ร่างแผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (พ.ศ. 2565 - 2567) และร่างบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 08 November 2022 21:09
- Hits: 905
ร่างแผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (พ.ศ. 2565 - 2567) และร่างบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างแผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (พ.ศ. 2565 - 2567) และร่างบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของแผนการขับเคลื่อนฯ และร่างบันทึกความเข้าใจข้างต้นในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของฝ่ายไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
2. อนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามใน ร่างแผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (พ.ศ. 2565 - 2567) และร่างบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย
สาระสำคัญ
1. ร่างแผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (พ.ศ. 2565 - 2567) มีสาระสำคัญ ดังนี้
1.1 ราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเห็นพ้องที่จะยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศไปสู่ระดับที่สูงขึ้น
1.2 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะมอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียจัดทำบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม เพื่อเป็นกลไกในการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนฯ ฉบับนี้ในโอกาสแรก สภาความร่วมมือดังกล่าวจะประชุมกันทุกสองปีที่ประเทศไทยและที่ซาอุดีอาระเบียสลับกันหรือบ่อยกว่านั้นตามความจำเป็น เพื่อติดตามความคืบหน้าของข้อริเริ่มที่จะดำเนินการภายใต้ข้อบทของแผนการขับเคลื่อนฯ
1.3 ทั้งสองฝ่ายยืนยันความพร้อมที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ภายใต้แผนงานการขับเคลื่อนฯ ตามยุทธศาสตร์ความร่วมมือทั้งสามส่วน ได้แก่
(1) ความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือเพื่อร่วมกันจัดการกับความท้าทายด้านความมั่นคงข้ามชาติและภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ มีความสอดคล้อง และโดยมีการประสานงานระหว่างกัน
(2) ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการลงทุนในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความเชี่ยวชาญและเป็นเลิศบนพื้นฐานของนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green (BCG) Economy) ของไทย ที่มีความสอดรับกับวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030 (Saudi Vision 2030)
(3) ความร่วมมือด้านสังคมและวัฒนธรรม โดยทั้งสองฝ่ายมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนสู่ประชาชนผ่านการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงอย่างสม่ำเสมอ ความร่วมมือด้านการศึกษา การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม กิจกรรมศิลปะและวัฒนธรรม และข้อมูลและสื่อ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมความเข้าใจและความเชื่อมโยงซึ่งกันและกันให้มากขึ้น
1.4 ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเร่งรัดการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตระหว่างกันเพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีและอำนวยความสะดวกในการดำเนินการตามแผนการขับเคลื่อนฯ
1.5 แผนการขับเคลื่อนฯ ครอบคลุมระยะเวลาสามปี ตั้งแต่ปี 2565 - 2567 โดยสามารถขยายระยะเวลาได้บนพื้นฐานของการปรึกษาหารือร่วมกัน ผ่านสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย
ทั้งนี้ แผนการขับเคลื่อนฯ มิได้มีเจตนาที่จะสร้างภาระผูกพันทางกฎหมายภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
2. ร่างบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย มีสาระสำคัญ ดังนี้
2.1 สภาฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อประสานงานและปรึกษาหารือในหัวข้อและประเด็นที่อยู่ในความสนใจร่วมกันในทุกมิติ
2.2 สภาฯ จะพบหารือกันเป็นระยะๆ และการประชุมจะถูกจัดขึ้นโดยการสลับกันเป็นเจ้าภาพระหว่างทั้งสองประเทศ โดยประธานสภาฯ อาจจัดตั้งคณะกรรมการ และคณะทำงาน ทั้งนี้ ประธานคณะกรรมการดังกล่าวต้องมีระดับไม่ต่ำกว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการ หรือผู้ช่วยรัฐมนตรี หรือตำแหน่งอื่นใดตามที่ตกลงกัน ประธานสภาฯ จะอนุมัติโครงสร้างการกำกับดูแลและการบริหารองค์กร รวมถึงระเบียบปฏิบัติขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับงานของสภาฯ และคณะกรรมการ อนึ่ง แต่ละฝ่ายจะแจ้งอีกฝ่ายผ่านช่องทางทางการทูตเป็นลายลักษณ์อักษรโดยทันทีเมื่อมีการปรับองค์ประกอบคณะกรรมการหรือคณะทำงาน ซึ่งเคยได้รับการอนุมัติตามโครงสร้างการกำกับดูแลและการบริหารองค์กรไว้แล้ว นอกจากนี้ การจัดตั้งสภาฯ และการมอบหมายภารกิจจะต้องไม่ขัดกับสิทธิและหน้าที่ที่มีอยู่เดิมของทั้งสองประเทศ ภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศที่แต่ละประเทศหรือทั้งสองประเทศเป็นภาคี
ทั้งนี้ ร่างแผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย (พ.ศ. 2565 - 2567) และร่างบันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี - ไทย จะเป็นเอกสารผลลัพธ์ที่สำคัญของการเสด็จฯ เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการของมกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ระหว่างวันที่ 18 - 19 พฤศจิกายน 2565 โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แทนรัฐบาลไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นผู้แทนรัฐบาลซาอุดีอาระเบียลงนามร่างแผนการขับเคลื่อนฯ และร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11387