหวัดอื่นที่เป็นที่ตั้งของ คบจ. 9 เขต3 จำนวน 105 แห่ง และได้ปรับให้ถูกต้อง เหมาะสม สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงแล้วจึงสอบถามความเห็นส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จำนวน 5 หน่วยงาน คือ สำนักงบประมาณ (สงป.) สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง กรมบัญชีกลาง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งทุกหน่วยงานแจ้งว่าเห็นชอบกับผลการศึกษา
3. ก.พ.ร. ในการประชุมเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ได้มีมติเห็นชอบแนวทางเสริมสร้างศักยภาพการคลังท้องถิ่น (แบบประเมินสุขภาพการคลังท้องถิ่น) และเสนอให้ กค. โดย คบจ. เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการนำแนวทางฯ ดังกล่าวไปใช้เป็นเครื่องมือประเมินสถานะด้านการคลังและงบประมาณของท้องถิ่น รวมทั้งให้การดูแลด้านวิชาการและการปฏิบัติให้ อปท. มีความเข้มแข็งสามารถให้บริการประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดให้มีการประเมินตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ใช้ข้อมูลผลการปฏิบัติงานของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในการประเมิน) ซึ่งแนวทางฯ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
3.1 กรอบการประเมินแนวทางฯ (แบบประเมินสุขภาพการคลังท้องถิ่น) แบ่งเป็น 8 ด้าน 40 ตัวชี้วัด คะแนนรวม 395 คะแนน (ยกเว้น อบจ. มี 39 ตัวชี้วัด คะแนนรวม 385 คะแนน) สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
1. ด้านรายได้ |
• มี 10 ตัวชี้วัด 65 คะแนน ยกเว้น อบจ. มี 9 ตัวชี้วัด (ไม่ประเมินสัดส่วนจำนวนเงินที่ค้างชำระภาษีและค่าธรรมเนียมต่อจำนวนเงินที่ อปท. ต้องได้รับชำระทั้งหมดในปีเดียวกัน) 55 คะแนน (น้ำหนักร้อยละ 20) • ประเมินประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ของ อปท. เช่น การดำเนินงานตามขั้นตอนการจัดเก็บภาษีตามที่กฎหมายกำหนดในการสำรวจและจัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด การใช้นวัตกรรมในการจัดเก็บรายได้ของ อปท. โดยปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น |
2. ด้านงบประมาณรายจ่าย |
• มี 6 ตัวชี้วัด 30 คะแนน (น้ำหนักร้อยละ 20) • ประเมินงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจาก สงป. เช่น การตรวจสอบความสอดคล้องของรายการที่นำมาจัดทำคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีกับแผนพัฒนาท้องถิ่นกับแผนพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ความพร้อมของรายการ/ราคาแบบรูปรายการ/พื้นที่ดำเนินการ เพื่อให้ อปท. มีความพร้อมในการดำเนินการได้ทันทีเมื่อได้รับอนุมัติงบประมาณ ความสามารถในการก่อหนี้ผูกพันเพื่อดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ภายในปีงบประมาณ |
3. ด้านการเงิน |
• มี 1 ตัวชี้วัด 7 คะแนน (น้ำหนักร้อยละ 10) • ประเมินประสิทธิภาพในการรับชำระเงิน แบ่งเป็น (1) ความสะดวก รวดเร็วในการรับชำระเงิน (ผ่านหลายช่องทาง เช่น ธนาคาร เคาเตอร์เซอร์วิส QR Code) การเก็บรักษา และการนำส่งเงิน และ (2) การปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ แนวทาง และขั้นตอนที่ถูกต้อง โปร่งใส และตรวจสอบได้ |
4. ด้านการจัดซื้อจัดจ้าง |
• มี 4 ตัวชี้วัด 170 คะแนน (น้ำหนักร้อยละ 20) • ประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ เช่น มีการบริหารสัญญาและการตรวจรับพัสดุตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ความสามารถในการปฏิบัติงานตามระบบการจัดซื้อจัดจ้างและราคากลางได้ตามระยเวลาที่กำหนดตั้งแต่การจัดทำประกาศเชิญชวน รายงานขอซื้อขอจ้างตามวิธีการจัดซื้อจัดจ้างที่เกิดขึ้นจริง (วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท มีระยะเวลามาตรฐานในการดำเนินการไม่เกิน 33 วัน) และการตรวจรับพัสดุ การดำเนินการโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ เช่น กรณี อบต. มีโครงการก่อสร้างที่มีงบประมาณตั้งแต่ 7 ล้านบาทขึ้นไป ต้องแจ้งข้อมูลโครงการฯ ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาคัดเลือกเข้าร่วมโครงการฯ ภายใน 15 วันทำการนับแต่วันที่ได้รับความเห็นชอบวงเงินงบประมาณและการดำเนินการตามข้อตกลงคุณธรรม กรณีโครงการจัดซื้อจัดจ้างเข้าเงื่อนไขที่ต้องดำเนินการ (โครงการที่มีมูลค่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป) |
5. ด้านการบัญชีและสินทรัพย์ |
• มี 5 ตัวชี้วัด 24 คะแนน (น้ำหนักร้อยละ 10) • ประเมินการจัดทำรายงานบัญชีและสินทรัพย์ตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 การจัดทำรายงานการเงินประจำปี การจัดส่งรายงานการเงินประจำปีให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กค. (สำนักงานคลังจังหวัด) ภายในเวลาที่กำหนด และการเปิดเผยรายงานการเงินประจำปีและรายงานผลการตรวจสอบของ สตง. |
6. ด้านการกำกับดูแลตนเอง |
• มี 3 ตัวชี้วัด 24 คะแนน (น้ำหนักร้อยละ 10) • ประเมินการควบคุมภายใน (จัดทำรายงานการประเมินผลการควบคุมภายในตามที่ กค. กำหนด) การตรวจสอบภายใน (จัดทำแผนการตรวจสอบประจำปีและรายงานผลการตรวจสอบตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ปฏิบัติการตรวจสอบภายในสำหรับหน่วยงานของรัฐ) และการบริหารจัดการความเสี่ยง (มีการจัดทำแผนบริหารจัดการความเสี่ยงและรายงานผลการบริหารจัดการความเสี่ยงเสนอหัวหน้าหน่วยงานของรัฐอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง) |
7. ด้านการก่อหนี้ระยะยาว |
• มี 7 ตัวชี้วัด 35 คะแนน (น้ำหนักร้อยละ 5) • ประเมินการวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือสังคมของโครงการก่อหนี้ระยะยาว (เงินกู้) ของ อปท. ที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์การพัฒนาท้องถิ่นระยะ 5 ปี และเป็นโครงการที่บ่งชี้ได้อย่างเป็นรูปธรรมว่าจะสามารถนำมาซึ่งการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน บริการสาธารณะ หรือการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการตัดสินใจดำเนินโครงการก่อหนี้ระยะยาว |
8. ด้านเงินสะสม |
• มี 4 ตัวชี้วัด 40 คะแนน (น้ำหนักร้อยละ 5) • ประเมินประสิทธิผลของการใช้เงินสะสมตามวัตถุประสงค์ (มี 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม คมนาคม การเพิ่มรายได้ และภัยพิบัติ) การใช้เงินสะสมเพื่อทำโครงการก่อสร้างโดยพิจารณาจากความพร้อมของแบบรูปรายการงานก่อสร้าง ความสามารถในการก่อหนี้ผูกพัน ประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณ และการรักษาระดับของเงินสะสมเพื่อเสถียรภาพทางการคลังของ อปท. เพื่อให้ อปท. มีฐานะทางการเงิน การคลังที่มั่นคง สามารถเก็บเงินสะสมไว้ใช้จ่ายในกรณีที่มีความจำเป็น |
ทั้งนี้ แนวทางฯ 8 ด้าน มีความครอบคลุมทุกมิติของการบริหารการคลัง ไม่ซ้ำซ้อนและสอดคล้องกับการประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Performance Assessment: LPA)4 ซึ่งมีเป้าหมายในทิศทางเดียวกัน โดยมุ่งหวังให้ อปท. เข้าใจ และรู้จักตนเองเพื่อพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพ สามารถให้บริการเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
3.2 ประโยชน์ที่ได้รับ
3.2.1 อปท. มีความเข้มแข็ง สามารถให้บริการประชาชนในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เนื่องจากรับทราบสถานะด้านการคลังและงบประมาณของตนเอง รู้จุดแข็ง จุดอ่อน และจุดที่ควรปรับปรุงให้การปฏิบัติงานถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งได้รับการดูแลทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติจากผู้เชี่ยวชาญของ คบจ. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
3.2.2 การคลังท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้และปรับปรุงระบบการกำกับดูแลตนเอง
3.3 แนวทางการขับเคลื่อน
3.3.1 ให้ กค. โดย คบจ. เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินการ ดังนี้
(1) นำแนวทางฯ ไปใช้เป็นเครื่องมือประเมินสถานะด้านการคลังและงบประมาณของท้องถิ่น และให้ประเมินตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยใช้ข้อมูลผลการปฏิบัติงานของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในการประเมิน และให้พิจารณาคัดเลือก อปท. ให้ครอบคลุมทุกประเภท ยกเว้น อปท. รูปแบบพิเศษ
(2) ในกรณีที่ คบจ. พบประเด็นที่ควรเพิ่มความเข้มแข็งปัญหา หรือข้อจำกัดจากการประเมิน สามารถให้ความช่วยเหลือทั้งด้านวิชาการและการปฏิบัติอย่างเหมาะสมโดยตรงหรือประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งเสนอแนะหน่วยงานที่รับผิดชอบพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
(3) นำข้อมูลเผยแพร่ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งสาธารณชน ภายในจังหวัดได้รับทราบเพื่อร่วมกันส่งเสริมผลักดันให้ อปท. มีศักยภาพในการบริหารการเงินและงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3.3.2 ให้ กค. สรุปและรายงานผลการประเมินในภาพรวมและแผนการดำเนินการในระยะต่อไปต่อ ก.พ.ร.
_____________________
1 คบจ. แต่งตั้งโดยปลัดกระทรวงการคลัง ตามคำสั่ง กค. ที่ 428/2560 ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 เพื่อกำหนดบทบาทของ กค. ในการสนับสนุนเศรษฐกิจของส่วนภูมิภาคให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยสนับสนุนการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการและส่งต่อนโยบายจาก กค. ลงสู่ภูมิภาคได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัว โดยมีคลังจังหวัดเป็นประธาน คบจ.
2 อปท. สามารถจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ (1) อปท. รูปแบบทั่วไป ซึ่งมีการจัดตั้งขึ้นโดยมีลักษณะหรือองค์ประกอบที่มีความคล้ายคลึงกันทั่วประเทศ จำนวน 7,850 แห่ง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง เทศบาล 2,472 แห่ง (เทศบาลตำบล 2,247 แห่ง เทศบาลเมือง 195 แห่ง และเทศบาลนคร 30 แห่ง) และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,300 แห่ง และ (2) อปท. รูปแบบพิเศษ มีลักษณะ/องค์ประกอบแตกต่างไปจาก อปท. ทั่วไป มีความเจริญทางเศรษฐกิจมาก มีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งประเทศไทยมี อปท. รูปแบบพิเศษ 2 แห่ง คือ กรุงเทพมหานครและพัทยา
3 จากการประสานกับสำนักงาน ก.พ.ร. แจ้งว่า การคัดเลือก อปท. นำร่องจะพิจารณาตามรายภาค รายจังหวัด และระดับรายได้ของ อปท. จากอปท. ทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่ม อปท. นำร่อง จำนวน 21 แห่ง ในจังหวัดนนทบุรี ชลบุรี และสมุทรปราการ (จังหวัดละ 7 แห่ง) ซึ่งครอบคลุมในพื้นที่สำนักงานคลังเขต 1-2 และ (2) กลุ่ม อปท. ขยายผล จำนวน 105 แห่ง ครอบคลุมในพื้นที่สำนักงานคลังเขต 1 และ เขต 3-9 จำนวน 15 จังหวัด ได้แก่ สำนักงานคลังเขต 1 เพิ่มเติม (จังหวัดปทุมธานี) สำนักงานคลังเขต 3 (จังหวัดนครราชสีมาและอุบลราชธานี) สำนักงานคลังเขต 4 (จังหวัดกาฬสินธุ์และหนองคาย) สำนักงานคลังเขต 5 (จังหวัดเชียงใหม่และลำปาง) สำนักงานคลังเขต 6 (จังหวัดนครสวรรค์และพิจิตร) สำนักงานคลังเขต 7 (จังหวัดกาญจนบุรีและสมุทรสาคร) สำนักงานคลังเขต 8 (จังหวัดชุมพรและ สุราษฎร์ธานี) และสำนักงานคลังเขต 9 (จังหวัดสงขลาและตรัง)
4 การประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Perfomance Assessment: LPA) เป็นการประเมินผลการปฏิบัติราชการของ อปท. ในขั้นพื้นฐานประจำปี โดยกระทรวงมหาดไทย (มท.) (กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น) แบ่งการประเมินออกเป็น 5 ด้าน ประกอบด้วย (1) ด้านการบริหารจัดการ (2) ด้านการบริหารงานบุคคลและกิจการสภา (3) ด้านการบริหารงานการเงินและการคลัง (4) ด้านการบริการสาธารณะ และ (5) ด้านธรรมาภิบาล ซึ่งผลการประเมินแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ ดีเด่น (90-100 คะแนน) ดีมาก (80-89.99) ดี (70-70.99) พอใช้ (60-69.99) และควรปรับปรุง (0-59.99) คิดเกณฑ์ผ่านอยู่ที่ร้อยละ 60 ทั้งนี้ สามารถนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินไปใช้ในการจัดทำแผนพัฒนาองค์กร/แผนพัฒนาท้องถิ่นได้ต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11730