สรุปผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ครั้งที่ 15
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 16 November 2022 00:03
- Hits: 1120
สรุปผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย ครั้งที่ 15
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย สมัยที่ 15 (United Nations Convention to Combat Desertification: UNCCD COP 15) ระหว่างวันที่ 9 - 20 พฤษภาคม 2565 ณ เมืองอานีจาน สาธารณรัฐโกตดิวัวร์ ทวีปแอฟริกา [คณะรัฐมนตรีมีมติ (3 พฤษภาคม 2565) เห็นชอบท่าทีการเจรจาของประเทศไทยสำหรับเป็นกรอบในการประชุมภาคี UNCCD COP 15 และรับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุม UNCCD COP 15] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ผลการประชุม UNCCD COP 15 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ/ผลการประชุม |
|
(1) การพัฒนาที่ยั่งยืนในบริบทที่เกี่ยวข้องกับ UNCCD COP 15 |
ให้มีการพัฒนากระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างการรับรู้ในการดำเนินการตาม UNCCD การสร้างความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ โดยเน้นการเป็นหุ้นส่วนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป้าหมาย ความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดิน และส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานในระดับประเทศ เช่น การบูรณาการการวางแผนการใช้ที่ดินสู่การดำเนินโครงการที่ส่งผลต่อการจัดการความเสื่อมโทรมของที่ดิน และการขับเคลื่อนการดำเนินงานการฟื้นฟูที่ดินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วยความสมัครใจ |
|
(2) การติดตามการประเมินผลการดำเนินงานในช่วงกลางของแผนยุทธศาสตร์ของ UNCCD COP 15 ปี 2561 - 2573 |
ให้จัดตั้งคณะทำงานระหว่างรัฐบาลในการจัดการกับภัยแล้งและคณะทำงานระหว่างรัฐบาลในการติดตามและประเมินผลช่วงกลางของ UNCCD เพื่อพิจารณาเกณฑ์การประเมินโดยเน้นผลกระทบด้านความยั่งยืนและประสิทธิภาพการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ รวมทั้งความเท่าเทียมในการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานตาม UNCCD |
|
(3) การพัฒนาการดำเนินงานความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดินและการพัฒนาวิชาการนโยบาย และการเผยแพร่ความรู้ |
- ส่งเสริมการจัดการที่ดินอย่างยั่งยืนโดยการเพิ่มหรือรักษาปริมาณอินทรีย์คาร์บอนในดินเพื่อจัดการกับความเสื่อมโทรมของที่ดิน การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ การพัฒนาระบบเตือนภัย และการติดตามประเมินผลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัว เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อต่างๆ และการสนับสนุนบทบาทของเยาวชนและสตรีที่จะเป็นกลไกหลักในการผลักดันและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้เกิดการบูรณาการและประโยชน์ที่หลากหลาย - พัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้และปรับปรุงการเก็บรวบรวมข้อมูล รวมทั้งประเมินความเสี่ยงในระดับต่างๆ โดยการประสานข้อมูลที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา รวมถึงหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาในมิติต่างๆ เช่น มิติด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม - พัฒนาความรู้ของ UNCCD อย่างครบวงจรเพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่สถาบันสังคม องค์กรภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้เกิดความร่วมมือแบบบูรณาการในการแก้ปัญหาภัยแล้ง การจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน และการบรรลุเป้าหมายความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดิน |
|
(4) แผนการดำเนินงาน UNCCD ระยะ 4 ปี (2565 - 2568) |
เห็นชอบให้กลไกทางการเงินของ UNCCD สนับสนุนแผนงานที่เกี่ยวกับเป้าหมายความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดิน เพื่อให้แต่ละประเทศสามารถนำไปปฏิบัติในระดับพื้นที่ได้ โดยมีเป้าหมายหลัก ได้แก่ การลดพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความเสื่อมโทรมของที่ดิน การต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย และการสร้างและพัฒนาระบบเตือนภัยล่วงหน้า รวมทั้งเห็นชอบให้สำนักงานเลขาธิการของ UNCCD สนับสนุนแนวทางการทำงานร่วมกันของอนุสัญญาที่เกิดจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร สหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล ได้แก่ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังให้ความสำคัญกับเรื่องต่างๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนและนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ เรื่องเพศ ฝุ่นและพายุทราย กรรมสิทธิ์ที่ดิน และภัยแล้ง |
|
(5) การพัฒนากระบวนการสื่อสารข้อมูล คุณภาพและรูปแบบของรายงานที่จะเสนอต่อที่ประชุมภาคี UNCCD |
พัฒนากระบวนการรายงานและขั้นตอนในการสื่อสารข้อมูลด้วยการบูรณาการเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 15 (Sustainable Development Goals: SDGs 15) เพื่อกำหนดทิศทางและเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนากระบวนการจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน ฐานข้อมูลและศักยภาพให้กับประเทศภาคีสมาชิก รวมทั้งเห็นชอบเกณฑ์การจัดทำรายงานผลการดำเนินงาน ประกอบด้วย สัดส่วนพื้นที่ภัยแล้งเทียบกับพื้นที่ทั้งหมด สัดส่วนของประชากรที่ประสบปัญหาภัยแล้งต่อประชากรทั้งหมด และระดับความเปราะบางจากปัญหาภัยแล้ง โดยประเทศภาคีสมาชิกจะต้องรายงานตัวชี้วัดภัยแล้งดังกล่าว ซึ่งสำนักเลขาธิการ UNCCD จะรวบรวมและสนับสนุนข้อมูลแก่ประเทศสมาชิก รวมทั้งให้การช่วยเหลือด้านวิชาการและการพัฒนาศักยภาพในการรวบรวม ตรวจสอบ และใช้ประโยชน์จากข้อมูล |
2. ประเด็นสำคัญที่จะต้องดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้
1) ทบทวนและจัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติของ UNCCD ปี 2564 - 2573 เพื่อเชื่อมโยงเป้าหมายและมาตรการความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดิน ได้แก่ (1) การเพิ่มสัดส่วนพื้นที่ป่าไม้ของประเทศด้วยการปลูกป่าและฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำที่เสื่อมสภาพ (2) การปรับปรุงและฟื้นฟูทรัพยากรดินที่เสื่อมโทรมให้กลับมามีศักยภาพเพื่อให้ผลผลิตที่ดี โดยเน้นการเกษตรแบบยั่งยืน และ (3) การลดการสูญเสียคาร์บอนในดินและเพิ่มปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในดินด้วยการอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการที่ดิน
2) ขับเคลื่อนการจัดทำเป้าหมายและตัวชี้วัดความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดินในระดับพื้นที่ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ
3) สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาคประชาสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อเชื่อมโยงประเด็นความสมดุลของการจัดการทรัพยากรที่ดิน การถือครองที่ดิน ภัยแล้ง และการมีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียม
4) พัฒนาแผนงานโครงการที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่เพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างเป็นรูปธรรม
5) พัฒนาความร่วมมือและการดำเนินงานให้สอดคล้องกับแนวทางการทำงานร่วมกันจากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเพื่อนำไปสู่แนวทางปฏิบัติร่วมกันในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
6) สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ กลไก ทางการเงินของอนุสัญญา กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก และกองทุนภูมิอากาศสีเขียว เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการ
A11718