WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ขอความเห็นชอบโครงการบูรณาการการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Mainstreaming Biodiversity-based Tourism in Thailand to Support Sustainable Tourism Development)

GOV 17

ขอความเห็นชอบโครงการบูรณาการการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Mainstreaming Biodiversity-based Tourism in Thailand to Support Sustainable Tourism Development)

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ ดังนี้

          1. เห็นชอบโครงการบูรณาการการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Mainstreaming Biodiversity - based Tourism in Thailand to Support Sustainable Tourism Development) (โครงการฯ

          2. มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพเป็นผู้ลงนามในเอกสารโครงการกับผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme : UNDP) ประเทศไทย

          3. หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารโครงการดังกล่าวในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ส่งผลกระทบผูกพันเชิงนโยบาย ให้ ทส. ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

[UNDP ประเทศไทยประสานขอให้มีการลงนามในเอกสารโครงการ (ตามข้อ 2) ภายในเดือนตุลาคม 2565 (ทส. แจ้งข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการว่า ได้ประสานขอเลื่อนวันลงนามเป็นโดยเร็วที่สุดภายหลังจากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว)]

          สาระสำคัญของเรื่อง

          ทส. รายงานว่า

          1. ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และได้ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในการเป็นต้นทุนทางทรัพยากรที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพบว่าความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยถูกคุกคามจากการใช้ประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงศักยภาพในการฟื้นตัว รวมทั้งผลกระทบจากปัจจัยอื่นๆ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ที่ผิดกฎหมาย การประมงเกินขนาด ปัญหามลพิษ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวคืออีกหนึ่งในความกังวลของภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย แม้ว่าภาคการท่องเที่ยวถือเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้หลักให้กับประเทศ ซึ่งในปี 2562 รายได้จากการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 20 ของ GDP แต่การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศที่ผ่านมา รวมถึงภาวะนักท่องเที่ยวเกินกว่าความสามารถของแหล่งท่องเที่ยวที่จะรองรับได้มีแนวโน้มที่จะสร้างความเสียหาย ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ พื้นที่ธรรมชาติซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์เสี่ยงต่อการถูกทำลายจนอาจเป็นสาเหตุนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตได้ นอกจากนี้รายได้จากการท่องเที่ยวไม่ได้กระจายไปสู่ชุมชนอย่างเหมาะสม เนื่องจากผลกำไรจากการท่องเที่ยวประมาณร้อยละ 80 กลับไปสู่ภาคธุรกิจแทนที่จะกระจายไปยังชุมชนท้องถิ่น จากปัญหาผลกระทบดังกล่าวประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ก่อให้เกิดรูปแบบการท่องเที่ยว โดยให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่บูรณาการความสำคัญของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพให้กลับคืนสู่สภาพเดิม และสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำรงชีพของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน และขณะเดียวกันสามารถตอบสนองพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปภายใต้ความปกติใหม่ (new normal) ดังนั้น การบูรณาการการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ภายใต้ ทส. ร่วมกับ UNDP ประเทศไทย จึงได้พัฒนาโครงการฯ โดยขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF)

 

PTG 720x100TU720x100

 

          2. ทส. ได้รับรองโครงการฯ และเสนอไปยังกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกเพื่อพิจารณาให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานโครงการเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 และต่อมาประธานบริหารกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF CEO and Chairperson) ได้เห็นชอบข้อเสนอโครงการ วงเงินงบประมาณดำเนินโครงการ 2,639,726 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 97.67 ล้านบาท โดยคำนวณจาก 1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 37 บาท) และอนุมัติวงเงินงบประมาณในการเตรียมโครงการ (Project Preparation Grant : PPG) จำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.70 ล้านบาท) เพื่อจัดทำเอกสารโครงการฉบับสมบูรณ์เสนอต่อกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (จำนวน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ ไม่รวมอยู่ในงบดำเนินโครงการฯ)

          3. UNDP ประเทศไทย โดยความร่วมมือของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) จัดทำเอกสารโครงการฉบับสมบูรณ์ ส่งไปยังกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) และเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565 UNDP ประเทศไทย แจ้งให้ทราบว่าประธานบริหารกองทุนสิ่งแวดล้อมโลกได้อนุมัติโครงการฯ เรียบร้อยแล้ว

          4. โครงการฯ มีสาระสำคัญโดยสรุป ดังนี้

 

ประเด็น

สาระสำคัญ

วัตถุประสงค์ของโครงการ

เพื่อบูรณาการการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับการพัฒนาและการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยวทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น โดยมีการพัฒนากรอบนโยบายด้านการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากการท่องเที่ยวต่อความหลากหลายทางชีวภาพและส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และชุมชนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง

พื้นที่เป้าหมาย

โครงการฯ กำหนดพื้นที่เป้าหมาย (นำร่อง) 3 พื้นที่ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ พื้นที่เป้าหมายหลัก 2 พื้นที่ คือ บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีและอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด โดยรวมพื้นที่ทั้งทางบกและทางทะเลจำนวนทั้งสิ้น 115,366.39 เฮกเตอร์ (หรือคิดเป็น 721,039.93 ไร่) และพื้นที่ทำงานข้างเคียงบริเวณปากน้ำปราณบุรี ทั้งพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเล และพื้นที่ชุ่มน้ำสามร้อยยอด รวมทั้งสิ้น 17,208.60 เฮกเตอร์ (หรือคิดเป็น 107,553.75 ไร่) ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าวจัดเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศที่หลากหลาย มีแหล่งภูมิทัศน์ที่สวยงามและความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญในระดับโลก รวมทั้งมีพื้นที่แนวชายฝั่งซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำนานาชนิด

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ได้แก่ ทส. (กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมป่าไม้) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) (กรมการท่องเที่ยวและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) ภาคส่วนจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ องค์กรภาคประชาสังคม และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง

ระยะเวลา

โครงการมีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (เริ่มตั้งแต่ .. 2565 - 2569)

องค์ประกอบโครงการฯ

โครงการฯ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ดังนี้

(1) กรอบนโยบายระดับชาติที่มีการบูรณาการและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายชีวภาพ โดยจะเน้นที่การจัดการประเด็นความท้าทายในเรื่องการบูรณาการกรอบนโยบายการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับการพัฒนาการท่องเที่ยว และแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องมือและเทคนิควิธีในการจำแนกและติดตามการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งการดำเนินกิจกรรมภายใต้องค์ประกอบนี้จะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกรอบนโยบาย มาตรฐานการดำเนินงานต่างๆ ที่มีการบูรณาการความสำคัญของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพกับการพัฒนาการท่องเที่ยวไว้อย่างชัดเจนและมีความสอดคล้องกัน

ผลลัพธ์ นโยบายและมาตรฐานที่บูรณาการความสำคัญของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับการพัฒนาการท่องเที่ยวไว้อย่างชัดเจนและมีความสอดคล้องกัน

ผลผลิต ประกอบด้วย

     (1.1) การพัฒนากลยุทธ์การท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพในระดับชาติ และเพิ่มประสิทธิภาพของกลไกการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดกลยุทธ์การท่องเที่ยวที่ส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ

     (1.2) การพัฒนากลไกและการดำเนินงานทางการเงินเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและลดผลกระทบจากการท่องเที่ยว

     (1.3) แนววิธีปฏิบัติ สำหรับการประเมินและติดตามตรวจสอบผลกระทบจากการท่องเที่ยวต่อสังคม เศรษฐกิจและระบบนิเวศที่น่าเชื่อถือ และสามารถนำไปปฏิบัติได้

     (1.4) การบูรณาการการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับเกณฑ์หรือมาตรฐานการรับรองด้านการท่องเที่ยวในระดับประเทศที่มีอยู่ และเกิดแรงจูงใจในการนำไปประยุกต์ใช้

     (1.5) การพัฒนาศักยภาพด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพตั้งแต่การวางแผนพัฒนาและดำเนินงานการท่องเที่ยวแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศและระดับจังหวัด

(2) ต้นแบบการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับการท่องเที่ยวระดับจังหวัด จะเน้นที่การจัดการกับประเด็นความท้าทายต่างๆ ได้แก่ แนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ยังไม่มีการใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ กลไกทางการเงินในการปันรายได้จากการท่องเที่ยวกลับสู่การอนุรักษ์ และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น การบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติที่ยังไม่เทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งการดำเนินกิจกรรมภายใต้องค์ประกอบนี้จะช่วยสร้างผลลัพธ์ในระยะกลาง คือกรอบการวางแผนการท่องเที่ยวในพื้นที่นำร่องที่สอดคล้องกัน การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมที่สนับสนุนการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์ในระยะยาวคือ แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้รับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยที่ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการอนุรักษ์และมีกลไกทางการเงินที่สนับสนุนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ ขณะเดียวกันคนในชุมชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง

ผลลัพธ์ รูปแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นำร่องของโครงการฯ ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ผลผลิต ประกอบด้วย

     (2.1) การพัฒนาแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การนำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental and Social Assessment : SESA) มาใช้ในการจัดทำแผนปฏิบัติการกลยุทธ์การท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ

     (2.2) การนำแผนการจัดการผู้เยี่ยมชมและรูปแบบการสร้างรายได้ที่ประเมินความเปลี่ยนแปลงตามวิธี Management Effectiveness Tracking Tool (METT) ไปใช้ในพื้นที่เป้าหมายของโครงการ

     (2.3) การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการบริการการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างผลประโยชน์ในการดำรงชีพ พัฒนาความเท่าเทียมและโอกาสสำหรับผู้หญิงและเยาวชน

(3) การจัดการองค์ความรู้ การสร้างความตระหนักรู้ การผนวกแนวคิดด้านความเสมอภาคทางเพศ และการติดตามและประเมินผล องค์ประกอบนี้จะสนับสนุนการดำเนินงานขององค์ประกอบ 1 และองค์ประกอบ 2 ซึ่งจัดการปัญหาความท้าทายในเรื่องของการกระจายผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชน ซึ่งการดำเนินกิจกรรมภายใต้องค์ประกอบนี้จะสนับสนุนการสร้างจิตสำนึกให้กับนักท่องเที่ยว ชุมชนท้องถิ่น สมาคมการท่องเที่ยว ให้เห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ ความสำเร็จในการดำเนินโครงการจะเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices) ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการส่งเสริมและขยายผลการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ผลลัพธ์ การสร้างการตระหนักรู้ การปรับปรุงช่องทางการตลาดและการจัดการองค์ความรู้ เพื่อยกระดับและนำรูปแบบการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ

ผลผลิต ประกอบด้วย

     (3.1) การสนับสนุนการเข้าถึงการตลาดดิจิทัล (e-marketplace) สำหรับผู้ให้บริการการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ

     (3.2) การรณรงค์ เผยแพร่และให้ความรู้เกี่ยวกับการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับการท่องเที่ยว แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาคประชาสังคมและนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

     (3.3) รูปแบบการแลกเปลี่ยนความรู้ในชุมชน เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ ถอดบทเรียน รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ดี (best practices) เพื่อเป็นแบบอย่างนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย

     (3.4) ระบบการติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน และผลกระทบของโครงการที่ผนวกแนวคิดด้านความเสมอภาคทางเพศ

งบประมาณ

งบประมาณโครงการฯ รวมทั้งสิ้น 22,456,860 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 930.90 ล้านบาท) แบ่งเป็น

- งบประมาณโครงการฯ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก จำนวน 2,639,726 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 97.67 ล้านบาท)

- งบประมาณสมทบที่ไม่อยู่ในรูปเงินสด (in kind) รวมถึงงบดำเนินงานตามกิจกรรมในพื้นที่โครงการ (public investment) จากหน่วยงานผู้เสนอโครงการ ซึ่งหมายถึงสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 19,817,134 ดอลลาร์สหรัฐ* (ประมาณ 733.23 ล้านบาท)

*หมายเหตุ เป็นงบประมาณที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับจัดสรรประจำปีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมที่สนับสนุนหรือสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการฯ โดยได้รวบรวมข้อมูลดังกล่าวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาใช้อ้างอิงในโครงการฯ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

(1) กรอบนโยบายระดับชาติที่มีการบูรณาการและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวบนพื้นฐานความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งกลไกการประสานงานและเชื่อมโยงงานในระดับต่างๆ ในการติดตามและดำเนินภารกิจอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

(2) ต้นแบบของแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน โดยที่ความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการอนุรักษ์ และมีกลไกทางการเงินที่สนับสนุนการดำเนินการด้านความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่

(3) องค์ความรู้ที่ก่อให้เกิดความตระหนักด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างจิตสำนึกในคุณค่าและความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพและกระบวนการที่จะนำไปสู่การอนุรักษ์ ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

 

          5. ในการดำเนินโครงการฯ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) มีหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักในการนำแผนงานโครงการไปสู่การปฏิบัติให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และกิจกรรมการดำเนินงานของโครงการ รวมทั้งจัดตั้งคณะกรรมการกำกับโครงการ (Project Steering Committee) เพื่อกำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการฯ ให้บรรลุผลตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และ UNDP ประเทศไทยมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการเป็นหน่วยสนับสนุนโครงการ (Project Assurance) มีหน้าที่สนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการกำกับโครงการในการดูแลโครงการให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้และติดตามตรวจสอบโครงการ เพื่อให้โครงการดำเนินไปตามกรอบระยะเวลาและเสร็จสมบูรณ์ตามกรอบเวลาในแต่ละขั้นตอน

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์  จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 พฤศจิกายน 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A11717

Click Donate Support Web  

EXIM One 720x90 C J

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ธกส 720x100

ใจฟู720x100px

ais 720x100

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!