โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 16 November 2022 00:53
- Hits: 1018
โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 และอนุมัติหลักการโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุน ค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ โดยอนุมัติกรอบวงเงินตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ดังนี้
กรอบวงเงินในการดำเนินโครงการตามกรอบมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จำนวน 66,040.906 ล้านบาท
1. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 กรอบวงเงินงบประมาณตามกรอบมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จำนวน 18,700.13 ล้านบาท โดยเห็นสมควรให้ พณ. ดำเนินมาตรการบริหารจัดการด้านการตลาดเพื่อเพิ่มปริมาณอุปสงค์ (Demand) ของสินค้าข้าว ทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะในช่วงที่ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เพื่อรักษาระดับราคาข้าวในประเทศไม่ให้ตกต่ำและทำให้การดำเนินโครงการอยู่ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ ที่ได้รับอนุมัติ
2. มาตรการคู่ขนาน โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี และโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร กรอบวงเงินงบประมาณตามกรอบมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมจำนวน 7,482.69 ล้านบาท สำหรับโครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อกปีการผลิต 2565/66 ที่ขอรับจัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรืองบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 540 ล้านบาท นั้น เห็นสมควรให้ใช้จ่ายจากงบประมาณของกรมการค้าภายในเป็นลำดับแรกก่อน โดยปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือโอนเงินจัดสรร หรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร ตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ พ.ศ. 2562 หรือใช้จ่ายจากเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร แล้วแต่กรณี หากไม่เพียงพอให้ พณ. ขอรับการจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอน ของระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
3. สำหรับมาตรการเพื่อช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยเป็นการจ่ายเงินให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 4.678 ล้านครัวเรือน ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท เห็นสมควรให้ใช้จากกรอบวงเงินโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ตามกรอบมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จำนวน 39,858.086 ล้านบาท (ประกอบด้วยงบประมาณจ่ายขาดให้เกษตรกร วงเงิน 39,111.14 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายของ ธ.ก.ส. วงเงิน 746.946 ล้านบาท) และให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ของกรมการข้าว กษ. รายการเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายตามโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ที่ได้รับจัดสรรงบประมาณแล้ว จำนวน 15,225 ล้านบาท โดยจะทำให้กรอบวงเงินเพื่อช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 รวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น 55,083.086 ล้านบาท โดยเห็นสมควรให้ พณ. กษ. และ ธ.ก.ส. หารือแนวทางการดำเนินโครงการและวิธีการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวร่วมกัน โดยให้เป็น การจ่ายเงินเข้าบัญชีให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรโดยตรง และร่วมกันส่งเสริมการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตข้าวอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อลดภาระของภาครัฐในการสนันสนุนโครงการดังกล่าวในอนาคต
รวมเป็นกรอบวงเงินโครงการและมาตรการของ พณ. จำนวนทั้งสิ้น 66,580.906 ล้านบาท จำแนกเป็นกรอบวงเงินตามกรอบมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จำนวน 66,040.906 ล้านบาท และงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรมการค้าภายในหรือเงินกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร วงเงิน 540 ล้านบาท สำหรับส่วนที่เหลือใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของกรมการข้าว จำนวน 15,225 ล้านบาท โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามกรอบมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เห็นสมควรให้ ธ.ก.ส. จัดทำแผนการปฏิบัติงาน และแผนการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามผลการดำเนินการจริงตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวมีผลให้รัฐต้องชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานของรัฐ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 จึงเห็นสมควรให้เป็นตามความเห็นของกระทรวงการคลัง (กค.) โดยให้จัดทำประมาณการต้นทุนทางการเงินและการบริหารจัดการภาครัฐต่อภาระทางการคลังในภาพรวมให้สอดคล้องกับรายรับ และพิจารณาถึงความสามารถของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่จะต้องตั้งงบประมาณรองรับ รวมถึงภาระทางการคลังทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนพิจารณาถึงความคุ้มค่าและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับอย่างยั่งยืน
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. ผลการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 มีดังนี้
1.1 โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2564/65 รอบที่ 1 ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2565 ธ.ก.ส. โอนเงินชดเชยให้เกษตรกรแล้ว 4.675 ล้านครัวเรือน จำนวน 86,169.17 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 97 ของวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีมนุมัติ (88,711.74 ล้านบาท)
1.2 มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2564/65 ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2565 สามารถดึงอุปทานได้รวม 5.380 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 72 ของเป้าหมาย (7.5 ล้านบาท)
1.3 โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 ธ.ก.ส. โอนเงินให้เกษตรกรแล้ว 4.675 ล้านครัวเรือน จำนวน 54,155.50 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 97 ของวงเงินงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ 55,567.36 ล้านบาท)
2. โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
เป้าหมาย |
ประกันรายได้ข้าวเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเปลือกหอมมะลิ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ข้าวเปลือกปทุมธานี ข้าวเปลือกเจ้า และข้าวเปลือกเหนียว ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศ ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือน |
|
ราคาและปริมาณประกันรายได้ |
กำหนดราคาและปริมาณประกันรายได้ เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ณ ราคาความชื้นไม่เกินร้อยละ 15 โดยชดเชยเป็นจำนวนตัน ในแต่ละชนิดข้าว ดังนี้ - ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันรายได้ 15,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน - ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันรายได้ 14,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน - ข้าวเปลือกปทุมธานี ราคาประกันรายได้ 11,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน - ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันรายได้ 10,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ตัน - ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันรายได้ 12,000 บาทต่อตัน ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน |
|
เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย |
- เป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2565/66 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2565 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2565 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 โดยกรอบระยะเวลาการขึ้นทะเบียนในแต่ละพื้นที่ให้เป็นไปตามประกาศของ กษ. - ที่นาแปลงใดแปลงหนึ่งสามารถรับสิทธิประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 ได้แปลงละ 1 ครั้ง เท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการจ่ายเงินซ้ำซ้อน |
|
การคำนวณปริมาณผลผลิต |
การคำนวณปริมาณผลผลิตของเกษตรกรที่จะได้รับสิทธิในการชดเชย ให้ใช้ปริมาณผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร |
|
การกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิง |
กำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 – พฤษภาคม 2566 โดยจะประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงทุกวันศุกร์ งวดแรกเริ่มวันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2565 และงวดสุดท้ายจะประกาศวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2566 สำหรับเกษตรกรที่ระบุวันที่คาดว่า จะเก็บเกี่ยวจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 |
|
การจ่ายเงิน |
ธ.ก.ส. จ่ายเงินชดเชยเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง |
3. มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 จำนวนทั้งสิ้น 3 โครงการ วงเงินรวมทั้งสิ้น 81,612.69 ล้านบาท จำแนกเป็นวงเงินสินเชื่อ 73,590 ล้านบาท วงเงินจ่ายขาด 8,022.69 ล้านบาท ดังนี้
3.1 โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2565/66 (โดย ธ.ก.ส.)
หัวข้อ |
รายละเอียด |
|
วิธีการ |
ธ.ก.ส. จ่ายสินเชื่อตามโครงการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในพื้นที่ปลูกข้าว ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อชะลอข้าวเปลือกไว้ในยุ้งฉางเกษตรกรและสถาบันเกษตร 2.5 ล้านตันข้าวเปลือก |
|
วงเงินสินเชื่อต่อตัน |
- ข้าวเปลือกหอมมะลิ ตันละ 11,000 บาท - ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 9,500 บาท - ข้าวเปลือกปทุมธานี ตันละ 7,300 บาท - ข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 5,400 บาท - ข้าวเปลือกเหนียว ตันละ 8,600 บาท |
|
ค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวเปลือก |
กำหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับค่าฝากเก็บและรักษาคุณภาพข้าวในอัตรา 1,500 บาทต่อตันข้าวเปลือก โดยเกษตรกรที่เก็บข้าวเปลือกในยุ้งฉางตนเองได้รับเต็มจำนวน สำหรับสถาบันเกษตรกรที่รับซื้อข้าวเปลือกเข้าโครงการฯ ได้รับอัตรา 1,000 บาทต่อตันข้าวเปลือก และเกษตรกรผู้ขายข้าวได้รับในอัตรา 500 บาทต่อตันข้าวเปลือก |
|
การระบายข้าวเปลือก |
กรณีที่มีการระบายข้าวเปลือกให้ ธ.ก.ส. สำรองจ่ายค่าขนย้ายข้าวเปลือกที่ ธ.ก.ส. ตามวงเงินที่สำรองจ่ายและชดเชยต้นทุนเงินให้ ธ.ก.ส. |
|
ระยะเวลาดำเนินการ |
- ระยะเวลาจัดทำสัญญา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 (ภายใต้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2566) - ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้เสร็จสิ้นไม่เกิน 5 เดือนนับถัดจากเดือนรับเงินกู้และเมื่อกำหนดชำระคืน หากราคาตลาดต่ำกว่าวงเงินสินเชื่อต่อตันสามารถขยายเวลาชำระคืนไม่เกิน 3 คราว คราวละ 1 เดือน ภายในระยะเวลาโครงการฯ - ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 31 ธันวาคม 2566 |
3.2 โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2565/66 (โดย ธ.ก.ส.)
หัวข้อ |
รายละเอียด |
วิธีการ |
สนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และศูนย์ข้าวชุมชน เพื่อรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย และ/หรือเพื่อการแปรรูป วงเงินสินเชื่อเป้าหมาย 10,000 ล้านบาท คิดเป็นข้าวเปลือก 1 ล้านตันข้าวเปลือก และจำนวนสินเชื่อคงเหลือภายในระยะเวลาโครงการฯ ไม่เกินวงเงินสินเชื่อเป้าหมาย โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเท่ากับร้อยละ 4 ต่อปี (ปัจจุบัน MLR ร้อยละ 4.875 ต่อปี) โดยสถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี รัฐบาลรับภาระชดเชยดอกเบี้ยให้สถาบันเกษตรกร ร้อยละ 3 ต่อปี |
ระยะเวลาดำเนินการ |
ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 31 ธันวาคม 2566 |
3.3 โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต็อก ปีการผลิต 2565/66 (โดยกรมการค้าภายใน)
หัวข้อ |
รายละเอียด |
วิธีการ |
เพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการค้าข้าวที่เข้าร่วมโครงการให้เก็บสต็อกในรูปข้าวเปลือกและข้าวสาร เป้าหมายดูดซับ 4 ล้านตันข้าวเปลือก เก็บสต็อกไว้อย่างน้อย 60 – 180 วัน (2 – 6 เดือน) นับแต่วันที่รับซื้อ โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 |
ระยะเวลาดำเนินการ |
- ระยะเวลาการรับซื้อข้าวจากเกษตรกรตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 – 31 มีนาคม 2566 (ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2566) - ระยะเวลาการเก็บสต็อกข้าว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 – 31 ธันวาคม 2566 - ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 31 ตุลาคม 2567 |
4. โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66
หัวข้อ |
รายละเอียด |
กลุ่มเป้าหมาย |
เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรประมาณ 4.68 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ |
วิธีการ |
กรมส่งเสริมการเกษตร นำข้อมูลรายชื่อเกษตรกรที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ผู้ปลูกข้าว ปี 2565 กับกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งให้ ธ.ก.ส. สำนักงานใหญ่เพื่อดำเนินการจ่ายเงินให้เกษตรกร ในอัตราไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 20,000 บาท |
ระยะเวลาดำเนินการ |
ระยะเวลาโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 – 30 กันยายน 2566 |
5. คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ได้รับทราบผลการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2564/65 และเห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว พร้อมมาตรการคู่ขนาน และโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 และให้ พณ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาตินำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในคราวนี้ด้วยแล้ว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11722