ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ทางเลือกเชิงนโยบายในการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกันตนและนายจ้าง ของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 16 November 2022 01:09
- Hits: 1052
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ทางเลือกเชิงนโยบายในการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกันตนและนายจ้าง ของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ทางเลือกเชิงนโยบายในการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกันตนและนายจ้าง ของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ทางเลือกเชิงนโยบายในการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกันตนและนายจ้าง ของคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้ศึกษาแนวทางการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงานและศึกษาแนวทางการจัดตั้งธนาคารแรงงานโดยพิจารณาศึกษาทางเลือกเชิงนโยบายในการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกันตนและนายจ้าง ซึ่งกำหนดนโยบาย ได้เป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน (Rush Stage) คือ การมุ่งให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นำเงินจากผลกำไรของการลงทุนทั้งหมดในวงเงินไม่เกินร้อยละ 10 ของดอกผล มาดำเนินการลงทุนให้ผู้ประกันตนกู้ได้ โดยใช้สิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนจะได้รับในกรณีบำนาญชราภาพ กรณีตาย และกรณีอื่นๆ เป็นหลักประกัน และระยะพัฒนา (Development Stage) จะเป็นการกำหนดวิสัยทัศน์สู่การปรับปรุงกฎหมายหรือปฏิรูปโครงสร้าง (Structural Reform) ทั้งนี้ เพื่อจัดตั้งสถาบันทางการเงินที่เหมาะสม ภายใต้กรอบเป้าหมายของผลสัมฤทธิ์ คือ “เยียวยาเฉพาะหน้า เพิ่มเสถียรภาพกองทุน เกื้อหนุนสังคม” และได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ 1) ก่อนการกำหนดนโยบายจากการดำเนินการระยะเร่งด่วนสู่ระยะพัฒนา ควรมีการศึกษาสถานการณ์รอบด้านให้ครบถ้วนด้วยการวิจัยชุดในมิติต่างๆ ของการกู้เงิน 2) ควรมีการปรับปรุงหรือพัฒนากฎหมาย โดยใช้หลักการจัดระบบเงินสมทบ (Define Contribution) ควบคู่ไปกับการจัดระบบประโยชน์ทดแทน (Define Benefit) ที่เหมาะสม 3) ควรมีการพิจารณาศึกษาการเยียวยาภัยพิบัติเชิงรุกในรูปแบบต่างๆ โดยศึกษาถึงต้นเหตุแห่งปัญหาการป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาว ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และบริบทของประเทศ 4) ควรมีการมุ่งเน้นการปรับแนวความคิด (Way of Thinking) ของแรงงานไทย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางด้านการเงินอย่างยั่งยืน โดยนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง และ 5) หากมีการจัดตั้งธนาคารเพื่อแรงงาน ควรมีการวิเคราะห์ที่มาของแหล่งเงินทุนว่ามาจากแหล่งใด
2. รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ รง. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
รง. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการแรงงาน วุฒิสภา ตามข้อ 2 แล้ว และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยสรุปได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณา |
|
1. ก่อนการกำหนดนโยบายจากการดำเนินการระยะเร่งด่วนสู่ระยะพัฒนา ควรมีการศึกษาสถานการณ์รอบด้านให้ครบถ้วน ด้วยการวิจัยชุดในมิติต่างๆ ของการกู้เงิน การมีวินัยทางการเงินของผู้กู้ เป็นต้น การออกแบบและสิ่งสำคัญคือการประเมินผลของโครงการระยะเร่งด่วน ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบโครงการ (Build in Evaluation) |
- เห็นด้วยหากต้องมีการดำเนินการในระยะเร่งด่วนควรมีการศึกษาสถานการณ์รอบด้านให้ครบถ้วน |
|
2. ควรมีการปรับปรุงหรือพัฒนากฎหมาย โดยให้นายจ้างในระบบประกันสังคมเข้าระบบได้ในมาตราหนึ่ง ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติก็แยกออกเป็นอีกมาตราหนึ่ง รวมถึงแรงงานไทยที่จะไปทำงานต่างประเทศก็ขยายเพิ่มความคุ้มครองให้อีกมาตราหนึ่ง เพื่อให้สามารถจัดเงินกู้เฉพาะกิจได้ในสภาวะปกติและสภาวะฉุกเฉินในอนาคต โดยใช้หลักการจัดระบบเงินสมทบ (Define Contribution) ควบคู่ไปกับการจัดระบบประโยชน์ทดแทน (Define Benefit) ที่เหมาะสม ให้แก่ผู้ประกันตนที่ต่างมาตรา ตามตัวบทของกฎหมายที่สมควรพัฒนาขึ้นการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบจะช่วยให้การกำกับควบคุมโรคระบาดในอนาคตมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น |
- เห็นว่าอาจเกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ประกันตนที่มีสัญชาติไทยและผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทยและอาจไม่เป็นไปตามหลักการสากล |
|
3. ควรมีการพิจารณาศึกษาการเยียวยาภัยพิบัติเชิงรุกในรูปแบบต่างๆ ที่ สปส. สามารถเยียวยาได้ โดยศึกษาถึงต้นเหตุแห่งปัญหาการป้องกันผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาว ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และบริบทของประเทศ |
- เห็นว่าการพัฒนาสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้แรงงาน แต่การเยียวยาภัยพิบัติเชิงรุกในรูปแบบต่างๆ ควรมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เป็นภารกิจหลักโดยตรงดำเนินการ |
|
4. ควรมีการมุ่งเน้นการปรับแนวความคิด (Way of Thinking) ของแรงงานไทย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทางด้านการเงินอย่างยั่งยืน โดยมีแนวคิด ดังนี้ (1) นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง (พระราชดำรัสรัชกาลที่ 9) (2) พยายามที่จะไม่กู้ยืม (โดยไม่นำเงินอนาคตมาใช้) (3) สร้างครอบครัวมีประสิทธิภาพ (คุมกำเนิดเมื่อยังไม่พร้อม) (4) เข้าใจรูปแบบของการบริหารจัดการเรื่องการเงิน |
- เห็นด้วยให้มีการมุ่งเน้นการปรับแนวความคิด (Way of Thinking) แต่ไม่สมควรเป็นภารกิจของหน่วยงานใดเพียงหน่วยงานเดียว เพราะเป็นภารกิจที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน |
|
5. หากมีการจัดตั้งธนาคารเพื่อแรงงานควรมีการวิเคราะห์ที่มาของแหล่งเงินทุนว่ามาจากแหล่งใด เช่น เงินจากกองทุนประกันสังคม เงินสนับสนุนจากรัฐบาลหรือการออกพันธบัตร เป็นต้น รวมถึงการเปิดโอกาสให้นายจ้าง ผู้ประกันตน องค์กรนายจ้าง และลูกจ้างเป็นผู้ถือหุ้นเพื่อให้เกิดเป็นสถาบันการเงินที่มั่นคงอย่างยั่งยืน |
- เห็นด้วยหากต้องมีการดำเนินการควรมีการวิเคราะห์ข้อดี ข้อเสีย ผลกระทบรวมทั้งแหล่งที่มาของเงินทุนอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ คณะกรรมการประกันสังคม (ชุดที่ 13) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งธนาคารประกันสังคม |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11729