ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งออสเตรเลียว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 08 November 2022 20:55
- Hits: 891
ขอความเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งออสเตรเลียว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งออสเตรเลียว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงพาณิชย์ดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งออสเตรเลียว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศออกหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงนามใน ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งออสเตรเลียว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
สาระสำคัญ
ร่าง MoU ประกอบด้วย 8 ส่วนสำคัญ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. วัตถุประสงค์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีและส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจโดยจะเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศที่เป็นภาคี รวมทั้งให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศและบทบาทของสตรีในระบบเศรษฐกิจและการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญในทุกมิติ
2. บริบท SECA จะช่วยสนับสนุนความตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย ความตกลงการจัดตั้ง เขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค
3. สาขาความร่วมมือที่ให้ความสำคัญ รวมถึงแต่ไม่จำกัดเฉพาะ 8 สาขา ได้แก่ (1) เกษตรเทคโนโลยี และระบบอาหารที่ยั่งยืน (2) การท่องเที่ยว (3) บริการสุขภาพ (4) การศึกษา (5) การค้าดิจิทัลและเศรษฐกิจดิจิทัล (6) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (7) การลงทุนระหว่างกัน และ (8) พลังงาน เศรษฐกิจสีเขียว และการลดการปล่อยคาร์บอน ทั้งนี้ สมาชิกจะต้องจัดทำรายละเอียดความร่วมมือและวาระการดำเนินงานซึ่งจะมีการระบุรายละเอียดกิจกรรมภายใต้สาขาความร่วมมือทั้ง 8 สาขา ที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจและเห็นว่าสามารถพัฒนาต่อยอดต่อไปได้ และถือเป็นส่วนหนึ่งของ MoU โดยจะต้องให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน หลังการลงนาม MoU
4. การประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโสประจำปี เพื่อติดตามผลการดำเนินงาน
5. ระยะเวลาดำเนินการ รวม 3 ปี แต่อาจพิจารณาแก้ไขได้ตามความยินยอมของทั้งสองฝ่ายและจะไม่ยกประเด็นความแตกต่างเกี่ยวกับการตีความหรือการดำเนินงานขึ้นตัดสินโดยศาลหรือประเทศที่สาม
6. งบประมาณ จะต้องมีการตกลงระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นรายกรณีต่อไป
7. สถานะของ MoU ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย โดยการดำเนินงานให้เป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศ และพันธกรณีระหว่างประเทศที่เป็นภาคี และจะไม่ส่งผลกระทบต่อความตกลงที่มีอยู่แล้ว
8. ข้อมูลลับ จะได้รับความคุ้มครองตามกฎระเบียบภายในประเทศ
ประโยชน์
นอกจาก SECA จะช่วยสนับสนุนการนำปฏิญญาร่วมว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับออสเตรเลียไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับออสเตรเลีย ที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ร่วมกัน อีกทั้งยังสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศษฐกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ และสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการระหว่างไทยกับออสเตรเลียในด้านอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
ทั้งนี้ ไทยและออสเตรเลียมีเป้าหมายจะผลักดันให้มีการลงนาม MoU ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเอเปคและการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ณ กรุงเทพมหานคร
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 พฤศจิกายน 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A11381