ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม มาตรการป้องกันการทุจริตจากกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 16 November 2022 00:56
- Hits: 1006
ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม มาตรการป้องกันการทุจริตจากกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบดังนี้
1. รับทราบข้อเสนอแนะเพิ่มเติม มาตรการป้องกันการทุจริตจากกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ
2. รับทราบผลการพิจารณาต่อข้อเสนอแนะเพิ่มเติม มาตรการป้องกันการทุจริตจากกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขรายงาน ทั้งนี้ ให้แจ้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
1. คณะกรรมการ ป.ป.ช. รายงานว่า “ยา” เป็นสินค้าคุณธรรม (Merit Goods) ที่ต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการที่ถูกต้องทั้งข้อดีและข้อเสียในการตัดสินใจเลือกใช้มากกว่า การลด แลก แจก แถม หรือสร้างแรงจูงใจด้วยวิธีการต่างๆ แต่ในปัจจุบันอิทธิพลการส่งเสริมการขายยาของบริษัทยา โดยเฉพาะที่กระทำโดยตรงต่อแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เป็นสาเหตุหรือปัจจัยที่สำคัญมากประการหนึ่งที่ทำให้เกิดการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุสมผลในโรงพยาบาล ประกอบกับในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ปรากฏกรณีการทุจริตเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่ายาของข้าราชการ ในลักษณะเป็นกระบวนการโยงใยเป็นเครือข่ายการทุจริตโดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ ผู้ใช้สิทธิและเครือญาติ บุคลากรในโรงพยาบาลและกลุ่มบริษัทจำหน่ายยา ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาครัฐต้องสูญเสียงบประมาณโดยไม่จำเป็นและจากการติดตามผลการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560 พบว่า ไม่มีความสอดคล้องกับบริบทต่างๆ และสถานการณ์ปัจจุบัน เนื่องจากพบประเด็นปัญหาสำคัญเกี่ยวกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่อง เกณฑ์จริยธรรมการจัดซื้อจัดหาและการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาของ สธ. พ.ศ. 2564 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564) เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างมีธรรมาธิบาลสำหรับส่วนราชการ หน่วยงาน และหน่วยบริการของ สธ. ตลอดจนผู้สั่งใช้ยา ผู้ประกอบวิชาชีพ และบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดหา จนกระทั่งถึงการใช้ยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาซึ่งสามารถบังคับใช้ได้เฉพาะหน่วยงานและหน่วยบริการในสังกัด สธ. เท่านั้น* แต่หน่วยงานหรือหน่วยบริการอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือสังกัดของ สธ. จะไม่ถูกบังคับให้ปฏิบัติตามประกาศฯ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงเห็นควรเสนอข้อเสนอแนะเพิ่มเติม (จากเดิมที่เคยมีข้อเสนอแนะซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแล้ว เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2560) โดยให้หน่วยงานและหน่วยบริการ (นอกเหนือสังกัดของ สธ.) ซึ่งข้าราชการสามารถเบิกจ่ายยาได้ตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลกำหนดหลักเกณฑ์จริยธรรมในการจัดซื้อจัดหาและการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาให้มีรายละเอียดในลักษณะเดียวกับของ สธ. หรือดำเนินการอื่นใดตามภารกิจ บทบาทและอำนาจหน้าที่ เพื่อให้มาตรการป้องกันการทุจริตจากกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการพยาบาลข้าราชการสามารถบังคับใช้ได้ครอบคลุมกับทุกหน่วยงานและหน่วยบริการ
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลค.) เห็นสมควรมอบหมาย สธ. เป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับ กระทรวงกลาโหม (กห.) กค. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของมาตรการดังกล่าวโดยให้ สธ. สรุปผลการพิจารณา/ผลการดำเนินการ/ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้ สลค. ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจาก สลค. เพื่อนำเสนอคณัฐมนตรีต่อไป
3. สธ. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กห. กค. อว. มท. ยธ. ศธ. ตช. และ สปสช. เกี่ยวกับข้อเสนอแนะเพิ่มเติมดังกล่าว โดยสรุปผลการพิจารณาในภาพรวมพบว่าทุกหน่วยงานเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะเพิ่มเติม มาตรการดังกล่าวของคณะกรรมการ ป.ป.ช. สรุปได้ ดังนี้
มาตรการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. |
สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม |
|
ให้หน่วยงานและหน่วยบริการ [นอกเหนือสังกัดของ สธ. ซึ่งไม่ถูกบังคับตามประกาศของ สธ. เรื่อง เกณฑ์จริยธรรมการจัดซื้อจัดหาและการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาของ สธ. พ.ศ. 2564 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2564)] ซึ่งข้าราชการสามารถเบิกจ่ายยาได้ตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล (เช่น โรงพยาบาลในมหาวิทยาลัยและโรงเรียนแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์หรือวิทยาลัยแพทยศาสตร์ต่างๆ สังกัด อว. สำนักการแพทย์ สังกัดกรุงเทพมหานคร สำนักงานแพทย์ใหญ่ สังกัด ตช. กรมแพทย์ทหารบก สังกัดกองทัพบก กรมแพทย์ทหารเรือ สังกัดกองทัพเรือ กรมแพทย์ทหารอากาศ สังกัดกองทัพอากาศ ทัณฑสถาน โรงพยาบาลราชทัณฑ์ สังกัดกรมราชทัณฑ์ ยธ. และโรงพยาบาลในสังกัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) กำหนดหลักเกณฑ์จริยธรรมในการจัดซื้อจัดหาและการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาให้มีรายละเอียดในลักษณะเดียวกับของ สธ. หรือดำเนินการอื่นใดตามภารกิจ บทบาท และอำนาจหน้าที่ เพื่อให้มาตรการป้องกันการทุจริตจากกระบวนการเบิกจ่ายยาตามสิทธิสวัสดิการพยาบาลข้าราชการสามารถบังคับใช้ได้ครอบคลุมกับทุกหน่วยงานและหน่วยบริการ |
เห็นด้วย ตามข้อเสนอแนะเพิ่มเติม มาตรการดังกล่าวตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอ เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์จริยธรรมในการจัดซื้อจัดหายาและการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาให้มีรายละเอียดในลักษณะเดียวกันกับของ สธ. และสามารถบังคับใช้ได้ครอบคลุมกับทุกหน่วยงานและหน่วยบริการ ซึ่งข้าราชการสามารถเบิกจ่ายยาได้ตามสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล เพื่อป้องกันการทุจริตในการเบิกจ่ายยา มีการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผลและลดค่าใช้จ่ายจากการเบิกจ่ายยาที่ไม่จำเป็น |
_____________________________
*ประกาศ สธ. เรื่อง เกณฑ์จริยธรรมการจัดซื้อจัดหาและการส่งเสริมการขายยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาของ สธ. พ.ศ. 2564 ข้อ 4 กำหนดให้ “หน่วยงาน” หมายความว่า หน่วยงานระดับกอง หรือเทียบเท่าในสังกัด สธ. ซึ่งมีการดำเนินการในการจัดหาหรือควบคุมการใช้ยาและเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยา และ “หน่วยบริการ” หมายความว่า หน่วยบริการตามระเบียบ สธ. ว่าด้วยเงินบำรุงของหน่วยบริการในสังกัด สธ.
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11723