ร่างแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. 2565 - 2569)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 15 November 2022 23:43
- Hits: 1043
ร่างแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. 2565 - 2569)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างบันทึกวาจาและร่างแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (พ.ศ. 2565 - 2569) (Joint Action Plan on Thailand – China Strategic Cooperation between the Government of the Kingdom of Thailand and the Government of the People’s Republic of China (2022 - 2026)) รวมทั้งอนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย เป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกวาจาดังกล่าว ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างบันทึกวาจาฯและร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ เพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. ร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 4 เป็นกรอบดำเนินความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมอย่างรอบด้านระหว่างไทย - จีน ระหว่างปี 2565 - 2569 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนความสัมพันธ์หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านระหว่างทั้งสองประเทศ และเตรียมการสู่การครบครอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย - จีน ในปี ๒๕'๖๘ รวมถึงสนับสนุนการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย - จีน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ ยังจะช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของทั้งสองฝ่าย โดยในส่วนของไทยได้แก่ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561 - 2580 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566 – 2570 และนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy)
2. ร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ ประกอบด้วย 2 ส่วน (รูปแบบเดียวกับแผนปฏิบัติการร่วมฯ 3 ฉบับที่ผ่านมา) ได้แก่
1) ร่างบันทึกวาจา (Procès-Verbal) สรุปเจตนารมณ์ของทั้งสองฝ่ายที่เห็นพ้อง การประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 4 เพื่อขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้านในสาขาต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันไทย – จีน เพื่อนำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนยิ่งขึ้น
2) ร่างแผนปฏิบัติการร่วมฯ มีสาระสำคัญต่อยอดจากแผนปฏิบัติการร่วมฯ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2560 - 2564) โดยครอบคลุม 18 สาขา ได้แก่ (1) การเมือง (2) การทหารและความมั่นคง (3) เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน (4) การเงินและการธนาคาร (5) เศรษฐกิจดิจิทัล เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (6) อุตสาหกรรม (7) เกษตรกรรม (8) ศุลกากร การตรวจสอบ และการกักกันโรค (9) พลังงาน (10) คมนาคมและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (11) วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (12) ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม (13) วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว (14) การศึกษา (15) สาธารณสุข (16) ประกันสังคมและการลดความยากจน (17) สื่อและประชาสัมพันธ์ และ (18) ความร่วมมือในระดับภูมิภาคและพหุภาคี พร้อมกับระบุเป้าหมายและแผนปฏิบัติการซึ่งกำหนดกิจกรรมหรือความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันผลักดัน ตลอดจนกลไกการติดตามผลการดำเนินการ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11713